January 23, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

Brexit ส่งผลอย่างไร

July 19, 2017 12299

ผลการลงประชามติของประชาชนชาวอังกฤษเลือกที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) 51.9% เป็นข่าวที่สะเทือนโลกไปทั้งใบ ทำให้ต้องหันกลับมาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปในครั้งนี้

ในช่วงวันแรกๆ หลังจากผลประชามตินอกจากผลกระทบด้านการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความผันผวนของตลาดการเงินโลกหลัง Brexit อาทิ ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5% ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นราว 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกจำเป็นต้องถอยกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ในขณะที่ค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรปรับตัวลง 5-10% ทันที ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกมอง Brexit เป็นปัญหาของทั้งอังกฤษและยูโรโซน

ศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงินในประเทศไทยมองผลกระทบนี้ในทิศทางไม่แตกต่างกันมากนัก เริ่มจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง Brexit จะส่งผลลบต่อไทยในด้านการค้าและตลาดเงิน โดยมองว่าการส่งออกจากไทยไปอังกฤษและยุโรปในปีนี้อาจหดตัวถึง 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.1% ในปีนี้ ขณะที่เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่ามากขึ้น

ในด้านการค้า ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำให้จับตาไปที่ข้อตกลงของอังกฤษเคยมีกับ EU โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย กรณีแรกคือผลกระทบในระดับปานกลาง คืออังกฤษสามารถเจรจาเรื่องการลงทุนและการค้าเสรีกับ EU ใหม่ได้เร็ว ซึ่งน่าจะส่งผลไม่มากกับเศรษฐกิจยุโรปและจะส่งผลให้การส่งออกไทยไป UK และ EU หดตัวที่ระดับ 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ แต่หากอังกฤษไม่สามารถเจรจาเรื่องการลงทุนและการค้ากับ EU ได้เลย อาจส่งผลกระทบรุนแรงจนมีความจำเป็นที่ทั้ง UK และ EU จะต้องลดการลงทุนระหว่างกันทั้งในอดีตและในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไปยุโรปหดตัว 8-10% ต่อปีไปอย่างน้อยในอีกสามปีข้างหน้า

จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ ในกรณีแรก การส่งออกของไทยจะลดลง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2559-2561 เฉลี่ยคิดเป็น 0.1% ของจีดีพีไทยในแต่ละปี แต่หากผลกระทบลุกลามจนส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูงถึง 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 3 ปี หรือคิดเป็นการหดตัวของจีดีพีไทยถึง 0.4% ต่อปี

ในส่วนของภาคการเงินโลก ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องกลับมาทบทวนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มถ้าเศรษฐกิจยูโรกลับไปหดตัวหรือค่าเงินเยนแข็งค่ามากเกินไป

ในส่วนของตลาดเงินไทย ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวผันผวนมากขึ้นหลังเหตุการณ์ Brexit โดยมองว่านักลงทุนต่างชาติจะยังไม่ลดการลงทุนในตลาดการเงินไทยลง และคาดว่าค่าเงินบาทจะซื้อขายในระดับ 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีที่อังกฤษหาข้อตกลงกับ EU ได้โดยเร็ว ในทางกลับกันถ้าปัญหาในยุโรปลุกลามจนส่งผลให้อังกฤษและ EU ไม่สามารถหาข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนจะเข้าสู่โหมด “ลดความเสี่ยง” และขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอีกครั้งซึ่งในกรณีนี้ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวอ่อนค่าเกิน 36 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

ทางด้าน สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษอาจทำให้เศรษฐกิจอังกฤษโตต่ำกว่าที่ประมาณไว้ 0.7 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์เหลือ 1.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลกระทบต่อสหภาพยุโรปอาจจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่มองไว้ 1.4 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.2 เปอร์เซ็นต์ 

ผลกระทบต่อค่าเงินอาจจะทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงไปที่ 1.23 ต่อดอลลาร์-สหรัฐ และค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 1.03 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินที่จะแข็งค่าขึ้นคือค่าเงินเยน ที่จะขยับไปอยู่ที่ 95 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซง การออกจากสหภาพยุโรปครั้งนี้จะทำให้นโยบายทางการเงินของสหราชอาณาจักรต้องผ่อนคลายโดยอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก และอาจจะต้องมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม ในส่วนของธนาคารกลางของสหภาพยุโรป ECB อาจจะต้องผ่อนปรนนโยบายทางการเงินเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาด และธนาคารกลางสหรัฐน่าจะตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ และอาจจะลดดอกเบี้ยลงกลับไปอยู่ที่ 0 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ในส่วนผลกระทบต่อเอเชียน่าจะมีค่อนข้างต่ำ ส่วนประเทศไทยมีการค้ากับอังกฤษเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ ของการค้าต่างประเทศ จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเช่นเดียวกัน  ขณะเดียวกันกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปเต็มตัวยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปีตามมาตรา 50 ของสหภาพยุโรป ที่ต้องมีการเจรจาพูดคุยระหว่างกันอีก ในช่วงต้นนี้สิ่งที่เห็นจึงเป็นผลกระทบในเชิงจิตวิทยามากกว่า และหลังจากนี้อีก 2 ปี เศรษฐกิจของยุโรปก็จะฟื้นตัวได้ตามลำดับ ขณะที่ประเทศอังกฤษต้องติดตามนโยบายที่จะออกมากันต่อไป

ไปที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองที่ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากกรณีสหราชอาณาจักรตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ว่าเงื่อนไขสำคัญจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นของทางการอังกฤษภายใต้รัฐบาลใหม่ และการรับมือของ EU ว่าจะส่งผลต่อค่าเงินปอนด์และเงินยูโรอย่างไร นอกจากนี้ ยังต้องติดตามท่าทีของประเทศสมาชิกใน EU อีกด้วย สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย จะมีความผันผวนในช่วงแรก ขณะที่ เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 36.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคงต้องยอมรับว่า ประเด็น BREXIT จะทำให้เงื่อนไขการพิจารณาดอกเบี้ยของ ธปท. ในช่วงที่เหลือของปี มีหลายตัวแปรมากขึ้น เพราะนอกจาก ธปท. จะต้องให้น้ำหนักในเรื่องโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังต้องประเมินความเสี่ยงต่อประเด็นทางด้านเสถียรภาพควบคู่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

นอกจากการส่งออกแล้ว เมื่อรวมผลกระทบผ่านช่องทางอื่น ได้แก่ การท่องเที่ยว และการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองที่ประเมินว่า ในกรณีดีที่หากทางการของ UK และ EU สามารถสร้างความเชื่อมั่นและเรียกฟื้นความกังวลของนักลงทุนให้กลับคืนมา อันจะส่งผลให้เงินปอนด์กลับมามีเสถียรภาพได้เร็ว ผล
กระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางต่างๆ ดังกล่าว ก็จะมีค่อนข้างจำกัด ที่ร้อยละ 0.02-0.04 ของ GDP ไทย หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3,000-5,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในกรณีเลวร้าย หากทางการ UK ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ ไม่เพียงส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของ UK แต่ยังลุกลามต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนใน EU ฉุดทั้งค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรอ่อนค่ารุนแรง ผลดังกล่าวอาจกระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 0.1-0.2 ของ GDP ไทยหรือคิดเป็นมูลค่าราว 8,900-20,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความเปราะบางของภาคการเงิน อาจกดดันให้ทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินให้กับสถาบันการเงิน ขณะที่กระแสการคาดการณ์ของตลาดในช่วงหลังจากนี้ จะเป็นเรื่องโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และ/หรือการเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางชั้นนำต่างๆ โดยเฉพาะ ECB และ BOJ

อีกศูนย์วิจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่วิเคราะห์แต่ละประเทศว่า สหราชอาณาจักร ในระยะสั้น ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เตรียมพร้อมในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ส่วนในระยะยาว คาดว่าเศรษฐกิจอาจหดตัวถึง 3-10% ภายในปี 2030 จากอุปสรรคทางการค้าการลงทุน รวมถึงการเคลื่อนย้ายของเงินทุนและแรงงาน ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU โดยมีเวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี ก่อนจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ

สหภาพยุโรป การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ EU อาจชะลอลง จากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สั่นคลอน และตลาดการเงินที่ผันผวน โดยอีไอซีมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ และ Brexit เพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศสมาชิกอื่นใน EU จะมีการจัดทำประชามติในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่าหากมีการจัดทำประชามติในอิตาลี ฝรั่งเศส และสวีเดน ประชาชนมากกว่า 40% จะสนับสนุนการแยกตัวออกจาก EU

สหรัฐอเมริกา ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกน่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ส่งผลให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้นั้นเป็นไปได้ยาก  ญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) น่าจะออกนโยบายระยะสั้นเพื่อรองรับการแข็งค่าของเงินเยน แม้ว่าจะเคยประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก็ตาม

ในส่วนของประเทศไทยอีไอซี มองว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงนั้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักร อยู่ที่เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกทั้งหมด แต่ผู้ส่งออกไก่แปรรูปที่มีตลาดหลักอยู่ใน UK และ EU จะได้รับผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ยังต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่ผันผวน รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ และเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้นำเข้า

เงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากการไหลออกของเงินทุนในระยะสั้นซึ่งจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพทางการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง และเงินทุนสำรองที่แข็งแกร่ง 


ในระยะยาวอีไอซี มองว่า Brexit จะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถต่อรองทางการค้ากับ UK โดยตรงได้มากขึ้น แต่หากเศรษฐกิจ UK และ EU ซบเซาเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยยังต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องแยกประสานงานกับ UK และ EU

ปิดท้ายด้วยมุมมองจาก ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มองเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มองเห็นความจริงอย่างหนึ่งคือ อย่าไปคิดว่าโลกจะต้องรวมตัวกันเสมอไป มีกรณีอังกฤษให้เห็นแล้ว อาเซียนของเราก็ต้องระมัดระวังเช่นกันในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทะเลจีนใต้ หากเราแก้ปัญหาได้ไม่ดีก็อาจจะทำให้ประเทศที่ขัดแย้งกับจีนทางทะเลอึดอัดใจที่จะอยู่ในอาเซียนได้ แม้จังหวะเวลายังไม่ถึงระดับนั้น แต่เป็นคำเตือนในทางทฤษฎีที่ควรให้ความสนใจ

ดร.เอนกมองต่อไปว่า ในส่วนของยุโรปประเทศอื่นๆ ก็อาจจะเอาอังกฤษเป็นตัวอย่างในการออกจากสหภาพยุโรปได้เช่นเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่เศรษฐกิจแย่และยังอยู่ในอียูก็อาจจะคิดเพิ่มขึ้นในการออกจากอียู หากมีปัญหามากขึ้นแล้วแก้ไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความเป็นปึกแผ่นของอียูลดลง 

ในส่วนของสหราชอาณาจักรก็จะคล่องตัวในแง่นโยบายระหว่างประเทศขึ้น โดยอาจจะเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศจีนมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์ของอังกฤษคืออดีตมหาอำนาจของโลกที่มีวิธีการมองโลกอย่างลึกซึ้ง เมื่อออกจากอียูก็จะหันมามองภูมิภาคที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเช่นเอเชียมากขึ้น สิ่งที่เคยติดขัดจากการเป็นสมาชิกอียูก็สามารถทำได้สะดวกขึ้น ดร.เอนกให้มุมมองว่า “เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าดุลอำนาจทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป คนในอังกฤษก็เริ่มคิดว่าอยู่กับสหภาพยุโรปแล้วไม่ได้อะไรสักเท่าไรและยุโรปก็ไม่ฟื้นตัวเสียที ทำไมไม่ลองไปคบกับจีนกับเอเชียให้ถนัดมือขึ้น จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศที่อยู่ใกล้กันจะต้องมีเศรษฐกิจ ร่วมกัน ต่อไปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอังกฤษก็จะเปลี่ยนไป” 



เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Friday, 04 August 2017 15:19
X

Right Click

No right click