ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจและตลาดทุน เผยมุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.

April 02, 2022 1992

“แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. กับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2565”

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานแถลง “แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2565-2567” ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอแนวทางอันเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศไทย
สู่ความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีช่วงการเสวนา หัวข้อ “แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. กับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2565” ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่มีต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. เพื่อเป็นแนวทางการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของตลาดทุน ให้พร้อมต่อการรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ร่วมเสวนาในโอกาสนี้

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า “โดยภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ดีอันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก แต่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์และประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้เร็วกว่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงสำคัญในเรื่องของผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว ราคาของพลังงานที่ปรับตัวสูงซึ่งยังคงต้องจับตามองต่อไป อีกทั้งประเทศไทยนั้นยังต้องเผชิญกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กับดักรายได้ปานกลาง หรือปัญหาหนี้สิน ทั้งในระดับหนี้ครัวเรือน หนี้สินทางธุรกิจ และหนี้สาธารณะที่อาจทำให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อที่จะสนับสนุนรายได้เข้าสู่ภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจได้ โดยมองว่าตลาดทุนไทยนอกจากจะเป็นแหล่งระดมทุนซึ่งเป็นศูนย์กลางให้กับบริษัทมหาชนและนักลงทุนแล้ว ก็ควรเป็นแหล่งการออมเงินของประชาชนทั่วไปและแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจขนาดย่อมลงมาด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับเศรษฐกิจอย่างแท้จริง”

ด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า “จากสถานการณ์โควิด-19 ตลาดทุนไทยนับว่ายังได้รับผลกระทบไม่มากนัก เมื่อดูจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีผลกำไรเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 900,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนมีความมั่นคงสูง อีกทั้งตลาดทุนมีการพัฒนาตนเองในหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นที่หนึ่งในแง่ของสภาพคล่อง การออก IPO และ ESG ที่ถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนใหม่ ๆ อย่างกลุ่ม Depositary Receipt (DR) และนับจากนี้สิ่งสำคัญคือการพัฒนาไปสู่การมี growth engine ใหม่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยที่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ตลาดภายในประเทศ แต่ต้องก้าวสู่ตลาดในระดับภูมิภาค และอีกข้อสำคัญคือการเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ตอัป ซึ่งความโปร่งใสเป็นข้อบังคับหนึ่งในการเข้าสู่ตลาดทุนเพราะเป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป ดังนั้น เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัปที่ต้องการเข้าสู่ตลาดทุนต้องสำรวจและพิจารณาความโปร่งใสของตนเองอย่างรอบด้าน ว่ามีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

ส่วน นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ ดิจิทัลไทย กล่าวว่า “ภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบันของภาคการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital asset) กำลังเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) คือกำลังอยู่ในช่วงขาลงของการลงทุน เห็นได้จากราคาที่ทรงตัว รวมถึงมูลค่าการซื้อขายที่ชะลอตัว แต่สิ่งที่ทางสมาคมฯ มองว่าเป็น growth engine ต่อตลาดทุนไทย คงเป็นเรื่องการร่วมขับเคลื่อนการก่อให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถทำ Self-regulated เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสามารถตรวจสอบตนเองได้อีกทางหนึ่ง อีกข้อสำคัญคือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากเป็นตลาดที่ไร้พรมแดนและเปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนในระดับนานาชาติ ซึ่งการบูรณาการการทำงานเพื่อการตรวจสอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศ จะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่มีแผนการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานให้มีความลื่นไหลคล่องตัว และสะดวกสบายมากขึ้นในการกำกับดูแล”อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับทั้งองคาพยพ เพราะโลกของการแข่งขันจากเวทีนานาชาติเองเริ่มบีบคั้นให้ประเทศไทยต้องเร่งเดินหน้าการปรับตัวให้เร็วขึ้น เพราะตลาดทุนถือเป็นกลไกสำคัญ ถ้าเราสามารถวางแผนพัฒนาได้อย่างถูกจุด ประโยชน์ที่ได้ย่อมตกแก่ประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจตั้งแต่เอสเอ็มอี สตาร์ตอัป และธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป

X

Right Click

No right click