January 22, 2025

ทูซีทูพี พาร์ทเนอร์ อิเกีย ยกระดับการชำระเงินออนไลน์ เพื่อลูกค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

July 04, 2022 1284

ทูซีทูพี (2C2P) แพลตฟอร์มชำระเงินระดับโลก ได้รับประกาศการแต่งตั้งจากอิคาโน่ รีเทล (Ikano Retail) แฟรนไชส์ของอิเกีย (IKEA)

ในฐานะพันธมิตรด้านการชำระเงินอย่างเป็นทางการ เพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินออนไลน์ที่ราบรื่น สำหรับลูกค้าของอิเกียในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 4 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

นายปิยชาติ รัตน์ประสาทพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ บริษัทต้องการขยายตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ มากขึ้น และเพิ่มฐานการค้าในทุกอุตสาหกรรมและทุกประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์ดังระดับโลก ล่าสุดได้จับมือกับทางอิเกีย บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของโลก เพื่อขยายขอบเขตการชำระเงินออนไลน์ให้กับลูกค้าอิเกียทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความต้องการตัวเลือกในการชำระเงินดิจิทัลที่เข้าถึงได้สะดวก และมีความปลอดภัยสูง ซึ่ง 2C2P ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการชำระเงินออนไลน์ จะสามารถช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วให้กับลูกค้าออนไลน์ของอิเกีย ในการชำระเงินเมื่อสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในบ้าน อีกทั้งค่าจัดส่ง ผ่านวิธีการชำระเงินออนไลน์ที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

“ที่ผ่านมา 2C2P ได้มีประสบการณ์ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ Ikano Retail ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2018 สำหรับการขยายความร่วมมือที่มีมายาวนานในครั้งนี้ จะเป็นการมอบประสบการณ์การชอปปิงออนไลน์ที่ปลอดภัย ราบรื่น และสะดวกสบายให้กับลูกค้าของอิเกียอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งภูมิภาค อีกทั้งบริษัทยังมั่นใจว่าระบบชำระเงินของ 2C2P จะช่วยให้ลูกค้าของอิเกีย ได้ประสบการณ์การชำระเงินที่ปลอดภัย หลากหลาย และครอบคลุมวิธีการชำระเงินมากมายในภูมิภาค ทั้งการชำระด้วยบัตรเครดิต และการใช้ช่องทางอื่นๆ ในการชำระเงิน เช่น การโอนเงินออนไลน์ผ่านธนาคาร การผ่อนชำระแบบไม่มีดอกเบี้ย รวมถึงการชำระเงินด้วยกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์รับชำระในรูปแบบเฉพาะของตลาดทั้งสี่ประเทศ ตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์ ลูกค้าสามารถชำระเงินโดยใช้การโอนเงินออนไลน์ผ่านธนาคารจากบัญชีธนาคาร ดีบีเอส โอเวอร์ซีไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด หรือยูโอบี ผ่าน eNETS  ส่วนในมาเลเซียลูกค้าสามารถใช้เครือข่ายการโอนเงินออนไลน์ผ่าน FPX ในไทย ลูกค้าสามารถชำระเงินโดยสแกน QR PromptPay และในฟิลิปปินส์ ลูกค้าสามารถชำระเงินโดยใช้แอปพลิเคชันมือถือยอดนิยมอย่าง Gcash เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากช่องทางการชำระเงินที่ครอบคลุมแล้ว แพลตฟอร์มการชำระเงินของ 2C2P ยังสามารถตอบสนองธุรกิจที่ซับซ้อนและความต้องการด้านการดำเนินงานของ Ikano Retail โดยมีการสร้างระบบหลังบ้านให้สามารถปรับแต่งเองได้ มีการบันทึกรายการรับชำระเงินจากลูกค้าธุรกิจโดยอัตโนมัติ และส่งรายงานที่ถูกต้องแม่นยำแบบทันที” นายปิยชาติกล่าว

“การสรรค์สร้างชีวิตที่ดีกว่าในทุกๆ วัน ให้กับผู้คนทั่วไป คือสิ่งที่อิเกียให้บริการทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่นั้น หมายถึง การเข้าใจในความคาดหวังและความชอบของลูกค้าในการซื้อสินค้า รวมทั้งการชำระเงิน โดยลูกค้าของอิเกียคาดหวังประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมในการใช้บริการทั้งทางออนไลน์และที่สโตร์อยู่เสมอ ทำให้อิเกียมองหาวิธีที่ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อต้องการให้ลูกค้ามีทางเลือกในสินค้าตกแต่งบ้านและสำนักงานที่มีประสิทธิภาพ เรียบง่าย และไร้รอยต่อ ด้วยเวลาที่สั้น ให้ความรู้สึกความปลอดภัยและหมดกังวล” โครีนา โฮลแมน (Corrina Holman) ผู้จัดการด้าน Customer Journey ของอิเกียโดย บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด กล่าว

แอกเนส ฉัว (Agnes Chua) กรรมการบริหารของ 2C2P กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันลูกค้าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการตัวเลือกในการชำระเงินที่หลากหลาย ทั้งด้านความเร็วและความสะดวกเท่าๆ กับประสบการณ์ดิจิทัลที่มีมา ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรที่ผสานรวมวิธีการชำระเงินที่แตกต่างกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทูซีทูพีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่มีส่วนร่วมส่งเสริมให้กับอิเกีย มีความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านการค้า และช่วยให้อิเกียก้าวทันกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในการชำระเงินของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ ด้วยแรงกระตุ้นจากการชำระเงินทางดิจิทัล จากรายงานของ IDC InfoBrief ที่ได้รับมอบหมายจาก 2C2P คาดว่า การใช้จ่ายด้านอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น 162% สู่ระดับ 179.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ทั่วทั้งภูมิภาค โดย 91% ของการชำระเงินอีคอมเมิร์ชทั้งหมดเป็นการชำระเงินทางดิจิทัล ผู้ใช้บริการธนาคารบนมือถือและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะเติบโต 97% และ 162% ตามลำดับ ระหว่างปี 2563 -2568

X

Right Click

No right click