งานเสวนาในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มากล่าวเปิดงานในฐานะนายกสมาคมนักเรียนเก่าฮาร์วาร์ดแห่งประเทศไทยด้วย โดย ดร.สุรเกียรติ์ ได้กล่าวว่าตั้งแต่ก่อนเริ่มมีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 หัวข้อ “อนาคตโลกการเงิน” เป็นที่พูดถึงอย่างมากในภูมิภาคอยู่แล้ว แต่ในยุคโควิด-19 เทคโนโลยีก็ยิ่งถูกเร่งให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
บรรดาสถาบันทางการเงินหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีต่างหันมาให้บริการฟินเทคแก่ลูกค้าของตนมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ส่วนระบบการเงินไร้ตัวกลางก็มีบทบาทมากขึ้นในโลกการเงิน มีเทรนด์การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแทนการทำธุรกรรมผ่านตัวกลางอย่างธนาคารขณะเดียวกัน ยอดการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลอย่าง “บิตคอยน์” และ คริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ก็พุ่งขึ้นสูงและเป็นที่สนใจมากขึ้นทั่วโลก จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โลกเผชิญกับสงครามครั้งใหม่ที่ไม่ใช่สงครามการค้า แต่เป็นการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทำให้เกิด มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกตะวันตกต่อรัสเซียครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สถานการณ์เหล่านี้เติมไฟให้ภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบหลายปีเพื่อรับมือเงินเฟ้อพุ่งทุบสถิติในประเทศ “การดิสรัปของเทคโนโลยี โรคระบาด สงคราม การคว่ำบาตรรัสเซียของตะวันตก และภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อโลกการเงินโดยตรง” ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้แชร์มุมมองและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจของตน เกี่ยวกับ ”อนาคตโลกการเงิน” ที่ประเทศไทยและ ทั่วโลกจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน
การประเมินนวัตกรรมทางการเงิน ต้องดู 3 มิติ
การจะประเมินว่าเทคโนโลยีทางการเงินน่าสนใจต้องดูว่านวัตกรรมนั้น ๆ ช่วยตอบ 3 โจทย์สำคัญของภาคการเงินของประเทศหรือไม่ ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพให้เศรษฐกิจ (Productivity) การเข้าถึงของทุกภาคส่วน (Inclusivity) และภูมิคุ้มกัน (Immunity)
- Productivity นวัตกรรมที่ดีจะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับระบบการเงินไทย และจะส่งผลไปสู่ผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวม เมื่อต้นทุนการชำระเงินถูกลง ต้นทุนการทำธุรกิจก็จะถูกลงตาม ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วย
- Inclusivity การเข้าถึงบริการทางเงินอย่างเท่าเทียมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นบริการเงินฝาก สินเชื่อ การชำระเงิน หรือประกันภัย ฟินเทคจะช่วยให้ประชาชนหรือธุรกิจรายย่อยที่อาจไม่ได้รับบริการเท่าที่ควร สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วยราคาที่ถูกลง เช่น AI ที่เป็นพื้นฐานของนวัตกรรมทางการเงินอีกหลายอย่าง และสามารถช่วยสร้างรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ที่จะนำมาสู่การบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น และช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น
- Immunity นวัตกรรมควรจะช่วยให้ระบบการเงินทนทานต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น ขณะที่การบริหารความเสี่ยงหลายอย่างที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition) หรือ บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID - NDID) ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เครื่องมือทางการเงินใหม่นำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ เช่น หากเครื่องมือทาง การเงินในอนาคตจะเป็นแบบ decentralized มากขึ้น ก็ควรมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตสภาพคล่องทางการเงินอย่างที่เห็นอยู่ในหลายกรณี
จับตาเทรนด์ธนาคารดิจิทัล
เทรนด์หนึ่งที่น่าจับตาในอุตสาหกรรมการเงินในเอเชียคือการที่หลายประเทศได้ เปิดให้มีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาตั้งธนาคารดิจิทัล (Virtual Bank) ที่นำเสนอบริการทุกอย่างได้เหมือนธนาคารแบบดั้งเดิมแต่ไม่ต้องมีหลายสาขาหรือไม่มีเลย โดยนวัตกรรมธนาคารดิจิทัลถูกสร้างขึ้นบน 3 เทรนด์ทางเทคโนโลยีที่สำคัญ
- Digitalization of finance หรือการเงินที่เข้าสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่ม affordability ผู้ให้บริการการเงิน สามารถนำเสนอบริการให้ประชาชนได้เหมือนสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม แต่เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยทำให้ต้นทุนในการเปิดและบริหารสาขาต่ำกว่ามาก ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยถูกลง ทำให้สามารถลดต้นทุนของภาคการเงินในประเทศ (Affordability)
- Data driven finance หรือการเงินที่ใช้ดาต้าขับเคลื่อนจะช่วยเพิ่ม accessibility หรือการเข้าถึงบริการการเงิน อาทิ กลุ่ม SMEs ที่ปัจจุบันกว่าครึ่งเข้าไม่ถึงแหล่งเงินในยามจำเป็น เพราะขาดสินทรัพย์ค้ำประกันและประวัติการเงิน เทคโนโลยีแบบ Machine Learning สามารถนำข้อมูลในโลกดิจิทัลสามารถถูกนำมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อกับคนกลุ่มนี้ได้
- Banking as a service (BaaS) จะช่วยเพิ่ม Agility ในยุคธนาคารดิจิทัลบริการการเงินสามารถตัดแบ่งแยกออกมาเป็นหน่วยย่อย ๆ ทำให้ธนาคารหนึ่งเจ้าอาจไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเอง แต่สามารถเลือกทำให้บริการที่ตนเองเชี่ยวชาญกว่าผู้เล่นอื่น เช่น ธนาคารแห่งหนึ่งอาจโฟกัสการขายเทคโนโลยีประเมินความเสี่ยงให้บริษัทฟินเทคที่อาจเชี่ยวชาญการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ เปรียบเสมือนในโลกอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตรถยนต์ไม่ต้องทำทุกส่วนเอง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้คล่องแคล่วขึ้น
บล็อกเชนและ NFT มีศักยภาพขึ้นอยู่กับการนำมาใช้
เทคโนโลยี Blockchain หากนำมาใช้อย่างถูกต้องมีศักยภาพที่จะช่วยให้ผู้เล่นรายเล็กแข่งขันกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ได้ และสร้างแรงกดดันให้กับผู้เล่นปัจจุบันให้ต้องปรับตัว แต่การนำมาใช้งานในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
ยกตัวอย่าง "NFT" (Non-Fungible Token) ที่ในช่วงแรก มักถูกนำมาใช้ในแวดวงศิลปะ โดยนำภาพวาด งานศิลปะ ประติมากรรม เพลง เกม ฯลฯ มาเปลี่ยนเป็น NFT แต่ต่อไปอาจพัฒนานำมาใช้เป็นเครื่องมือยืนยันถึงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หลักฐานยืนยันความถูกต้องและประวัติ อัตลักษณ์ และการใช้เชิงพาณิชย์ด้านอื่น
ซึ่งอาจช่วยสร้างรายได้ผลตอบแทนให้กับกลุ่มครีเอเตอร์ (creator) หรือศิลปินดิจิทัลที่มีความสามารถอยู่มากมายในประเทศ ทั้งยังใช้เป็นช่องทางโปรโมตเอกลักษณ์ของประเทศได้ เช่น งานศิลปะ วัฒนธรรม หรือผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างชาติชื่นชอบและสนใจมาตลอด
การที่จะดึงศักยภาพของ NFT มาใช้ในเศรษฐกิจโลกจริงอย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ใช้งานได้จริง และนอกจากกำกับดูแล NFT ในฐานะผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องรับประกันว่า สิทธิต่าง ๆ ของบรรดาครีเอเตอร์จะได้รับการคุ้มครอง และอาชญากรรมต่าง ๆ และการละเมิดกฎในโลกเสมือนจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดไม่ต่างกับการกระทำผิดในโลกจริง
ส่งเสริมการแข่งขัน-สนับสนุนนวัตกรรม-การสร้างความรู้ทางการเงินเป็นหัวใจสำคัญ
ผู้วางนโยบายมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแข่งขันในภาคการเงินให้มีผู้เล่นที่หลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งประชาชนและธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยระวังไม่ให้เกิดการผูกขาดไม่ว่าจะเป็นจากเป็นผู้เล่นดั้งเดิมหรือผู้เล่นใหม่
อุตสาหกรรมการเงินเป็นอุตสาหกรรมที่มีทั้งการร่วมมือและการแข่งขัน ซึ่งหลายผู้เล่นสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ ความหลากหลายของผู้เล่นในอุตสาหกรรมจะช่วยสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแต่ละผู้เล่น และจะช่วยสร้างบริการที่ดีขึ้นสำหรับลูกค้า หน่วยงานกำกับควรบาลานซ์การป้องกันความเสี่ยงจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับการมีทัศนคติที่สนับสนุนนวัตกรรมในประเทศและไม่ผลักให้กิจกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ไปเกิดขึ้นในที่ที่ยิ่งมองไม่เห็นหรือยิ่งดูแลได้ยาก
นอกจากนี้ ทั้งผู้วางนโยบายและผู้ให้บริการการเงินต่างก็มีหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงินต่อประชาชน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นทักษะชีวิตและจำเป็นต้องได้รับการสั่งสอนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในยุคที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง