นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2567 หรือ Thailand Insurance Symposium 2024 ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” (Redefining Insurance through Technology for Sustainable Life and Health Protection) จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ แกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักศึกษาจากหลักสูตรของสำนักงาน คปภ. อาทิ หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นักศึกษาหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (CIA) และสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย อีกทั้ง เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และรับฟังความคิดเห็น ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการพัฒนาการประกันภัย และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายบุคลากรในอุตสาหกรรมประกันภัยทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการยกระดับการประกันชีวิตและสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้หากมีการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดการตั้งราคาเบี้ยประกันภัยมีความเหมาะสม การพัฒนาแผนความคุ้มครองที่สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลในตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Smart Watch หรืออุปกรณ์ที่สามารถติดตามการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของลูกค้ามาใช้ในการพิจารณาให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้และช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลที่ทันสมัยของแต่ละบุคคลในการนำไปประเมินความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นสถาบันชั้นนำในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้นำและบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความรู้ด้านการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การนำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทิศทางในด้านกำกับดูแล และการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในปีหน้าจะมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับทั้งบุคลากรของธุรกิจประกันภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมถึงหลักสูตรนานาชาติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายความรู้และการแลกเปลี่ยนวิทยาการใหม่ ๆ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านการประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสนอผลงานวิจัยและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันจัดอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ ก็คือ งาน Insure Mall สรรพสินค้าออนไลน์รวบรวมผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Insure Mall ครบทุกเรื่องประกัน จบทุกความต้องการ” โดย Insure Mall จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการให้บริการประชาชนผู้สนใจประกันภัย สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย สามารถเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และธนาคารที่คัดสรรแบบประกันภัยที่มีความเหมาะสมต่อตัวท่านและครอบครัว ในรูปแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา ตลอดจนเป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัยสำหรับประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีกิจกรรมเปิดตัวโครงการซื้อประกันภัย รับส่วนลดสูงสุดถึง 30% และร่วมลุ้นรับของรางวัลมากมาย สามารถติดตามได้ทาง www.insuremallthailand.com
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “Future Landscape in Digital Insurance” โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ต่อจากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ “Innovating for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench in Insurance” โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance Customer & Digital Leader และหัวข้อ “Transforming Healthcare and Insurance with AI” โดย นพ.เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Healthtag จำกัด และยังมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 จำนวน 6 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น รางวัลดี และรางวัลชมเชย ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม GP 3 การพัฒนา Application เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ และรางวัลดี ได้แก่ GP 2 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย (AI Governance Framework for Thai Insurance Industry) อีกด้วย
“ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล รวมทั้งขอแสดงความชื่นชมผลงานวิชาการของทุกกลุ่ม ขอยอมรับว่าผลงานวิชาการของทุกกลุ่มในปีนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดและพัฒนาระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก ความตั้งใจของทุกท่านมีส่วนในการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประกันภัยสู่ประชาชน “CEO X PRESS” ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง ThreeSixty Jazz Lounge ชั้น 32 โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปี 2568 สำนักงาน คปภ. ประมาณการว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัย (ม.ค.-ธ.ค.2568) จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 980,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ธ.ค.2567) และคาดว่าในปี 2569 เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งระบบน่าจะแตะที่ 1,000,000 ล้านบาท ในภาพรวมธุรกิจ ประกันภัยสุขภาพมีความโดดเด่นที่สุด สำนักงาน คปภ. ประมาณการว่า สิ้นปี 2567 ประกันภัยสุขภาพจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ 100,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 ทั้งนี้ ภาคธุรกิจประกันภัยยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายและปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้นแต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท รวมทั้งสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและอำนาจซื้อของประชาชน ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยภาคธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันภัยไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 นี้ สะท้อนให้เห็นงบการเงินที่แท้จริงว่า บริษัทประกันภัยมีกำไรในแต่ละปีมากน้อยเพียงใด มีการกระจายรายได้ และค่าใช้จ่ายออกไปอย่างไร มีการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นภาพงบการเงินได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. มองว่าเรื่องความมั่นคงกับงบการเงินที่ได้มาตรฐานต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน
อีกประเด็นที่อยู่ในกระแสข่าวและสื่อมวลชนเกี่ยวกับการยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในกรณีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่สิ้นสุดการยื่นคำทวงหนี้ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 พบว่า มีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องเข้ามาประมาณ 250,000 ราย และมีมูลหนี้ที่ต้องชำระประมาณ 22,000 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีรายได้จากเงินสมทบปีละประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด โดยกองทุนฯ ได้พยายามหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เช่น การกู้ยืมเงิน และอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการการชำระหนี้ของกองทุนฯ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประเด็นถัดมาที่อยากจะสื่อสารกับสื่อมวลชนไปยังสาธารณชนคือ ทิศทางการทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่บริษัทประกันภัยจะยื่นขออนุมัติกรมธรรม์แต่ละฉบับ ซึ่งสำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะอนุมัติให้โดยเร็ว แต่บริษัทประกันภัยที่ยื่นขออนุมัติต้องมีการดำเนินการควบคุมความเสี่ยงเพื่อให้สำนักงาน คปภ. มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการ ตั้งแต่กระบวนการการเสนอขาย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การบริหารความเสี่ยง และการจัดการเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการบริหารจัดการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ประเด็นต่อมาที่อยากจะสื่อสารไปถึงประชาชน คือ กรณีบริษัทหรือตัวแทนนายหน้าขายประกันภัยต่างชาติ ที่มีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งบริษัทต่างชาติเหล่านี้ ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้านประกันภัยจากบริษัทเหล่านี้ ทางสำนักงาน คปภ. ก็มีมาตรการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจกองปราบปรามไปหลายคดีแล้ว ดังนั้น จึงอยากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยจากบริษัทหรือตัวแทนนายหน้าขายประกันภัยต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ประเด็นสุดท้ายคือเรื่อง การประกันภัยสุขภาพ ซึ่งในขณะนี้เบี้ยประกันภัยสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการประกันภัยสุขภาพได้ยาก สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือเร่งด่วนกับภาคธุรกิจเพื่อหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม และต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้เอาประกันภัย โดยอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) หากผู้เอาประกันภัยมีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีการเคลมด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย แต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ 200% ของเบี้ยประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพได้อย่างแท้จริงภายใต้เบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมและเหมาะสม
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงาน InsurTech Summit 2024 ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมประกันภัยสู่เครือข่ายสากล : Shaping Insurance, Building Community” จัดโดยศูนย์ CIT สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุม C ASEAN อาคารซีดับเบิ้ลยู ชั้น 10 กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย และเป็นเวทีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยสู่อนาคต ด้วยการผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับศักยภาพบุคลากรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่ม Tech Startup ผ่านกิจกรรมสัมมนาวิชาการเชิงลึก กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย ผ่าน Demo Showcase จาก บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 10 บริษัท ที่ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในงานประกันภัย ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสในการร่วมมือและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันความร่วมมือและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในระดับสากล นอกจากนี้ภายในงานยังมี Exhibition จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 30 บริษัท ที่มาร่วมจัดแสดงนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นการใช้งานจริงของเทคโนโลยีในบริบทของอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างใกล้ชิด
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ Regulation for the Insurance Ecosystem โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจประกันภัย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประกันภัยไม่ได้มีเพียงบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยอีกต่อไป แต่มีผู้เล่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัยเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น บริษัทเทคโนโลยี Insurtech Startups ที่กลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ ยังได้เห็นความร่วมมือ หรือ Collaboration ของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยกับธุรกิจใหม่ ๆ เช่น โรงพยาบาล การขนส่ง เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตธุรกิจประกันภัยจะขยายวงกว้างมากขึ้น และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันและการดำรงชีวิตของผู้คนและผู้ประกอบการต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการพูดถึง เรื่องเทคโนโลยีมาหลายปีแล้ว แต่มุมมอง ผลกระทบ และทิศทางของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปทุกปี เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยได้เกือบทุกกระบวนการของ Supply Chain เริ่มตั้งแต่การเข้าถึงลูกค้าที่มีช่องทางการเสนอขายหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัจจุบันมีเครื่องมือในการประมวลผลให้สามารถประเมินความเสี่ยงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และกำหนดอัตราเบี้ยที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงหรือรายบุคคลได้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตอาจได้เห็น Dynamic Pricing การปรับเบี้ยประกันภัยตามสภาพความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ด้วยหรือในส่วนของการดูแลลูกค้าและการให้บริการหลังการขายที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้บริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ระบบ OCR (Optical Character Recognition) หรือ RPA (Robotic Process Automation) มาช่วยดำเนินการด้านเอกสารให้รวดเร็วขึ้น การพัฒนา Chatbot เพื่อเป็นอีกช่องทาง ในการติดต่อและให้บริการลูกค้า ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการฝังGen AI เพื่อให้ Chatbot ประมวลผลได้ซับซ้อนและดียิ่งขึ้น
อีกส่วนที่เห็นได้ชัด คือ การจัดการค่าสินไหมทดแทนที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยทั้ง Front Office และ Back Office เช่น การสำรวจข้อมูลความเสียหายด้วยโดรนและการวิเคราะห์ความเสียหายและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยการใช้ VDO หรือ รูปภาพ ซึ่งจะถูกนำไปประมวลผลต่อเพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัยที่กว้างขวางและหลากหลาย โดยบริษัทประกันภัยเกือบทุกแห่งได้ให้บริการลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น หรือการซื้อประกันภัยออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญของธุรกิจไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจประกันภัยไทย พบว่า ในภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยไทยมีความพร้อมทางดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 78.5 และในอนาคตอันใกล้บริษัทประกันภัยไทยมากกว่าร้อยละ 90 จะมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างแพร่หลายและเห็นเป็นรูปธรรม “การจัดงานเสวนาในครั้งนี้จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมงานได้รับประโยชน์ ข้อคิด และมุมมองที่น่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์หรือต่อยอดการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสำนักงาน คปภ. ในการสร้าง Insurance Community ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านประกันภัย รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประกันภัยของภูมิภาคอาเซียน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
นายไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเบี้ยประกันภัยสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการประกันภัยสุขภาพได้ยาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือเร่งด่วนกับภาคธุรกิจเพื่อหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม และต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้เอาประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ ที่เป็นทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น กรณีที่มีอาการป่วยเล็กน้อย ให้สามารถไปซื้อยาได้เองจากร้านขายยา หรือกรณีที่ให้ผู้ป่วยร้องขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยาเองจากร้านขายยา เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ชะลอการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัย พร้อมทั้งได้จัดเตรียมทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการประกันภัยสุขภาพ ภาคสมัครใจ เพื่อกำหนดแผนดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการประกันภัยสุขภาพแบบยั่งยืนที่ไม่ใช่แก้ไขปัญหาเฉพาะบางประเด็น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยในการนำเสนอแนวทางปฏิบัติและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ อีกทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถวางแผนใช้ประกันภัยสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนและความเป็นธรรมให้กับระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศไทย
ในส่วนของภาคธุรกิจประกันชีวิต ได้เสนอแนวปฏิบัติในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เบี้ยประกันภัยสูงจนผู้เอาประกันภัยไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ใน 3 ข้อ ดังนี้ 1. กำหนดหลักเกณฑ์ ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) หากผู้เอาประกันภัยมีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีการเคลมด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ร้อยละ 200 ของเบี้ยประกันภัยในปีต่ออายุ ทั้งนี้บริษัทต้องมีการแจ้งรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณา Simple Diseases ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรคและข้อมูลทางคลินิกสำหรับการป่วยเล็กน้อยทั่วไปให้ผู้เอาประกันภัยได้ทราบตั้งแต่ตอนเสนอขาย 2. กำหนดให้มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการศัลยกรรมและการทำหัตถการของแพทย์ ตามอัตราค่าธรรมเนียมในการศัลยกรรมและการทำหัตถการของแพทย์ไม่เกิน 100% ของค่าธรรมเนียมแพทย์ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาประเทศไทย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนค่าธรรมเนียมแพทย์ และ 3. พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เฉพาะกลุ่มการป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเด็ก ซึ่งเปราะบางกว่ากลุ่มอายุอื่น
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ชี้แจงภาคธุรกิจว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต (New Health Standard) โดยภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งนายทะเบียนได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ Simple Diseases สำหรับเด็กให้มีความเหมาะสมก็สามารถดำเนินการได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ โดยปัจจุบัน สมาคมประกันชีวิตไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมถึงกลยุทธ์หรือเครื่องมือในการควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม และจะได้นำเสนอให้สำนักงาน คปภ. ทราบเพิ่มเติมต่อไป