January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

บริษัทผู้พัฒนา Blockchain และเทคโนโลยีแนวหน้าของประเทศไทย เปิดตัว Thailand Blockchain Working Group (TBWG)

หากจะหาผู้รู้ในวงการ Cryptocurrency ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา Z Coin ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.สตางค์ คอร์ปอเรชัน จำกัด และ TDAX เว็บซื้อขาย Cryptocurrency จัดว่าเป็นหนึ่งในคนไทยที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของเงินตราดิจิทัลนี้ทั้งในฐานะผู้สร้างเหรียญกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนรวมถึงกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์  

ปรมินทร์มองสถานการณ์ Crypto-currency ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า การเกิดขึ้นของบิทคอยน์ฟิวเจอร์สส่งผลต่อความคิดของคนทั่วไปที่มีกับ Cryptocurrency อย่างน้อยคนที่เป็นนักลงทุน ปัจจุบัน จะละเลยเรื่องคริปโตไม่ได้ จะมาร่วมหรือดูห่างๆ ต่อไปก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่พูดว่าเป็นทิวลิป (Tulip Mania) เรียบร้อยแล้ว คนต้องศึกษามากขึ้น เข้าใจตัวเทคโนโลยีมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะมีนักลงทุนหน้าใหม่ ทั้งมีประสบการณ์เทรดในตลาดอื่นๆ มาอยู่แล้วเข้ามาซื้อขายในตลาดนี้มากขึ้น ปีนี้น่าจะเห็นนักลงทุนเข้ามาในตลาดคริปโตมากขึ้น ICO ของคนไทยจะมากขึ้น เพราะมันเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนที่ไม่เสียหุ้น นั่นหมายความว่าบริษัทอาจจะได้เงินไปพัฒนาโปรแกรมหรือพัฒนาระบบของเขาด้วยเงินที่ถือว่าเยอะในระดับหนึ่ง”  

อีกส่วนหนึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้เห็นโอกาสที่ TDAX จะสามารถเปิดตลาดบิทคอยน์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยเพราะนั่นหมายความว่า เมื่อในต่างประเทศสามารถขึ้นมาและนักลงทุนไทยก็สามารถเข้าไปเลือกลงทุนได้ ทำให้เขาเห็นโอกาสที่ TDAX จะเปิดบิทคอยน์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยก็มีเช่นกัน รวมถึงโอกาสของเหรียญอื่นๆ ด้วยเช่นกัน 

“ในทางเทคนิคเราสามารถทำทุกเหรียญให้เป็นฟิวเจอร์ แม้กระทั่ง ICO ที่กำลังจะขึ้น ณ ปัจจุบัน ก็สามารถทำได้ด้วย แต่ประเด็นคือจะมีคนตอบรับในส่วนนี้หรือเปล่า ตอนนี้พวกผมกำลังตรวจสอบกันอยู่”  

อีกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อวงการนี้คือ การที่รัฐบาลเกาหลีใต้เข้ามาควบคุมการซื้อขาย Cryptocurrency เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นแหล่งที่สามารถใช้หลบเลี่ยงภาษี เหรียญสกุลเงินที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับ Z coin จึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ “ทำให้โอกาสที่ Z coin จะสามารถเข้าไปในตลาดเกาหลีใต้ลดลง แต่ไม่ใช่ตัดโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูกันอีกยาว แต่เขาไม่มีนโยบายที่จะปิดกระดานซื้อขาย”  

จากมาตรการของภาครัฐเกาหลีใต้ส่งผลให้กระบวนการทำ KYC ที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อวงการ Crypto-currency ทั่วโลก เพราะภายหลังจากที่รัฐบาลจีนมีมาตรการควบคุมเหรียญสกุลเงินต่างๆ ทำให้นักลงทุนย้ายไปที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจำนวนมาก 

ปรมินทร์เห็นผลที่จะตามมาคือ Exchange ที่อยู่ในต่างประเทศจะขยายตัวออกไปนอกประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และนั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้ ก็อาจจะเข้ามาในประเทศไทย โดยสามารถเลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับตลาดที่มีอยู่แล้วหรือเปิดแข่งกันโดยตรงเลยก็ทำได้ เรื่องนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อ TDAX ที่เขาทำอยู่ 

“หมายความว่าตลาดตรงนี้จะเริ่มมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ว่าไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เป็น Exchange ที่ค่อนข้างจะมั่นคงแล้วในต่างประเทศมาเปิดในไทยมากขึ้น จีนที่เราเข้าใจว่าจีนแบนไป ก็จะพยายามเข้ามาเปิด เกาหลีที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลก็จะพยายามมาเปิด ญี่ปุ่นที่ตลาดค่อนข้างจะโตแล้ว ก็ต้องการมาเปิดในไทยเหมือนกัน กลายเป็นว่า ณ ปัจจุบัน ทุกเจ้าสนใจประเทศไทย แต่ประเด็นคือประเทศไทย ตลาดยังไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น เราอาจจะเห็นว่า ปีนี้อาจจะมีตลาดเกิดขึ้น 5-6 แห่ง และคงมีการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด”  

TDAX ที่ปรมินทร์ดูแลอยู่ก็มีแผนจะขยายตัวไปต่างประเทศเช่นกัน โดยเขาบอกว่า จะใช้วิธีไปร่วมกับพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดเพิ่มเช่นกัน โดยมองประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมาย 

ปรมินทร์อธิบายว่า เราก็ต้องรุกไปเหมือนกัน และรวมออเดอร์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยกัน วอลุ่มการเทรดก็จะเยอะขึ้น ถ้าเราแชร์สภาพคล่องกันแล้วราคาจะใกล้เคียงกัน นั่นเป็นทิศทางที่จะไปในปีนี้”  

ในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เขาบอกว่ายังไม่เห็นคู่แข่งในประเทศที่ชัดเจน เพราะตลาดประเทศไทยยังเล็ก ยังอยู่ในช่วงที่ต้องสร้างการรับรู้และสร้างการใช้จ่ายจริง ทั้งการชักชวนร้านค้าและผู้ใช้งานให้หันมาใช้เงินดิจิทัลผ่านกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หากจะระดมทรัพยากรใส่ลงไปเพื่อสร้างตลาดอาจจะยังไม่คุ้มค่านัก การเตรียมพร้อมรอรับการเติบโตของตลาดจึงเป็นวิธีที่ Satang เลือกใช้ 

 

ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา Z Coin ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.สตางค์ คอร์ปอเรชัน จำกัด และ TDAX

ความท้าทายที่รออยู่ 

ในฐานะของใหม่บนโลกใบนี้ Crypto-currency จึงยังมีความท้าทายรอคอยอยู่ ในเรื่องความเข้าใจและข้อโจมตีต่างๆ ที่ได้รับปรมินทร์มีมุมมองว่า “ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พื้นฐานมุมมองที่เขามีไม่ใช่ว่าผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถูก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะโลกไม่ได้มีด้านเดียว ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย และสามารถพิสูจน์ได้ว่า สุดท้ายจะเป็นตามที่เขาว่าหรือเป็นตามที่เราคิด”  

“ผมมองว่า ถ้าสั้นๆ ง่ายๆ คือ ณ ตอนนี้เรามองจากจุดที่เราอยู่และพยายามหาสิ่งที่ยึดโยงกับบิทคอยน์ แล้วพยายามเอาแนวคิดที่เราคุ้นเคยมาจับ และไม่มีตามแนวคิดนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีสิ่งที่จะมาเชื่อมโยงถ้าเรามองจาก 100 ปีข้างหน้ากลับมา ถ้าบิทคอยน์ประสบความสำเร็จแล้วอีก 100 ปีข้างหน้าเรามองกลับมาก็จะมีอะไรยึดโยงแล้ว เราจะสามารถเชื่อมจุดระหว่างกันได้ แต่ ณ ตอนนี้เรายังเชื่อมไม่ได้ ซึ่งคนที่อยู่ตอนนี้ไม่สามารถเชื่อมได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สามารถเชื่อมได้ในอนาคต ในส่วนนี้จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง น่าจะเป็นทฤษฎีที่ทุกคนยอมรับได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทฤษฎีอาจจะมีผิดอยู่ ยังไม่ได้เป็นกฎ”  

ส่วนการมองว่า Cryptocurrency เป็นฟองสบู่ ปรมินทร์ก็ให้มุมมองว่า “เหมือนเรากำลังพูดถึง ฟองสบู่ด็อทคอม แต่อเมซอนก็ยังรอดมาได้ ถ้าเรามองว่าเป็นฟองสบู่แล้วเราไม่เข้าไปในตลาดเลยก็หมายความว่าเรากำลังพลาดโอกาสอะไรไป แต่แน่นอน ถ้ามองในมุมมองความเสี่ยงก็สูง แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วเราซื้อหุ้นอเมซอนได้ ในความเสี่ยงก็มีโอกาสอยู่ ณ ปัจจุบัน Cryptocurrency ทั้งตลาด มีฟองสบู่ไหม ผมต้องยอมรับว่ามีจริง ในส่วนของ ICO จะเป็นตัวหลักเลย แต่ถ้ามองในมุมผมคือ ตัวนี้เป็นฟองสบู่แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนรู้จัก Cryptocurrency มากขึ้น แต่ก่อนไม่เคยมีคนรู้จัก Ethereum ไม่รู้จัก Smart Contract แต่ปัจจุบันทุกคนอยากลง ICO ทำให้ทุกคนรู้จัก Ethereum รู้จัก Smart Contract ทำให้ทุกคนเห็นว่า บล็อกเชนทำอะไรได้บ้างจาก ICO ที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นว่าต่อให้มันเป็นฟองสบู่ก็ตาม มันกำลังขับเคลื่อนความรับรู้ให้กับคน ให้รู้จักเทคโนโลยีนี้มากขึ้น”  

ICO จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่วงการจะต้องจับตามอง ทั้งเรื่องการเป็นช่องให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดและการเป็นโอกาสให้กับคนทั่วไปได้ศึกษาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเหรียญเหล่านั้น 

ปรมินทร์ให้คำแนะนำว่า Cryptocurrency “เป็นเทคโนโลยีที่เราเข้าไปเรียนรู้ได้ แต่ด้วยปริมาณเงินที่เรารับความเสี่ยงประเภทนี้ได้ ไม่ควรเป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารแล้วเอามาลง เงินที่ผมมองว่าเป็นส่วนที่ทำให้เราเรียนรู้กับเทคโนโลยีไปได้”  

เขามองว่าอีกสัก 5-6 ปี คนในสังคมจะมีความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้น รู้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ นำไปใช้งานได้อย่างไร แม้ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาห้าม เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะไปเติบโตในประเทศที่ไม่ห้ามได้  

เมื่อถามว่าในการทำงานของเขามีปัญหาอะไรที่รอการแก้อยู่ เขาเริ่มด้วยเรื่องบุคลากร เพราะตามแผนงานที่วางไว้ทั้งการขยาย TDAX ไปต่างประเทศ การพัฒนาเหรียญ Z coin ให้มีความเข้มแข็ง สามารถรองรับการเกิดขึ้นใหม่ของเหรียญใหม่ๆ ที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งได้ จำเป็นต้องใช้คนเข้ามาทำงานเหล่านี้ 

เขาบอกว่าการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ของประเทศไทยยังไม่เพียงพอ กำลังคน (ในประเทศ) ไม่เพียงพอ ต้องไปหาจากต่างประเทศ หรืออาจจะตั้งบริษัทที่ต่างประเทศเป็น outsource 

อีกเรื่องที่เขาให้ความสนใจคือกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน “นั่นคือเราทำงานอยู่บนความเสี่ยง ถ้าเปิด exchange ไปแล้ววันดีคืนดีบอกว่าต้องปิดหมด นั่นคือทำไปเยอะแล้ว ถ้าจะแบนก็แบนแต่ทีแรกจะได้ไม่ต้องทำ จะให้เปิดก็บอกตั้งแต่ทีแรกจะได้ทุ่มเต็มที่ เรื่องกฎเกณฑ์ก็เป็นความเสี่ยงที่เราเอามาใส่ไว้ในลิสต์ด้วย”  

 

ว่าด้วยความเป็นผู้นำ 

ปรมินทร์มองว่าการจะรักษาความเป็นผู้นำในวงการ Cryptocurrency ได้จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ หนึ่ง ทางด้านเทคนิคเราต้องแม่นก่อน คือจะทำให้เรารู้ว่าอันไหนควรให้ความสนใจอันไหนที่ควรผ่านไม่ไปตามกระแส และความปลอดภัย ทำแบบไหนปลอดภัย แบบไหนไม่ปลอดภัย เป็นเรื่องเทคนิคล้วนๆ ต่อมาคือเรื่องโอเปอเรชัน ทำอย่างไรให้ลูกค้า มาใช้งานแล้วพอใจ อยู่กับเราต่อไป หลังจากที่เขามั่นใจในเทคนิคแล้ว ตรงนี้เป็นความท้าทายที่ค่อนข้างหนัก โอเปอเรชันในที่นี้ก็รวมไปถึงเรื่องภาษีด้วย เพราะยังไม่มีความแน่นอน พวกผมก็พยายามเซฟตัวเองเหมือนกัน คือทั้งโอเปอเรชันและเทคนิคเป็นสองส่วนรวมกัน จะเป็นผู้นำต้องรักษา 2 เรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งผมเห็นคนที่ล้มเหลวเรื่องเทคนิคก็เยอะแต่บริหารได้เพราะเขาบริหารอย่างอื่นมาก่อน สุดท้ายก็ไปไม่ได้ แต่ถ้าโอเปอเรชันติดก็ไปไม่ได้อยู่ดี”  

ทิ้งท้ายด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างปรมินทร์กับผู้นำในสังคมไทยที่เขามอง เขาบอกว่า อย่างน้อยต้องเปิดใจรับ เปิดใจศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ พร้อมจะอยู่ในสถานะที่เป็นคนไม่รู้อะไรเลยแล้วฟังจากหลายๆ ด้าน และสุดท้ายคือเขาต้องมีความคิดเป็นของตัวเองด้วยหลังจากที่ได้ฟังมามากแล้ว 

ข่าวฮือฮาเกี่ยวกับมูลค่าของ Bitcoin เงินตราอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำนิวไฮให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในโลกการเงิน ที่มีทั้งมองเงินตราดิจิทัลในแง่บวกและลบ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงของกระแส Cryptocurrency บนโลกใบนี้ไปได้

 

และในโลก Cryptocurrency นอกจาก Bitcoin ที่ครองตลาดอยู่กว่าครึ่งแล้ว ยังมีเหรียญดิจิทัลอีกกว่า 1,200 เหรียญในตลาดที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2560) เป็นเรื่องที่น่าดีใจเมื่อพบว่า หนึ่งในเหรียญที่อยู่ในตลาดนี้ มีเหรียญหนึ่งที่เกิดจากมันสมองของคนไทย ผู้มีความมุ่งมั่นกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency

 

Zcoin คือเหรียญที่เรากำลังจะพูดถึง แม้จะยังไม่โด่งดังเท่ากับ Bitcoin แต่ Zcoin ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า คนไทยมีความสามารถที่หลากหลาย ไม่เว้นในสายเทคโนโลยีเข้มข้นอย่างเช่นในวงการ Crytocurrency และเมื่อได้รับโอกาสก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจออกมาได้

 

ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา ZCoin ปัจจุบันยังเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.สตางค์ คอร์ปอเรชัน จำกัด มาเล่าเรื่องราวของ Zcoin และความเป็นไปของโลก Cryptocurrency ที่น่าสนใจนี้

ปรมินทร์เล่าเรื่อง Zcoin ว่า จุดเริ่มต้นมาจากขณะที่ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยส่วนใหญ่นักศึกษาที่ไปเรียนต่อมักจะหางานพิเศษทำ โดยมีงานพิเศษในร้านอาหารเป็นที่นิยมของกลุ่มนักศึกษา แต่เขามองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะใช้สิ่งที่เรียนเกี่ยวกับ Information Security หรือการรักษาความปลอดภัยบนระบบสารสนเทศมาหารายได้ 

 

“ตอนนั้น Crytocurrency เป็นหนึ่งในตัวเลือกของผมเหมือนกัน Bitcoin เพิ่งเพิ่มมูลค่าจาก 300 เหรียญไปที่ 1,300 เหรียญ เป็นปรากฏการณ์ที่ออกข่าวทุกช่อง และทุกเว็บไซต์ คนในฝั่งผมที่เปิดเว็บไซต์ออนไลน์อยู่แล้วก็ได้ดูข่าว ผมก็เริ่มสนใจ Bitcoin และเริ่มศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะหาเงินจาก Bitcoin ได้ด้วยความรู้ที่ผมมีเกี่ยวกับ Information Security นั่นคือจุดเริ่มต้น ซึ่งพอเข้าไปศึกษา ผมก็มองว่า Bitcoin จะมีการขุด แก้โจทย์คณิตศาสตร์แข่งกันแล้วได้ Bitcoin ไป ผมก็เข้าไปคลุกคลีในช่วงเวลาหนึ่ง และมองว่าผมยังมีศักยภาพหรือมีความรู้ที่มากกว่าการทำแบบนั้น และมองว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมา จากการที่มีความรู้อยู่แล้ว และไปดูตัวซอร์สโค้ดของ Bitcoin ที่เขาโอเพ่นซอร์สอยู่แล้ว ก็เริ่มศึกษามาตั้งแต่ตอนนั้นและใช้หัวข้อนี้ในการจบปริญญาโทด้วย ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษา ก็ทำวิจัยทางด้านนี้ด้วย” 

 

หัวข้องานวิจัยสำหรับจบปริญญาโทของเขาจึงเป็นการทำธุรกรรมให้เป็นส่วนตัวบนบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Bitcoin และ Crytocurrency อื่น ซึ่งเขาก็สามารถทำได้เข้าตานักลงทุนจนมีผู้มาสนับสนุนด้านเงินทุนและทำเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เวลาทำประมาณ 1 ปี ในชื่อ Zcoin

 

ปรมินทร์ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “สมัยก่อนคนที่จะสร้างเหรียญใหม่พยายามที่จะสร้างบล็อกเชนของตัวเอง Zcoin ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้มีคนต้องการสร้างเหรียญเยอะโดยเอาบิสเนสโมเดลต่างๆ มาจับ ซึ่งการสร้างเหรียญใหม่แล้วต้องมีความรู้ในด้านเทคนิคอลเยอะๆ ก็ค่อนข้างยาก ทาง Ethereum จึงมองว่า จะทำอย่างไรให้คนสร้างเหรียญสร้างได้ง่ายขึ้น เลยทำเป็นแพลตฟอร์มออกมา อำนวยความสะดวกโดยที่ขี่บน Ethereum อีกที ผมทำตัว Zcoin มาก่อน Ethereum จะปล่อยแพลตฟอร์มออกมา เป็นเหตุที่ทำไมผมใช้บล็อกเชนของตัวเอง แทนที่จะขี่บน Ethereum จริงๆ แล้วปัจจุบัน ในทีมงานของผมเองก็ยังมีการเขียนซีคอยน์อยู่บน Ethereum เหมือนกัน โดยใช้เทคโนโลยี Zcoin ที่ชื่อว่า Zero Coin ไปรันบน Ethereum ทำให้คนที่ใช้งาน Ethereum สามารถใช้งานเทคโนโลยีเดียวกันที่อยู่ใน Zcoin ได้” 

 

จุดเด่นของ Zcoin คือความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้คนอื่นได้รู้ว่าเป็นใคร ที่ทำการโอนเงินไปให้ผู้อื่น เช่น นักธุรกิจที่กำลังอยู่ระหว่างเริ่มต้นการร่วมธุรกิจที่ยังไม่อยากให้คู่แข่งทราบ เป็นจุดเด่นที่ Zcoin มาตอบโจทย์เรื่องนี้ซึ่งหากใช้ Bitcoin จะไม่สามารถทำได้ 

 

ปรมินทร์อธิบายว่า “Zcoin ทุกคนเห็นเหมือนกัน แค่ระบุไม่ได้ ยังมีทรานเซกชันเกิดขึ้นอยู่ แต่จากที่เคยระบุได้ก็จะระบุไม่ได้ แต่ทรานเซกชันก็ยังอยู่ในบล็อกเชนอยู่ ระบุที่มาไม่ได้ ใน Bitcoin ถ้าผมสามารถผูกบัญชีกับคนคนหนึ่งได้ นั่นหมายความว่าผมจะรู้แล้วว่าเขามีเงินเท่าไร ทำทรานเซกชันอะไรบ้าง เมื่อไร ผมจะรู้เลยว่าเขาได้เงินมาจากที่ไหนบ้าง และส่งไปที่ไหนบ้าง ซึ่ง Zcoin มีเรื่องของการไม่โชว์ที่มา คือผมสามารถส่งเงินไปที่ปลายทางได้โดยที่ปลายทางได้รับ แต่ไม่ได้ระบุที่มาว่ามาจากไหน” 

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Crytocurrency คือมูลค่าของเหรียญซึ่งเกิดจากการนำราคาของเหรียญคูณด้วยจำนวนเหรียญในระบบ โดยราคาเกิดจากการนำราคาซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนทั่วโลกมาเฉลี่ยกัน เช่น Zcoin มีตลาดที่อินโดนีเซีย อเมริกา จีน และยุโรป ก็นำทั้งหมดมาเฉลี่ยว่ามีมูลค่าต่อเหรียญเท่าไร แล้วคูณกับจำนวนเหรียญที่มี

ปรมินทร์ เล่าว่า “ตอนที่ทำไม่ได้มองว่าจะโตขนาดนี้ ก่อนหน้านี้มองว่าเกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ถือว่ามากแล้ว เพราะด้วยเงินทุนที่เราได้มาเรามองว่า 10-20 เท่าก็เยอะแล้ว แต่ปัจจุบันมูลค่า  มาอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้ แต่เราก็ยังมองว่ามันยังสามารถโตไปได้อีกไกล”

 

จากราคาเริ่มต้นที่เหรียญละ 6 เซนต์ ปัจจุบัน Zcoin มีมูลค่าต่อเหรียญอยู่ที่ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐ และมีปริมาณเหรียญในระบบประมาณ 3 ล้านเหรียญ ติดอยู่ 1 ใน 100 เหรียญของโลก เห็นได้ว่ามีการเติบโตอย่างมาก ปรมินทร์อธิบายเรื่องนี้ว่า “พวกผมเองก็ได้อานิสงส์จาก Bitcoin ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนซึ่งไม่ใช่นักลงทุนมือสมัครเล่น เงินถูกใส่มาในตลาด Crytocurrency มากขึ้นทำให้ Zcoin ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะการที่นักลงทุนอาชีพมาลงทุนในตลาด Crytocurrency เขาจะไม่ได้ลงแค่เหรียญเดียว แต่เขาจะจัดพอร์ตของเขาไป เพื่อลดความเสี่ยง” ในด้านการใช้งานเงินตราดิจิทัล ผู้ก่อตั้ง Zcoin บอกว่ายังมีคนนำเงินเหล่านี้ไปใช้ไม่มากนัก เพราะการนำไปใช้ต้องมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง ร้านค้าต้องเข้าใจกลไกการชำระเงินที่แตกต่างจากระบบที่มีอยู่ เช่น เมื่อจ่าย Bitcoin จะต้องรอเวลาเพื่อให้ระบบทำงานประมาณ 10 นาที ร้านค้าแต่ละร้านต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ และต้องมีแรงกระตุ้นให้เข้ามาใช้งาน เช่น เมื่อเพิ่มการชำระเงินด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วจะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยเขามองว่า เขาเข้ามาได้ถูกจังหวะในช่วงที่ตลาดกำลังมีความสนใจ Crytocurrency รวมถึงผู้กำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ 

 

สำหรับการเลือกลงทุนในเหรียญดิจิทัลเหล่านี้ ปรมินทร์บอกว่า “ถ้าให้เซฟที่สุด คือแบ่งเป็น 3 ชั้น เสี่ยงน้อย เสี่ยงกลาง เสี่ยงสูง เป็นเรื่องการลงทุน เลือกท็อป ตรงกลางและท้ายๆ ไว้ อาจจะเอาลิสต์มาดู 1-10 เลือกสัก 1-2 เหรียญ 20-50 เลือกสัก 1 เหรียญ 50-100 อีกเหรียญ แค่นี้ก็พอแล้ว ผมมองว่าตั้งแต่ 150 ไปเริ่มเสี่ยงไป บางทีเขาทำขึ้นมาไม่ได้ซีเรียสกับเหรียญที่ทำ จะลงเหรียญอะไร ถ้าไม่อยู่ใน 1-10 ต้องศึกษาดีๆ เหมือนหุ้นบลูชิป ที่มีความมั่นคงกว่า 

 

ในแง่การใช้งาน ผมก็ยังแนะนำ Bitcoin เพราะเกิดมาก่อนเขา วอลุ่มในการเทรดค่อนข้างเยอะเกินครึ่ง เราสามารถเอาไปใช้ที่ประเทศไหนก็ได้ มีตลาดทั่วโลก เป็นตลาดใหญ่ที่สุดแล้ว ถือ Bitcoin ความเสี่ยงที่จะไปที่ประเทศนั้นแล้วเอาออกไม่ได้มีน้อยกว่า อารมณ์เหมือนถือยูเอสดอลลาร์กับเงินประเทศเล็กๆ”  

 

บล็อกเชนสังคมแห่งการตรวจสอบ

ปริมินทร์กล่าวถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนว่า มีความน่าสนใจแตกต่างจากซอฟต์แวร์ทั่วไป โดยยกตัวอย่างเช่น การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ทั่วไปจะมีการทำกันอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับบล็อกเชนการทำเช่นนั้นทำได้ยาก “ในส่วนของบล็อกเชนเราจะอัปเกรดแบบนั้นไม่ได้ การอัปเดตหนึ่งทีอาจจะใช้เวลาเป็นปี เพราะว่าผู้ใช้งานกระจายอยู่ทั่วโลก และการที่เราขออัปเดต ก็จะเกิดกรณีที่ว่าคุณเป็นใครมาสั่งให้เราอัปเดตซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์ที่คุณให้เราอัปเดตมีความปลอดภัยมากแค่ไหน มีแบ็กดอว์ฝังไปบ้างหรือเปล่า คนอื่นก็ต้องการตรวจสอบด้วย และการเอาซอฟต์แวร์พวกนี้ไปรันบนฮาร์ดแวร์ขนาดเล็ก ตู้เอทีเอ็มต่างๆ นั่นคืออุปกรณ์เหล่านั้นก็ต้องอัปเดต ด้วย ซึ่งไม่สามารถสั่งให้อัปเดตทีเดียวได้ เพราะเขาเองก็ไม่ได้เชื่อใจผม เขาก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบ ในบล็อกเชน ไม่มีใครเชื่อใจกันทั้งสิ้น เช่น Zcoin ประกาศว่าจะมีการอัปเกรดใน 3 อาทิตย์ข้างหน้า ซอร์สโค้ดเราปล่อยออกแล้ว ตัวซอฟต์แวร์เราปล่อยเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถนำไปรันได้เลย เพราะอีก 3 อาทิตย์ข้างหน้าอันเก่าใช้งานไม่ได้แล้ว มันไม่สามารถวันนี้เอาไปเลย”

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click