หากจะหาผู้รู้ในวงการ Cryptocurrency ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา Z Coin ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.สตางค์ คอร์ปอเรชัน จำกัด และ TDAX เว็บซื้อขาย Cryptocurrency จัดว่าเป็นหนึ่งในคนไทยที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของเงินตราดิจิทัลนี้ทั้งในฐานะผู้สร้างเหรียญกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนรวมถึงกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์
ปรมินทร์มองสถานการณ์ Crypto-currency ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า การเกิดขึ้นของบิทคอยน์ฟิวเจอร์สส่งผลต่อความคิดของคนทั่วไปที่มีกับ Cryptocurrency “อย่างน้อยคนที่เป็นนักลงทุน ณ ปัจจุบัน จะละเลยเรื่องคริปโตไม่ได้ จะมาร่วมหรือดูห่างๆ ต่อไปก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่พูดว่าเป็นทิวลิป (Tulip Mania) เรียบร้อยแล้ว คนต้องศึกษามากขึ้น เข้าใจตัวเทคโนโลยีมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะมีนักลงทุนหน้าใหม่ ทั้งมีประสบการณ์เทรดในตลาดอื่นๆ มาอยู่แล้วเข้ามาซื้อขายในตลาดนี้มากขึ้น ปีนี้น่าจะเห็นนักลงทุนเข้ามาในตลาดคริปโตมากขึ้น ICO ของคนไทยจะมากขึ้น เพราะมันเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนที่ไม่เสียหุ้น นั่นหมายความว่าบริษัทอาจจะได้เงินไปพัฒนาโปรแกรมหรือพัฒนาระบบของเขาด้วยเงินที่ถือว่าเยอะในระดับหนึ่ง”
อีกส่วนหนึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้เห็นโอกาสที่ TDAX จะสามารถเปิดตลาดบิทคอยน์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยเพราะนั่นหมายความว่า เมื่อในต่างประเทศสามารถขึ้นมาและนักลงทุนไทยก็สามารถเข้าไปเลือกลงทุนได้ ทำให้เขาเห็นโอกาสที่ TDAX จะเปิดบิทคอยน์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยก็มีเช่นกัน รวมถึงโอกาสของเหรียญอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
“ในทางเทคนิคเราสามารถทำทุกเหรียญให้เป็นฟิวเจอร์ แม้กระทั่ง ICO ที่กำลังจะขึ้น ณ ปัจจุบัน ก็สามารถทำได้ด้วย แต่ประเด็นคือจะมีคนตอบรับในส่วนนี้หรือเปล่า ตอนนี้พวกผมกำลังตรวจสอบกันอยู่”
อีกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อวงการนี้คือ การที่รัฐบาลเกาหลีใต้เข้ามาควบคุมการซื้อขาย Cryptocurrency เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นแหล่งที่สามารถใช้หลบเลี่ยงภาษี เหรียญสกุลเงินที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับ Z coin จึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ “ทำให้โอกาสที่ Z coin จะสามารถเข้าไปในตลาดเกาหลีใต้ลดลง แต่ไม่ใช่ตัดโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูกันอีกยาว แต่เขาไม่มีนโยบายที่จะปิดกระดานซื้อขาย”
จากมาตรการของภาครัฐเกาหลีใต้ส่งผลให้กระบวนการทำ KYC ที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อวงการ Crypto-currency ทั่วโลก เพราะภายหลังจากที่รัฐบาลจีนมีมาตรการควบคุมเหรียญสกุลเงินต่างๆ ทำให้นักลงทุนย้ายไปที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจำนวนมาก
ปรมินทร์เห็นผลที่จะตามมาคือ Exchange ที่อยู่ในต่างประเทศจะขยายตัวออกไปนอกประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และนั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้ ก็อาจจะเข้ามาในประเทศไทย โดยสามารถเลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับตลาดที่มีอยู่แล้วหรือเปิดแข่งกันโดยตรงเลยก็ทำได้ เรื่องนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อ TDAX ที่เขาทำอยู่
“หมายความว่าตลาดตรงนี้จะเริ่มมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ว่าไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เป็น Exchange ที่ค่อนข้างจะมั่นคงแล้วในต่างประเทศมาเปิดในไทยมากขึ้น จีนที่เราเข้าใจว่าจีนแบนไป ก็จะพยายามเข้ามาเปิด เกาหลีที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลก็จะพยายามมาเปิด ญี่ปุ่นที่ตลาดค่อนข้างจะโตแล้ว ก็ต้องการมาเปิดในไทยเหมือนกัน กลายเป็นว่า ณ ปัจจุบัน ทุกเจ้าสนใจประเทศไทย แต่ประเด็นคือประเทศไทย ตลาดยังไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น เราอาจจะเห็นว่า ปีนี้อาจจะมีตลาดเกิดขึ้น 5-6 แห่ง และคงมีการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด”
TDAX ที่ปรมินทร์ดูแลอยู่ก็มีแผนจะขยายตัวไปต่างประเทศเช่นกัน โดยเขาบอกว่า จะใช้วิธีไปร่วมกับพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดเพิ่มเช่นกัน โดยมองประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมาย
ปรมินทร์อธิบายว่า “เราก็ต้องรุกไปเหมือนกัน และรวมออเดอร์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยกัน วอลุ่มการเทรดก็จะเยอะขึ้น ถ้าเราแชร์สภาพคล่องกันแล้วราคาจะใกล้เคียงกัน นั่นเป็นทิศทางที่จะไปในปีนี้”
ในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เขาบอกว่ายังไม่เห็นคู่แข่งในประเทศที่ชัดเจน เพราะตลาดประเทศไทยยังเล็ก ยังอยู่ในช่วงที่ต้องสร้างการรับรู้และสร้างการใช้จ่ายจริง ทั้งการชักชวนร้านค้าและผู้ใช้งานให้หันมาใช้เงินดิจิทัลผ่านกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หากจะระดมทรัพยากรใส่ลงไปเพื่อสร้างตลาดอาจจะยังไม่คุ้มค่านัก การเตรียมพร้อมรอรับการเติบโตของตลาดจึงเป็นวิธีที่ Satang เลือกใช้
ความท้าทายที่รออยู่
ในฐานะของใหม่บนโลกใบนี้ Crypto-currency จึงยังมีความท้าทายรอคอยอยู่ ในเรื่องความเข้าใจและข้อโจมตีต่างๆ ที่ได้รับปรมินทร์มีมุมมองว่า “ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พื้นฐานมุมมองที่เขามีไม่ใช่ว่าผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถูก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะโลกไม่ได้มีด้านเดียว ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย และสามารถพิสูจน์ได้ว่า สุดท้ายจะเป็นตามที่เขาว่าหรือเป็นตามที่เราคิด”
“ผมมองว่า ถ้าสั้นๆ ง่ายๆ คือ ณ ตอนนี้เรามองจากจุดที่เราอยู่และพยายามหาสิ่งที่ยึดโยงกับบิทคอยน์ แล้วพยายามเอาแนวคิดที่เราคุ้นเคยมาจับ และไม่มีตามแนวคิดนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีสิ่งที่จะมาเชื่อมโยงถ้าเรามองจาก 100 ปีข้างหน้ากลับมา ถ้าบิทคอยน์ประสบความสำเร็จแล้วอีก 100 ปีข้างหน้าเรามองกลับมาก็จะมีอะไรยึดโยงแล้ว เราจะสามารถเชื่อมจุดระหว่างกันได้ แต่ ณ ตอนนี้เรายังเชื่อมไม่ได้ ซึ่งคนที่อยู่ตอนนี้ไม่สามารถเชื่อมได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สามารถเชื่อมได้ในอนาคต ในส่วนนี้จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง น่าจะเป็นทฤษฎีที่ทุกคนยอมรับได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทฤษฎีอาจจะมีผิดอยู่ ยังไม่ได้เป็นกฎ”
ส่วนการมองว่า Cryptocurrency เป็นฟองสบู่ ปรมินทร์ก็ให้มุมมองว่า “เหมือนเรากำลังพูดถึง ฟองสบู่ด็อทคอม แต่อเมซอนก็ยังรอดมาได้ ถ้าเรามองว่าเป็นฟองสบู่แล้วเราไม่เข้าไปในตลาดเลยก็หมายความว่าเรากำลังพลาดโอกาสอะไรไป แต่แน่นอน ถ้ามองในมุมมองความเสี่ยงก็สูง แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วเราซื้อหุ้นอเมซอนได้ ในความเสี่ยงก็มีโอกาสอยู่ ณ ปัจจุบัน Cryptocurrency ทั้งตลาด มีฟองสบู่ไหม ผมต้องยอมรับว่ามีจริง ในส่วนของ ICO จะเป็นตัวหลักเลย แต่ถ้ามองในมุมผมคือ ตัวนี้เป็นฟองสบู่แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนรู้จัก Cryptocurrency มากขึ้น แต่ก่อนไม่เคยมีคนรู้จัก Ethereum ไม่รู้จัก Smart Contract แต่ปัจจุบันทุกคนอยากลง ICO ทำให้ทุกคนรู้จัก Ethereum รู้จัก Smart Contract ทำให้ทุกคนเห็นว่า บล็อกเชนทำอะไรได้บ้างจาก ICO ที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นว่าต่อให้มันเป็นฟองสบู่ก็ตาม มันกำลังขับเคลื่อนความรับรู้ให้กับคน ให้รู้จักเทคโนโลยีนี้มากขึ้น”
ICO จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่วงการจะต้องจับตามอง ทั้งเรื่องการเป็นช่องให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดและการเป็นโอกาสให้กับคนทั่วไปได้ศึกษาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเหรียญเหล่านั้น
ปรมินทร์ให้คำแนะนำว่า Cryptocurrency “เป็นเทคโนโลยีที่เราเข้าไปเรียนรู้ได้ แต่ด้วยปริมาณเงินที่เรารับความเสี่ยงประเภทนี้ได้ ไม่ควรเป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารแล้วเอามาลง เงินที่ผมมองว่าเป็นส่วนที่ทำให้เราเรียนรู้กับเทคโนโลยีไปได้”
เขามองว่าอีกสัก 5-6 ปี คนในสังคมจะมีความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้น รู้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ นำไปใช้งานได้อย่างไร แม้ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาห้าม เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะไปเติบโตในประเทศที่ไม่ห้ามได้
เมื่อถามว่าในการทำงานของเขามีปัญหาอะไรที่รอการแก้อยู่ เขาเริ่มด้วยเรื่องบุคลากร เพราะตามแผนงานที่วางไว้ทั้งการขยาย TDAX ไปต่างประเทศ การพัฒนาเหรียญ Z coin ให้มีความเข้มแข็ง สามารถรองรับการเกิดขึ้นใหม่ของเหรียญใหม่ๆ ที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งได้ จำเป็นต้องใช้คนเข้ามาทำงานเหล่านี้
เขาบอกว่าการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ของประเทศไทยยังไม่เพียงพอ กำลังคน (ในประเทศ) ไม่เพียงพอ ต้องไปหาจากต่างประเทศ หรืออาจจะตั้งบริษัทที่ต่างประเทศเป็น outsource
อีกเรื่องที่เขาให้ความสนใจคือกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน “นั่นคือเราทำงานอยู่บนความเสี่ยง ถ้าเปิด exchange ไปแล้ววันดีคืนดีบอกว่าต้องปิดหมด นั่นคือทำไปเยอะแล้ว ถ้าจะแบนก็แบนแต่ทีแรกจะได้ไม่ต้องทำ จะให้เปิดก็บอกตั้งแต่ทีแรกจะได้ทุ่มเต็มที่ เรื่องกฎเกณฑ์ก็เป็นความเสี่ยงที่เราเอามาใส่ไว้ในลิสต์ด้วย”
ว่าด้วยความเป็นผู้นำ
ปรมินทร์มองว่าการจะรักษาความเป็นผู้นำในวงการ Cryptocurrency ได้จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ “หนึ่ง ทางด้านเทคนิคเราต้องแม่นก่อน คือจะทำให้เรารู้ว่าอันไหนควรให้ความสนใจอันไหนที่ควรผ่านไม่ไปตามกระแส และความปลอดภัย ทำแบบไหนปลอดภัย แบบไหนไม่ปลอดภัย เป็นเรื่องเทคนิคล้วนๆ ต่อมาคือเรื่องโอเปอเรชัน ทำอย่างไรให้ลูกค้า มาใช้งานแล้วพอใจ อยู่กับเราต่อไป หลังจากที่เขามั่นใจในเทคนิคแล้ว ตรงนี้เป็นความท้าทายที่ค่อนข้างหนัก โอเปอเรชันในที่นี้ก็รวมไปถึงเรื่องภาษีด้วย เพราะยังไม่มีความแน่นอน พวกผมก็พยายามเซฟตัวเองเหมือนกัน คือทั้งโอเปอเรชันและเทคนิคเป็นสองส่วนรวมกัน จะเป็นผู้นำต้องรักษา 2 เรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งผมเห็นคนที่ล้มเหลวเรื่องเทคนิคก็เยอะแต่บริหารได้เพราะเขาบริหารอย่างอื่นมาก่อน สุดท้ายก็ไปไม่ได้ แต่ถ้าโอเปอเรชันติดก็ไปไม่ได้อยู่ดี”
ทิ้งท้ายด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างปรมินทร์กับผู้นำในสังคมไทยที่เขามอง เขาบอกว่า “อย่างน้อยต้องเปิดใจรับ เปิดใจศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ พร้อมจะอยู่ในสถานะที่เป็นคนไม่รู้อะไรเลยแล้วฟังจากหลายๆ ด้าน และสุดท้ายคือเขาต้องมีความคิดเป็นของตัวเองด้วยหลังจากที่ได้ฟังมามากแล้ว”