บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) บริษัทในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX Group) ร่วมกับ บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ asap ผู้ให้บริการรถยนต์ให้เช่าของประเทศไทย ประกาศความสำเร็จในการพัฒนา “Utility Token พร้อมใช้” ภายใต้ชื่อโทเคน “asap coin”
มุ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและรถยนต์ที่หลากหลายของบริษัทได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม (Customer Engagement) ระหว่างลูกค้าและองค์กรด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ด้านการเดินทางที่เหนือกว่าและไม่เคยมีมาก่อน ผ่านการนำระบบบล็อกเชนและ Tokenization มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมิติใหม่กับธุรกิจให้บริการรถเช่าครบวงจรของประเทศไทย โดยเปิดให้ลูกค้าสามารถใช้งาน “asap coin” บนแอปพลิเคชัน asap ได้แล้ววันนี้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Token X ในการเป็น “Tokenization Success Partner” ร่วมสร้างความสำเร็จร่วมกับลูกค้าองค์กรจากหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย
นายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ asap กล่าวว่า “asap ในฐานะผู้ให้บริการรถยนต์ให้เช่าชั้นนำของเมืองไทย เรายังคงเดินหน้าสานต่อกลยุทธ์ธุรกิจหลักในการมุ่งขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มลูกค้าองค์กรไปสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่รองรับทุกไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจการเดินทางและรถยนต์แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการ บริการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้น (Drive) บริการรถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับ (Limousine) ไลฟ์สไตล์ สตรีทมอลล์ (asap Auto Park) แฟรนไชส์ asap Select แพลตฟอร์มซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยน และประมูลออนไลน์ (Casap) และขายประกันภัย (asap Protect) ฯลฯ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มีการนําเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพัฒนาแอปพลิเคชัน asap ตามแนวคิด Mobility Solution Driven จนมาถึง ความร่วมมือกับ Token X ในการพัฒนา “asap coin” บนแอปพลิเคชัน asap ในครั้งนี้ เพื่อสร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถของแอปพลิเคชัน asap ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการง่ายขึ้น รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า โดยลูกค้าสามารถรับ “asap coin” ผ่าน แอปพลิเคชัน asap จากการร่วมกิจกรรมมากมายของบริษัท และสามารถนำ “asap coin” มาแลกส่วนลดสินค้าและบริการ หรือเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อแลกรับสินค้าและบริการ รวมถึงสิทธิพิเศษของบริษัทและพันธมิตรชั้นนำ เช่น บริการจองรถเช่ารายวัน บริการรถหรูในวันสำคัญ รวมไปถึงการซื้อประกัน หรือ ซื้อขายแลกเปลี่ยนรถมือสอง ฯลฯ โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มใหม่และยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้ารูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคตพร้อมสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมต่อทุกสินค้าและบริการได้ด้วยโทเคนดิจิทัลเดียว เพื่อสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่อย่างเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับใช้
นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) กล่าวว่า “หลังจาก Token X และ asap ได้ร่วมมือกันศึกษาโอกาสทางธุรกิจในการจัดทำโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือ “Utility Token พร้อมใช้” ภายใต้ชื่อโทเคน “asap coin” บนแอปพลิเคชัน asap เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเราได้ให้บริการด้าน Tokenization แบบครบวงจร (End-to-End Tokenization Service) เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษาและออกแบบโทเคนดิจิทัล รวมถึงโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับองค์กรซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แอปพลิเคชัน asap สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบบล็อกเชนและสามารถออกโทเคนดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายบนเครือข่ายบล็อกเชน TKX Chain ที่พัฒนาขึ้นโดย Token X ซึ่งวันนี้การออก “asap coin” ได้ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาใช้ได้จริงบนแอปพลิเคชัน asap แล้ว โดยเรามุ่งหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกค้าของ asap สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและรถยนต์ ของ asap ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม (Customer Engagement) ระหว่างลูกค้าและองค์กรด้วย
สิทธิประโยชน์ด้านการเดินทางที่เหนือกว่า นับเป็น use case ที่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและโทเคนดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเดินทางได้อย่างแท้จริง ก่อนเดินหน้าวางรากฐานด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและโทเคนดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ร่วมกับลูกค้าองค์กรในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันธุรกิจในประเทศไทย ให้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
“asap coin” เป็น Utility Token พร้อมใช้ ที่มีการกําหนดจำนวนโทเคนดิจิทัล หรือสิทธิที่เฉพาะเจาะจงในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการของบริษัทและพันธมิตร โดยสามารถพร้อมใช้ได้ทันทีในวันที่ออกและกระจายโทเคนดิจิทัล ผ่านทางแอปพลิเคชัน asap
โดยในช่วงเปิดตัวนี้ บริษัทได้มอบสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้าที่สนใจใช้บริการ แอปพลิเคชัน asap โดยลูกค้าบุคคลทั่วไปที่เปิดใช้งาน Digital Wallet ผ่าน แอปพลิเคชัน asap เป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566 – 3 กันยายน 2566 รับทันที Airdrop “asap coin” จำนวน 500 asap coin (แลกรับ voucher ส่วนลดเงินสดสูงสุด 280 บาท) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ www.asapcoin.co
จักรพงศ์ ธรรมวิเศษศรี ประธานกรรมการบริหาร ควินท์ เรล์ม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการควินทิลเลียน เบิร์ก (QUiNTILLION BURGH) เมืองอัจฉริยะท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อผู้อยู่อาศัยวัยเกษียณจากทั่วโลก ที่รองรับการใช้ควินท์ คอยน์ กล่าวว่า “ในระหว่างที่ทิศทางของวงการ
คริปโตเคอเรนซีเมืองไทยกำลังเดินหน้าไปด้วยดี และอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจกำลังขอใบอนุญาต ทางเราอาศัยจังหวะนี้ออกโรดโชว์ในต่างประเทศ พบว่ามีชาวต่างชาติให้ความสนใจโครงการของเราเป็นจำนวนมาก ในทางเดียวกันก็ทำให้เกิดความต้องการซื้อขายเหรียญมากเกินความคาดหมาย เราจึงตัดสินใจนำควินท์ คอยน์ ขึ้นเทรดบนกระดานต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกที่กำลังให้ความสนใจซื้อขายเหรียญของเรา”
โดยควินท์ เรล์ม บี.วี. พา ควินท์ คอยน์ (QUiNT COIN) ขึ้นเทรดวันแรก 8 สิงหาคม 2561 บน EXRATES กระดานซื้อขายอันดับที่ 35 ของโลก ที่ลิสต์เหรียญมากกว่า 120 สกุล
ควินท์ คอยน์ คือการระดมทุนในรูปแบบไอซีโอ (ICO: Initial Coin Offering) จำนวน 1,250 ล้านโทเคน เสนอแก่ผู้ที่สนใจจากทั่วโลก ในราคาเหรียญละ 0.024 ดอลลาร์สหรัฐ/โทเคน หรือประมาณ 0.75 บาท/โทเคน ซึ่งสิ้นสุดการเสนอขายไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา รวมยอด ได้ทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 661 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของโครงการควินทิลเลียน เบิร์ก
จักรพงศ์บอกว่า ควินทิลเลียน เบิร์ก เป็นโครงการที่สามารถใช้ควินท์ คอยน์ ซื้อสิทธิในการอยู่อาศัย หรือใช้จ่ายภายในโครงการได้ นับได้ว่าเป็นโครงการแห่งอนาคตที่คนทั่วโลกกำลังมองหา จึงมั่นใจเป็นอย่างมากว่าราคาซื้อขายของควินท์ คอยน์ จะสามารถรักษาระดับได้ดี ทั้งจากผู้ต้องการอยู่อาศัยจริงและจากผู้มองเห็นโอกาสในการลงทุน
โดยโครงการควินทิลเลียน เบิร์ก (QUiNTILLION BURGH) จะสร้างบนพื้นที่ขนาดประมาณ 3,200 ไร่ หรือประมาณ 4.8 ตารางกิโลเมตร ใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ มีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาบริหารจัดการโครงการอย่างเต็มศักยภาพในทุกส่วน โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ซึ่งสำรวจแล้วว่าเป็นความต้องการหลักของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายวัยเกษียณจากทั่วโลกที่ปรารถนาจะเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทย
Crescent Crypto Asset Management ผู้จัดการกองทุนดัชนีสกุลเงินดิจิทัล ที่นำโดยศิษย์เก่าโกลด์แมน แซคส์ ประกาศปิดการระดมทุน Series A และเปิดตัวกองทุนต่างประเทศ Offshore Cayman โดยการระดมทุนรอบนี้นำโดย FBG Capital ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบล็อกเชน ตั้งแต่การลงทุนในโทเคน การซื้อขาย เช่น principal trading, over-the-counter ("OTC") trading ไปจนถึงกลยุทธ์การลงทุนประเภทต่าง ๆ ได้เข้ามาลงทุน พร้อมนำเครือข่ายและความรู้ในอุตสาหกรรมมาสู่ Crescent
FBG จะอาศัยความได้เปรียบจากฐานการดำเนินงานระดับโลกที่แข็งแกร่ง เพื่อช่วยสนับสนุน Crescent ในการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ สำหรับกลุ่มกองทุนเชิงรับ (passive fund) ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ นอกจากนี้ FBG จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของตนเองเพื่อช่วย Crescent พัฒนาและนำผลิตภัณฑ์เหรียญดิจิทัลหลายสกุลเข้าจดทะเบียนในตลาดการเงินแบบดั้งเดิม
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะถูกนำไปใช้ในการขยายทีมงาน ว่าจ้างผู้บริหารระดับอาวุโสประจำฝ่ายขายและการพัฒนาธุรกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่บุคลากรที่มีความสามารถจากบริษัทวาณิชธนกิจและผู้ให้บริการ ETF ชั้นนำ ซึ่งมีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะผลักดันสกุลเงินดิจิทัลเข้าสู่ตลาดกระแสหลักเช่นเดียวกันกับบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งใจที่จะนำเงินทุนที่ได้มาใช้สร้างแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาและการวิจัยสินทรัพย์ดิจิทัลอีกด้วย
กองทุนต่างประเทศ (Offshore Fund) กำหนดมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่ 250,000 ดอลลาร์ และขณะนี้เปิดรับใบจองซื้อแล้ว โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการ 2% และสามารถใช้สิทธิไถ่ถอนเป็นรายไตรมาส
Crescent Crypto เปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิของปี 2560 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททุกคนเริ่มต้นการทำงานที่โกลด์แมน แซคส์ ก่อนที่จะไปสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติมในกองทุนเฮดจ์ฟันด์และธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยมี Crescent 20 Index Fund เป็นกองทุนเรือธง โดยเป็นกองทุนดัชนีสกุลเงินดิจิทัลที่บริหารจัดการโดยเอกชน ที่มุ่งเน้นผลตอบแทนการลงทุนในโลกของคริปโตด้วยแนวทางเชิงรับและมีกฎเกณฑ์ กลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวปรับตัวตามความผันผวน สภาพคล่อง และการจัดเก็บที่ปลอดภัย (safe storage) และได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ไม่ซับซ้อนสำหรับนักลงทุน กองทุน Crescent 20 Index ครอบคลุมมูลค่าตลาดรวมประมาณ 90% ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล กองทุนถูกจัดเก็บในรูปแบบ Cold Storage ทั้ง 100% และมีการปรับสัดส่วนกองทุนเป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้ กองทุนในประเทศ (onshore fund) จำกัดการลงทุนให้กับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (accredited investor) เท่านั้น ด้วยมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่ 100,000 ดอลลาร์
"เมื่อกล่าวถึง Disruptive Technologies ซึ่งนานๆทีจะเกิดสักครั้ง แต่นั่นหมายถึงเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer behavior) หรือ Lifestyle ของผู้คนครั้งสำคัญ เหมือนเช่นดั่งในปี 1975 ที่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(Personal computer) เป็น Disruptive platform เป็น infrastructure ที่เปิดโอกาสให้คนอย่าง บิล เกตต์ สร้างแอพพลิเคชั่นมาเปลี่ยนแปลงโลกจนทุกวันนี้ที่ไม่มีใครไม่ใช้ Personal computer และอีกครั้งในเวลาต่อมาคือในปี 1990 ที่เทคโนโลยี อินเทอร์เนต TCP/IP ก็เป็น Infrastructure รอบใหม่ที่เปิดโอกาสให้คนอย่าง มาร์ก ซัคเกอร์เบริก สร้างแอพพริเคชั่น facebook หรือ แลร์รี่ เพจ สร้าง Google ขึ้นมาและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกดังเช่นที่เห็นกันในทุกวันนี้"
สำหรับรอบนี้ถือเป็นความโชคดีของคนในยุคนี้ที่จะมีโอกาสได้ใช้ Blockchain ซึ่งจะเป็น Disruptive Technology เป็น Infrastructure ของ Generation โดยที่ผ่านมามี Bitcoin ที่พวกเราแทบทุกคนรู้จักกันดีทั่วโลก เป็นแอพพริเคชั่นตัวแรกซึ่งถูกปล่อยออกมาในปี 2009 แต่ในเวลาไม่ถึง 9 ปี ธนาคารทั่วโลกต้องขยับตัวกันอย่างมหาศาล หรือกระทั่งวงการระดมทุนที่เรียกว่า ICO จะเห็นได้ว่าในปี 2017 มูลค่าการลงทุนผ่าน ICO ปีเดียวมากกว่า VC ทั่วโลกรวมกัน
"หมายความว่า Blockchain คือ Disruptive platform ตัวต่อไปที่ทุกวงการจะต้องหันมาใช้ เหมือนกับที่เคยต้องหันมาใช้ Personal computer และ Internet TCP/IP ในทำนองเดียวกัน" นั่นคือ Talk บทเปิดของ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา บนเวที Thailand MBA Forum 2018
Blockchain Technology
เปลี่ยนผ่าน Internet of information → Internet of Value
"ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" Group CEO Blockchain Capital, Group Holdings Co.,Ltd. ได้บรรยายถึงหัวใจสำคัญของ บล็อกเชน เทคโนโลยี ซึ่งเป็น layer ที่สองของอินเตอร์เน็ท ที่มีพัฒนาการเหนือไปกว่ายุคแรกที่เป็น TCP/IP ที่เป็น Internet of Information ซึ่งส่งผ่านได้เพียงข้อมูล แต่สำหรับ บล็อกเชน เป็นอินเตอร์เน็ทที่มีความสามารถเหนือไปกว่า เพราะสามารถที่จะส่งผ่านสิ่งที่เรียกว่า "มูลค่า" (Value) ออกไปได้ด้วย โดยไม่ต้องผ่านเทคโนโลยีของตัวกลางดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไป และแปลว่าในอนาคตอันใกล้ เหล่ากลไกตัวกลางในวงการแลกเปลี่ยนต่างๆ จะต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่
"ท๊อป จิรายุส" ยกกรณีตัวอย่างของวงการแลกเปลี่ยนมูลค่า อย่างเช่น การโอนเงินที่เคยมีธนาคารเป็นตัวกลาง การซื้อขายหุ้นที่เคยต้องผ่านโบรคเกอร์ หรือกระทั่งการซื้อขายที่ดินที่เคยต้องผ่านตัวแทนหรือนายหน้า ธุรกรรมต่างๆ ที่เคยต้องอาศัยเทคโนโลยีหรือกลไกของตัวกลางในการดำเนินการ ต่อไปเราสามารถแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้โดยตรง เพราะบล็อกเชนมีความพร้อมและอนุญาตให้เราสามารถ digitized มูลค่ากันได้แล้ว เรียกว่า Decentralized Vs. Centralized system
ในอดีตเราใช้อินเตอร์เนท TCP/IP ส่งออกส่งที่เป็นข้อมูลหรือรูปภาพ คือการส่งสิ่งที่เป็นสำเนาออกไป มากมายเพียงใดก็ทำได้ แต่ต้นฉบับก็ยังคงเหลืออยู่ ดังนั้นจึงส่งสิ่งที่เป็นมูลค่า ออกไปไม่ได้จริง ไม่เช่นนั้นเราก็ย่อมจะสามารถส่งออกสิ่งที่มูลค่า เช่นธนบัตรใบละ 1,000 บาทออกไปให้ใครต่อใครก็ได้ มากเท่าไหร่ก็ได้ เพราะส่งกี่ครั้ง ต้นฉบับก็ยังคงเหลืออยู่ และนั่นคือข้อจำกัดหรือที่เรียกว่า Double spent problem
แต่สำหรับ บล็อกเชน ได้รับการพัฒนาภายใต้การรวบรวมปัญหาและงานวิจัยโดยนักพัฒนาผู้มีนามว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ ผู้คิดและพัฒนาบิทคอย โดยเขาได้แก้ปัญหาในสิ่งที่เรียกว่า Solve Double Spent Problem ทำให้บล็อคเชน สามารถเก็บมูลค่า และสามารถส่งออก "มูลค่า" ได้โดยตรงระหว่างผู้ส่งและผู้รับ และนั่นคือเป็นวิวัฒนาการของสิ่งที่ว่า Internet of value
4 Development ของ Blockchain
"จิรายุส" บอกกล่าวเล่าถึงพัฒนาการในวงการบล็อกเชนว่า สามารถแบ่งออกได้เป็นขั้นเป็นตอนอยู่ 4 ระยะ ใน stage แรกของบล็อกเชน คือ Internet of Money เช่น bitcoin ที่ออกมาได้ 8-9 ปี ทุกวันนี้ digital currency ทั่วโลกมีมากกว่า 1,700 ตัว โดยกลุ่มแรกของคริปโตนั้น มุ่งเป้าไปสู่การเป็น internet of money เพื่อที่จะทำให้เราสามารถ digitized เงินแล้วโอนหากันแบบ peer to peer โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอีกต่อไป
เพราะในระบบที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ การโอนเงิน ซึ่งหมายถึงการโอนเงินจากธนาคารต้นทางไปยังธนาคารผู้รับ จะมีสิ่งที่เรียกว่า international clearing house เปรียบเสมือนทางด่วนที่เราต้องจ่ายค่าผ่านทางเพื่อจะไปยังจุดที่หมาย ยิ่งหลายด่านก็หมายถึงค่าผ่านทางที่ต้องเพิ่มขึ้นและต้องจ่ายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงปลายทาง และนั่นคือที่มาของค่าธรรมเนียมการโอนเงิน 5-10 % ในการโอนเงินไปต่างประเทศ แต่พอมี digital money อย่าง bitcoin,light coin, state cash หรือ Ripple เหล่านี้คือ Digital money ที่ล้วนมีเป้าหมายที่ต้องการจะเอาออกในสิ่งที่เรียกว่า international clearing house หรือกลไกตัวกลางออกไปเพื่อให้เราสามารถโอนเงินกันได้อย่างเร็วขึ้น-ประหยัดขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Internet of Assets = Value Registry
stageที่สองของบล็อกเชน เป็นความสามารถในการ digitized ทุกอย่างที่มีมูลค่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คือ เพียงเงิน(money)อย่างเดียว แต่สินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่นอาทิเช่น ที่ดิน, เพชร, พลอย, ภาพเขียนหรืออื่นๆ อีกมากมาย ก็สามารถนำมา digitized อยู่ในบล็อกเชนได้เช่นกัน
Internet of Entities = Value Ecosystem
สำหรับstageที่ 3 บล็อคเชนจะถูกนำมาใช้ในการปลดล็อค ทำให้ก่อเกิดโมเดลธุรกิจ และการจัดการใหม่ๆ เป็น decentralized autonomous ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Ethereum หนึ่งในบล็อกเชนที่เป็น Generalized platform ที่ถูกใช้ในการสร้างเหรียญและมี Smart contract ที่เปิดโอกาสให้คนสามารถสร้างบล็อคเชนและโทเคน(Token) ขึ้นมาอย่างง่ายดาย กลายเป็นเครื่องมือในการออกTokenเพื่อระดมทุนในรูปแบบที่เรียกว่า ICO ( Initial Coin Offering) ซึ่งปรากฏว่าจากคริปโตที่เคยมีเพียงไม่กี่ตัวในอดีต เพียงปีเศษๆ ที่ผ่านมามีคริปโตเกิดขึ้นกว่า 1,700 ตัวทั่วโลก โดยกว่า 90% ของเหรียญเหล่านั้นถูกสร้างบน Ethereum
Interoperable Ledgers = Value web
เป็นพัฒนาขั้นที่ 4 ที่ปัจจุบันกำลังเร่งพัฒนาเพื่อให้โทเคนที่มีอยู่ทั่วโลกจำนวนมากมาย และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมาก แต่มีสิ่งที่เป็นปัญหาติดอยู่ ณ ขณะนี้คือ โทเคนในแต่ละแพลตฟอร์ม ยังคุยกันคนละภาษา ซึ่งหากจะมีการแลกเปลี่ยนมูลค่าซื้อขาย-แลกเปลี่ยน ก็จะต้องเอาเหรียญเหล่านั้นโอนไปยังที่ที่เรียกว่า Centralized exchange crypto แล้วก็ซื้อขายเพื่อแลกเปลี่ยนกันเหมือนซื้อขายหุ้น เหตุเช่นนี้เพราะคริปโตแต่ละตัวยังไม่สามารถคุยกันได้โดยตรง ( เหมือนอินเตอร์เนทในยุคแรกๆ)
ในขณะนี้นักพัฒนากลุ่มใหม่ๆ เช่น Kyber, Ox, Airswap หรือ OmiseGo กำลังเร่งพัฒนาเพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างโทเคนตัวต่างๆ ให้สามารถคุยกันหรือแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้โดยตรง
สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ "Blockchain for Management" โดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่
รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าก.ล.ต. ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลด้วยกระบวนการไอซีโอ และการให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.) แล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561
เนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะออกไอซีโอต้องผ่านการคัดกรองจากไอซีโอพอร์ทัล ในชั้นแรกภายหลังประกาศที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ ก.ล.ต. จึงจะพิจารณาให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัลก่อน โดยผู้ยื่นขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัลจะต้องเป็นบริษัทไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ และมีความพร้อมในการทำหน้าที่คัดกรองผู้ระดมทุน ประเมินแผนธุรกิจและโครงสร้างการกระจายโทเคนดิจิทัล ตรวจสอบชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด) ให้ตรงกับข้อมูลที่เปิดเผยทำความรู้จักตัวตนและสถานะของผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน เมื่อมีไอซีโอพอร์ทัลที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ก.ล.ต.จะเริ่มพิจารณาคำขออนุญาตออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของผู้ประสงค์ออกไอซีโอ
ผู้ที่ประสงค์จะออกไอซีโอต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจและข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลที่ชัดเจน มีการเปิดเผยซอร์สโค้ด แบบแสดงรายการข้อมูล ร่างหนังสือชี้ชวน และงบการเงินที่เป็นไปตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.
โดยการออกไอซีโอแต่ละครั้งสามารถเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investors) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) ได้โดยไม่จำกัดวงเงิน ส่วนการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยในแต่ละครั้งจะจำกัดวงเงินที่รายละไม่เกิน 300,000 บาท นอกจากนี้ วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด โดยผู้ออกไอซีโอสามารถรับชำระค่าโทเคนดิจิทัลเป็นเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ยินดีให้ผู้ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัล เข้ามาหารือกับ ก.ล.ต. ในรายละเอียดได้ทันที เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอความเห็นชอบเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ และเมื่อมีไอซีโอพอร์ทัลที่ ก.ล.ต. เห็นชอบแล้ว ก.ล.ต. ก็พร้อมจะพิจารณาอนุญาตการออกไอซีโอต่อไป
ทั้งนี้ แม้เกณฑ์ที่ออกมาจะช่วยสร้างมาตรฐานในการออกไอซีโอ และเพิ่มกระบวนการคัดกรองเพื่อป้องกันผู้ลงทุนจากการถูกหลอกลวง แต่การได้รับอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจาก ก.ล.ต. ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการที่ระดมทุน ราคา หรือผลตอบแทน ผู้ลงทุนยังมีโอกาสขาดทุน หรืออาจมีช่องทางการเปลี่ยนมือโทเคนดิจิทัลที่จำกัด ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนและแน่ใจว่า สามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ก่อนตัดสินใจลงทุน”
ผู้สนใจและผู้ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัล หรือสนใจออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านไอซีโอ สามารถดาวน์โหลดประกาศที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://www.sec.or.th/digitalasset