จากผลสำรวจ Telenor Asia Digital Lives Decoded 2566 ระบุว่า คนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชีย ซึ่งมีเพียง 17% ของคนไทยเท่านั้นที่ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวจากการใช้โทรศัพท์มือถือ

เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเคารพความเป็นส่วนตัว ปกป้องคุ้มครองข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่น เนื่องในวัน Data Privacy Day หรือวันความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ในวันที่ 28 มกราคมของทุกปี

มนตรี สถาพรกุล Head of Data Protection บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) พูดคุย วิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการแนวคิดความเป็นส่วนตัว ความท้าทายองค์กรเอกชนต่อการจัดการภายใน และสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวในยุคปัญญาประดิษฐ์

ความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชน

มนตรี ฉายภาพกว้างประเด็นความเป็นส่วนตัวว่า นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประชาคมโลกมีความตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ในปี 2491 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ครอบคลุมมิติต่างๆ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ

อนึ่ง ความเป็นมนุษย์ล้วนถูกประกอบสร้างด้วยความหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในบริบทที่สำคัญคือ “ความเป็นตัวตน” (Identity) และเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างสมเกียรติความเป็นมนุษย์คือ ข้อมูล โดยมีภาษาเป็น “ตัวเชื่อม” ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

สำหรับการสื่อสารสองทางที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ ผู้ส่งสารและผู้รับสาร และชุดข้อมูล หากผู้รับสารต้องการนำชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นใด ควรจะมีการขอ “ความยินยอม” (Consent) กับผู้ส่งสาร ซึ่งเป็นสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของข้อมูล (Data Subject) ตามแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน การขอความยินยอมถือเป็นกลไกหนึ่งที่ผู้รับสารแสดงถึง “ความเคารพ” ในสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูล เพื่อชี้แจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลของเจ้าของข้อมูลอย่างโปร่งใส ในทางกฎหมายเรียกว่า “สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่ถ่ายทอดผ่านเงื่อนไขของข้อมูล”

ซึ่งแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวถือเป็นกรอบความคิดหลักที่นำมาพัฒนาต่อยอดจนเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยกำกับผ่านกฎหมายที่ดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหภาพยุโรปในปี 2563 ที่เรียกว่า General Data Protection Regulation (GDPR) และต่อมาไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ซึ่งการประกาศกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการ “คืนสิทธิ” ความเป็นส่วนตัวอันชอบธรรมแก่ผู้บริโภค ผ่านการกำกับหน่วยงานห้างร้านที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ขณะที่ความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมีกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์คุ้มครองอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมา GDPR ใช้เวลาในการพัฒนาถึง 20 ปี PDPA ของไทย ใช้เวลา 21 ปี จนพัฒนาเป็นแนวคิดที่หนักแน่นด้านความเป็นส่วนตัว โดยกำหนดนิยาม ขอบเขต การกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงผู้มีแนวโน้มในการละเมิดสิทธิมนุษชนสูงสุด ซึ่งกรณีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดไว้เป็นผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้” มนตรี กล่าว

ความเสี่ยงในศักยภาพจากข้อมูลดิจิทัล

เขาอธิบายเสริมว่า ในยุคอนาล็อก การส่งผ่านข้อมูลมีลักษณะ 1-1 ข้อมูลที่เกิดขึ้นในระหว่างให้บริการที่สามารถระบุตัวตนได้มีเพียง หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 โลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมทางการเงิน ค้นหาข้อมูล ดูคลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่เกิดขึ้นมีรูปแบบที่หลากหลายและลึกขึ้น นำมาซึ่งศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของข้อมูลโดยเฉพาะการระบุตัวตน พฤติกรรมและความสนใจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทาง “บวกและลบ” ได้

ด้วยศักยภาพของข้อมูลดิจิทัลที่เป็นอนันต์ กล่าวคือ ผู้รับบริการอาจได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นด้านการตลาดที่เกินความคาดหมายในรูปแบบ Contextual Marketing แต่คุณประโยชน์นั้น ก็นำมาซึ่ง “ความกังวล” ในสิทธิความเป็นส่วนตัว

“การได้รับประโยชน์ทางการตลาดถือเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ให้บริการสามารถมอบให้กับลูกค้าได้ แต่นั่นต้องอยู่บนพื้นฐานและหลักการสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใสผ่านกลไกความยินยอม โดยไม่ทึกทักหรือคิดเองว่าสิ่งนั้นคือประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการ” มนตรีเน้นย้ำ

เช่นเดียวกับกรณีบริการโทรคมนาคม หากผู้ให้บริการต้องการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากบริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการจะต้องขอความยินยอมจากลูกค้าเป็น “รายบุคคลและรายกรณี” นั่นหมายถึง ผู้ให้บริการจะสามารถนำข้อมูลลูกค้าไปประมวลผลหรือวิจัย เพื่อส่งมอบบริการอื่นๆ ก็ต่อเมื่อลูกค้าให้ความยินยอมแล้วเท่านั้น

ในยุคที่เทคโนโลยีมีวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเสี่ยงจากการใช้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเทคโนโลยีด้วย ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Automation ที่มีความตายตัวมากกว่า เมื่อเทียบกับ AI ที่ขึ้นอยู่กับ บริบทและการตีความ” ของชุดข้อมูล นำไปเรียนรู้และพัฒนาต่อจนเป็นข้อมูลใหม่ได้ นำมาซึ่งความเสี่ยงที่มากขึ้น

3 เสาแห่งความสมดุลเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัว

มนตรี ในฐานะ Data Protection Officer ของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เล็งเห็นความเสี่ยงที่สูงขึ้นในความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จึงมีความจำเป็นต้องกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี AI ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ อันได้แก่ ความเป็นธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม และไม่เป็นอันตรายและกัดกร่อนความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับการทำงานของพนักงานที่ได้รับสิทธิให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้า (เช่น พนักงานคอลเซ็นเตอร์) ก็ต้องทำงานภายใต้ “ระเบียบ” เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการ

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การรักษาสมดุลระหว่างสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ทางธุรกิจอาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนหลัก “ความโปร่งใส” และหลัก “ความจำเป็นและการได้สัดส่วน” (Principle of Necessity and Proportionality) ภายใต้เงื่อนไขความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งการรักษาสมดุลทั้ง 3 เสานั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Privacy and Security by Design เคารพความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ประกอบด้วย

  1. ความยินยอมและการรับรู้จากเจ้าของข้อมูล คือหัวใจของกระบวนการ Privacy and Security by Design ซึ่งในกรณีบริการโทรคมนาคม ข้อมูลที่ใช้จะต้องเกี่ยวข้องกับสัญญาบริการโทรคมนาคมเท่านั้น
  2. หากการใช้ข้อมูลไม่เกี่ยวข้องกับบริการโทรคมนาคม ได้มีการขอความยินยอมจากลูกค้าหรือไม่
  3. และหากไม่ จะต้องขอบริการ “ทุกครั้ง” ตามวัตถุประสงค์ จะเก็บหรือใช้ต้องให้มีความชัดเจน

ทั้งนี้ การแจ้งขอความยินยอมจากลูกค้า จะต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ขณะเดียวกัน การใช้ข้อมูลทุกชุดต้องมีภายใต้หลักความจำเป็นและการได้สัดส่วน “ไม่มีการขอเผื่อ”

“มันอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและยุ่งยากสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่การรักษาไว้ซึ่งหลักการ สิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน” เขากล่าวและเสริมว่า ในช่วงแรกของการตีกรอบกฎเกณฑ์ภายในเหล่านี้ อาจต้องปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสุดท้าย หน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูลเหล่านั้นล้วนตระหนักและให้ความเคารพถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว แม้จะต้องเล่นท่ายาก แต่ทุกคนเห็นภาพเดียวกันมากขึ้น โดยยึดเอาผลประโยชน์และสิทธิผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ซึ่งแม้เมื่อมีการควบรวมกิจการแล้ว ก็จะต้องร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาในสอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย

มนตรี ให้ข้อคิดแก่ผู้บริโภคว่า “อย่าหลงเชื่อผลลัพธ์ที่ได้เสียทีเดียว และควร ‘เอ๊ะ’ หรือตั้งข้อสงสัยต่อการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้นว่าเป็นตามหลักที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพื่อ “รักษา” ในสิทธิความเป็นส่วนตัวของตัวเอง”

ทรู ดิจิทัล อคาเดมี จัดเสวนา Shaping Your HR Strategy 2024” เผยเทรนด์การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแต่สรรหาบุคลากร สร้างแรงจูงใจให้ทำงานอย่างมีความสุข  แต่ต้องไม่หยุดพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบสนองการทำงานได้อย่างเหมาะสม และทำให้คนที่มีความหลากหลายทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน  ซึ่งงานเสวนาครั้งนี้ เหล่าผู้บริหาร HR จากองค์กรชั้นนำให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังมุมมองจากเหล่ากูรูทั้ง คุณอาทิ สุบรามาเนียน Partner บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี, คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอิสระ ด้านการพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากร และ ดร. ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี  

ภารกิจ“คน” ที่ต้องเสริมแกร่งทักษะดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนองค์กร

ดร. ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี   เผยมุมมองเรื่องของเทคโนโลยียังเป็นทักษะที่สำคัญ โดยเทคโนโลยีในบริบทของ AI หมายถึงการทำอย่างไรให้สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล โดยที่คนไม่ต้องเข้าใจการเขียนโค้ดเองให้ยุ่งยาก แต่ต้องมีความเข้าใจที่จะใช้ AI ให้ได้อย่างเต็มที่ อีกประเด็นคือ AI Big Data ในบริบทของการนำ Big Data มาตอบโจทย์การตัดสินใจทางธุรกิจให้ดีขึ้น ท้ายที่สุดเรื่องของความสร้างสรรค์ ที่ปัจจุบัน AI สามารถเข้ามาช่วยออกแบบได้แล้ว แต่มนุษย์ยังต้องพัฒนาทักษะในการเขียนคำสั่งให้ AI เข้าใจว่าเราต้องการสร้างสรรค์ผลงานแบบใด และสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับ HR คือ การตรวจสอบคำตอบของ AI นั้น ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการพัฒนาคนให้มีทักษะด้านดิจิทัล จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ทุกองค์กรต้องใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ทรู ดิจิทัล อคาเดมี จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการทรัพยากรบุคคล โดยการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรและองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้สามารถรับมือดิจิทัล ดิสรัปชันต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

องค์กรยุคใหม่มีความซับซ้อนต่างจากเดิม ต้องมีวิธีการรับมือแบบใหม่

คุณอาทิ สุบรามาเนียน Partner บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ฉายภาพความซับซ้อนขององค์กรว่า ที่ผ่านมาได้เห็นการรวมธุรกิจเกิดขึ้นหลายแห่ง การจัดโครงสร้างองค์กรและวิธีพัฒนาทักษะบุคลากรในปัจจุบัน กำลังขัดขวางการตอบสนองอย่างรวดเร็วขององค์กร จากการสำรวจผู้นำองค์กรกว่า 25,000 คน จากองค์กรที่มีพนักงานกว่า 1,000 คน ระหว่างปลายปี 2022 ถึง 2023 ในรายงานเรื่อง The State of Organizations 2023 ของ McKinsey สรุปผลได้ 10 ข้อ ดังนี้ 1. การเพิ่มความเร็วและเสริมความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเทรนด์แรกที่เข้ามา บางครั้งองค์กรยังล่าช้าเพราะต้องรอการอนุมัติ ทำให้คำว่า Agile ถูกนำมาใช้ ทั้งวิธีการทำงานร่วมกันหรือเพิ่มอำนาจและบทบาทให้กับพนักงานดูแลเพื่อสร้างความคล่องตัว เป็นต้น 2. การทำงานแบบฮบริด จากการสำรวจ 4 ใน 5 คนจาก 80% ระบุว่า การทำงานไฮบริดสำคัญมาก และเป็นตัวเลือกอันดับที่ 2 ในการเลือกที่ทำงาน 3. การให้ AI เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน เป็นกระแสที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มี ChatGPT ซึ่ง AI ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองใบสมัครเบื้องต้น ทำให้ช่วยลดใบสมัครที่ไม่เกี่ยวข้องได้กว่า 70% 4. การมีกฎใหม่ของการดึงดูด การรักษา และการละทิ้ง องค์กรต้องคิดต่างจากเดิม มีตัวอย่างจากธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยังคงรักษาความสามารถมนุษย์ไว้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนทุกสิ่ง ทั้งกฎระเบียบ การกำหนดแรงจูงใจ ทำให้การทำงานมีความสนุกสนาน นอกจากนี้วัฒนธรรมดังกล่าวยังถูกส่งต่อไปยังลูกค้ากลายเป็นคุณค่าที่ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างมีเป้าหมาย 5. ช่องว่างด้านความสามารถ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมมากขึ้น จะเห็นได้ว่าสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก กำลังเร่งพัฒนาทักษะด้านนี้ 6. การวางคนที่เหมาะสมกับงาน จะช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรบุคคลได้มากกว่า 80% คนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำงานได้ทั่วทั้งองค์กร การวางคนให้เหมาะสม จะช่วยขับเคลื่อนคุณค่าให้กับตัวพนักงานและองค์กรได้เป็นอย่างดี 7. ภาวะผู้นำที่ตระหนักรู้ในหน้าที่ตนเองและรู้วิธีสร้างแรงบันดาลใจ ยิ่งผู้นำสามารถตระหนักรู้ข้อผิดพลาดของตนเองและแก้ไข จะช่วยส่งเสริมให้เป็นผู้นำมีศักยภาพที่สูงขึ้น 8. ความก้าวหน้าในด้านความหลากหลาย การไม่แบ่งแยก ความเสมอภาคในทุกบริบท จะช่วยทำให้องค์กรและการทำงานไม่เกิดความแตกแยกอย่างไม่เป็นธรรม 9. สุขภาวะที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน การดูแลและใส่ใจเรื่องสุขภาวะทำให้การทำงานราบรื่นมีประสิทธิผลที่ดี และ 10. การวางแผนกำลังคน แน่นอนว่าจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพด้วยจำนวนคนที่น้อยลง ซึ่งจะสะท้อนถึงความสามารถของทีมทรัพยากรบุคคลอีกด้วย

ESG ช่วยพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

อีกความท้าทายขององค์กรคือเรื่อง ESG คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ผู้ เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอิสระ ด้านการพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากร กล่าวว่า ต้องมอง ESG จากตัวบริบทของธุรกิจว่าจะนำ ESG มาเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้อย่างไร เพื่อให้สามารถขยายตัวและคงอยู่ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน E - Evolution คือ มิติของการขับเคลื่อนธุรกิจในเชิงของการเพิ่ม Productivity ทำอย่างไรจึงจะประหยัดพลังงาน หรือการหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง S - Social Ability คือ โอกาสในการขายที่ขยายกว้างขึ้น และ G - God คือ โอกาสของการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นโอกาสของการเติบโตไปยังต่างประเทศแบบยั่งยืน หากองค์กรมี ESG Profile ที่ดี ก็จะสร้างบริษัทให้มีชื่อเสียงระดับมาตรฐานสากลได้ ดังนั้นการนำ ESG เข้ามาอยู่ในบริบทการบริหารองค์กรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนจาก Physical ไปสู่โลก Virtual บริบทที่ต้องมองต่อไปคือ 1. ทำอย่างไรจึงจะนำ ESG เข้ามาควบคุมการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม 2. ทำอย่างไรจึงจะสร้างความภักดีให้กับแบรนด์ได้ ทำให้แบรนด์กลายเป็นที่หนึ่ง 3. มองโลกธุรกิจให้เป็นระบบนิเวศที่ครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนทั้งอุตสาหกรรม ด้านการนำ AI มาใช้ในบริบทของคน ต้องกลับมาดูว่าประโยชน์จริงๆ ในการดูแลองค์กรคืออะไร ทั้งสิ่งที่ต้องตัดออก สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นอัตโนมัติ สิ่งที่ยังต้องใช้มนุษย์ทำงาน การอัปสกิล-รีสกิล เพื่อให้องค์กรสามารถมุ่งไปข้างหน้าได้ การรับพนักงานใหม่อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องการดูแลเด็กรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับคนหลากหลายรุ่นอายุที่แตกต่างกัน จะต้องมีบริบทของ Diversity Interchange เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด ดังนั้นประโยชน์จาก AI จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น การสกรีนดูว่าใบสมัครถูกก็อบปี้มาจากที่ใด  การช่วยรวบรวมเนื้อหาที่ต้องการ การช่วยลดเวลาในการวิเคราะห์ และการคาดการณ์ โดยหน้าที่ของมนุษย์คือ การพัฒนาทักษะให้สามารถควบคุมและสั่งการให้ AI ทำงานได้ตามต้องการ และสุดท้ายคือการพัฒนา AI ให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้คนสามารถทำงานได้เร็วขึ้น

ผลิตกำลังคนดิจิทัลคุณภาพ ปูทางประเทศไทยให้พร้อมสู่ยุคดิจิทัล มอบทุนอัปสกิลดิจิทัลที่ควรมีในยุคนี้ จากทรู ดิจิทัล อคาเดมี

X

Right Click

No right click