ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี โดยนายศรัณย์ ภู่พัฒน์ (ที่ 3 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ร่วมเป็นเกียรติลงนามสัญญาให้บริการรับชำระเงินค่าไฟฟ้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สําหรับลูกค้านิติบุคคล ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดย หม่อมราชวงศ์ สิริวัลย์ เกษมสันต์ ณ อยุธยา (ที่ 4 จากขวา) รองผู้ว่าการบัญชีและการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชําระเงินค่าไฟฟ้า สําหรับลูกค้านิติบุคคล ผ่านช่องทางออนไลน์ ttb business one ดิจิทัลแบงก์กิ้งของธนาคาร โดยทีทีบี เป็นธนาคารแรกที่พัฒนารูปแบบการให้บริการรับชำระเงินค่าไฟฟ้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สําหรับลูกค้านิติบุคคล ที่สามารถแสดงรายละเอียดบิลและค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่ต้องชําระตามหมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้าที่ลูกค้าระบุไว้
จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ลูกค้านิติบุคคลสามารถทำรายการสะดวกผ่าน ttb business one ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ให้บริการทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ป้องกันความเสี่ยง ลดการจัดการด้านเอกสาร และไม่ต้องเสียเวลาจากการเดินทางไปชำระเงินค่าไฟฟ้าด้วยเงินสดหรือเช็ค ณ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมสามารถยืนยันการทำรายการหรือหักเงินในบัญชีเพื่อชำระเงิน โดยผ่านผู้มีอำนาจอนุมัติของบริษัท ซึ่งหลักฐานการชำระเงินสามารถใช้ตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยผู้ใช้บริการจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจ่ายบิล ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2567
ทีทีบี มีความมุ่งมั่นที่จะทําให้ลูกค้าและธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นทั้งในวันนี้และอนาคต สามารถบริหารจัดการเรื่องสำคัญในชีวิตและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน โดยธนาคารพร้อมเคียงข้างสนับสนุนให้ลูกค้าธุรกิจประสบความสําเร็จในทุกสถานการณ์ และเติบโตอย่างยั่งยืน
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศความสำเร็จด้านดิจิทัล คว้ารางวัล Best Institution for Digital CX บนเวทีระดับสากล Digital CX Awards 2024 โดยมีนายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ ประธานกลุ่ม งานกลยุทธ์องค์กรและดิจิทัล ทีทีบี เป็นผู้รับมอบรางวัล ตอกย้ำความโดดเด่นของแอปพลิเคชัน ttb touch ในการผสมผสานนวัตกรรมดิจิทัลและการออกแบบที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีฟีเจอร์การจัดการทางการเงินที่ใช้งานง่าย และสร้างประสบการณ์ที่สุดเอ็กซ์คลูซีฟแบบรายบุคคล (Personalized Message) ซึ่งพัฒนาโดยทีมดิจิทัล “ttb spark” ในฐานะศูนย์กลางดิจิทัลของทีทีบี เพื่อขับเคลื่อนธนาคารสู่ทุกความเป็นไปได้ ด้วยดิจิทัลโซลูชันที่เป็นมิตรและรู้ใจ ภายใต้แนวคิด Humanized Digital Banking เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ทั้งนี้ การมอบรางวัลจัดขึ้น ณ โรงแรมมาริน่า เบย์ แซนด์ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้
ปัจจุบันประเทศไทยมีพนักงานเงินเดือน 19 ล้านคน คิดเป็น 29% ของประชากรในประเทศ ซึ่งนับเป็นกลุ่มหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่า 50% ของประเทศ นั่นหมายความว่าหากพนักงานเงินเดือนมีศักยภาพทางการเงินที่ดี พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้ในอนาคต ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มองเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มมนุษย์เงินเดือน จึงได้มอบรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้มอบรางวัลให้กับ 12 องค์กรชั้นนำที่ใช้บริการบัญชีเงินเดือน ทีทีบี ที่มีความโดดเด่นเรื่องการส่งเสริมสวัสดิการและสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้านให้กับพนักงาน
นายจักรพันธ์ จารุธีรศานต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารงานขายและการขายลูกค้าบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า จากผลวิจัยกับกลุ่มพนักงานเงินเดือนในปี 2566 พบว่าพนักงานเงินเดือนที่มีปัญหาเรื่องหนี้จะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงมากถึง 40% หลายคนแก้ไขด้วยการเปลี่ยนงานใหม่ แต่ความจริงเป็นวิธีแก้ไขที่ไม่ถูกจุด ซึ่งสิ่งที่ทีทีบีได้เรียนรู้ คือ ปัญหาเรื่องหนี้ของพนักงานเงินเดือนเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ไม่รู้สถานะทางการเงินของตนเอง ทำการกู้เงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าสุขภาพทางการเงินของตนเองเป็นสีแดงแล้ว และ 2. ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการทางการเงิน ทำให้บริหารเงินไม่เป็นจนนำไปสู่วงจรหนี้ที่ออกมาไม่ได้
ทีทีบีจึงสานต่อการมอบรางวัล ttb financial well-being awards 2023 ต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิญพันธมิตรองค์กรที่ใช้บัญชีเงินเดือนกับทีทีบีมาร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รางวัลคะแนนรวมสูงสุด และรางวัลพัฒนาการสูงสุด ซึ่ง 12 องค์กรที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงินสนับสนุน มูลค่า 100,000 บาท และโล่รางวัลยกย่องความเป็นเลิศขององค์กร ซึ่งทั้ง 12 องค์กร ต่างรู้สึกยินดีที่ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ และร่วมแชร์ความรู้สึกการได้รับรางวัลในครั้งนี้ อาทิ
นายแพทย์ ไพบูลย์ เอกแสงศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาราม จำกัด กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอยู่ของพนักงาน เพราะปัจจุบันปัญหาเรื่องหนี้ในระบบและนอกระบบมีมากมาย พนักงานบางคนไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการบริหารเงิน ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีอย่างมากที่ทีทีบีได้เข้ามาช่วยเหลือ นำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ทางด้านการเงินกับพนักงานของบริษัท ทั้งในเรื่องการรวบหนี้และการบริหารจัดการทางการเงิน ถ้าถามว่าทำไมเราถึงเลือกทีทีบีเป็นบัญชีเงินเดือนให้กับองค์กรของเรา “ที่เลือกก็เพราะดี ถ้าไม่ดีคงไม่เลือก”
ด้าน นายพิชิตศักดิ์ กรมรินทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีก้า ออโตเมชั่น (2000) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้รับรางวัล ttb financial well-being awards ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่งว่าบริษัทดูแลพนักงานเป็นอย่างดี และปีนี้เราจะมุ่งดูแลเรื่องสุขภาพของพนักงาน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พนักงานทำงานออกมาได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพทางการเงิน ต้องดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งบริษัทเลือกใช้บัญชีเงินเดือนกับทีทีบีมาตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ ทั้งในส่วนของ payroll และตัว my work เรามองว่าโซลูชันต่าง ๆ ของทีทีบีตรงกับความต้องการของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม การลงทุน ความคุ้มครอง ซึ่งอย่างน้อยหากพนักงานเรามีเงินเหลือติดบัญชี all free 5,000 บาท ก็จะได้รับสวัสดิการประกันอุบัติเหตุจากทีทีบี ถือว่าเป็นการช่วยทั้งบริษัทและพนักงานของเรา
นายธรรมรัตน์ โพธิ์ใบกุล กรรมการบริหาร บริษัท ออโต้ แกลเลอรี่ จำกัด อีกหนึ่งองค์กรพันธมิตรที่ได้รับรางวัล ttb financial well-being awards 2023 กล่าวว่า “บริษัทมีความตั้งใจทำให้ชีวิตพนักงานมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เราจึงให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของพนักงานในหลาย ๆ มุม ทั้งเรื่องรายได้ สวัสดิการ ปัญหาหนี้ รวมไปถึงสุขภาพทางการเงิน เพราะหากเราสามารถช่วยเหลือทางการเงินของพนักงานได้ก็จะช่วยให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น และมีเวลาไปใส่ใจกับเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบได้ดีขึ้นด้วย”
“ทีทีบีเชื่อว่าหากไม่มีตัวช่วยที่ดีในการแก้ไขปัญหาหนี้อาจทำให้ชีวิตติดลบและการแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนไม่ได้ใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีภูมิคุ้มกันด้านความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ที่เป็นระบบ ซึ่งจะเป็นวัคซีนป้องกันให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ด้วยตนเอง และในปี 2567 นี้ ทีทีบีจึงยังคงสานต่อกิจกรรม “ttb financial well-being awards 2024” ครั้งที่ 3 โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้เรื่องรอบรู้เรื่องกู้ยืม ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ควบคู่ไปกับโซลูชัน “สวัสดิการพิชิตหนี้” เพื่อเป้าหมายส่งเสริมให้พนักงานเงินเดือนมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน พร้อมสนับสนุนพันธมิตรองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกันมาร่วมส่งเสริมให้พนักงานเงินเดือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับสวัสดิการที่ดีและสามารถดูแลสุขภาพการเงินส่วนบุคคลให้ดีขึ้นได้แบบยั่งยืน” นายจักรพันธ์ กล่าวปิดท้าย
กรุงเทพฯ, 19 เมษายน 2567 – ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 4,295 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566 ปัจจัยหนุนมาจากกลยุทธ์การปรับโครงสร้างสินเชื่อและการบริหารเงินฝาก เพื่อให้ผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินมีความสอดคล้องกัน และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารสามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพและฐานเงินกองทุนยังคงในระดับสูง สะท้อนสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อหนุนรายได้ การมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์
หนึ่งในจุดเด่นของผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ ได้แก่ ด้านสินเชื่อ ซึ่งธนาคารยังคงเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีรถ กลุ่มคนมีบ้าน และพนักงานเงินเดือน ภายใต้แนวคิด Ecosystem play หนุนให้ธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อรถแลกเงิน (+4%) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (+3%) และสินเชื่อบุคคล (+4%)
ในประการสำคัญ ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการรวบหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับโครงสร้างหนี้คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่จำนวนลูกค้าภายใต้โครงการรวบหนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 17,000 ราย ณ สิ้นปีที่แล้ว สู่ระดับ 21,000 ราย โดยธนาคารสามารถช่วยให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวประหยัดดอกเบี้ยไปได้กว่า 1,400 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้ว ธนาคารยังได้เปิดตัวแคมเปญ “พิชิตหนี้” ซึ่งมุ่งช่วยพนักงานเงินเดือนลดภาระหนี้และปลอดหนี้ให้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือคนไทยให้ได้ 200,000 ราย ภายใน 3 ปี เป็นไปตามพันธกิจของธนาคาร และสอดรับกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
จากการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ การดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาได้อย่างต่อเนื่องจาก 2.62% ณ สิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.56% ณ สิ้นไตรมาส 1 พร้อมยังคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับสูงที่ 155%
นี้ ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจะยังคงดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรามุ่งเน้นมาโดยตลอดและให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของธนาคารในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเห็นได้ว่าตั้งแต่การรวมกิจการและหลังจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านคุณภาพสินทรัพย์ก็มีเสถียรภาพ และสถานะทางการเงินก็แข็งแกร่งขึ้นโดยตลอด
สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลัก ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1,315 พันล้านบาท ชะลอลง 1.0% จากไตรมาสที่แล้ว เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ รวมทั้งการชำระคืนหนี้ของลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย นำโดยสินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อบุคคล ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านเงินฝาก อยู่ที่ 1,373 พันล้านบาท ลดลง 1.0% จากไตรมาสที่แล้ว สอดคล้องกับการเติบโตด้านสินเชื่อและเป็นไปตามแผนบริหารสภาพคล่องหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารได้ขยายฐานเงินฝากไปแล้วกว่า 4.3% เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ปี 2567 โดยเงินฝากที่ลดลงเป็นผลจากเงินฝากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ขณะที่เงินฝากรายย่อยกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเงินฝากประจำยังคงขยายตัวได้ตามแผน ทั้งนี้ ด้วยสภาพคล่องที่ยังคงอยู่ในระดับสูงก็จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับการบริหารต้นทุนทางการเงินในระยะถัดไป
ด้านรายได้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน ช่วยชดเชยผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากไตรมาส 1 ปี 2566 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารยังคงบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับด้านรายได้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ซึ่งอยู่ที่ 43% เป็นไปตามเป้าหมายแม้ว่าธนาคารยังคงเดินหน้าตามแผนการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ยังคงบริหารจัดการได้ตามเป้าหมายเช่นกัน โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 39,759 ล้านบาท ลดลง 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ที่ระดับ 2.56%
เทียบกับ 2.62% ณ สิ้นปีที่แล้ว นอกจากนี้ ในด้านพอร์ตการลงทุน ธนาคารเน้นการลงทุนในตราสารภาครัฐเป็นหลัก ไม่มีนโยบายแสวงหากำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา
จากภาพรวมด้านคุณภาพสินทรัพย์ข้างต้น ส่งผลให้การตั้งสำรองฯ ตามการดำเนินงานปกติยังคงเป็นไปตามแผน และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้เสริมกันชนรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 5,117 ล้านบาท ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 4,295 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2566
ท้ายสุดด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 20.8% และ 17.0% โดยระดับดังกล่าวถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
นายปิติ กล่าวสรุป “นอกเหนือจากการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทีทีบียังคงเน้นย้ำการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ ทั้งนี้ ภายใต้พันธกิจหลัก Financial Well-being ซึ่งเราได้ดำเนินการมาโดยตลอด การสนับสนุนของเราไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการออม การลงทุน และการมีประกันที่เพียงพอและเหมาะสมกับลูกค้าในทุก ๆ ช่วงชีวิต โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”