ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เตรียมสำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2567 ระหว่างวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าและประชาชน จำนวน 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการสำรองที่สาขา จำนวน 4,000 ล้านบาท และตู้เอทีเอ็ม จำนวน 9,500 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ทีทีบี มีสาขาทั่วประเทศ จำนวน 532 สาขา และเครื่องเอทีเอ็ม จำนวน 3,015 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566)

กรุงเทพฯ, 19 มกราคม 2567 – ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2566 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ 4,866 ล้านบาท และกำไรสุทธิรอบ 12 เดือน ปี 2566 จำนวน 18,462 ล้านบาท ภาพรวมผลการดำเนินงานทำได้ตามเป้าหมาย ยังคงเน้นดูแลคุณภาพสินทรัพย์และเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินในทุกด้าน

 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 ในภาพรวมถือว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเรายังคงเดินหน้าตามแผนการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อหนุนด้านรายได้และการบริหารค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรองรับความเสี่ยง สภาพคล่อง และฐานเงินกองทุน

จากเป้าหมายดังกล่าว กลยุทธ์ที่ทีทีบีมุ่งเน้นในปี 2566 จึงเป็นเรื่องของบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสินเชื่อ ธนาคารยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างรอบคอบ เน้นฐานลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี

อีกประการสำคัญ คือการดูแลลูกค้าสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการรวบหนี้ หรือการทำ Debt Consolidation เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

 

โดยในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังต้องการรับความช่วยเหลือต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสำหรับโครงการรวบหนี้ได้เปิดกว้างสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ธนาคารสามารถช่วยลูกค้ารวบหนี้ไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นราย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ราว 1.2 พันล้านบาท

ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว พอร์ตสินเชื่อของธนาคารจึงมีคุณภาพ ประกอบกับการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์จึงเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดระดับหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ที่ 2.98% มาอยู่ที่ 2.62% ณ สิ้นปี 2566

ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงถัดไปยังคงมีปัจจัยกดดันรอบด้าน จึงดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษในไตรมาส 4 เป็นจำนวน 4.9 พันล้านบาท เพื่อยกระดับอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Coverage Ratio ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 155% เมื่อเทียบกับ 138% ในปี 2565 และ 120% ก่อนรวมกิจการ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้นมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ธนาคารก็ยังได้เตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง โดยการขยายฐานเงินฝากเพิ่มเติมในไตรมาส 4 เพื่อรองรับแผนธุรกิจและการแข่งขันด้านเงินฝากที่อาจเกิดขึ้น ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราส่วนสภาพคล่อง LCR เพิ่มขึ้นจาก 175% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 199% โดยประมาณ เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท. ที่ 100%

ด้านฐานเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.7% และ 17.0% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกมิติ เปรียบได้กับการมีกันชนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบในยามที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง หรือเงินกองทุน ได้อย่างมั่นคง โดยไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานตามแผนธุรกิจปกติ รวมถึงไม่ลดทอนความสามารถในการให้ความช่วยเหลือลูกค้า และการสร้างมูลค่าด้านเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคาร

สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลักๆ ในปี 2566 มีดังนี้

สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 1,328 พันล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 3.5% จากสิ้นปี 2565 เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบและแผนการปรับโครงสร้างสินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ทำให้สินเชื่อรายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.1% จากปีที่แล้ว นำโดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ด้านสินเชื่อลูกค้าธุรกิจลดลง 11.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการชำระหนี้คืนของลูกค้าและการนำสภาพคล่องส่วนเกินจากการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจไปหมุนเวียนปล่อยสินเชื่อรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุน

ในด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,387 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามแผนการเตรียมสภาพคล่อง แต่ชะลอลงเล็กน้อย หรือราว 0.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนของธนาคารให้การบริหารสินเชื่อและเงินฝากให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เงินฝากเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ เงินฝากประจำ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ด้านการออมดอกเบี้ยสูง และเงินฝาก ทีทีบี ออลล์ฟรี ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมและประกันอุบัติเหตุฟรี สามารถเติบโตได้ตามแผน

ภาพรวมด้านรายได้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการ ทั้งจากประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) ผ่านการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อ Consumer Loan และประโยชน์ด้านรายได้ (Revenue Synergy) จากการนำเสนอโซลูชันทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังการรวมกิจการ ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70,961 ล้านบาท เทียบกับ 65,852 ล้านบาท ในปี 2565

 

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 31,280 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 29,952 ล้านบาท ในปี 2565 เป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนทั้งด้านพนักงานและด้านดิจิทัล โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ที่ 43.6% ลดลงจาก 45.1% ในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้ดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษ เพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมทั้งปีตั้งสำรองฯ ไปทั้งสิ้น 22,199 ล้านบาท หลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารจึงมีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 18,462 ล้านบาท เทียบกับ 14,195 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า

นายปิติ สรุปในตอนท้ายว่า “ผลการดำเนินงานในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของทีทีบีในการก้าวสู่ปี 2567 โดยเรายังคงตั้งเป้าที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมกับสนับสนุนแนวทางการลดหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย Financial Well-being ของทีทีบีในการช่วยลูกค้าให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

ทีเอ็มบีธนชาต โดย นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล (ซ้ายสุด) ร่วมมอบรางวัลและแสดงความยินดีแก่ผู้โชคดีจากการซื้อสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2566 รายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือสังคมและสาธารณกุศลต่อไป ซึ่งผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลใหญ่ รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น C 220 d Av ได้แก่ นางสาวอโนชา เสนาะ (ที่ 2 จากซ้าย) และผู้ที่ได้รับรางวัลทองคำแท่งหนัก 10 บาท จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ นายสมภพ อินทรประสงค์, นายกิตติ จรัสรัตน์วัฒนา, นางสาวนพมาศ วัฒนเลี้ยงใจ และนายศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ (ตามลำดับที่ 3 จากซ้าย) นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มอบของรางวัลให้กับผู้โชคดีท่านอื่น ๆ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “การให้” ผ่านสาขาธนาคารทั่วประเทศ ได้แก่ สร้อยคอทองคำหนัก 0.25 บาท จำนวน 50  รางวัล  และทองแท่งน้ำหนัก 0.125 บาท จำนวน 660 รางวัล รวม 716 รางวัล รวมมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท ณ ทีทีบี สำนักงานใหญ่

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ส่ง ttb spark academy ร่วมขับเคลื่อน Tech & Data Ecosystem ปูโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับประเทศ มุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล เปิดกว้างให้นิสิต นักศึกษาที่สนใจด้าน Tech & Data และสาขาอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แข็งแกร่ง ผ่านจุดแข็งที่แตกต่างจากองค์กรอื่น ด้วยการลงมือทำจริงและนำผลงานสู่ลูกค้าได้จริงจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ / บริการ และขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคนตลอดทุกช่วงชีวิต พร้อมเสริมมายเซ็ท (Mindset) เด็กรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับโลกความจริงของธุรกิจและอุตสาหกรรม

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งนำองค์ความรู้และประสบการณ์ส่งต่อให้สังคมเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่มาตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล ผ่านการสร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ โดย ttb spark academy ได้จัดทำโครงการ Tech & Data Internship Program พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงน้อง ๆ จากมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยีและฐานข้อมูล (Tech & Data) ได้มาสัมผัสและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากพี่ ๆ ผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยพัฒนาและต่อยอดความรู้ ความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ (Tech & Data Talent) ให้แข็งแกร่ง พร้อมโอกาสเติบโตในสายงานในอนาคต โดยในช่วงที่ผ่านมาได้คัดเลือกนิสิต นักศึกษามาฝึกงานในสายงาน Tech & Data นำเสนอความคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ จำนวน 69 คน จากผู้สมัครเกือบ 1,700 คน ผ่านการลงมือทำจริงและนำผลงานสู่ลูกค้าทีทีบีได้จริง

“การสร้าง Tech & Data Ecosystem ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้าง คนเข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งบุคลากรด้าน Tech & Data มีความสำคัญกับประเทศอย่างมาก ไม่ใช่แค่ภาคการเงิน โดยสะท้อนได้จากความต้องการที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง และเกิดการแย่งชิงบุคลากรในสาขานี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะ Tech & Data Talent เหล่านี้ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนยุคต่อไปของประเทศ แต่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) จะทำให้องค์ความรู้เปลี่ยนไปเร็วมาก บางครั้งสิ่งที่เรียนมาอาจจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ ttb spark academy ทำ คือ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพทางด้าน Tech & Data ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญที่จำเป็นต่อโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต”

โดย ttb spark academy ประกอบกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ภายใต้ 3 เรื่อง คือ 1. Build ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ด้าน Tech & Data เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนและพัฒนานิสิต นักศึกษาที่สนใจด้านเทคโนโลยีและ Data Scientist รวมไปถึงด้านการเงิน การธนาคาร การตลาด เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของ Tech & Data และสามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ ผ่าน knowledge sharing session รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกการทำงานจริงและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมาในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมีผู้สนใจสมัครร่วมโครงการจำนวนกว่า 2,000 คน 2. Groom ให้นิสิต นักศึกษามีโอกาสได้ค้นพบและทดลองสิ่งที่ตัวเองชอบผ่านการฝึกงานและการทำเวิร์คชอปในสาย Tech & Data จำนวน 69 คน จากผู้สมัครเกือบ 1,700 คน และ 3. Growth ต่อยอดให้นิสิต นักศึกษาที่ฝึกงานได้ทำงานจริงและนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นผ่านการสร้างดิจิทัลโซลูชันด้วยแนวคิด Humanized Digital Banking หรือ ดิจิทัลแบงก์กิ้งที่เป็นมิตร รู้จัก และรู้ใจ พร้อมให้ความสำคัญกับการมี Mindset ที่สอดคล้องไปกับโลกความจริงของธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ ttb spark academy มีจุดแข็งที่ทำให้ทีทีบีแตกต่างจากองค์กรอื่น ๆ

และล่าสุดทีทีบีร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านพัฒนาการศึกษายุคใหม่สู่การปฏิบัติจริงในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดิจิทัลและดาต้า รวมถึงด้านอื่น ๆ ที่สามารถประยุกต์เข้ากันได้ เพื่อตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์ทั้งในภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความจำเป็นต่อภาคธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเน้นสนับสนุนและพัฒนากำลังคนด้าน Data Science ที่สนใจในธุรกิจการเงิน การธนาคาร และการตลาด โดยทีทีบีเปิดพื้นที่สร้างประสบการณ์การทำงานจริงในช่วงการฝึกงานให้นิสิต นักศึกษา ภายใต้โครงการ "Stat Chula Project-Based Summer Internship Program" ที่เป็นความร่วมมือต่อเนื่องมาแล้วถึง 3 ปี

“ประเทศของเราต้องการพัฒนา Digital Transformation ที่มากกว่านี้ บุคลากรต้องสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ttb spark academy จึงไม่เพียงเปิดประตูวิสัยทัศน์ของการธนาคารดิจิทัลที่มุ่งเน้นความเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมและปั้น Young Tech และ Data Talent เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงิน โดยในการฝึกงาน เรามองนักศึกษาเป็นเหมือนพนักงานคนหนึ่งและมีพี่เลี้ยง (Mentor) ประกบแบบ 1 ต่อ 1 พร้อมวางเป้าหมายของการฝึกงาน นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้นิสิต นักศึกษาที่เรียนด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ บัญชี และอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการ เพราะคนทำงาน Tech & Data ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ไปพร้อมกัน คือ นอกจากเข้าใจในหลักการแล้ว ต้องเข้าใจลูกค้าได้อย่างแท้จริง เพื่อนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคนตลอดทุกช่วงชีวิต ตอกย้ำการเป็นธนาคารผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย นายนริศ กล่าวสรุป


ข้อมูลเพิ่มเติม Data Science หรือ วิทยาการข้อมูล คือ กระบวนการนำข้อมูลมาสร้างมูลค่า ผ่านการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อทำความเข้าใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะสามารถช่วยธุรกิจในแง่มุมไหนได้บ้าง จากนั้นจะเป็นการนำข้อมูลมาต่อยอดเพื่อสร้างผลประโยชน์ ซึ่งมีความสำคัญกับธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานแบบ Data Driven เพราะจะช่วยให้กระบวนการการทำงานของธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ช่วยลดงาน ลดความเสี่ยง ความผิดพลาด รวมถึงช่วยวัดผลได้อย่างถูกต้องและตัดสินใจได้ดีมากยิ่งขึ้น

ตอกย้ำเป้าหมายมุ่งสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้ลูกค้าผ่านดิจิทัลโซลูชัน

X

Right Click

No right click