February 03, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

กรุงเทพฯ 27 มกราคม 2568 – สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำสำหรับปี 2568 โดยเน้นว่าอัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปริมาณความต้องการทองคำในปี 2568 ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทองคำได้แสดงผลตอบแทนที่โดดเด่นในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตรายปีสูงที่สุดในรอบ 24 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับปี 2567 ทองคำมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 25.5% สูงกว่าสินทรัพย์หลักประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากบทบาทของทองคำในการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยตลอดทั้งปีราคาทองคำจากสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอนที่ทำการซื้อขายช่วงบ่าย (LBMA Gold Price PM) ได้ทำสถิติแตะระดับสูงสุดใหม่ถึง 40 ครั้ง โดยราคาสูงสุดตลอดกาล (All-Time High) ของทองคำครั้งล่าสุดนั้นอยู่ที่ 2,777.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า “การซื้อทองคำของธนาคารกลางและนักลงทุนได้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของความต้องการภาคผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก นักลงทุนจากภูมิภาคเอเชียนั้นยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนที่ลดลงและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ของปี 2567 ได้กระตุ้นกระแสการลงทุนจากฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามบทบาทของทองคำในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงท่ามกลางความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอธิบายถึงผลการประกอบการที่น่าทึ่งนี้”

ตลาดโดยรวมคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวภายในกรอบจำกัด สำหรับปี 2568

สภาทองคำโลกได้เปิดเผยว่า ความเห็นของตลาดโดยรวมนั้นคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมเป็น 1.00% ภายในสิ้นปี 2568 โดยที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงแต่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย ด้านธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงกันเช่นกัน สถานการณ์นี้อาจบ่งชี้ว่าผลการประกอบการของทองคำจะอยู่ในระดับปานกลางสำหรับปีนี้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีปัจจัย

อื่น ๆ เข้ามากระตุ้นในช่วงระหว่างปีนี้ได้ ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจสร้างแรงกระตุ้นให้กับเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความวิตกกังวลในระดับหนึ่งให้กับนักลงทุนทั่วโลกเช่นกัน

ภายใต้บริบทนี้ การดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐและความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ฯ ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทองคำ แต่อย่างไรก็ดีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่กำหนดผลการดำเนินงานของทองคำ โดยสภาทองคำโลกได้ใช้กรอบแนวทางการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมทุกปัจจัยและภาคส่วนที่ผลักดันอุปสงค์และอุปทานของทองคำ จากการวิเคราะห์บนพื้นฐานของ QaurumSM สภาทองคำโลกเชื่อว่าหากเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามการคาดการณ์ในปี 2568 ทองคำอาจมีการซื้อขายภายในกรอบที่ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา และอาจมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในบางสถานการณ์

ความต้องการทองคำผู้บริโภคในประเทศไทยได้พุ่งสูงขึ้นในปี 2567

สภาทองคำโลกยังได้กล่าวถึงความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในปี 2567 ที่มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นอย่างน่าสนใจเป็นพิเศษ โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่คนไทยเลือกและลงทุน ในช่วงที่เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศมีความไม่แน่นอน

คุณเซาไก ฟาน กล่าวเสริมว่า “เราพบว่านักลงทุนไทยได้มองทองคำเป็นทั้งเครื่องมือรักษามูลค่าของทุนและการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ แม้ว่าในระดับโลกความต้องการจะลดลง 9% แต่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของผู้บริโภคไทยกลับสวนทางและเพิ่มขึ้นถึง 15% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับไตรมาสดังกล่าวอีกด้วย”

เงินเฟ้อและความเสี่ยงต่าง ๆ อาจช่วยกระตุ้นความต้องการทองคำให้สูงขึ้น

นโยบายการคลังที่เป็นมิตรกับธุรกิจมากขึ้น ผสานกับแนวทาง "America First" ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นมีแนวโน้มที่จะช่วยปรับปรุงความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (Risk-On) ในช่วงเดือนแรก ๆ ของปี อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือนโยบายเหล่านี้จะนำไปสู่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหรือไม่

นอกจากนี้ความกังวลต่อเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรปก็ได้กลับมาสร้างความกดดันอีกครั้ง ไม่นับว่าความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในประเทศเกาหลีใต้และซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม 2567 สภาทองคำโลกเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้อาจกระตุ้นให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยง เช่น ทองคำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตอบรับกับสภาวะการณ์ดังกล่าว

 

ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารกลางนั้นเป็นผู้ซื้อสุทธิมายาวนานเกือบ 15 ปีติดต่อกัน1 และถึงแม้ว่าความต้องการทองคำจากธนาคารกลางในปีนี้อาจต่ำกว่าสถิติปีในที่ผ่านมา แต่สภาทองคำโลกมองว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดตอบแทนของทองคำได้ในระดับประมาณ 7-10%2

นอกจากนี้ธนาคารกลางจะยังคงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญต่อทิศทางของทองคำต่อไป ซึ่งการซื้อทองคำของธนาคารกลางนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายและยากที่จะคาดการณ์เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามการสำรวจและวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มปัจจุบันจะยังคงอยู่ในทิศทางเดิม และคาดการณ์ว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางระยะยาวโดยประมาณจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 500 ตัน และจะยังคงส่งผลกระทบสุทธิเชิงบวกต่อผลตอบแทนทองคำ ทั้งนี้สภาทองคำโลกมองว่าความต้องการของธนาคารกลางในปี 2568 อาจสูงกว่าระดับดังกล่าวได้ แต่ในทางกลับกันหากลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์สภาวะนี้อาจเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดทองคำได้เช่นกัน

บทสรุปภาพรวมของทองคำในปี 2568 การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกซึ่งอ้างอิงจากโมเดลของ QaurumSM ระบุว่า หากความคาดหวังของตลาดในปัจจุบันนั้นถูกต้อง ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบไม่กว้างมาก (Rangebound) อย่างไรก็ตามการผสานระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อนักลงทุนและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย

ในทางกลับกันหากอัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และหากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสภาวะตลาดเป็นไปในทิศทางที่ทรุดตัวลงกว่าเดิม ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผลการดำเนินงานของทองคำปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางซึ่งยังคงแข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนตลาดทองคำต่อไป ท้ายที่สุดแล้วราคาทองคำนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยขับเคลื่อนหลัก 4 ประการ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงต่าง ๆ ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุน และแรงผลักดันของแนวโน้มจากทิศทางตลาด

การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ผลกระทบนี้ส่งผลชัดเจนอย่างยิ่งต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มักมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจช่วยเสริมสภาพคล่อง และโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะการลดต้นทุนการกู้ยืมที่สามารถกระตุ้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนหลายคนจึงมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมพื้นฐานเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และนโยบายล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ

อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการกู้ยืม การใช้จ่าย และการตัดสินใจลงทุน ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ได้ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมเงินเฟ้ออย่างเข้มงวดในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 7.1% มาอยู่ที่ 2.5% โดยหลังจากวิกฤตโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 11 ครั้งภายในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อโดยไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ศักยภาพในการฟื้นตัวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ในแง่ของสินทรัพย์ดิจิทัล ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ มักมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่มุ่งควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ในทางกลับกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมักถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง

 

นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH)  เผยความเห็นต่อทิศทางนี้ว่า “เราคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น บิทคอยน์ที่เคยมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นถึง 375% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึง 2565 ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยใกล้แตะระดับศูนย์”

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ส่งผลให้เกิดการไหลเข้ามาของเงินทุนที่มักมุ่งไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติในการต้านภาวะเงินเฟ้อ อาจยิ่งทำให้บิทคอยน์มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ จากการคาดการณ์การใช้จ่ายและการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจยิ่งช่วยทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ในฐานะเกราะป้องกันความเสี่ยงจากลดค่าของเงินตรา

 

ปัจจัยเฉพาะที่มีผลต่อสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว บิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ยังมีลักษณะเฉพาะที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโต หนึ่งในนั้นคือ การเกิด Bitcoin Halving ที่ในอดีตมักส่งผลให้มูลค่าของบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นภายในระยะเวลา 6-8 เดือน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ในอดีตจะไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ปรากฏการณ์ Bitcoin Halving อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางให้กับเหล่านักลงทุน และเมื่อผสานรวมกับการเข้ามาของ Spot ETFs รวมถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งอาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดคริปโตมากขึ้นตามไปด้วย

นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving และการเปิดตัวของ Spot ETFs ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อาจมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถึงแม้ว่าเดือนกันยายน มักเป็นช่วงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอ่อนตัว แต่ราคาก็มักจะฟื้นตัวและดีดสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ คาดว่าจะยิ่งเสริมแรงส่งให้ราคาดีดกลับตัวสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิม”

นอกจากนี้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเตรียมปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ อาจนำไปสู่ยุคใหม่ของการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (Economic recalibration) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตได้เช่นกัน

ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังคงมีความไม่แน่นอน แต่สัญญาณต่างๆ ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง และสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ จากการศึกษาเทรนด์ในอดีต รวมถึงปัจจัยเฉพาะด้านเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ยังตอกย้ำให้เห็นว่าการปรับนโยบายในครั้งนี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นที่เร่งให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลได้อีกด้วย” นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล กล่าวปิดท้าย

SCB  CIO  ประเมินเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง จนทำให้เกิดความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ สำหรับแนวโน้มตลาดการเงินโลก ความไม่แน่นอนจากสงครามและความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นผันผวน แนะสะสมหุ้นเติบโตยั่งยืนอัตรากำไรสูง บริหารความเสี่ยงเงินเฟ้อด้วยสินค้าโภคภัณฑ์  เช่น กลุ่มอาหาร และทยอยสะสมหุ้นจีน A-share หลังเศรษฐกิจจีนเปิดเมืองและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ     

บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER เสนอขายหุ้นกู้จำนวน 1,300 ล้านบาท อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.85 ต่อปี โดยเสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่  เปิดจองระหว่าง 5 และ 7 - 8 เม.ย.นี้ เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิต

X

Right Click

No right click