ปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ 6 แห่งใน 3 ทวีปทั่วโลก ล่าสุดจับมือพันธมิตรในไทย คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ร่วมลงทุนกว่า 100 ล้านยูโรเพื่อขยายโรงงานรถยนต์และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ ยกระดับการผลิตในไทย และรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อขยายโรงงานรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ขึ้นในที่ตั้งเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าไว้พร้อมสำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicle – BEV) ที่ผลิตขึ้นที่นี่
มาร์คุส เชฟเฟอร์ กรรมการบริหาร รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ฝ่ายการผลิตและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เปิดเผยถึงโครงการเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในเครือข่ายการผลิต ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการผลิตสูง และกำลังก้าวรุดหน้าด้วยดีและรวดเร็วอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในแผนงานตามกลยุทธ์ คือ การร่วมมือกับพันธมิตรอย่างธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคตแห่งการสัญจรในประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
ซึ่งจากแนวคิดการผลิตแบตเตอรี่ของเราที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถขยายต่อเติมได้ ทำให้เราเปิดสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วในภูมิภาคใดๆ ก็ตามด้วยขนาดโรงงานที่เหมาะสม เช่นเดียวกับโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเสริมเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเราให้มีโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 แห่งใน 3 ทวีป
รวมถึงข้อดีของการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและแนวคิดในการออกแบบโรงงาน แผนงานในการผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์จึงสามารถปรับขยายได้เพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะต่างๆ และเพื่อให้การดำเนินการตามแผนการผลิตเป็นไปด้วยความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภาวะตลาดทั่วโลกภายในปี 2565
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทยด้วยผลิตภัณฑ์และบริการมาตรฐานระดับโลก ก่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และนับเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม
โดยขณะนี้ ทางบริษัทฯ ได้มีการขอขยายการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicles: PHEV) เป็นการตอบรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ จากประเทศเยอรมนี ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถคนไทยด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหนือกว่าการผลิตชิ้นส่วนทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
บริษัทฯ จะผสานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ากับรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อย่างน้อย 1 รุ่นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่รถยนต์จากแบรนด์สมาร์ทไปจนถึงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทฯ กำลังวางแผนจะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 50 รุ่นย่อยอีกด้วย ในขณะเดียวกันเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและการแจ้งเกิดของระบบ 48 โวลท์ พร้อมด้วยรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล EQ ซึ่งใช้ชื่อว่า EQC ที่จะเข้าสู่สายการผลิตในปี 2562 ที่เบรเมน ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ EQ เป็นแบรนด์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ CASE ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักเชิงกลยุทธ์ที่ผสานกัน ได้แก่ การเชื่อมต่อ (Connected), การขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous), ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Shared & Services) และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric)
โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6 ของเมอร์เซเดส-เบนซ์
โรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โดยจะผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและเพื่อส่งออก ซึ่งยังมีโรงงานทั้งในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีนอีกด้วย เครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่นี้จะตอบสนองความต้องการในตลาดอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์
ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ อันทันสมัยจากศูนย์กลางการผลิตในแต่ละพื้นที่ ทั้งยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกาไว้พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามแผนงานรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปี 2562
มั่นใจศักยภาพตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทย
การร่วมลงทุนในครั้งนี้ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ และธนบุรีประกอบรถยนต์ซึ่งเป็นพันธมิตรในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพื่อการขยายโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพการผลิตรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยจำนวนรุ่นที่มากขึ้น
ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว การลงทุนในครั้งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นที่เรามีต่อศักยภาพของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราทำตลาดอยู่ในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูงจากกลุ่มลูกค้า และเราจะยังคงเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายของรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2560 มียอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนมากกว่า 14,000 คัน ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงสองหลัก โดยรุ่นที่มียอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วยรถยนต์ซีดานตระกูล E-Class, C-Class และ CLA ในปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทำตลาดรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศรวมทั้งหมด 9 รุ่น
โดยรุ่นที่เป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้ง C-Class, S-Class และ GLE ในเวอร์ชั่นปลั๊กอินไฮบริดที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2559 และล่าสุดคือรุ่น E 350e Avantgarde, E 350e Exclusive และ E 350e AMG Dynamic นอกจากนี้ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2544
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความสำเร็จอย่างสูงในประเทศไทยคือความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย และ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ในฐานะผู้ดำเนินงานด้านการผลิตในประเทศไทย โดยที่ในปี 2560 เพียงปีเดียว ธนบุรีประกอบรถยนต์ สามารถผลิตได้มากกว่า 12,000 คัน ในปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีพนักงานกว่า 1,000 คน และคาดการณ์ว่าเมื่อโครงการลงทุนครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ โรงงานแห่งนี้จะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้จะเป็นการจ้างงานในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่เกือบ 100 ตำแหน่ง
อันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง การขยายโรงงานและการผลิตแบตเตอรี่ที่จะเริ่มขึ้นในอนาคต ณ โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นการกระชับความร่วมมือกับธนบุรีประกอบรถยนต์ให้แข็งแกร่งขึ้นอีกขั้น และยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรูปแบบการสัญจรในอนาคต
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับพนักงานของเราที่จะได้รับการฝึกอบรมใช้ทักษะความรู้ขั้นสูง เตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ที่เรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มบทบาทในภูมิภาคและสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ความร่วมมือทั้งกับธนบุรีประกอบรถยนต์ และกับหน่วยงานภาครัฐของไทยล้วนเป็นไปอย่างดีเยี่ยม โดยได้รับการสนับสนุนให้การดำเนินการผลิตต่อไปของเราประสบความสำเร็จ และให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ทุกคันที่ผลิตในเครือข่าย การผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานของแบรนด์ไม่ว่าจะผลิตจากฐานการผลิตแห่งใดก็ตาม
โดยในช่วงของการเตรียมการเพื่อเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ พนักงานในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีมงานที่มีประสบการณ์สูงเพื่อให้พวกเขาคุ้นเคยกับกระบวนการผลิตใหม่ๆ เหล่านั้นด้วย
วีระชัย เชาวน์ชาญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด กล่าวว่า การที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ได้มอบความไว้วางใจให้ธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นผู้ผลิตอย่างเป็นทางการในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 30 ไร่ ใกล้กับโรงงานประกอบรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในปัจจุบัน โดยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งเราตระหนักเป็นอย่างดีว่าความรู้ความสามารถของพนักงานฝ่ายผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเครือข่ายการผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ทั้งนี้ ด้วยคำยืนยันของเราที่ว่า “เราเชื่อมั่นในตัวบุคลากร เครือข่าย และการผลิตที่ใช้ทักษะฝีมือขั้นสูง”
ดังนั้นในช่วงของการเตรียมตัวเปิดสายการผลิต พนักงานในประเทศไทยจะได้รับการสร้างเสริมความรู้ความชำนาญในการผลิตและความรู้ทางเทคนิคสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด เพื่อให้มั่นใจได้อย่าเต็มเปี่ยมว่าแบตเตอรี่จะมีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมกับ แหล่งผลิตอื่นๆ ทั่วโลก
กระทรวงอุตสาหกรรมนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนกว่า 300 ราย ลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สิริเวลากว่า 75 ปี ที่ประเทศไทยได้ก่อตั้งหน่วยงานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งพัฒนามาเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา นัยว่าเพื่อเป็นหน่วยที่จะช่วยขับดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่จากอดีตเคยพึ่งพารายได้หลักจากเพียงภาคเกษตร และต้องการจะผันประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ไยดีว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแบบ “เบา” หรือ อุตสาหกรรมแบบ “หนัก” อย่างทุกวันนี้