×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

ดร.อุตตม สาวนายน Make A Move Thai Industry to Road map 4.0

August 01, 2017 2954

สิริเวลากว่า 75 ปี ที่ประเทศไทยได้ก่อตั้งหน่วยงานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งพัฒนามาเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา นัยว่าเพื่อเป็นหน่วยที่จะช่วยขับดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่จากอดีตเคยพึ่งพารายได้หลักจากเพียงภาคเกษตร และต้องการจะผันประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ไยดีว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแบบ “เบา” หรือ อุตสาหกรรมแบบ “หนัก” อย่างทุกวันนี้ 

ได้เกิดการจัดแบ่งและแยกเรียกขานกันเป็นยุคๆ จากยุค 2.0 และต่อมาเป็น ยุค 3.0 โดยลำดับ แต่ทั้งสองยุคสมัยล้วนกำลังจะกลายเป็นอดีต ด้วยว่าแผนพัฒนาประเทศฉบับใหม่ฉบับปัจจุบันได้กำหนดนโยบายโดยรวมของประเทศไทยที่จะเบนทิศทางและย่างก้าวไปสู่เป้าหมาย “ไทยแลนด์ 4.0” และภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติครั้งใหม่นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ ย่อมต้องมี การปรับกระบวนทัศน์ครั้งใหม่และครั้งใหญ่ เพื่อปรับทิศ และเบนแนวทางอันจะนำไปสู่การสร้างความสำเร็จแห่งชาติให้ได้ในที่สุด

ในโอกาสที่นิตยสาร MBA ได้เข้าพบและสัมภาษณ์ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้กุมนโยบายและการขับเคลื่อนของภาคส่วนสำคัญในครั้งนี้ ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว บรรณาธิการบริหารของเรา ได้ตั้งคำถามกับท่าน ในประเด็นที่น่าคิด และคำตอบของท่านก็ถือเป็นความเห็นและวิสัยทัศน์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วน   

หลังจากที่ได้ observe อุตสาหกรรมไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี เราพบว่าหัวใจของปัญหาหลักของอุตสาหกรรมไทย ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ในอุตสาหกรรมไหน หรือ Target Industry ใด พวกเรามักจะขาดในสิ่งที่ผมเรียกว่า 0-1-2-3-4-5 มันจะหายไปในห่วงโซ่ของการผลิตเสมอเลย คือเราไม่มีองค์ความรู้พื้นฐาน หรือ ความรู้ตั้งต้น ในทุกสายงานการผลิต โดยไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ, การสร้าง Machine tools, Machines, และความรู้ในระดับวัสดุหรือ Material ที่จะใช้งานได้จริง ทำให้ ไม่ว่าเราจะผลิตสิ่งของอะไรก็ตาม นับตั้งแต่ ยารักษาโรค, เครื่องยนต์กลไก หรือ Consumer Products ที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันและเราต้องใช้กันมาก เช่น ยานพาหนะ และยารักษาโรค เราก็จะยังไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้เลย แต่ต้องซื้อหาและนำเข้าส่วนประกอบที่สำคัญเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ราคาแพงและแข่งขันไม่ได้ และการที่เราต้องวิ่งไล่กวดความรู้หรือเทคโนโลยี 0-1-2-3-4-5 เหล่านี้ มันก็ทำให้เราต้องพึ่งพาตลอดไป เพราะต่อยอดความรู้ไม่ได้ เนื่องจากรากฐานไม่มี ลองสังเกตดู ไม่ว่าจะหันไปอุตสาหกรรมไหน สุดท้ายก็จะมาติดอยู่ในเรื่องแบบนี้ที่เรารู้แต่เพียง 6-7-8-9-10 แต่ 0-1-2-3-4-5 ดันไม่รู้ 

ในฐานะที่ได้มีโอกาสเข้ามาบริหารกระทรวงอุตสาหกรรม คิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในยุคนี้ก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อพยายามตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถที่เรามีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน มีองค์ความรู้พื้นฐาน มีขีดความสามารถที่จะเอาองค์ความรู้ไปใช้ได้ แล้วนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และนี่คือเป้าหมายหลัก เราเลยกำหนดประเทศไทย 4.0 ขึ้นมา ซึ่งโดยเนื้อหาหรือจะเรียกว่าเป็น Road map ก็ได้ ก็เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่ในทุกด้าน ทั้งสังคม กำลังคนของประเทศ และอีกหลายๆ เรื่อง

กลับมาที่คำถามว่า ทำอย่างไร? ประเทศไทย เราจะมีองค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีในระดับที่เรียกว่า 0-1-2-3-4-5 หรือก็คือ องค์ความรู้พื้นฐาน ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนและลงเยอะ เพื่อที่จะเร่งพัฒนาในช่วง 30 ปี จนเกิดอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่ขณะที่การลงทุนเหล่านั้นสะท้อนให้เราเห็น GDP ที่เติบโตตลอดเวลา แต่วันนี้สิ่งที่ปรากฏชัดเจนก็คือ ความรู้ในระดับ 0-1-2-3-4-5 เราไม่ได้ทำเพียงพอ วันนี้ ยุทธศาสตร์ที่ต้องการปฏิรูป วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งก็คือการมาเน้นที่การสร้าง ความรู้ 0-1-2-3-4-5 ว่า ทำอย่างไรให้เรามี ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่ต้องทำหลายๆ ด้าน อย่างเช่น การพัฒนาผู้ประกอบการ ที่เราพูดกันมากเรื่องการพัฒนา ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ใช่สนับสนุนให้ SMEs ไปซื้อเครื่องจักร แล้วบอกว่านี่คือ ก้าวของ 4.0 นั่นไม่ใช่ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ว่า ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ SMEs เข้าใจในเทคโนโลยี แน่นอนว่าต้องมีองค์ความรู้ แล้วก็พัฒนาขีดความสามารถให้เขารู้จักเอาองค์ความรู้ เพื่อไปใช้ประกอบกับความเชี่ยวชาญที่เขามีอยู่เดิม เพื่อเติมต่อศักยภาพของเขาให้เพิ่มขึ้น สามารถที่จะสร้างนวัตกรรม ได้ด้วยตนเอง แล้วจึงจะนำไปสู่ 5-6-7-8 ที่เป็นของเราเอง

ดังนั้นพอพูดถึง SMEs เราจึงกำหนดกันว่า เราจะไปเริ่มตั้งแต่ฐานราก ไปทำบริบทของพื้นที่ที่เขามีศักยภาพอยู่ เราเองจะสนับสนุนด้านความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ต้องให้เขาเริ่มที่จะทำและพัฒนาในเรื่องนวัตกรรม สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเราเขาก็ไปได้ แต่สิ่งที่เราต้องการเสริมก็คือเรื่องการสร้างนวัตกรรม เช่นเดียวกัน โดยเป้าหมายเราต้องการเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทในภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา เพราะเรารู้ว่าในภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยก็ตาม จริงๆ เป็นแหล่งบ่มเพาะ นวัตกรรม 0-1-2-3-4-5 เป็นแหล่งผลิตคน เทรนคนตั้งแต่เบื้องต้น ในหลายประเทศ ที่ทำองค์ความรู้พื้นฐานได้ดีและยั่งยืน จะเห็นได้ว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับภาคการผลิตอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด และเป็นระบบ อันนี้เราก็อยากจะสร้างให้เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนในแง่ที่ว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาตนเองเอาองค์ความรู้ออกมาสร้างนวัตกรรม มันจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน แทนที่จะซื้อของอย่างเดียวเช่นในอดีต

ในอีกประเด็นที่ว่า ประเทศที่เป็นผู้สร้าง เป็นเจ้าของและ control องค์ความรู้พื้นฐานไว้ ซึ่งก็เริ่มจากฝรั่ง เช่น เยอรมัน อเมริกัน อังกฤษ และต่อมาก็มีประเทศญี่ปุ่นที่ช่วงแรกๆ ก็เป็นแนวการลอกเลียน แต่ต่อมาก็สามารถพัฒนาและสร้างเองได้ กลายเป็นเจ้าขององค์ความรู้เทคโนโลยีในที่สุด ซึ่งในฐานะที่ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นพันธมิตรกับเรา เช่นญี่ปุ่น ที่เกือบจะเรียกว่าครอบครองการลงทุนอุตสาหกรรมในไทย และญี่ปุ่นก็เป็น partner กับเรามากว่า 30 ปี แต่ในที่สุด กลับเป็นว่า ญี่ปุ่นไม่เคยบอกอะไรที่สำคัญกับเราเลย คนไทยก็ได้เพียงการเป็นแรงงานรับจ้างผลิต หรืออย่างมากก็ได้รับการถ่ายทอดให้ผลิตส่วนที่ไม่สำคัญ โดยไม่สามารถเข้าถึงหัวใจได้ แต่ส่วนใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม พวกเรามิได้มีองค์ความรู้หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใดๆ เลย และนี่คือปัญหาของอุตสาหกรรมไทย ที่ทุกคนก็รู้ แล้วถามว่า เราจะทำอย่างไร นับแต่นี้ ที่จะได้จูงใจหรือบังคับให้มีการถ่ายทอด หรือบอกองค์ความรู้ให้เราด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน?

ส่วนหนึ่งก็เข้าใจได้ว่า ใครมีของดีก็ย่อมต้องหวงและต้องการเก็บงำไว้ แต่ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนไปเยอะ สิ่งที่กล่าวมานั่นคืออดีต แต่ในปัจจุบันเป็นโลกที่เปิดขึ้น ของความเชื่อมโยงและความร่วมมือ (connectivity & collaboration) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ที่วันนี้รู้ว่า ถ้าจะโตก็ต้องมีการแบ่งปันกัน ต้องมีการจับมือ และเชื่อมโยงเครือข่ายและเติบโตไปด้วยกัน แต่ประเทศไทยเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะสร้าง อย่ารอหรือหวังว่าจะให้เขาแชร์มา คิดกลับกัน เป็นเราเราจะแชร์ระดับไหน?

มีประเด็นหนึ่งที่เขาเองก็มองว่า ผู้ประกอบไทย หรือคนไทยไม่ได้ใส่ใจที่จะเรียนรู้ หรือ ต้องการรับการถ่ายทอด เวลาที่เขาต้องการจะให้ จะด้วยอุปสรรคด้านภาษาหรือความพยายาม นั่นเขาเองก็ยังสงสัย

ประเด็นคือ อย่ารอ ในการปฏิรูปเราต้องเริ่มเรียนรู้ของเราเอง แต่ผมกำลังพูดว่า สภาพแวดล้อมทุกวันนี้ มันเอื้อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเป็นเอเชียเขารู้แล้วว่า เขาไม่ได้มองเราเป็นเพียงแค่ประเทศไทย แต่เขามองพื้นที่ที่มากกว่านั้น ตลาดที่กว้างกว่านั้น ผมว่าเขาเปิดขึ้นเยอะ ที่จะแชร์องค์ความรู้ ที่จะมีการแลกเปลี่ยน เราเห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด การที่จะดำเนินการได้อย่างราบรื่นมันต้องเข้ากับวิถีของประเทศนั้นให้ได้ เพราะมีหลายคน อย่างไทย เรามีศักยภาพเยอะมาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ที่ตั้ง คนของเราก็เป็นกำลังสำคัญ บริษัทต่างๆ เขาเปิดขึ้นเยอะ แต่เราเองก็ต้องขวนขวายเองที่จะทำ 0-1-2-3-4-5 ให้ได้ ด้วยตัวเอง

เราคิดว่านับแต่นี้ จีนคงจะมาชิงดำกับญี่ปุ่นกันในประเทศไทย บรรยากาศคล้ายสมัยสงครามเย็น ที่ฝรั่งเองก็เอาเกาหลีใต้มาชิงดำกับญี่ปุ่นแล้ว ฝรั่งเองก็แชร์ 0-1-2-3-4-5 ให้กับเกาหลีใต้ เพื่อให้คานกับญี่ปุ่น เราเองก็น่าจะอาศัยช่วงนี้ต่อรองให้คู่แข่งเหล่านั้นบอกเทคโนโลยีให้เราเช่นเดียวกัน ประเด็นนี้ท่านคิดอย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตอนนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยเราหมด จะเรียกว่า “ต่อรอง” หรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เอาเป็นว่าเราทำงานกับสามประเทศนี้แล้วเขาก็มีความตั้งใจมากที่จะทำงานกับภาคเอกชนของเรา เห็นได้ชัดว่า เอกชนกับเอกชน ดี เรามียุทธศาสตร์ โครงการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจ ดังนั้นเราคุยกับประเทศเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งเขาก็รู้ แม้แต่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น รถยนต์ เราประกาศว่า อุตสาหกรรม

เป้าหมายหนึ่งที่เราจะต่อยอดคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า กี่ประเทศที่เก่งเรื่องนี้ ทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป คือ เยอรมนี เขามาคุยกับเราค่อนข้างมาก อันนี้ก็เป็นโอกาส ที่เราต้องขวนขวาย รู้จักจะเจรจาว่า เราต้องการอะไร ไม่ใช่เขามาลงทุน ส่วนองค์ความรู้พื้นฐานที่เราควรจะมี เราควรจะได้อะไร เช่น อีกฝ่ายเขามาลง แล้วเขาแชร์ แล้วคุณแชร์ไหม อย่างนี้เป็นต้น ตอนนี้กำลังเกิดขึ้น

ขอยกตัวอย่าง อุตสาหกรรม ไหนบ้าง?

รถยนต์ เป็นตัวอย่างได้ชัดเจน และจะมี หุ่นยนต์ (Robotic) และเรื่องที่เกี่ยวกับ อินเทอร์เน็ต ทั้งหลาย ล้วนแล้วก็เข้ามา และเขาก็รู้ว่าเขาต้องมาแข่งกัน เราก็คบได้กับทุกคน เอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ภายใต้โลกที่ connect & collaborate กัน

หากจะขอลงลึกไปอีกเรื่อง คือ machine tool industry มีแนวในการพัฒนาเพื่อที่จะให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็ก ปรับเปลี่ยนหรือ transformation ไปในแนวทางที่ก้าวทันโลกในการผลิต เพื่อที่จะเป็น machine tool และไปในทิศทาง 4.0 สำหรับ กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ทำในเรื่องนี้มาก และก็จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น เรามีสถานที่เช่นที่กล้วยน้ำไท ที่จะยกระดับ ให้เป็นศูนย์กลางของการ สนับสนุนเรื่อง transformation โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีแล็บให้ SMEs เข้ามาได้สัมผัสกับ machine tool ต่างๆ ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย เราจะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ โดยให้เกิดการได้สัมผัส และเมื่อสัมผัสแล้วเข้าใจ หากต้องการหา machine tool ที่เหมาะสม เราก็ยังมีการสนับสนุนด้านการเงินด้วย เป็นการสนับสนุนต่อเนื่องในด้านการใช้และประเมินผลการใช้งานของสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นแนวทางที่เราทำอยู่โดยมีเครือข่ายออกไปสู่ฐานราก โดยผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่เรามีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ที่เดิมทำเรื่องกำกับดูแล ก็จะเพิ่มบทบาทให้มากขึ้น โดยสนับสนุน SMEs ในพื้นที่ ไม่ว่าจะในด้าน machine tool หรือแม้แต่ด้านบริการก็เช่นกัน ที่เป็นความพยายามที่จะยกระดับไปด้วยเช่นกัน อันนี้เราจะเข้าให้ถึง เพราะหากไม่เช่นนั้น วันๆ SMEs ต้องต่อสู้เรื่องทำมาหากินอย่างเดียวเขาก็แย่แล้ว

สมมุติว่าในทางปฏิบัติ ผมเป็นโรงกลึงแห่งหนึ่ง ใหญ่พอควร แล้วมาอ่านเจอ บทสัมภาษณ์แบบนี้และอยากยกระดับโรงกลึงของผมให้ไปทำแม่พิมพ์ (Mold) ของอุตสาหกรรมที่จะไป support เครื่องบิน จะได้หรือไม่? อย่างไร?

ติดต่อมาได้เลย เรามี IDC คือ Industrial Design Center เรามี ITC (industrial transformation center) ติดต่อมา แล้วมาคุยกันเลย ความต้องการเป็นไง แนวทางจะไปอย่างไร หรือ แม้แต่เราอาจจะหาคู่ค้าคู่พันธมิตรร่วมทุนธุรกิจ หรือ match partner ก็สามารถจะทำได้ หรือแม้แต่เงินเราก็เตรียมเป็นพิเศษ ผมได้ยินว่าล่าสุด กองทุน พัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ มีตั้งงบไว้ที่ 20,000 ล้านบาท เพื่อจะมาใช้ในเรื่องนี้ เป็นแนวทางพัฒนาแบบคู่ขนาน ไม่ใช่แต่ว่า คุณติดต่อ แล้วเรายื่นมือออกไป คุยกัน เสร็จแล้ว ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร? ไปกู้เงินลำบากอีก เครดิตเต็มแล้วกับแบงก์ ดังนั้นเรามีพร้อม เครื่องไม้เครื่องมือ มีครบเครื่องเรื่องการสนับสนุน แต่ในทางกลับกันก็ไม่ใช่ว่าเอาเงินไปให้เฉยๆ เช่น คุณต้องการ machine tool ใหม่ เครื่องมือใหม่ใช่หรือไม่? ราคาเท่าไหร่ แล้วรัฐให้ไป soft loan อย่างนั้นก็ไม่ใช่ แต่จะต้องมาพัฒนาเองด้วย ต้องมุ่งมั่นในการที่จะมี 0-1-2-3-4-5 ซึ่งถ้าต้องใช้เงินพัฒนา บอกมา งบปีแรก ปีต่อไป เท่าไหร่ ขอเห็นแผนหน่อย เพื่อประเมินว่าปีแรก ปีสอง โอกาสและศักยภาพจะเป็นอย่างไร แล้วก็ช่วยกันไป พัฒนากันไป

หรือแบบว่า SMEs เดินไปหาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพื่อจับมือกัน?

ยิ่งดี จูงกันมาเลย เรามี contact และ network กับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว หรืออย่างเรื่องเกษตร กับคณะเกษตร เรื่องนี้เราก็ช่วยอยู่แล้ว ทำเลย อย่างอ้อย น้ำตาลเรากำลังจะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพราะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ตั้งแต่เล็กจนใหญ่ ทางเราวันนี้ถ้าไม่ปรับตัวจะก้าวไม่ทันผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ซึ่งเขาทำเรื่องนี้มาก เช่นบราซิล อินเดีย ออสเตรเลีย ซึ่งในเรื่องของผลิตภาพ หรือ productivity เขาทำได้ดีมาก ถ้าเราไม่ยกระดับด้วย machine tool ที่เหมาะสมต่อไปเราก็ยากจะแข่งขัน

มาถึงสถาบันการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มี สิ่งที่เรียกว่า 0-1-2-3-4-5 อย่างเวลาส่งไปเรียนกับฝรั่งในต่างประเทศ เป็นข้อสังเกตว่า มักจะไปหยิบเอาความรู้ 5-6-7-8-9-10 แล้วมาลงเอยด้วยการ “เบิกเงินซื้อ” เครื่องชั่ง ตวง วัด ฯลฯ ก่อนเลย แต่พอจะต้องสร้างอะไรก็มักจะมาจบที่การสั่งเครื่องจักร สั่งซอฟต์แวร์ และ “ต้องจ้างฝรั่ง” เข้ามาจัดการ เพราะมันขาดบางอย่างใน chain of knowledge และสังเกตว่าจะเกือบทุกเรื่อง ทุกอุตสาหกรรม ที่จะคิดทำอะไร ก็มักจะลงเอยอีหรอบนี้?

นั่นเพราะเราไม่ได้สะสมมา แต่ข้อเท็จจริงเลยคือ ความรู้พื้นฐานเริ่มมีเยอะนะ ถ้าจะไปลงเจาะลึกดู วันนี้ผมว่ามีพอสมควร อาจารย์ที่มีความสามารถ มีผลงานวิจัยมีไม่น้อย แต่บางทีลิงก์ยังไม่แข็งแรง แม้แต่ ความรู้แบบ 0-1-2-3-4-5 ที่เราพูดกัน มันเป็นความรู้พื้นฐานที่เข้าสู่กระบวนการผลิต ทำเป็นสินค้าแล้ว แต่จริงๆ ความรู้ก่อนหน้าเราก็มีก่อนนั้นอีก แต่เป็นระดับงานวิจัย ซึ่งเรามีและเยอะ แต่ลิงก์ที่ขาด คือ ความเชื่อมโยงจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ต้องเร่งทำ เพราะมันยังขาด ที่ผ่านมา เราอาจจะถนัดในแง่ของการไปซื้อมาเพราะว่าต้องการ “เร็ว” แต่มาวันนี้ บุญเก่าหมดแล้ว ประเทศไทยถึงเวลาลงทุนใหม่ ซึ่งนับจากนี้ต่อไปจะต้องลงในสิ่งที่เรียกว่า 0-1-2-3-4-5 นั่นเอง

มาสู่ประเด็นเกี่ยวกับ ตัวผู้-ประกอบการ หรือ entre-preneur ในบ้านเราที่มีข้อสังเกตอยู่ว่า มักจะไม่ลงทุน หรือ invest ในองค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีพื้นฐาน จะเป็นเพราะปัจจัยด้าน culture หรือไม่ ที่อุตสาหกรรมของไทยมักตกอยู่ในมือคนจีนแต้จิ๋ว ที่ ไม่ได้คิดว่าประเทศไทยเป็นบ้านตั้งแต่แรก จึงมักทำการค้าในลักษณะซื้อมา-ขายไป buy low - sale high ซึ่งไม่เหมือนญี่ปุ่นที่คิดจะสู้ฝรั่ง และสู้ทีละเล็กทีละน้อยอย่างไม่ลดละ จากรุ่นสู่รุ่น จนสามารถเป็นเจ้าของอะไรได้ ต่างจากเราที่มักซื้อมาขายไป หรือดีหน่อยก็เช่าไลเซนส์มาทำ แม้กระทั่งเกมโชว์ หรือค้าปลีก ทำให้มาร์จินต่ำ สุดท้ายเมื่อผลกำไรเมื่อหักต้นทุนก็เหลือน้อย เลยต้องใช้วิธีผูกขาดเพื่อให้สามารถทำ กำไรได้มาก ซึ่งทำให้ในที่สุดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ลุกขึ้นมาไม่ได้เลย หรือจะสู้ได้ ท่านมองประเด็นนี้อย่างไร?


จากที่ได้สัมผัสในการทำงาน ณ จุดนี้มาประมาณหนึ่ง พบว่า มีคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลา แล้วก็มุ่งมั่นที่จะทำในนวัตกรรมใหม่ โดยลงในรายละเอียดในขั้นรากฐานเลย แต่ก่อนไม่มีขนาดนี้ แต่ตอนนี้ เพราะโลกเปิด คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นมาโดยตลอด เขาเห็นว่าในต่างประเทศ มี entrepreneur ของจริง แล้วทำไมเราเป็นไม่ได้ ทุกวันนี้มีมนุษย์พันธ์ุนี้มากขึ้นแต่ประเด็นคือรัฐบาลต้องส่งเสริม และต้องช่วยเขามากขึ้น เหมือนเจียระนัยเพชร เราก็รู้ การลงทุน 20 ราย สำเร็จได้ 2 ราย นี่ก็ถือเก่งมาก เมื่อเร็วๆ นี้ มี survey ของ Bloomberg เรื่องประเทศ ที่เด่นเรื่องนวัตกรรม ปรากฏว่าที่ 1 คือเกาหลี ต่อมาคือสวีเดน เขาบอกเลยว่า SMEs ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐถึงจะไปได้ รัฐก็เริ่มหันมาจับเรื่องนี้ โดยจะสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เริ่มจากฐานราก แล้วรัฐบาลก็จะต่อยอดให้ได้ เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแลจนเขาแข็งแรงพอ เช่นเรื่องการเงินในช่วงบ่มเพาะหรือก่อร่างสร้างตัว จนเขาแข็งแรงพอและสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินปกติได้ ในสมัยก่อน พอผู้ประกอบการล้มลุกคลุกคลาน สุดท้ายเหนื่อยจนไปไม่ไหว ก็จะหันไปหาทางลัด ซื้อเลยดีกว่า ไม่รอการพัฒนาแล้ว เพราะมันไม่ทัน แต่ในวันนี้ เราจะสร้างปัจจัยเพื่อเอื้อให้เขาพัฒนาของดีที่ใช้ขึ้นมาเองให้ได้ หรือแม้จะไม่ทั้งหมดแต่ส่วนหนึ่งก็ยังดี

นั่นคือการพูดจาในระดับนโยบาย แล้วในระดับปฏิบัติ มีความเข้าใจที่ตรงกันหรือไม่?
ผมคิดว่าความเข้าใจมีมากขึ้น เราชี้ให้เห็นและอธิบายให้มากขึ้น และอธิบายในรายละเอียดเลยว่าแนวทางเป็นเช่นไร การปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแผนจะดีแค่ไหน ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ อันนี้แน่นอน

แล้วข้าราชการไทยเป็น 4.0 หรือยัง?
ยังไม่ใช่ทุกคน อันนี้ขอพูดตรงๆ ผู้ประกอบการ ภาคไหนก็ตาม โดยรวมคนไทยทั้งหมดก็ยังไม่ได้อยู่ 4.0 แต่นั่นคือเป้าหมายของรัฐบาล อย่างที่ท่านนายกฯ พูดว่าบางคนยังอยู่ 1.0 บางคน 2.0 แต่ 4.0 คือเป้าหมายของรัฐบาล และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปอยู่ที่ 4.0 แต่ต้องการให้ตระหนักว่า 4.0 คือภาพที่ต้องไป ถ้าคุณอยู่ 1.0 ต้องเริ่มขยับ ไป 1.5 หรือ 2 ก็ได้ สังคมยังมีความหลากหลาย ภาครัฐ จึงมีการปฏิรูปของภาครัฐเองด้วย

กลับมาเรื่องของพันธมิตร อย่างเช่น เยอรมนี เราเคยได้ยินว่า เขาเองสนใจอยากขยายมาที่เรามากกว่านี้ แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรค คือ หา supplier ไม่ได้เพราะญี่ปุ่นเอาไปหมด มุมมองต่อเรื่องการ diversify strategic partner เป็นอย่างไร?

ก็ไม่เชิงนะ พูดถึงรถยนต์ แน่นอนว่าเราผูกพันกับญี่ปุ่นมานาน เขาอยู่ที่เรา สำหรับเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่ที่เราจะสร้างความสัมพันธ์กับใคร ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ง่ายขึ้น เรื่องล็อกทุกวันนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เราสามารถเข้าถึง และหลายประเทศก็เข้าถึงเราตรง ส่วนเรื่องการล็อกพอเห็นโอกาสก็ไปปลดล็อกได้ วันนี้ทำได้ง่ายขึ้น นโยบายก็ต้องนำไปสู่การปฏิบัติว่าจะปลดล็อกยังไง อย่าง EEC ที่ทำเช่นกัน เมื่อรู้เป้าหมาย เราก็ไม่รอ อุตสาหกรรมเป้าหมาย เราติดต่อเลย ไม่รอให้เขาเข้ามา และเราไม่ได้เพียงหวังแค่เจ้าเดิม เรามีหน่วยงาน จรยุทธ์ ทำเรื่องนี้ เช่นสำนักงาน EEC เป็นต้น เดี๋ยวนี้กลไกพวกนี้เรากำลังนำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ในวิสัยทัศน์ของท่านในระดับ มหภาค มองว่า พฤติกรรมการบริโภคของโลก ที่เกิดคนรวยใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น คนจีนรวยขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร?

ผมคิดว่า พฤติกรรมของคนทำให้อุตสาหกรรมหลายๆ อุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่เฉพาะความมั่งคั่งที่มาเร็วขึ้น และมากขึ้น วิถีชีวิตที่เปลี่ยนอย่างที่เราเห็น หลายอุตสาหกรรม เช่นสิ่งพิมพ์ มันไม่เหมือนเดิม ถ้าไม่ go digital ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนไม่รู้ ก็ลำบาก ซิมเปิลๆ วันนี้ใครซื้อไดอะรีมาเขียนกันบ้าง ใครจะคิดว่า วันหนึ่งโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนเป็น accessory และยังบรรจุทุกสิ่งเอาไว้ในเครื่องเดียว ใครที่เคยคิดจะผลิตโทรศัพท์คุณภาพดีที่ใช้งานได้ 10 ปี ก็ไม่ใช่วิธีคิดแบบเดิมอีกต่อไป แบบนี้เป็นตัวอย่างเล็กน้อย แต่มันสะท้อนว่าแม้แต่อุตสาหกรรมใหญ่ก็ถูกกระทบ แล้วก็ต้องเปลี่ยน และการเปลี่ยนก็เป็นไปได้ทั้งโอกาส ทั้งความเสี่ยง และความท้าทาย เราเห็นเลยว่า อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ เจ้าที่รุ่งวันนี้กับเจ้าซึ่งรุ่งในอดีต คนละเทรนด์กันเลย

แล้ว core ของเรื่องนี้คืออะไร อย่างในฐานะของนักศึกษาคนหนึ่ง หรือว่าการที่เราจะขึ้นมาอยู่ในอาชีพในอนาคต มันจะต้องมีอะไรที่ไม่เปลี่ยน ที่จะสามารถ apply ได้ทุกอย่าง คืออะไร?

หนึ่งเลย คิดว่า หนีไม่พ้นเรื่องของ productivity อันนี้ทุกอุตสาหกรรม จะดิจิทัล หรือไม่ก็ตาม พูดง่ายๆ คือ แรงที่ใส่ลง ทำอย่างไรจะให้ 1+1 ได้มากกว่านั้น มี productivity ที่สูง ประเทศชั้นนำมีเทคโนโลยีหรืออะไรก็ตาม สุดท้ายก็เพื่อไปเพิ่ม productivity สิ่งนี้จะไม่เปลี่ยน อย่างนี้ต้องมีแน่ เพราะมันหมายถึง การทำงานหนัก หนีไม่พ้น ทำงานหนัก กัดไม่ปล่อย (persistence) แต่เท่านั้นไม่พอ ยังต้องสิ่งที่ 2 คือ ควรมีนวัตกรรม อย่างน้อยมีของตัวเอง ในระดับที่พอที่จะทำให้ อย่างน้อยพอทำงานหนักแล้ว เกิด productivity ในระดับสูง นำไปสู่ advantage อันนี้ อย่างน้อยต้องยึดไว้ ถ้าพูดถึง competitiveness นี่คือสองขาหลัก ความสามารถในตัวเอง (core competency) นี่พูดถึงระดับคนเลยนะไม่ใช่ระดับประเทศ แต่ประเทศโดยรวมก็คือรวมเอา productivity ของคน ในแต่ละอุตสาหกรรม มันถึงจะไปได้ ไทย-แลนด์ 4.0 คืออย่างนี้ และขอเรียนว่าก็เพื่อ การจะไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องทำ productivity เพิ่ม มันไม่มีทางอื่น

แล้วประเด็นเรื่องเครื่องจักรที่จะมาแทนคนเช่น หุ่นยนต์ (Robot) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่มีการกังวลกันมาระยะหนึ่งว่าจะแทนที่หรือแย่งงานคนในหลายลักษณะงาน ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร?

มากขึ้นแน่ เรื่อง IOT (Internet of Things) นี่เป็นจริงทุกอุตสาหกรรม แน่นอนว่า AI มาแน่ๆ แต่ถามว่า แทนคนทั้งหมดได้เลยไหม? ผมว่าไม่ เพราะพฤติกรรมของคนยังไงก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคน แต่ถ้าในแง่ของ competitiveness เทคโนโลยีพวกนี้มันขับเคลื่อน productivity ดังนั้น หนีไม่พ้น ต้องเอามาแน่นอน ถามว่า แล้วพอเอามาแล้วคนเดิมของเราจะทำยังไง ทอดทิ้งก็ไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของเขาที่อยู่ๆ เทคโนโลยีถูกคิดขึ้นมา เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดเลยว่า จะหาหนทางสนับสนุนให้คนของเราไปทำอะไรได้อีก

หมายความว่า ต้อง re-training กันใหม่?

ต้อง retraining ต้อง re-skill อันนี้ต้องทำ ไม่เช่นนั้นเราเห็นภาพแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น อันนี้มาแน่ และไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช้ก็แพง และไม่ทันเกมอีก ต้นทุนสูงอีกเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นในอุตสาหกรรม อย่างภาคเกษตรนี่ชัดเจนมาก ถ้าไม่ใช้ machine มาช่วยก็จะแข่งขันไม่ได้ สู้ไม่ได้ ชัดเจนมากในภาคอุตสาหกรรมเองก็เช่นกัน

ในฐานะที่ท่านคุมนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีพันธกิจในการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ถ้าเขาอยากจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือ องค์ความรู้ที่จะสร้างเป็นมูลค่า และสืบทอดถึงลูกหลานได้ แนวทางที่อยากจะบอกคืออะไร?

หนึ่งคือ ความมุ่งมั่น เห็นตัวอย่างเยอะแล้วในโลก ไม่มีอะไรจะขัดขวางให้คนไทยทำสิ่งไหนไม่ได้ โอกาสมีแน่ๆ แต่ต้องมุ่งมั่น สองคือ หูตาเปิดกว้าง เพราะว่าวันนี้มีการสนับสนุนพอสมควรในประเทศ แต่ต้องขวนขวายเข้าให้ถึง ในภาครัฐทุกวันนี้ก็ทำงานเชิงรุกมากขึ้น สามารถช่วยได้ และเกิดขึ้นชัดว่า คนรุ่นใหม่ entrepreneur รุ่นใหม่ มีความพร้อมขึ้นในหลายๆ อย่างเป็นแรงส่ง แต่ก็ต้องขวนขวายว่าทำยังไงจะได้การสนับสนุน อันนี้สำคัญ อย่าง entrepreneur ในต่างประเทศ ที่เก่งมาก มักจะมุ่งมั่น มีความคิดของตัวเอง และพอไปขั้นที่จะต่อยอด ก็จะรู้จักคิดที่จะไปเชื้อเชิญ หรือลิงก์กับคนอื่น แล้วมาช่วยกันทำ ก็กลับไปเรื่อง collaboration อย่างที่พูดมา

แต่สำคัญคือต้อง “มีของ” ของตัวเองเสียก่อน?

แน่นอน เราต้องมีของ แล้วอีกเรื่องคือ ยังไงก็ต้องพลาด โอกาสสูงมาก เวลาทำธุรกิจ แล้วเกิดพลาดก็ต้องพยายามลุกขึ้นมา ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในโลก ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น ล้วนผ่านการล้มลุกคลุกคลานกันมาทั้งนั้น และพอเริ่มตั้งหลักได้ขั้นหนึ่ง ขั้นต่อไปก็จะหาคนมาช่วย ร่วมมือกัน เป็น platform นี่คือ entrepreneur ตัวจริง ก็อยากให้คนไทยคิดในแง่นั้น open platform มากขึ้น อย่าง co-working space เขาก็มีไว้ให้เพื่อเป้าหมายประมาณนั้น แต่ใช้เต็มที่หรือยัง ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สำคัญคือ ต้องเปิดใจ

ทรรศนะความคิดเห็นของท่านต่อการเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐอเมริกาว่าเราควรเตรียมตัวอย่างไร?

คิดว่าเพราะประเทศเราเป็นประเทศเล็ก แต่โชคดีที่เราอยู่ในที่ตั้งซึ่งมี ศักยภาพสูง ซึ่งในสภาพการณ์ที่ตอนนี้เป็นกันทั่วโลก คือ ประเทศใหญ่เขามีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ในยุโรปก็มีความไม่แน่นอนสูง เรื่อง brexit เหล่านี้ ภายใต้ความไม่แน่นอน ไทยเราก็ต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศรอบๆ คือ CLMV+ Thailand เราต้องรวมกันในเอเชียให้มันเป็นกลุ่มก้อน สร้างความเชื่อมโยงให้มากขึ้น ถ้าพูดถึงการพัฒนา จะได้มีพลังทั้งในเรื่องความร่วมมือ และพลังในการเจรจาต่อรองกับประเทศใหญ่

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : ฐิติวุฒิ บางขาม

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Thursday, 07 October 2021 18:10
X

Right Click

No right click