January 22, 2025

รายงานวิจัยพบรูปแบบการอุปโภคบริโภคในอาเซียนเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเนื่องจากเทรนด์ที่เกิดหลังโควิด-19 ระบาด

August 15, 2020 1865

รายงานวิจัยของ Bain & Company และ WEF พบว่า ชนชั้นกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของประชากร และการอุปโภคบริโภคจะเพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่า เป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 อาเซียนเป็นภูมิภาคที่แสดงถึงโอกาสในการอุปโภคบริโภคที่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ แนวโน้มด้านประชากรที่มีความแข็งแกร่ง ระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่ทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และความก้าวหน้าด้านดิจิทัลที่เปิดตลาดผู้บริโภคใหม่ ๆ โดยภายในปี 2030 นี้ จะเกิดแนวคิดหัวข้อเรื่องการอุปโภคบริโภคที่สำคัญ 8 ประการขึ้นในอาเซียน ซึ่งรวมถึงการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นสองเท่า และเส้นขอบเขตระหว่างการช็อปปิ้งแบบพรีเมียมกับการช็อปปิ้งแบบคุ้มค่าที่ลดชัดเจนน้อยลง แนวคิดบางข้อนี้จะเกิดเร็วขึ้นเป็นผลเนื่องจากโรคโควิด-19 อาทิ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ และช่องทางการค้าปลีกที่เปลี่ยนไป โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นผลการวิจัยของรายงาน Future of Consumption in Fast-Growth Consumer Markets: ASEAN 2030 ที่จัดทำโดย Bain & Company และ World Economic Forum

Zara Ingilizian ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคและแพลตฟอร์มการอุปโภคบริโภคในอนาคต (Head of Consumer Industries and Future of Consumption Platform) จาก World Economic Forum กล่าวว่า "ขณะที่อาเซียนเดินหน้าต่อในฐานะหนึ่งในสภาพแวดล้อมการอุปโภคบริโภคที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในโลก ผู้นำในภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อรับประกันว่า การอุปโภคบริโภคดังกล่าวเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบและทั่วถึง แม้ว่าเรากำลังเตรียมรับมือกับความท้าทายเฉพาะหน้าที่เกิดจากโรคโควิด-19 แต่ดิฉันก็มั่นใจว่า การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์จากรายงานฉบับนี้จะมีส่วนสนับสนุนในการทำให้เกิดการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ และจะนำมาซึ่งอนาคตของอาเซียนที่มั่งคั่งในระยะยาว และสร้างผลประโยชน์ที่ยั่งยืนสำหรับทั้งภาคธุรกิจและสังคม"

เศรษฐกิจของอาเซียนมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก และคาดว่าจะมีการเติบโตในทศวรรษหน้าจนกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งเป็นผลเนืองมาจากระดับรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวในระดับภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 4% ในแต่ละปี เป็นมูลค่าถึง 6,600 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ซึ่งจะทำให้สินค้าหลายประเภทไปถึงจุดหักเหที่การอุปโภคบริโภคจะพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คาดการณ์ได้ว่าการอุปโภคบริโภคในประเทศซึ่งขับเคลื่อน GDP ราว 60% ในขณะนี้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า เท่ากับมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

"ภายในทศวรรษหน้า อาเซียนจะมีผู้บริโภคใหม่ถึง 140 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 16% ของผู้บริโภคทั่วโลก โดยผู้บริโภคจำนวนมากจะทำการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นครั้งแรก รวมถึงจะซื้อสินค้าหรูหราชิ้นแรกอีกด้วย" Praneeth Yendamuri พาร์ทเนอร์ของ Bain & Company และผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ กล่าว "แต่เมื่อการเติบโตนี้ดำเนินต่อไป องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องจัดการกับวิกฤติเฉพาะหน้า ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากโรคโควิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติดังกล่าวนี้"

การนำระบบดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วจะดำเนินต่อไปในอาเซียน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับการกระตุ้นโดยผู้บริโภคที่เติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การลงทุนของนักลงทุนในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล โดยภายในปี 2030 จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเกือบ 575 ล้านคน และระบบดิจิทัลจะปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ของการอุปโภคบริโภคในแต่ละวัน เมื่อระบบดิจิทัลเข้าไปถึงชุมชนในชนบทและชุมชนที่มีรายได้ต่ำ ระบบดังกล่าวก็จะช่วยกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก และทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน อาทิ บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และบริการทางการเงินได้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้ชุมชนที่ด้อยโอกาสมีช่องทางในการเข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณสุขและสามารถสั่งซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ ได้

ในขณะที่ภาพรวมด้านการอุปโภคบริโภคจะมีการพัฒนาในทศวรรษถัดไป ผู้นำในภาครัฐและเอกชนก็จะได้พบกับโอกาสและเผชิญความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น ในการปลดล็อกศักยภาพของภูมิภาคนี้ให้เต็มที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมดำเนินการใน 5 ข้อดังต่อไปนี้:

  1. เตรียมพร้อมในด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถและการมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยในช่วงทศวรรษหน้า ประชากร 40 ล้านคนในอาเซียนจะอยู่ในช่วงวัยทำงาน ขณะที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลกระทบลักษณะและจำนวนตำแหน่งงาน โดยเด็กประมาณ 65% ที่จะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาในปีนี้จะได้ทำงานที่ไม่มีปรากฏอยู่ในขณะนี้
  3. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้มีการเปลี่ยนไปใช้บริการระบบอัตโนมัติอย่างรวดเร็วขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างงานใหม่ ลดช่องว่างด้านทักษะ และจัดหาช่องทางเข้าถึงการศึกษา บริการสาธารณสุข และโภชนาการที่ดี เพื่อรับรองว่าแรงงานในอนาคตจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีอนาคตที่มั่นคง
  4. ยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวและพัฒนาให้กลายเป็นเมือง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร เนื่องจากทรัพยากรของอาเซียนจะต้องรับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  5. ผลักดันให้มีกฎระเบียบที่เปิดกว้างและครบวงจร โดยใช้แนวทางวิธีที่เน้นความสำคัญของท้องถิ่น เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการ การลงทุน ความรู้ และทุนมนุษย์ภายในภูมิภาคด้วยกันเอง

"พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2030 ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางอายุน้อยซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองจะแสวงหาประสบการณ์ทางสังคมและในด้านอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลและคุ้มค่าต่อเงินที่ใช้จ่าย ไม่ว่าจะผ่านทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ก็ตาม" คุณ Yendamuri กล่าว "เราจะเห็นว่าแต่ละตลาดในอาเซียนมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน และวิธีการแบบ 'Multi-local' นี้ก็จะมีความสำคัญต่อบริษัทต่าง ๆ ที่หวังจะประสบความสำเร็จในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายอย่างมากนี้"

Mayuri Ghosh จากแผนกกลยุทธ์และพันธมิตรความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ฝ่ายแพลตฟอร์มการอุปโภคบริโภคในอนาคต (Strategy & Public-Private Partnerships, Future of Consumption Platform) ของ World Economic Forum กล่าวว่า "ปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายเพราะความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องมาจากโรคโควิด-19 หากมองในด้านบวก อาเซียนกำลังอยู่ในจุดที่สำคัญทั้งในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาพลเมืองที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และในระหว่างที่ความเติบโตของอาเซียนดำเนินไปในระยะยาว การเร่งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนก็สามารถช่วยปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของภูมิภาค ให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการค้าโลกและการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจได้"

ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้กำหนดนโยบาย จะมีอิทธิพลมากขึ้นในตลาดในการนำอาเซียนไปสู่อนาคตแห่งการอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืน แต่การบรรลุวิสัยทัศน์นี้ต้องใช้ความร่วมมือที่มุ่งมั่นของบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านทางรูปแบบธุรกิจเชิงนวัตกรรมและแบบมีส่วนร่วมที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาวะด้านนโยบายที่เอื้ออำนวยโควิด-19 เป็นบททดสอบแรกจากหลาย ๆ บทที่จะเพิ่มความไม่แน่นอนและเผยให้เห็นจุดอ่อนที่ต้องได้รับการแก้ไข พันธมิตรความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของภูมิภาค และเป็นเกราะป้องกันของอาเซียนตลอดการเติบโตในฐานะหนึ่งในตลาดอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร็วที่สุด 3 อันดับแรกของโลก

X

Right Click

No right click