November 05, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

กลยุทธ์ Collaborative Marketing สร้างความแข็งแกร่ง “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” แบบยั่งยืน

August 22, 2017 6378

วิทยาการทางการแพทย์ ที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยของเทคโนโลยีการสร้างเครือข่าย IT เข้ามาเกี่ยวข้อง นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อ Healthcare Industry เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในมิติต่างๆ ของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ปัญหาที่ต้องเผชิญนี้ โรงพยาบาลบางแห่งที่มีเงินทุนสูงจะหาทางออก โดยใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการ เพื่อเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในเครือ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ หรือบางแห่งก็มุ่งเน้นกลยุทธ์สร้างเครือข่ายเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลอื่น ไปพร้อมๆ กับการทุ่มงบประมาณ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ร่วมกับการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านวิชาการ งานวิจัยต่างๆ เพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

นั่นเพราะการลงทุนใช้งบประมาณขยายเครือข่าย ไม่ใช่ทางออกสำเร็จรูปสำหรับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และไม่ใช่วิธีการเดียวที่ตอบโจทย์ของทุกโรงพยาบาล กลยุทธ์สร้างพันธมิตรจึงเป็นอีกวิธีการที่จะพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการแข่งขันในตลาด และคุณภาพการรักษาผู้ป่วย เช่นเดียวกับการขยายความร่วมมือของ “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” ที่มุ่งเน้นกลยุทธ์สร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลอื่นๆ โดยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการขยายความร่วมมือ ลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เพื่อผนึก 51 โรงพยาบาลพันธมิตรทั่วประเทศ 

 

ซึ่งข้อดีของการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในรูปแบบนี้มีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะการต่อยอดจากจุดแข็งที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีการลงทุนเทคโนโลยีอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูงไว้มาก 

 

กรณี แอปพลิเคชัน ไอบีเอ็ม วัตสัน ที่นำมาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อเข้ามาเป็นตัวช่วยให้แพทย์สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจทำงานได้ (Technical Decision Support) ช่วยเพิ่มคุณภาพของการรักษาพยาบาล ป้องกันการเกิดความผิดพลาดอื่นๆ และทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ในส่วนของเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางวิทยาการ ที่แพทย์นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา เพื่อการวินิจฉัยข้อมูลของคนไข้ที่มีความเฉพาะเจาะจงนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำมาใช้เป็นแห่งแรกตั้งแต่ปี 2014 เรียกได้ว่า เข้ามาเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งและความพร้อมของโรงพยาบาล อีกทั้งยังถือว่าเป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลพันธมิตรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าสู่เครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการแบ่งปันความรู้ และส่งข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างกันได้ ทั้งยังเข้ามาช่วยเสริมในจุดที่โรงพยาบาลบางแห่งขาดแพทย์เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านหรือขาดอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี จึงเป็นโอกาสสำคัญอีกประการ ที่ผู้ป่วยในภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดีขึ้น

 

 

ผนึก 51 โรงพยาบาลพันธมิตรสร้างความแข็งแกร่งในทุกมิติ 

เห็นได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ “รศ.นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี” ผู้อำนวยการด้านบริหารร่วมและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ได้กล่าวในเวทีสัมมนาและพิธีลงนามในเอ็มโอยู ร่วมกับโรงพยาบาล เพิ่มเติมอีก 16 แห่ง ถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นโครงการต่อเนื่องในปีที่ 2 (ปี 2559) ที่มีพันธมิตรเข้าร่วมจำนวน 35 แห่ง ทั่วประเทศ ว่าเพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล โดยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องเต็มประสิทธิภาพแบบไร้รอยต่อ อาศัยจุดแข็งและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละแห่ง ให้สามารถรับช่วงต่อผู้เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ระหว่างกันโดยไม่สะดุด โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ 

 

นอกจากนี้ ทิศทางในการดำเนินการ ยังมีการเชิญโรงเรียนแพทย์อีก 3 แห่ง เข้าร่วม คือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการสร้างวิสัยทัศน์การทำงาน สร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย ที่มุ่งเน้น 4 พันธกิจสำคัญ ที่รอบด้านในทุกมิติ 

 

พันธกิจแรก เป็นรากฐานของการดูแลผู้ป่วย โดยเริ่มจากโรงพยาบาลต้นทาง ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยแต่เริ่มแรก และมีการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา (Step up) ต่อเนื่องจนเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษา แล้วต้องการย้ายกลับไปยังโรงพยาบาลเดิม (Step down) ก็สามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่สะดุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการยกระดับวงการสาธารณสุขในประเทศไทยอีกด้วย 

พันธกิจที่สอง ด้านวิชาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแนวคิดการสอนเชิงวิชาการให้กับนักศึกษาแพทย์ ในลักษณะต่อยอดความคิดทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมรับเฟลโลว์ (Fellow) แพทย์เฉพาะทางสาขามาศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยให้สูงสุด

พันธกิจที่สาม ด้านการวิจัย เพื่อให้ตอบสนองกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐ นั่นคือ การสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ การเชิญโรงเรียนแพทย์ทั้ง 3 แห่ง จะเป็นการเปิดทางให้เกิดงานวิจัยทางการแพทย์ร่วมกันนอกจากนี้ โรงเรียนแพทย์อื่นๆ ยังสามารถส่งผ่านองค์ความรู้ทางไกลได้โดยผ่านเครือข่ายของบำรุงราษฎร์เช่นกัน การแลกเปลี่ยนความรู้เป็นการเปิดโอกาส ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด 

พันธกิจที่สี่ ซึ่งมีความสำคัญ คือมาตรฐานด้านคุณภาพ ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล The Joint Com-mission International (JCI) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งล่าสุดยังผ่านการรับรอง DNV-GL’s MANAGING INFECTION RISK (MIR) STANDARD ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านการติดเชื้อ โดยได้รับการรับรองเป็นรายที่สามนอกทวีปอเมริกาเหนือ และเป็นรายแรกของเอเชีย

 

นอกจากนี้ ยังได้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับสากล จากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน College of American Pathologists (CAP) เป็นแห่งแรกของไทย สื่อถึงความพร้อมด้านวิชาการ การวิจัย เพื่อตอบสนองภาวะการเจ็บป่วยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

 

 

ความพร้อมในเทคโนโลยีทางการแพทย์ขานรับไทยแลนด์ 4.0

ในเวทีสัมมนาฯ ครั้งนี้ ยังได้เปิดเผยถึงแนวทางการใช้ AI อัจฉริยะ ตัวช่วยการตัดสินใจของแพทย์ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาที่รวดเร็ว ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) เพื่อเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย โดยบำรุงราษฎร์มีแผนจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อให้โรงพยาบาลพันธมิตร สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันของรพ. โดยโครงการแรกคือ “Watson for Oncology” 

 

พญ.มณฑินี แสงเทียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้มาบอกเล่าประสบการณ์การใช้ IBM Watson for Oncology ว่าโดยปกติเวลาพูดถึง Artificial Intelligence หลายคนอาจจะนึกถึงหุ่นยนต์ ซึ่งเมื่อแรกเริ่มทดลองใช้ไอบีเอ็มวัตสัน เคยมีคำถามว่าแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ หรือเสิร์จเอนจิ้นทั่วไปอย่างไร 

 

ทั้งนี้เพื่อให้มองเห็นภาพ ตัวอย่างง่ายๆ เช่นการหาข้อมูลว่าปวดศีรษะ เสิร์จเอนจิ้นทั่วไปจะให้ข้อมูลการรักษาในทุกเรื่อง ตั้งแต่การนวด ฝังเข็ม หรือแม้แต่การใช้ยาพาราเซตามอล แต่ไอบีเอ็มวัตสันไม่ใช่ดังอย่างที่กล่าวมา เพราะเป็นการให้ข้อมูลที่แตกต่างจากโปรแกรมทั่วๆ ไป ประการแรกคือ เราไม่จำเป็นต้องโปรแกรมทุกอย่างลงไป และการประมวลผลนำเสนอทางเลือกอย่างมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

ส่วนที่ทำให้คนรู้จักไอบีเอ็มวัตสันมาจากรายการเกมโชว์ต่างประเทศชื่อ Jeopardy ซึ่งเป็นเกมที่ถามคำถามแบบซับซ้อน โดยมีการแข่งขันระหว่างแชมป์ของเกมกับไอบีเอ็ม ซึ่งทำให้คนรู้จักไอบีเอ็มมากขึ้น ในปี 2011 หลังจากนั้นไอบีเอ็มวัตสัน ได้เข้าสู่วงการ Healthcare และพัฒนาเพิ่มเติมไปในส่วนของ Finance และ Solution ด้านอื่นๆ เรียกว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางสำหรับในวงการแพทย์ ไอบีเอ็มวัตสันจะเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการให้ข้อมูล เพื่อให้แพทย์ตัดสินใจทำงานได้ (Technical Decision Support) เป็นการเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล ป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

การตัดสินใจเลือกใช้ Technical Decision Support สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพของข้อมูล ต้องตรวจสอบว่าใช้ Knowledge อะไรมาเป็นฐานข้อมูล นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความง่ายในการใช้งาน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อใดที่ข้อมูลและซอฟต์แวร์หยุดการพัฒนา ก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆ ในการใช้งานอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีการทำงานร่วมกับไอบีเอ็มวัตสันตั้งแต่ปี 2014 เพื่อนำความสามารถของ AI มาใช้ในรพ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรักษาคนไข้โรคมะเร็ง เริ่มใช้ตั้งแต่ปลายปี 2015 ซึ่งในระยะแรกนำมาใช้ใน 4 โรค คือมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และลำไส้ตอนปลาย และเพิ่มขึ้นในปี 2016 คือมะเร็งในกระเพาะอาหาร และมะเร็งปากมดลูก สำหรับปีนี้มีการเพิ่มส่วนของมะเร็งรังไข่และมะเร็งต่อมลูกหมากเข้ามา ซึ่งทีมของ โรงพยาบาลทำงานร่วมกันกับไอบีเอ็มวัตสันอย่างใกล้ชิด และมีการ Update อย่างต่อเนื่องในทุกเดือน ทำให้เกิดพัฒนาการในข้อมูลจนถึงการรักษาระดับ 3 (3rd Line Therapy) สำหรับโรคบางชนิด เกิดแนวทางการรักษาที่หลากหลายมากขึ้น และไอบีเอ็มวัตสันไม่ได้จำกัดคำแนะนำเพียงแค่การให้ยา แต่ทำได้ในระดับรังสีต่างๆ อีกด้วย 

 

ไอบีเอ็มวัตสันมีความสามารถในการอ่านข้อมูลและประวัติคนไข้เองได้ เมื่อเราใส่ข้อมูลของผู้ป่วยตั้งแต่ชนิดของมะเร็ง ผลตรวจทางรังสีวิทยา ผลตรวจชิ้นเนื้อเข้าไป ไอบีเอ็มวัตสัน จะประมวลผลออกมา ซึ่งแพทย์สามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการรักษา ตั้งแต่การแนะนำการใช้ยาที่จะไม่เป็นผลข้างเคียงกับสถานะของคนไข้แต่ละราย ไปจนถึงการใช้รังสี ไอบีเอ็มวัตสันได้รับความนิยมอย่างมากในรพ.ชั้นนำที่ประเทศอินเดีย เกาหลี และสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้มาระยะหนึ่ง จนกระทั่งขยายลงไปถึงการใช้งานในโรงพยาบาลระดับชุมชนเล็กๆ ในปัจจุบัน   

 

 

ประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งทางธุรกิจและคุณภาพการรักษาผู้ป่วย

รศ. นพ. สมศักดิ์ ปิดท้ายงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า จากรูปแบบความร่วมมือ จะเห็นได้ว่าสร้างพัฒนาการที่ต่อเนื่องให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การวิจัยทางวิชาการต่างๆ ซึ่งวันนี้วิทยาการทางการแพทย์ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีเทคโนโลยีรองรับ และเป็นแม่ข่ายเพื่อแบ่งปันไปยังที่ต่างๆ จะยิ่งสร้างประโยชน์และส่งเสริมประสิทธิภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

 

ในอนาคต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มองประโยชน์ไปถึงความร่วมมือทางการแพทย์ การนำความรู้ทางวิชาการจากต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนจะช่วยเสริมโรงพยาบาลในเครือข่ายให้สามารถคิดวิเคราะห์ร่วมกัน และต่อยอดไปสู่โครงการวิจัยร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างพลังที่เข้มแข็ง ในการช่วยเหลือประชาชน และจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่เป็นที่ยอมรับ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และสร้างทักษะในการวิจัย ซึ่งโรงพยาบาลมีความสนใจจะฝึกทักษะการวิจัยนี้ไปถึงกลุ่มชาวบ้าน เพื่อฝึกฝนการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ด้วยเหตุและผล เพื่อความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

 

นับว่าแนวทางความร่วมมือ 3 ภาคีในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของบริบาลทางการแพทย์ไทย เพื่อยกระดับงานสาธารณสุขของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้มีความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาลและนวัตกรรมทางการแพทย์ มีความแข็งแกร่งที่ยั่งยืน มีความสามารถในดูแลรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้ารับบริการ เพื่อไปสู่เป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยมีตัวแทนโรงพยาบาล ในเวทีระดับภูมิภาคที่พร้อมก้าวสู่เวทีโลก

 

 

พันธมิตร 51 แห่ง ทั่วประเทศของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 

กาญจนบุรีเมโมเรียล ,กระบี่นครินทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ,จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ,จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต ,จุฬารัตน์ 11 บางปะกง ,เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ,เฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต ,ชัยอรุณเวชการ ,ซานเปาโล หัวหิน ,เซนต์แมรี่ ,ตรังรวมแพทย์ ,ไทยนครินทร์ ,ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ,ธนบุรี-ชุมพร ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,นครธน ,นครพัฒน์ ,นนทเวช ,นอร์ทอีสเทอร์น-วัฒนา ,บางปะกอก 1 ,บางปะกอก 3 ,บางปะกอก 8 ,บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ,บางปะกอก รังสิต 2 ,ปิยะเวท ,พระรามเก้า ,พิษณุเวช ,พัทยาเมโมเรียล ,พัทยาอินเตอร์ ,แพทย์รังสิต ,มหาวิทยาลัยนเรศวร ,ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์  ,มหาวิทยาชัยเชียงใหม่ ,มิตรภาพเมโมเรียล ,มุกดาหาร อินเตอร์เนชั่นแนล ,เมืองนารายณ์ ,แมคคอร์มิค ,ราชธานี ,ราชพฤกษ์ขอนแก่น ,ราชเวชเชียงใหม่ ,รวมแพทย์นครสวรรค์ ,รวมแพทย์(หมออนันต์) สุรินทร์ ,ร้อยเอ็ด-ธนบุรี ,วัฒนแพทย์ ตรัง ,ศุภมิตร สุพรรณบุรี ,หัวหิน ,หนองคาย-วัฒนา ,อุบลรักษ์ ธนบุรี ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ,เอกชัย ,เอกชล 1 ,เอกชล 2

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click