เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน และนอกเหนือจากสาเหตุที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว สภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก หนึ่งในวิถีชีวิตแบบ Now Normal ของพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้ ได้แก่ พฤติกรรมการดูแลตนเองหลังติดเชื้อโควิด และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากการบริการด้าน Telemedicine ที่มีการผนวกกับบริการด้าน Delivery ในการให้บริการการเข้าถึงการรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตแบบ Now Normal ของคนไทย และ เทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มผสมวิตามินซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพน่าจับตามอง
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ของเรา ได้มุ่งมั่นที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับ "การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย" อย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรวจและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยทุก ๆ สองเดือน ทั้งนี้เพื่อให้เหล่าธุรกิจสามารถนำข้อมูลวิจัยที่ได้ไปปรับใช้กับแผนการตลาดต่อไป รวมทั้งช่วยนำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมุ่งศึกษาไปที่ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Life Living person) หรือ Sei-katsu-sha ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาของฮาคูโฮโด ที่ไม่เพียงแค่อธิบายผู้คนในฐานะผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อธิบายถึงความเป็นบุคคลของผู้บริโภคที่มีชีวิต จิตใจ ไลฟ์สไตล์ แรงบันดาลใจ และความฝันที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ผลสำรวจประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เผยให้เห็นว่า คนไทยนั้นระมัดระวังเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและสุขภาพ เน้นการใช้บริการที่มีความปลอดภัย แม้คนไทยจะมีข้อกังวลในเรื่องของ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่รายการสินค้าที่ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ได้แก่ อาหาร
อาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญ ผลสำรวจของเราที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 20-59 ปี มีความกังวลใจและมีความคิดที่ว่าจะต้องมีการกักตุนอาหารสำรอง รวมถึงสิ่งของที่จำเป็นเอาไว้ เพราะไม่ต้องการที่จะเดินทางออกนอกบ้านบ่อย ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด ด้วยเหตุนี้กลุ่มธุรกิจหลายแขนงได้มีการปรับเปลี่ยนการให้บริการของตนเอง เพื่อให้สามารถให้การบริการที่ตอบสนองแก่ลูกค้าได้อย่างตรงใจ อาทิ กลุ่มธุรกิจด้าน Telemedicine ที่ผันตัวมาจับมือกับธุรกิจ Delivery นี่ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจภายใต้โลกยุคใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตใหม่ของคนไทยมากขึ้น
ปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการยกระดับการดูแลรักษาและป้องกันสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ให้แก่คนไทย โดยได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการของประชาชน โดยประชาชนที่ป่วยและติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลตามสิทธิเพื่อเข้ารับการรักษา แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่บ้านทันที ด้วยบริการ “การแพทย์ทางไกล” หรือ Telemedicine ที่สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยในเข้าถึงการรักษา รับยาและอาหารได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยบริการ Delivery ที่สามารถนำยาและอาหารไปส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน และช่วยข้อกังวลในเรื่องของความปลอดภัย
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่น่าจับตามองในช่วงนี้ ได้แก่ เทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มผสมวิตามินซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างวัยทำงานเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มผสมวิตามิน พบว่า ว่าเครื่องดื่มผสมวิตามิน (Vitamin water) เป็นหนึ่งในสินค้าที่มียอดขายดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากเครื่องดื่มผสมวิตามินเป็นทางเลือกใหม่ในการดูแลสุขภาพ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและผ่อนคลายความเครียดได้ดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าปกติ ซ้ำยังมีราคาที่ถูกเมื่อเทียบการบริโภควิตามินชนิดเม็ด นอกจากนี้ผู้บริโภคยังเชื่อมั่นว่าการบริโภคเครื่องดื่มผสมวิตามินจะยังคงได้รับวิตามินครบถ้วน
กระแสการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จากที่เคยเลือกเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ ก็เลือกหันมาดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มต่าง ๆ ในประเทศไทยขยับตัวเข้ามาทำการตลาดในตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินเพิ่มขึ้นเช่นกันเพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยและการให้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป
แม้จะมีข้อจํากัดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เห็นได้ว่าธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต่างต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดภายใต้โลกยุคใหม่ที่ไม่มีวันเหมือนเดิมเพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงใจผู้บริโภคที่สุด สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หวังว่าธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ จะนำผลการวิจัยข้อและเสนอแนะของสถาบันฯ ไปปรับใช้กับแผนการตลาดของตน เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเข้มข้นสู่เศรษฐกิจฝืดเคือง และสามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงใจผู้บริโภคที่สุด
บทความ โดย คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)