January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

CPF Green Food Good Environment Friendly

July 06, 2017 3961

การจะตัดสินใจเลือกซื้ออาหารมารับประทานนั้น ควรต้องพิจารณาตั้งแต่รสชาติของอาหารที่ถูกปาก คุณภาพของวัตถุดิบที่สดใหม่ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้งที่ได้มาตรฐานและสวยงามเตะตา และคงจะดีไม่ใช่น้อย ถ้าได้รู้ว่าผู้ผลิตอาหารให้เรารับประทานนั้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย 

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด “ธุรกิจสีเขียว” เพราะตระหนักถึงความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านโครงการที่หลากหลาย และหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟรณรงค์อย่างต่อเนื่อง คือ โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน (CPF’s Product Sustainability) ซึ่งล่าสุด ซีพีเอฟ ได้นำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการฉลากลดโลกร้อน เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการเป็นองค์กรแนวหน้าของเมืองไทยที่รณรงค์ให้ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ส่งผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งตราซีพี ขนาด 145 กรัม ให้เป็นผลิตภัณฑ์กุ้งรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง “ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์” หรือ “ฉลากลดโลกร้อน” จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  

กุหลาบ กิมศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า  

“ฉลากลดโลกร้อนบนผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งตราซีพีนี้ แสดงว่าผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งของเราได้ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ พันธุ์กุ้ง ฟาร์มบ่อดิน โรงงานแปรรูปอาหาร จนถึงการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ของเสียต่างๆ ในกระบวนการผลิต โดยเราได้ทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเกี๊ยวกุ้งตั้งแต่ปี 2012 พบว่ามีค่าการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่ากับ1.32 กิโลกรัมคาร์บอนได-ออกไซด์ จนมาในปีนี้ ซีพีเอฟได้ประเมินซ้ำ ปรากฏว่าได้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์อยู่ที่ 1.05 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเกี๊ยวกุ้ง 1 ถ้วย (น้ำหนักบรรจุ 145 กรัม) ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนถึง 23% โดยกระบวนการสำคัญ (Hotspot) ที่ส่งผลให้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์อยู่ในเกณฑ์ดีนี้ คือ การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ที่ส่งผลให้การใช้ไอน้ำในการลวกเกี๊ยวลดลงและการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการสนับสนุนการผลิตลดลงด้วย”

ด้าน ไพระพงศ์ เฉลียวศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ หัวเรือใหญ่ของโรงงานอาหารสำเร็จรูปแกลง จ.ระยอง อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาทางโรงงานได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานสากลมาใช้เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน อาทิ ระบบมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (BRC,IFS,BAP), ระบบมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004), ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย (OHSAS 18001:2007) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและแรงงาน  

นอกจากนั้น โรงงานยังมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลากหลายด้าน อาทิ โครงการพลังงานทางเลือก (Bio-Gas) มาใช้กับบอยเลอร์, โครงการนำความร้อนทิ้งจากน้ำโบลว์ดาวน์ของบอยเลอร์กลับมาใช้, โครงการติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนที่ปล่องบอยเลอร์ (Economizer) และโครงการอื่นๆ ที่รณรงค์ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลให้โรงงานอาหารสำเร็จรูปแกลง สามารถลดค่าคาร์บอน ทำให้ผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งตราซีพี ได้รับฉลากลดโลกร้อน ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของบุคลากรทุกคนในโรงงาน

จากความสำเร็จในการส่งผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งตราซีพี ให้ได้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อนจนเป็น Eco Product ได้นี่เอง ที่ทางซีพีเอฟได้สานต่อสู่การนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการฉลากลดโลกร้อนทั้งในผลิตภัณฑ์ประเภทสัตว์น้ำและสัตว์บก ซึ่งในขณะนี้มีอีก 2 ผลิตภัณฑ์ ที่กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์และขอฉลากลดโลกร้อนกับผลิตภัณฑ์ไก่สดและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจสีเขียวด้วย 

ภายใต้โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน นอกเหนือจากภารกิจการขอเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 146 รายการแล้ว บริษัทยังมีแผนการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในระยะ 3 ปี (ปี 2014-2017) ด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “ธุรกิจสีเขียว” อย่างยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนตระหนักต่อการร่วมลดภาวะโลกร้อน ก่อเกิดสังคมการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวคิดที่กำลังเป็นกระแสของโลก คือการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

X

Right Click

No right click