โดยเฉพาะนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ
คนเหล่านี้มักจะกลัวสิ่งใหม่ ต้องการเข้าควบคุม และถ้าเห็นว่าจะควบคุมไม่ได้เอาไว้ไม่อยู่ เพราะของใหม่เหล่านั้นมีความก้าวหน้ามาก อยู่นอกเหนือการควบคุม หรือความสามารถจำกัดและเอื้อมมือไปไม่ถึง.... ก็แบนทิ้งเสียเลย
อย่างเร็วๆ นี้ รัฐบาลภารตะได้ตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาเรื่องเงินคริปโต และคณะนี้ (Reuters เรียกคณะนี้ว่า “Government Panel”) ได้เสนอให้แบนเงินคลิปโต และ Digital Currency ที่ไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐ อย่างเด็ดขาด
คณะศึกษานี้เสนอให้มีบทลงโทษผู้ละเมิดด้วยการจำคุกหนักสุด 10 ปี และปรับสูงสุดถึง 250 ล้านรูปี (ประมาณ 10 ล้านบาท) นอกจากนั้นยังเสนอให้ธนาคารชาติอินเดียมีสิทธิเข้าดำเนินการเกี่ยวกับ Digital Currency แต่เพียงผู้เดียว
แม้ขณะนี้ รายละเอียดเรื่องดังกล่าวยังไม่คืบหน้า ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำตามหรือไม่แค่ไหน และรัฐสภาจะรับรองกฎหมายที่รุนแรงต่อคลิปโตและ Digital Currency เพียงใด แต่เราสัญญาว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อรายงานท่านผู้อ่านให้ทราบเป็นระยะ
แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลภารตะยอมแบนตามข้อเสนอ ผมคิดว่าอินเดียน่าจะเสียประโยชน์ในระยะยาว เพราะนอกจากจะสูญเสียธุรกรรมและรายได้จากภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว (เพราะมันจะไปทำกันแบบ Offshore แทน) แต่ข้อสำคัญสุดคืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของอินเดียจะถูกฉุดรั้ง มิให้ก้าวไปข้างหน้าในเชิงของ Blockchain, Smart Contract, Asset Tokenization, และ Oracle Networks เป็นต้น
อย่าลืมว่า อินเดียเป็นเจ้าแห่งซอฟต์แวร์
มหาวิทยาลัยของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Indian Institute Of Technology ที่มีอยู่ถึง 23 แคมปัสกระจายไปทั่วอินเดียนั้น ได้ผลิตวิศวกรชั้นยอดของโลกออกมามากมาย คนเหล่านี้จำนวนมาก เป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญให้กับ Silicon Valley และกิจการเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Google, Amazon, Facebook, Apple, Netflix และ Start-up รวมถึง Venture Capital, Private Equity, Hedge Fund, Investment Bank สำคัญๆ ที่ลงทุนในกิจการเทคโนโลยีทั่วโลก
ความสำคัญของบล็อกเชน นับวันจะมากขึ้น ถือเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจในระดับแนวหน้าของโลก ณ ขณะนี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทคโนโลยี AI, Machine Learning, Gene Editing, และ Self-driving Vehicles
จำนวนเงินที่นักลงทุนจากกองทุน Venture Capital Funds, Private Equity Funds, Estate Funds, หรือแม้แต่ Hedge Funds บางประเภท ทุ่มเทเข้าไปสู่ Blockchain Start-Up นั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกๆ ไตรมาส
แม้แต่กิจการชั้นแนวหน้าอย่าง Facebook, Walmart, JP Morgan และรัฐบาลจีนโดยธนาคารชาติจีน ก็กำลังพัฒนา บล็อกเชนของตัวเองอยู่อย่างขะมักเขม้นจริงจัง เพื่อจะสร้างให้เป็นระบบการบันทึกและแสดงข้อมูลธุรกรรมของ Digital Currency สกุลของตัวเอง ที่คาดว่าทุกคนคงจะนำออกมาใช้ในอนาคตอันใกล้
ยังมิต้องเอ่ยถึงธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกที่ก็ร่วมกันซุ่มพัฒนาเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเองเช่นกัน
ฉะนั้น ถ้าแนวโน้มซอฟต์แวร์มุ่งหน้าไปสู่แนวทางของบล็อกเชนอย่างเป็นจริงเป็นจังและลงหลักปักฐานแล้วไซร้ ก็มีแนวโน้มว่าอินเดียอาจจะถูกทิ้งห่าง และสูญเสียตำแหน่งเจ้าแห่งซอฟต์แวร์ของโลก ที่ตัวเองเพียรสร้างมาช้านาน ก็เป็นได้
ในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์นั้น การมีเกณฑ์มาตรฐานทางบวกบ้างเล็กๆ น้อยๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าต้องมีกฎเกณฑ์อันเข้มงวดมาควบคุมกัน ย่อมไม่เป็นผลดีแน่ในระยะยาว
คนเก่งๆ และเงินทุน ย่อมไหลออกนอกประเทศ ไปยังที่ที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยกว่า
Case Study แบบนี้ ย่อมมีไว้เพื่อเตือนใจพวกเรากันเอง
ต้องช่วยกันเหนี่ยวรั้งไม่ให้นักการเมืองและผู้คุมกฎของเรา คิดไปในทางนั้น โดยเด็ดขาด
เรื่อง : วิริญบิดร วัฒนา