เมื่อพูดถึงนักการตลาดชั้นนำของประเทศไทย ชื่อของ สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ที่ปัจจุบันมาเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ต้องติดอยู่ในลำดับต้นๆ เสมอ
จากอาจารย์มหาวิทยาลัย ก้าวสู่ธุรกิจข้ามชาติทำหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่เบื้องหลังในฐานะนักกลยุทธ์ ไปอยู่เบื้องหน้าในฝ่ายการตลาด ได้รับการโปรโมทจนได้ไปทำงานในต่างแดน ดูแลธุรกิจของยูนิลิเวอร์ในภูมิภาค และระดับสากล เธอบอกว่าถ้ามองย้อนกลับไป เธอกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ความหลากหลาย ถือเป็นความสนุกในชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งของเธอ และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ และไม่หลงไปกับความสำเร็จที่เข้ามาได้ดี
หลังจากตอบรับคำเชิญชวนของ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ กลุ่มพฤกษาให้เข้ามาช่วยทำงาน ในตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เธอก็เริ่มต้นการเปลี่ยนครั้งใหม่ของตัวเอง กับการเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สำหรับตัวเธอเองโดยเธอเล่าบทบาทในปัจจุบันว่า
หน้าที่คือการช่วยทำให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมาย และสร้างแบรนด์พฤกษา เพื่อให้ธุรกิจนี้มีความยั่งยืนและแตกต่าง รวมถึงการดูพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจ สร้างธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่ม ซึ่งเริ่มต้นด้วย ‘โรงพยาบาลวิมุต’ ธุรกิจใหม่ของกลุ่มพฤกษาที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างตัวอาคาร รวมถึงการช่วยบริหารจัดการด้านอื่นๆ เพื่อสร้างพฤกษาที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต ตามเป้าหมายของผู้ก่อตั้งที่อยากจะให้คนไทยได้มีบ้านคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้ และได้รับบริการที่เป็นเลิศจากพฤกษา
เธอเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีทั้งส่วนที่ต่างและที่คล้ายคลึงกัน ที่ต่างอย่างแน่นอนคือตัวผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เป็นสินค้า FMCG (Fast Moving Consumer Goods) สู่อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้บริโภคถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของชีวิต แต่จุดที่เหมือนกันคือ ตัวผู้บริโภค ที่หากเข้าใจตัวผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง ก็จะสามารถทำการตลาดได้
“FMCG บทบาทของ Product Brand จะเด่นชัดกว่า Corporate Brand แต่สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Corporate Brand มีบทบาทมากกว่า ดังนั้นต้องใช้ศิลปะและความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคและการแข่งขันในท้องตลาด เราต้องคิดแบบผู้นำ คิดแบบก้าวหน้า”
ในด้านการบริหารจัดการอื่นๆ สุพัตรา
มองว่า ไม่แตกต่างกันที่ต้องมีเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ มีกลยุทธ์ เพียงแต่จะต้องปรับแผนและวิธีการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจและวัฒนธรรมขององค์กรแต่ละองค์กร โดยการนำเอาข้อดีและจุดแข็งขององค์กรที่มีอยู่มาผสมผสานกัน ทั้งการทำทุกอย่างด้วยใจ มีความมุ่งมั่น และรวดเร็ว รวมถึงประสบการณ์ในองค์กรสากล
“การย้ายข้ามมาองค์กรใหม่ หรือทำสิ่งใหม่ๆ ต้องระวังว่า เราควรจะเปลี่ยนอะไรของที่นั่น จับให้ถูกว่าอะไรที่เราควรปรับตัวเองเข้าด้วย แต่ถ้าเราปรับหมด ถูกกลืนไปหมด เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้”
โดยเธอบอกแนวคิดในการทำงานว่า มองไกล มองกว้าง รู้ว่าต้องขยายในจุดใด และส่วนใดที่ต้องลงมือทำ “ยิ่งเป็นผู้นำระดับสูง สิ่งที่เรียนรู้มากที่สุดคือว่า เราจะทำให้สำเร็จโดยที่ไม่ต้องลงมือทำได้อย่างไร คือการวางโครงสร้าง วางคน วางงาน และให้มั่นใจว่าเป้าหมาย วิสัยทัศน์ขององค์กรชัดเจน กลยุทธ์ชัดเจน และมองไกลเพื่อให้เห็นว่าเราจะไปอย่างไร และรู้ว่าเราจะมีเรดาห์อย่างไรที่จะสแกนทั้งองค์กรแล้วเห็นว่าจุดไหนที่เราต้องเข้าไปเจาะ จุดไหนที่ต้องขยายพอร์ตโฟลิโอ จุดไหนที่ทีมต้องการให้เราไปช่วย เราก็เจาะลงไปเพื่อที่จะทำให้สำเร็จ พอเขาทำเป็นก็ปล่อยเขา”
ส่งต่อพลังบวก
เมื่อถามสุพัตราถึงเรื่องราวที่เธอรู้สึกประทับใจ เรื่องราวต่างๆ ที่เธอเล่าให้ฟังล้วนมีภาพของผู้คนรายล้อมมีความสุขใจอยู่ในนั้นด้วย เริ่มจากเมื่อครั้งกลับจากประเทศจีนมารับดูแลธุรกิจไอศกรีมและอาหาร ที่เธอสามารถ Turn Around ธุรกิจที่ไม่มีกำไรให้กลับมาทำกำไรได้ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งพร้อมเผชิญกับโอกาสและอุปสรรคต่างๆ
“ทำไอศกรีมแล้วเป็นความสุขอย่างยิ่ง ทุกคนรักกันไม่ใช่แค่ทีมไอศกรีมของยูนิลิเวอร์ แม้กระทั่งศูนย์จัดจำหน่าย พาร์ตเนอร์ เป็นพลังมหาศาลจริงๆ ก็เป็นที่ประทับใจ ทุกวันนี้เราก็รักกัน ไอศกรีมความท้าทายเยอะมาก เข้าไปมีปัญหาหมดทุกอย่าง แต่เราก็ไปจับจุดและไปแก้ทีละอย่าง คือตอนเราไปนั่งเราก็คิดว่าปัญหาทั้งประเทศจะทำอย่างไรให้คนทั้งประเทศเขาทำงานเหนือกว่าความคาดคิดของเรา ทำอย่างไรให้เขาตากฝนตากแดดไม่เหนื่อยและมีพลังที่จะทำให้ถึง ก็เป็นอะไรที่ภาคภูมิใจมาก และวันนี้กลับมามอง ทำไอศกรีมนี่สนุกและไม่ได้ยากอย่างที่คิด”
อีกเรื่องราวประทับใจคือช่วงน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 กับโครงการรับขวัญคนไทยกลับบ้านในช่วงน้ำลด ด้วยการระดมกำลังจากจิตอาสารวมถึงดารานักแสดงมาช่วยกันแพ็กสิ่งของใส่ถุงให้กับครัวเรือนไทยกว่า 300,000 ครัวเรือน “ทำให้รู้สึกว่า สามารถทำอะไรเล็กๆ แล้วรวมเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ทุกคนช่วยกันจริงๆ เราได้ทำแคมเปญนี้ก็รู้สึกว่า ประทับใจ คือในธุรกิจเราก็ต้องรัน แต่เราเอาไอเดียมา แล้วคนมารวมกันช่วยมหาศาล ก็ชื่นใจ คือบางครั้งการช่วยผู้อื่น ถ้าไอเดียดี ก็สามารถรวมพลังคนให้เกิดขนาดได้ แต่ไม่ได้ทำคนเดียวนะ ทุกเรื่องต้องขอบคุณน้องๆ และทีมงานที่ช่วยกัน งานที่ยิ่งใหญ่ทำคนเดียวไม่ได้ แต่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อน ให้เขาคิดและทำออกมาได้”
นอกจากนี้เธอยังมีโครงการที่ทำร่วมกับเพื่อนๆ กับโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกฟรี ที่ร่วมกับทีมแพทย์อาสาสมัครจากประเทศไทย สิงคโปร์ และเนปาล รวมถึงท่านเจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ผ่าตัดตาต้อกระจกที่เนปาลไป 773 ดวง และกลับมาทำที่ประเทศไทยอีก 162 ดวง เมื่อปีที่ผ่านมา โดยเป็นกิจกรรมที่ยังทำต่อเนื่อง
“จากคนที่มองไม่เห็นให้มองเห็น ตัวอย่างคนหนึ่งเป็นต้อกระจกมองไม่เห็นอะไรสองข้าง มา 6 ปี แล้วเราไปช่วยเขา เปิดตามาเขามองเห็น มันให้ชีวิตใหม่กับเขา และครอบครัวเขา เป็นอะไรที่มีความสุข”
สุพัตราปิดท้ายด้วยเรื่องราวในอาชีพการงาน ในช่วงที่เป็นผู้บริหารหญิงชาวไทยเพียงคนเดียวในทีมระดับโลก ที่เข้าร่วมเวทีประชุมใหญ่ของบริษัท เธอเล่าว่า “มีน้องคนหนึ่งที่เป็นจูเนียร์คนไทยวิ่งมาหาตอนเราลงจากเวทีมากอดเรา พี่หนูภูมิใจมากเลย พี่เป็นผู้หญิงไทยคนเดียว เป็นตัวแทนของพวกเรา ทำให้จำตรงนั้นได้ และรู้สึกว่า การที่เราได้เป็น CEO ของยูนิลิเวอร์ที่เป็นผู้หญิงคนแรกในรอบประวัติศาสตร์ 80 กว่าปี และเป็นหนึ่งในท็อปคนไทยในเอเชีย ไม่ใช่แค่ในประเทศ เอาความเป็นผู้หญิงไทยไปตรงนั้นได้ ก็เป็นความสำเร็จที่เราภูมิใจ เหมือนเราเปิดช่องให้เขารู้ว่าคนไทย ผู้หญิงไทยก็ทำได้ เป็นอะไรที่อยากจะบอกว่า ไม่มีอะไรขวางกั้น เพราะโลกแข่งขันไม่ได้แข่งแค่ในประเทศไทย เป็นภูมิภาคเป็นระดับโลกหมดแล้ว ดังนั้นเราต้องพัฒนาและเวทีเปิดกว้าง อยากเห็นคนไทย ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายทั้งหลายเอาตัวเองออกไปนอกประเทศ เป็นผู้นำ จะได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรากับประเทศอื่นๆ และทำให้เราภาคภูมิใจได้”
ความสำเร็จและความประทับใจกับเรื่องราวที่ผ่านมาของเธอในการทำงานและกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นการทำให้ผู้ที่อยู่รายล้อมมีความสุข เธอบอกว่า “ผลทางธุรกิจก็มาอัตโนมัติ ถ้าเห็นคนอยากทำงาน ทำงานแล้วมีความสุข มีเป้าหมายเดียวกัน รักกันไม่ว่าปัญหาขนาดไหน เดี๋ยวก็แก้กลับมาได้ และมีความสุขที่ได้เห็นเขาทำงานมีพลัง พลังบวกในบริษัทในองค์กรในทีม สำคัญ และพลังบวกทำให้พลังเพิ่มขึ้นจริงๆ”
ดังนั้นผู้นำองค์กรจึงต้องพยายามผลักดันสร้างสรรค์พลังบวกให้เกิดขึ้นในองค์กร ให้พนักงานในองค์กรมีความอยากจะทำงานด้วยตัวเอง “เพราะถ้าบอกเขาทำ เขาก็ทำตามที่เราบอก แต่ถ้าเรากระตุ้นให้เขาคิด มีทิศทางมีเป้าหมาย เขาจะทำได้ดีกว่าที่เราไปบอกให้ทำ”
ซึ่งเธอก็นำวิธีการเช่นนี้มาปรับใช้กับการบริหารจัดการงานที่พฤกษาด้วย เธอบอกว่า “อยากให้บริษัทนี้ เติบโตอย่างยั่งยืน ให้ทุกคนมีความสุขในการให้ผู้อื่น ใส่ใจทำสิ่งดีๆ และเมื่อทั้งหมดรวมกันคิดว่าทุกอย่างจะดีเอง ด้วยความเชื่อว่าถ้าเราใส่ใจรักในสิ่งที่เราทำ และเรารู้ว่าเราทำเพื่อผู้อื่นมีความสุข ความสำเร็จก็จะตามมา แต่คนเราส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า จะทำอย่างไรให้ตัวเองสำเร็จ ตรงนั้นคิดเท่ากับผลลัพธ์มากกว่า ถ้าคิดถึงลูกค้าก่อน เราอยากให้เขามีบ้านคุณภาพดี ราคาที่เข้าถึงได้ ส่งมอบให้ประทับใจ บริการให้ดี กำไรก็มาอยู่ดี เหมือนศาสนาพุทธ เป็นเหตุและผล เราต้องทำเหตุให้ดี ผลก็ต้องดีแน่นอน ถ้าไปเน้นที่ผลอย่างเดียวแต่ไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างไรผลก็ไม่มา”
คำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่
ในฐานะผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง สุพัตราให้คำแนะนำคนทำงานรุ่นใหม่จากประสบการณ์การทำงานของตนเองว่า “ดิฉันก็สังเกตตัวเองว่าเราทำอะไร พอเราเก่ง ทุกคนเหมือนกันโดยธรรมชาติ ถ้าเก่งแล้ว ความมีตัวตนสูง ฉันแน่ ฉันเก่ง ดังนั้นจะปิดไม่ได้เรียนรู้ เพราะคำพูดเราก็ประกาศิต เป็นคนชี้ จะคิด Solution ให้ตลอดเวลา ถ้าเราได้ย้ายข้ามไป อย่างน้อย 6 เดือนแรกเราต้อง Humble แล้ว เท้าติดดิน เปิดหูฟัง 2 หู พูดน้อยลง ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แทนที่จะคอยบอกแต่คำตอบ เราจะหัดตั้งคำถามมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่เราเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้สึกว่า จากที่เราจะลอยไปอยู่บนหอคอยเราก็ลงมาติดดิน ได้เห็นอะไรในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ปรับตัวเอง เพราะบางทีมนุษย์สติไม่มี รู้เยอะ ฉันทำมาเท่านี้ปีเท่านั้นปี เก่งที่สุด แต่ถ้าเราเปลี่ยนจะทำให้เรารู้สึกว่าเราอ่อนน้อมถ่อมตนขึ้น เป็นมนุษย์มากขึ้น คุยกับคนมากขึ้น การไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่จะทำให้เราเปลี่ยนตัวเราเอง เราก็ต้องอยากรู้อยากเห็น คนที่จะทำงานได้สำเร็จ ต้องขี้สงสัย ต้องช่างซักช่างถาม เพื่อจะได้มีมุมมองใหม่ๆ
“ดังนั้น ก็จะแนะนำสำหรับผู้บริหารที่ยังอายุน้อย หรือคนที่ยังทำงานที่อายุยังไม่มากว่า อย่าอยู่ในกรอบเดิม เราต้องกล้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ได้หมายความว่าต้องย้ายบริษัท แต่หมายความว่าต้องกล้าทำสิ่งใหม่ๆ เอาตัวเองออกไป ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เราก็ได้เรียนรู้ จะกลับมาที่เดิมก็เป็นของตายอยู่แล้ว อยากให้ลองอะไรใหม่ๆ ดู ตื่นเช้ามาจะได้มีพลังในการทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนให้สำเร็จได้ จะเป็นการบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง”
สังคมในอุดมคติ
เมื่อถามถึงสังคมในอุดมคติของเธอ สุพัตราหยุดคิดเล็กน้อยก่อนบอกว่า “คิดว่าอยากให้คนแยกแยะได้ว่าอะไรคือผิดอะไรคือถูก อะไรดีอะไรไม่ดี โดยใช้หลักธรรมะและกฎหมาย คือต้องใช้หลักศีลเข้ามา ทุกวันนี้ทำผิดแล้วก็ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีลธรรมก็เอาตัวรอดกันไปได้ ไม่อยากให้คนเคารพวัตถุ เงิน ตำแหน่ง เพียงอย่างเดียว ทำอย่างไรให้คนเคารพหลักธรรม ความดี คนดี ไม่ยึดติดเกินไป สังคมวันนี้ ความเจริญทางวัตถุและเศรษฐกิจทำให้เกิดการแข่งขัน ความอยากมีอยากได้จนบางครั้งลืมหลักศีลธรรมจริยธรรมไป
“ธรรมชาติทุกอย่างเป็น bell curve (กราฟระฆังคว่ำ) คนเปรียบดังบัว 4 เหล่าตามที่พระพุทธเจ้าแบ่งมา จะทำอย่างไรให้บัวที่พ้นน้ำหรือที่เก่งๆ ที่เป็นยอดคนทั้งดีและเก่งมาเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”