November 21, 2024

ธุรกิจโรงแรมยิ้ม เที่ยวไทยฟื้นต่อเนื่อง ด้าน สมาคมโรงแรมไทย แนะเร่งเพิ่มเที่ยวบินต่างประเทศขนนักท่องเที่ยว ชี้ไทยยังครองอันดับต้นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยม ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมต้องเร่งปรับตัวให้ทันกระแสท่องเที่ยวโลก ทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเดินหน้าสู่โรงแรมยุคดิจิตอล ร่วมกับอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เตรียมจัดประชุมใหญ่ประจำปีและกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี ในงานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2023 (Food & Hospitality Thailand 2023 (FHT2023)) ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวถึงการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมว่า มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี การท่องเที่ยวไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาคึกคักตั้งแต่ปลายปี 2565 จากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายจากการที่รัฐบาลจีนเปิดให้มีการออกมาท่องเที่ยวเร็วกว่ากำหนด โดยในครึ่งปีหลังที่เป็นไฮซีซั่น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีกมาก ส่วนอุปสรรคสำคัญเวลานี้ คือ จำนวนของเที่ยวบินที่จะขนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีไม่เพียงพอ การออกวีซ่าที่ใช้เวลานานและเงื่อนไขเยอะ ซึ่งหากแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้กว่า 25 ล้านคน ตามที่ตั้งเป้าไว้ เพราะแค่ 5 เดือน นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 10 ล้านคน

ด้านผู้ประกอบการโรงแรมก็ต้องพัฒนา เรียนรู้ ปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มของการท่องเที่ยวโลก ที่เดินหน้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Travel) โดยผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบเข้าสู่ระบบนิเวศ (Ecosystem) เดียวกัน ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว แสงแดด ทะเล หาดทราย วัฒนธรรม เรามีครบ ต้องช่วยกันรักษาและบริหารจัดการให้เหมาะสม พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในกลุ่มการท่องเที่ยวมูลค่าสูง อาทิ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE) โดยภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนธุรกิจโรงแรมที่เน้นความยั่งยืนอย่างจริงจัง คนทำดีควรได้รับสิทธิพิเศษไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษี การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกขึ้น ฯลฯ นอกจากนั้นต้องพัฒนาการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบโรงแรมดิจิตอลที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในหลายด้านมากขึ้น หากทำได้ก็จะเป็นแต้มต่อในการแข่งขันมากขึ้น

สำหรับอีกภารกิจสำคัญของสมาคมฯ ในปีนี้ คือ การจัดกิจกรรมพิเศษฉลองครบรอบ 60 ปี และงานประชุมใหญ่ประจำปี โดยได้ร่วมมือกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย พันธมิตรหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการที่สมาคมฯ ให้การสนับสนุนร่วมมือในการจัดงานและจัดกิจกรรมของสมาคมฯ มากว่า 20 ปี โดยงานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2023

 

จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นจะมีทั้งการให้ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจโรงแรมไทยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับธุรกิจการท่องเที่ยวโลก โดยมูลนิธิใบไม้สีเขียว ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกจะมาร่วมให้ความรู้ถึงเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร แนวทางการคำนวณคาร์บอนในการเข้าพัก การลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน พร้อมมีการจัด Hospitality Digital Day ซึ่งจะพูดถึง Digital Marketing สำหรับธุรกิจโรงแรมในทุกแง่มุม รวมถึงการพัฒนาทักษะพนักงานบาร์โรงแรมในการแข่งขัน Asean & Thailand Hotel Bartender Compettition ซึ่งคาดว่ากิจกรรมและการประชุมในปีนี้จะมีสมาชิกผู้ประกอบการโรงแรมจากทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง รวมห้องพักแล้วประมาณ 20% ของห้องพักทั้งหมดของโรงแรมที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องเข้าร่วมงานในครั้งนี้

ด้านนายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2023 กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ทางสมาคมโรงแรมไทยมองเห็นถึงความสำคัญของการจัดงานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยี ด้านอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์ เครื่องใช้ในโรงแรม ภัตตาคาร การจัดเลี้ยง และการบริการนานาชาติ ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือทางธุรกิจ แต่ละปีมีการนำเสนอแนวโน้มและเทรนด์ธุรกิจของโลกเพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำมาพัฒนาและปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ทุกครั้งของการจัดงานฯ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และบริการจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจร่วมงาน โดยในการลงทะเบียนร่วมงานปีที่ผ่านมา (2565) มีผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 22,773 จาก 61 ประเทศ และมีผู้ร่วมจัดแสดงงานถึง 243 ราย จาก 12 ประเทศทั่วโลก และ 90% ของผู้ร่วมจัดแสดงงานและผู้เข้าร่วมงานยืนยันว่าจะกลับเข้าร่วมงานในปีนี้อีกครั้ง และที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือเราได้รับการยืนยันจากผู้ร่วมจัดแสดงรายใหม่และพันธมิตรรายใหญ่จากหลายประเทศสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานปีนี้ อาทิ ซิโนเอ็กซ์โป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ พันธมิตรใหม่ยักษ์ใหญ่จากจีน ที่จะนำงานสำคัญอย่าง Hotel & Shop Plus Thailand งานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับการออกแบบตกแต่งอาคาร โรงแรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ มาร่วมจัด ทำให้ต้องมีการขยายพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นจาก 2 ฮอลล์ เป็น 3 ฮอลล์ สร้างความคึกคัก เพิ่มมูลค่าการเจรจาธุรกิจ และดึงดูดความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วโลกได้อย่างแน่นอน

งานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2023 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2566 ณ ฮอลล์ 1-3 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจรายละเอียดการจัดงานฯ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.fhtevent.com ติดต่อ คุณสุภาภรณ์ อังศรีสุรพร อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ โทร.02-036-0500

การศึกษาฉบับใหม่ “อนาคตของไทยสตาร์ทอัพ และ Venture Capital”โดยดีลอยท์ คอนซัลติ้ง (“ดีลอยท์”) ชี้ว่า Startup ไทยจำนวนมากเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Startup ในไทยยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนระยะเริ่มต้นจากแหล่งเงินทุนอย่างเช่น Venture Capital Firm (VC) ส่งผลให้ Startup ในไทยขาดแคลนเงินทุนที่ต้องการเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ Startup ไม่ว่าจะเป็น ผู้ก่อตั้ง Startup VC และหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 20 ราย ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงอ้างอิงผลการวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยการศึกษาฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่เป็นไปได้ในการพัฒนาสตาร์ทอัพและ Venture Capital ในประเทศไทย

 

ปัญหาหลักของระบบนิเวศในประเทศไทยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

จากการศึกษาระบบนิเวศในประเทศไทย เราพบว่าระบบนิเวศในประเทศไทยนั้นประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยปัญหาหลักที่ขัดขวางการเติบโตของระบบนิเวศนั้น มีตั้งแต่ปัญหาการเข้าถึงเงินทุน จนไปถึงความยากลำบากในการหาผู้ประกอบกิจการที่มีความสามารถ ยกตัวอย่างเช่น

· Startup ในไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนในระยะเริ่มต้น หรือ Seed Stage) จำนวนรอบระดมทุนของ Startup ในระยะเริ่มต้น หรือ Seed Stage ลดลงตั้งแต่ปี 2562 จากเดิมจำนวนรอบระดมทุน 33 รอบ ลดลงไปกว่าครึ่งในปี 2563 ตามข้อมูลจาก Innovation Club Thailand หนึ่งในสาเหตุของการลดจำนวนลง เกิดจากการที่ Accelerator แบบไม่เฉพาะเจาะจงประเภทธุรกิจของ Startup ระยะเริ่มต้นนั้นมีจำนวนลดลง นอกจากนั้น พื้นฐานของตลาด VC ในไทยยังมี VC จากบริษัทใหญ่ หรือ Corporate VCs (CVCs) ถือครองอยู่ ที่มักจะเน้นลงทุนใน Startup ระยะท้าย หรือ Later Stage

· โครงการสนับสนุน Startup จากหน่วยงานภาครัฐนั้นยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของ Startup อันเนื่องมาจากมูลค่าเงินทุนสนับสนุนของโครงการนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของ Startup การออกแบบโครงการที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของ Startup ยกตัวอย่างเช่น การที่โครงการให้การสนับสนุน Startup ด้วยเงินทุนจำนวน 20,000 ถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่แท้จริงแล้ว Startup ต้องการเงินทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ดำเนินการสำหรับ 1-2 ปี นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์ Startup เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐ Startup หลายๆ ที่ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำเอกสาร และการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน ซึ่งมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน ความลำบากในการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนนั้น ยังได้เพิ่มความกดดันให้กับผู้ประกอบกิจการในการบริหารเงินสะพัดของ Startups อีกด้วย

· Startup ไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงที่ปรึกษาในประเทศเนื่องจากจำนวนที่ปรึกษาในประเทศไทยนั้นมีจำนวนจำกัด โดยปัญหานี้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทย ไม่ได้มีจำนวนผู้ประกอบการ Startup เกิดขึ้นภายในประเทศเยอะ ส่งผลให้จำนวนปรึกษาที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ Startup รุ่นใหม่นั้น มีจำนวนน้อยตาม ถึงแม้ว่าปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้ในอนาคตโดยอาศัยเวลาและประสบการณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ก่อตั้ง Startup ในไทย มีปัญหาในการเปิดรับแนวคิดความกล้ายอมรับความเสี่ยง และวิสัยทัศน์การขยายธุรกิจออกสู่สากล ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้าง Unicorn Startups ในไทย

“ปัญหาที่ Startup ไทยเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน” ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว “เงินทุนระยะเริ่มต้นนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อ Startup ในการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง VC หลายๆ เจ้ายังคงมองว่าระบบนิเวศ Startup ในประเทศไทยนั้นยังมีขนาดเล็กและยังไม่ได้พัฒนามากนัก รวมถึง Startup ไทยที่ประสบความสำเร็จยังมีจำนวนน้อย ส่งผลให้ VC ยังไม่กล้าที่จะลงทุนใน Startup ไทยซักเท่าไหร่”

“มีคำกล่าวที่ว่า It takes a village to raise a startup ในกรณีของประเทศไทยเราเชื่อว่าระบบนิเวศที่สนับสนุน Startup นั้นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาเป็นอย่างแรก” ดร.เมธินี กล่าว

 

แนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศไทย:

จากการศึกษาระบบนิเวศในประเทศต่างๆ เราพบว่าระบบนิเวศที่ประสบความสำเร็จนั้น เกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงความเพียงพอของช่องทางในการรับแหล่งเงินทุน โดยเราเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบนิเวศและส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศผ่านแนวทางต่อไปนี้

1) จัดตั้งโครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เหมือนอย่างในประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ SEEDS Capital ในประเทศสิงคโปร์ โครงการ London Co-Investment Fund

ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อเป็นการดึงดูด VC ให้เข้าร่วมโครงการ หน่วยงานภาครัฐสามารถที่จะพิจารณาออกแบบโครงการร่วมลงทุนนี้ให้ช่วยลดความเสี่ยงที่ VC ต้องแบกรับในการลงทุนใน Startup และนำเสนอโอกาสสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Upside Return) แก่ VC โดยโครงการเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สนับสนุนด้านการเงินแก่ Startup แต่ยังช่วยให้ Startup ได้ความรู้ความสามารถในการดำเนินการธุรกิจ ความเข้าใจตลาด และเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ จาก VC อีกด้วย

2) พิจารณาการเพิ่มงบประมาณสำหรับการส่งเสริม Startup และพัฒนาโครงการเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มเงินทุนสนับสนุน Startup สำหรับแต่ละโครงการให้มีมูลค่าเพียงพอต่อการสนับสนุน Startup เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี (เช่น การให้เงินสนับสนุนจำนวนอย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ) นอกจากนี้ โครงการควรที่จะลดความยุ่งยากในการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ และเบิกจ่ายเงินสนับสนุน (เช่น การเปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน)

3) จัดตั้งและมอบหมายอำนาจให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการพัฒนาระบบนิเวศ โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย จะช่วยพัฒนาและดูแลโครงการส่งเสริม Startup และ VC ในระบบนิเวศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรม กำกับดูแลให้โครงการสนับสนุน Startup จากหน่วยงานต่างๆ ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน และจัดโครงสร้างให้กับโครงการที่มาจากแต่ละภาคส่วน อีกทั้ง หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายนั้น จะช่วยพัฒนาการสื่อสาร และร่วมมือ ระหว่าง Startup และหน่วยงานของภาครัฐ นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยจัดหาทรัพยากรที่ Startup สามารถเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย

เราได้เห็นแล้วว่า โครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น โครงการในประเทศสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และ ประเทศอิสราเอล นั้นมีความสามารถที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงโครงการเหล่านี้ยังช่วยดึงดูด VC จากทั้งในประเทศและนอกประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศ Startup อีกด้วยดร.เมธินี กล่าว

จากการศึกษาแนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศต่างๆ เราค้นพบว่าแต่ละประเทศนั้นล้วนมีปัญหาหรือความท้าทายในการพัฒนาระบบนิเวศที่แตกต่างกันไป และประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป การค้นพบครั้งนี้ช่วยยืนยันกับเราว่า โครงการหรือแนวทางแก้ปัญหาแบบ One-size Fits All นั้นไม่มีอยู่จริง และเราควรที่จะทำการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างกันเหล่านั้นเพื่อเรียนรู้ว่าเราจะสามารถปรับปรุงและนำบทเรียนจากโครงการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบนิเวศในประเทศไทยต่อไปได้อย่างไรเคนเนท เทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายอุตสาหกรรมการเงิน ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว

“การพัฒนาระบบนิเวศนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา” เคนเนท กล่าวเสริม “การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ การปลูกฝังแนวคิดที่กล้ายอมรับความเสี่ยง รวมไปถึงการค้นพบไอเดียใหม่ๆ ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้เวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะพัฒนาหรือสร้างขึ้นได้ชั่วข้ามคืน”

เราเชื่อว่าระบบนิเวศในประเทศไทยนั้นมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นระบบนิเวศที่เต็มไปด้วย Startup ที่ประสบความสำเร็จ เป็นระบบนิเวศที่สามารถดึงดูด VC ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้มาลงทุนใน Startup ไทย รวมไปถึงเป็นระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยที่ปรึกษาที่พร้อมจะให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่ Startup หน้าใหม่ สุดท้ายนี้เราเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาครั้งนี้” ดร.เมธินี กล่าวเสริม

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่  https://www2.deloitte.com/sg/en/pages/human-capital/articles/venture-capital-ecosystem-thai.html

 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จตุจักร กรุงเทพฯ: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาการระบบและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานของประเทศ โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สสน. ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการ สสน. พร้อมด้วย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เข้าร่วมงาน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาการระบบและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานของประเทศ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดย สวทช. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยดังกล่าว ทำให้ประเทศสามารถสร้างเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ เกษตรและพลังงานโดยสามารถขยายเครือข่ายงานวิจัยได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืน

ทั้งนี้ความร่วมมือล่าสุดของสองหน่วยงาน จะร่วมมือภายใต้โครงการแพลตฟอร์ม Thailand Agricultural Data Collaboration Platform (THAGRI) เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร ซึ่ง สสน.ได้อนุเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์น้ำระยะกลาง (1 - 3 เดือน) มาแบ่งปันให้กับนักพัฒนาบนระบบ THAGRI เพื่อให้นักพัฒนาหรือผู้สนใจนำข้อมูลการคาดการณ์น้ำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ขณะที่ สวทช. มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA อันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณที่สูงถึง 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที ที่สามารถรองรับการใช้งานได้กับหัวข้อวิจัยที่สำคัญและหลากหลาย เพื่อสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างนวัตกรรมให้กับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การจำลองสภาพภูมิอากาศตามเวลาจริงโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาของไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สสน.และ สวทช. มีความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาลปลูกด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม (RiceFit) โดย สวทช. ได้ใช้ข้อมูลด้านปริมาณน้ำจาก สสน. มาประกอบในการคัดเลือกพันธุ์ปลูกที่เหมาะสมต่อสถานที่และฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิต นอกจากนี้ในโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ

ใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (What2Grow) ซึ่งได้จัดทำแผนที่เกษตรเชิงรุก หรือ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (AgriMap) ยังได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบโทรมาตรของ สสน. มาแสดงผลในชั้นแผนที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้เกษตรกรสามารถเลือกพืชที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ต้องการปลูกได้สะดวกขึ้น” ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ

ด้าน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สสน. มีแนวทางดำเนินงานให้เกิดความร่วมมือ ด้วยการเพิ่มศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย งานพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงานในทุกภาคส่วน พร้อมส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เกษตร และพลังงาน ร่วมกับ สวทช. ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยง สอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างมั่นคงและยั่งยืน

PT Bank Rakyat Indonesia (Persero) Tbk (IDX: BBRI) เปิดเผยกลยุทธ์เพื่อเร่งการทำระบบนิเวศ UMi (Ultra-Micro Holding) ในอินโดนีเซีย หลังจากการก่อตั้ง UMi holding อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 กันยายน 2564 โดย BRI มีการใช้กลยุทธ์หลัก 3 ประการตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2564

สำหรับระบบนิเวศนั้น BRI ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Rights Issue) สูงสุด 28,213,191,604 หุ้นสำหรับการระดมทุนรอบ B Series ที่ราคา 3,400 รูเปียห์ต่อหุ้น รัฐบาลอินโดนีเซียได้จองซื้อตามสิทธิทั้งหมดในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน (inbreng) โดยใช้หุ้นใน PT Pegadaian (Pegadaian) และ PT Permodalan Nasional Madani (PNM) แก่ BRI

ในช่วง 3 ปีแรก BRI ตั้งเป้าในการวางพื้นฐานผ่านแผนหลังบูรณาการ ขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามการริเริ่มต่าง ๆ รวมถึงโคโลเคชันด้วย ส่วนในเฟส 2 นั้น BRI, Pegadaian และ PNM จะเริ่มระยะการเสริมความแข็งแกร่ง ซึงรวมถึงการริเริ่มใหม่ ๆ เช่น ช่องทางดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของ UMi holding ได้ง่ายขึ้น

ในเฟส 3 BRI จะยกระดับความสามารถในด้านการเงินที่ครอบคลุมในอินโดนีเซีย โดย BRI วางแผนจะเปิดตัวโปรแกรมเพิ่มความสามารถเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มความรู้ด้านการเงิน การเติบโตของธุรกิจ และการเข้าถึงดิจิทัลสำหรับลูกค้าองค์กรทั้ง 3 นี้

กระทรวงสหกรณ์และ SME เปิดเผยว่า มีองค์กรขนาดย่อยราว 45 ล้านแห่งในอินโดนีเซียที่ต้องการเงินทุนสนับสนุนในปี 2562 แต่มีธุรกิจขนาดย่อยเพียง 20 ล้านแห่งเท่านั้นที่เข้าถึงสถาบันในระบบได้

Catur Budi Harto รองประธานของ BRI กล่าวว่า “ธุรกิจรายย่อยราว 12 ล้านแห่งเข้าถึงเงินทุนจากแหล่งนอกระบบ เช่น ครอบครัว ญาติ และสถาบันนอกระบบอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจรายย่อยราว 14 ล้านแห่งไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนเลย ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบ สิ่งนี้จะเป็นเป้าหมายสำหรับการเติบโตของธุรกิจรายย่อยในอนาคต”

ในแง่ของธุรกิจนั้น UMi Ecosystem จะเปิดโอกาสให้องค์กรทั้งสามได้เสริมแกร่งกระบวนการได้มาและการค้ำประกัน ด้วยการผนวกรวมฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อกว่า 20 ล้านรายการโดยใช้ขีดความสามารถทางดิจิทัลและการวิเคราะห์

นับจนถึงวันนี้ BRI มีลูกค้าเงินฝากกว่า 120 ล้านราย และลูกค้าสินเชื่อกว่า 13 ล้านราย ในฐานะผู้นำตลาดธุรกิจรายย่อยในอินโดนีเซีย BRI คว้าส่วนแบ่งตลาดมาได้ 60% ซึ่งประกอบด้วยลูกค้ารายย่อย 12.4 ล้านราย

X

Right Click

No right click