December 22, 2024

บริษัทผู้พัฒนา Blockchain และเทคโนโลยีแนวหน้าของประเทศไทย เปิดตัว Thailand Blockchain Working Group (TBWG)

บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด (CMG) ผู้นำเข้านาฬิกา CASIO G-SHOCK อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เผยโฉมนาฬิกาไฮไลท์ 4 รุ่นสุดเอ็กซ์คลูซีฟ GMW-B5000KL (Full Metal x kolor), MRG-G2000HA “TETSU-TSUBA”, GRAVITYMASTER GR-B100 และ PRO TREK WSD-F20A พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย ณ งาน ‘เซ็นทรัล อินเตอร์เนชั่นแนล วอทช์ แฟร์ 2018’ เซ็นทรัล ชิดลม มหกรรมเรือนเวลาแห่งภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 20 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2561 

เริ่มต้นความพิเศษในงานด้วยนาฬิกา GMW-B5000KL (Full Metal x kolor) นาฬิกาจาก G-SHOCK 5000 Series รุ่น Full Metal ใหม่ล่าสุด ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 35 ปีของ G-SHOCK ด้วยตัวเรือนที่ทำจากวัสดุแสตนเลสสตีล และหน้าปัดเหลี่ยมทรงคลาสสิคที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาต้นแบบรุ่น ORIGINS ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1983 พร้อมดีไซน์สไตล์สตรีท ลักซ์ชัวรี่ ที่เท่ห์แบบไร้กาลเวลา

นาฬิกา GMW-B5000KL (Full Metal x kolor) เป็นรุ่นพิเศษที่พัฒนาขึ้นร่วมกับ kolor แบรนด์แฟชั่นชั้นนำจากแดนญี่ปุ่น โดยผลิตเพียง 700 เรือนทั่วโลกเท่านั้น โดดเด่นด้วยด้วยตัวเรือนและองค์ประกอบสีทอง ที่ตัดกันอย่างลงตัวกับสายเรซิ่นสีดำ ให้อารมณ์ความหรูหราและสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของแบรนด์ kolor ที่เป็นที่รู้จักในด้านการใช้วัสดุที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ นาฬิกา GMW-B5000KL ยังมาพร้อมกับความพิเศษด้วยอักษรสลัก G-SHOCK 35th anniversary บนฝาหลังตัวเรือนและสลักโลโก้ kolor บนที่เก็บสายนาฬิกาอีกด้วย 

ในแง่ของคุณสมบัติ GMW-B5000KL เสริมฟังก์ชั่น Connected Engine ที่เชื่อมต่อเวลาเซิร์ฟเวอร์กลางผ่านทางสมาร์ทโฟนและสัญญาณวิทยุเวลา โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อนาฬิการุ่นนี้ผ่านแอพพลิเคชั่น G-SHOCK Connected บนสมาร์ทโฟน ให้สามารถใช้งานได้สะดวกและง่ายต่อการตั้งค่ายิ่งขึ้น เช่น การตั้งเวลามาตรฐานโลกและฟังก์ชั่นตั้งปลุก เป็นต้น ทั้งยังให้ความเที่ยงตรงเหมาะสำหรับทุกการใช้งานทั่วทุกมุมโลก

GMW-B5000KL (Full Metal x kolor)

 

รุ่นไฮไลท์อีกรุ่นที่พลาดไม่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิของ G-SHOCK ได้แก่ MRG-G2000HA “TETSU-TSUBA” ที่ส่งตรงจากงานนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก “บาเซิลเวิลด์ 2018” (Baselworld 2018) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ MRG-G2000HA เป็นส่วนหนึ่งของนาฬิกาตระกูลกันกระแทกอันโด่งดัง MR-G (Majesty Reality G-SHOCK) ด้วยแรงบันดาลใจและชื่อรุ่นจาก tetsu-tsuba ("การ์ดมือเหล็กซามูไร") ที่สร้างขึ้นจากฝีมือและความปราณีตของช่างดาบญี่ปุ่นดั้งเดิม โดยนาฬิกา G-SHOCK MRG-G2000HA Limited Edition ได้ถูกผลิตมาเพียง 350 เรือนทั่วโลก และประเทศไทยได้นำเข้ามาให้สาวก G-SHOCK ได้ครอบครองเพียง 5 เรือนเท่านั้น

MRG-G2000HA ใช้เทคนิคการลงสีแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ผสมผสานกับเทคนิคการเคลือบ AIP® (Arc Ion Plating) แบบใหม่ ที่ช่วยดึงความสวยงามของโลหะสีม่วงเข้ม ‘มูราซากิ-กาเนะ (Murasaki-gane) และวัสดุทองแดง ‘ซูอากะ' (Suaka) ที่ใช้ในงานหัตถกรรมญี่ปุ่น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างและสง่างาม ตัวนาฬิกาเสริมด้วยโมดูล Connected Engine 3-Way ซึ่งเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่ออัพเดตข้อมูลของนาฬิกาโดยอัตโนมัติ รวมถึงเวลา เวลาออมแสง (DST) และการเปลี่ยนแปลงโซนเวลา ซึ่ง MRG-G2000HA เป็นนาฬิกา MR-G ที่สามารถผสมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ากับสุนทรียศาสตร์ญี่ปุ่นได้อย่างสวยงามและลงตัวอย่างไร้ที่ติ 

นอกจาก MRG-G2000HA แล้ว ภายในงาน เซ็นทรัล อินเตอร์เนชั่นแนล วอทช์ แฟร์ 2018  G-SHOCK ยังได้นำอีกหนึ่งรุ่นจากซีรี่ยส์ MR-G มาจัดแสดง ได้แก่รุ่น MRG-G2000CB ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘คูโรโซเนะ’ (Kurozonae) หรือกองกำลังทหารพิเศษของญี่ปุ่นในสมัยโบราณ ซึ่งสวมใส่ ‘Black Guard’ หรือชุดเกราะสีดำ ถ่ายทอดออกมาเป็นนาฬิกา MRG-G2000HA ที่ทำด้วยโลหะสีดำล้วนทั้งเรือน สื่อถึงความแข็งแกร่งและอำนาจ พร้อมด้วยวัสดุ COBARION® อัลลอยโคบอลต์ที่พัฒนาในญี่ปุ่น แข็งแกร่งเป็นสองเท่าของสแตนเลสสตีล แต่ให้ประกายแวววาวเทียบเท่ากับแพลตทินัม และยังมีระบบ Bluetooth® และ GPS ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ควบคุมโดยคลื่นวิทยุ โดยทาง เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) ได้นำเข้ามาในประเทศไทยเพียง 10 เรือนเท่านั้น

อีกหนึ่งรุ่นไฮไลท์ที่ออกแบบมาเพื่อนักบินและผู้ที่หลงใหลในการเดินทางโดยเฉพาะได้แก่ GRAVITYMASTER GR-B100 จากซีรี่ยส์ GRAVITYMASTER ที่ยึดถือหลักการสำคัญสำหรับอาชีพนักบินเป็นหลัก นั่นก็คือความเชื่อมั่นและการตรงต่อเวลา ด้วยระบบ Bluetooth® เพื่อการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนแบบไร้สายสำหรับเวลาที่เที่ยงตรง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเวลาออมแสง หรือการเปลี่ยนแปลงเวลาในเขตต่างๆ ของโลก ทั้งนี้ นาฬิกา GR-B100 รุ่นใหม่ล่าสุดยังได้เสริมฟังก์ชั่นการนับถอยหลังเวลา ซึ่งให้คุณสามารถนับถอยหลังไปถึงวันและเวลาที่ระบุได้แม่นยำถึงวินาทีที่แน่นอน พร้อมกำหนดป้ายกำกับเหตุการณ์นั้นๆด้วย นอกจากนี้ นาฬิกา GR-B100 ยังมีฟังก์ชั่นบันทึกเที่ยวบินสำหรับการบันทึกข้อมูล เวลา และสถานที่ ด้วยความสามารถในการแสดงจุดที่ตั้งและเส้นทางการบินจากบนแผนที่ภายในแอพพลิเคชั่นได้

ในส่วนของการดีไซน์ นาฬิกา GR-B100 ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบหน้าปัดจากหน้าปัดของเกจ์ (Gauge) ต่างๆ ในค็อกพิทเครื่องบิน โดยเข็มชั่วโมง นาที และดัชนีได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว พร้อมปุ่มด้านข้างหกปุ่มสำหรับการเรียกใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ อย่างสะดวกสบาย เหมาะแก่การใช้งานในชั่วโมงเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ หน้าปัดนาฬิกายังมีหน้าจอ LCD ความละเอียดสูงขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อต่อการอ่านข้อความและข้อมูลตัวเลข เช่น เวลาและป้ายกำกับเหตุการณ์ที่ป้อนจากภายในแอพพลิเคชัน

ทั้งนี้ GRAVITYMASTER GR-B100 มีให้เลือกถึง 3 รุ่น ได้แก่ GR-B100-1A2 สีฟ้า, GR-B100-1A3 สีเขียว และ GR-B100-1A4 สีส้ม  

GRAVITYMASTER GR-B100 ด้วย 3 สีอันโดดเด่น

 

นาฬิกาไฮไลท์รุ่นสุดท้ายจากเครือผลิตนาฬิกาชั้นนำ CASIO ที่ CMG ได้นำมาเปิดตัวแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่แรกที่เดียว ณ งาน เซ็นทรัล อินเตอร์เนชั่นแนล วอทช์ แฟร์ 2018 ได้แก่ PRO TREK Smart WSD-F20A นาฬิกาอัจฉริยะสำหรับกิจกรรมเอ้าท์ดอร์อย่างแท้จริง ด้วยความทนทานที่รับรองโดยมาตรฐานทหาร (US Military Standard) และหน้าจอ Dual-Layer ที่ให้คุณเลือกตั้งค่าระหว่างจอสีและจอขาว-ดำได้ เพื่อช่วยประหยัดแบตเตอรี่ขณะผจญภัย นอกจากนี้ นาฬิกา PRO TREK Smart WSD-F20A รุ่นใหม่ยังใช้เทคโนโลยี GPS และแผนที่สีที่ใช้พลังงานต่ำ ซึ่งสามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้ และถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ที่ไม่มีบริการโทรศัพท์มือถือ โดดเด่นด้วยสีคราม Indigo Blue

PRO TREK Smart WSD-F20A

 

พิเศษสุด สำหรับงาน เซ็นทรัล อินเตอร์เนชั่นแนล วอทช์ แฟร์ 2018 ลูกค้าที่ซื้อนาฬิกา MRG-G2000HA “TETSU-TSUBA” จะได้รับบัตรกำนัลอาหารญี่ปุ่นสไตล์โอมากาเซะ ฉบับต้นตำรับญี่ปุ่นแท้จำนวน 2 ท่าน จากร้าน GINZA SUSHI ICHI มูลค่า 11,770 บาท นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ณ บูธ G-SHOCK จะมีกิจกรรมประเพณีชงชาญี่ปุ่นอันเก่าแก่ ‘ซะโด’ เพื่อให้ลูกค้าทุกท่านได้ลิ้มลองและร่วมสัมผัสอีกแง่มุมของ G-SHOCK ที่ผสมผสานความแม่นยำ เที่ยงตรง หล่อหลอมไปกับขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศญี่ปุ่นที่สวยงามและพิถีพิถันได้อย่างไม่มีที่ติ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ G-SHOCK รุ่น GMW-B5000KL (Full Metal x kolor), MRG-G2000HA “TETSU-TSUBA”, GRAVITYMASTER GR-B100 และ PRO TREK WSD-F20A รวมถึงนาฬิกา G-SHOCK รุ่นอื่นๆ สามารถเข้าชมได้ที่งาน เซ็นทรัล อินเตอร์เนชั่นแนล วอทช์ แฟร์ 2018 ณ เซ็นทรัลชิดลม ชั้น 3 บูธ CASIO G-SHOCK ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2561 หรือผ่านทางเว็บไต์ www.casio-cmg.com และ Facebook: Casio Watches Thailand

 

ตอนนี้ คงไม่มีใครจำคดีของจอห์นและอลิซ มาร์ติน ได้แล้ว ทั้งๆ ที่กรณีของสามีภรรยาคู่นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของปูมประวัติศาสตร์การพัฒนาของเทคโนโลยีไร้สาย หรือ Mobile Technology ของโลก

เมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน นายมาร์ติน นักการภารโรงของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองฟอร์ตไวท์ รัฐฟลอริดา และนางมาร์ติน ผู้ช่วยครูต่างก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรคเดโมแครตในท้องถิ่นของตนอย่างแข็งขัน ทั้งสองมีงานอดิเรกที่ไม่ธรรมดา ครอบครัวมาร์ตินเผยว่าพวกเขาชอบดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์มือถือ โดยใช้เครื่องสแกนของตำรวจที่ซื้อจากร้าน Radio Shack

พวกเราในเมืองไทยหลายคนสมัยนั้น ก็มีงานอดิเรกแบบนี้เช่นเดียวกัน หลายคนมีความสุขกับการได้แอบฟังผู้คนจู๋จี๋ดู๋ดี๋กันทางอากาศ

ทว่า สมัยนั้น เรายังไม่ให้ค่ากับคำว่า “Privacy” หรือ “ความเป็นส่วนตัว” และ พรบ.คอมพิวเตอร์ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวมากนัก

วันหนึ่งในเดือนธันวาคม ปี 1997 หลังวิกฤติต้มยำกุ้งไม่นานนัก ครอบครัวมาร์ตินอ้างว่าสามารถดักจับบทสนทนาทางโทรศัพท์ “โดยไม่ได้ตั้งใจ” และบังเอิญว่ามีเครื่องบันทึกเสียงแบบพกพา จึงสามารถบันทึกการสนทนาระหว่าง นิวต์ กิงกริช ประธานสภาผู้แทนราษฎร และจอห์น โบห์เนอร์ ส.ส. ของรัฐโอไฮโอ (ซึ่งอยู่ที่ฟลอริดากับภรรยาของเขา) และเพื่อนสมาชิกพรรครีพับลิกันคนอื่น ๆ

การสนทนาทางโทรศัพท์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการไต่สวนสาธารณะ (Hearings) ในประเด็นด้านจริยธรรมเรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับกิงกริชซึ่งกำลังจะมาถึง เป็นการไต่สวนอย่างที่เราเห็นทางช่องเคเบิล C-SPAN เป็นประจำนั่นแหละ

สิ่งที่ครอบครัวมาร์ตินทำนั้นผิดกฎหมายของสหรัฐฯ ในขณะนั้น และห้วงเวลาที่เกิดเรื่องก็ไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด

วันที่ 8 มกราคม ปี 1998 ครอบครัวมาร์ตินได้ส่งมอบซองเอกสารซึ่งประกอบด้วยบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์นั้นให้แก่ ส.ส. จิม แมคเดอร์มอตต์ แห่งรัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมเดรตตำแหน่งสูงสุดที่อยู่ในคณะกรรมการด้านจริยธรรมของรัฐสภา (House Ethics Committee) ด้วยตัวเอง สองวันต่อมา รายละเอียดการสนทนาทางโทรศัพท์ดังกล่าว ก็ไปปรากฏหราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ New York Times

เรื่องนี้ส่งผลให้แมคเดอร์มอตต์มีส่วนพัวพันกับการเผยแพร่ข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์มือถืออย่างผิดกฎหมาย และสิ่งที่ทำให้สถานการณ์น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นก็คือ เรื่องราวดังกล่าวถูกเปิดเผยวันเดียวกันกับที่คณะกรรมด้านจริยธรรมเริ่มแพร่ภาพการไต่สวนสาธารณะทางโทรทัศน์

สิ่งที่น่าขันก็คือ ครอบครัวมาร์ตินสาบานว่าตนไม่ทราบเลยว่ากำลังก่ออาชญากรรม ทว่าในจดหมายปะหน้าถึงแมคเดอร์มอตต์ ทั้งสองร้องขอการคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องร้อง แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือ
ทั้งสองถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic 
Communications Privacy Act)

นอกจากนี้ ศาลยังพบว่าแมคเดอร์มอตต์มีความผิดจากการละเมิดสิทธิของจอห์น โบห์เนอร์ ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐอเมริกา (First Amendment) และสั่งให้แมคเดอร์มอตต์จ่ายเงินแก่โบห์เนอร์เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับการเมืองในวอชิงตัน แต่กรณีการดักฟังครั้งนั้น ก็เป็นการตีแผ่ให้สังคมวงกว้าง ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยของการสื่อสารและสิทธิส่วนบุคคลของเราที่สังคมกำลังเผชิญอยู่

และกรณีนั้น ยังเป็นตัวเร่งให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้กับเครือข่ายไร้สายอย่างขนาดใหญ่

โทรศัพท์ที่ครอบครัวมาร์ตินดักฟังได้แบบง่ายดายนั้น ยังอยู่ในระบบเครือข่ายไร้สายรุ่นที่หนึ่ง (1G หรือ First Generation Mobile Technology) และก็อย่างที่เรื่องราวข้างบนเผยให้เห็น ตัวเทคโนโลยีเองก็มีข้อบกพร่องสำคัญบางประการ

มันเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่ว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นส่วนตัว จะต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อทำให้เครือข่ายไร้สาย นอกจากจะทำงานได้เร็วขึ้นแล้ว ยังจะต้องมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งนับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มันก็ได้นำมาสู่ความก้าวหน้าทางด้านการสื่อสารแบบไร้สายที่น่าประทับใจยิ่ง

ในรอบ 20 ปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงก้าวหน้าและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายนั้น เป็นไปแบบก้าวกระโดด

ก้าวกระโดดซะจนทำให้ยักษ์ใหญ่ผู้ครองพื้นที่อยู่เดิมอย่างบรรดา เจ้าของเครือข่ายและให้บริการ “โทรศัพท์บ้าน” หรือ “Land Line” พากันเก็บกระเป๋า ม้วนเสื่อกลับบ้านกันหมด

ถ้าใครยังจำได้ ในระยะนั้น ประเทศไทยเอง ก็ได้มีอภิมหาเศรษฐีพ่อค้าไก่และอาหารสัตว์คนสำคัญ ที่คิดว่าตัวเองมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จับธุรกิจอะไรก็สำเร็จ ขอให้มีแต่เส้นสายทางการเมืองและเงิน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะคิดว่าหาซื้อได้ทั่วไปในโลก ได้กระโดดลงมาสู่ธุรกิจเทเลคอมฯ

น่าเสียดายที่เขาเลือกเทคโนโลยีผิด เพราะเขาทุ่มเทเงินและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปกับ Land Line ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คุกรุ่นกันทั้งประเทศ ที่นายกรัฐมนตรีคนนั้นตัดแบ่งสัมปทานบางส่วนของเขาไปให้กับคนอื่น

ทั้งๆ ที่นั่น (มารู้ทีหลังว่า) เป็นการช่วยทางอ้อม ไม่ให้เขาเจ๊งมากยิ่งขึ้น

เขาหารู้ไม่ว่า หลังจากนั้นอีกไม่ถึง 20 ปี จะไม่มีใครใช้บริการ “โทรศัพท์บ้าน” กันอีกต่อไปแล้ว เป็นเหตุให้กิจการของเขาไม่สามารถฟื้นตัวได้ แม้ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม

นับเป็น บาดแผลทางใจของเขามาจนกระทั่งบัดนี้

เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะดีกรีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ Mobile Technology นั่นเอง

อันที่จริง การสตรีมมิ่งวิดีโอ (การเล่นไฟล์วิดีโอโดยไม่ต้องดาวน์โหลด) การดาวน์โหลดไฟล์แบบไร้สาย หรือแม้แต่การทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นได้ ก็เพราะความก้าวหน้าของการเชื่อมต่อแบบไร้สายนั่นเอง

ปัจจุบันโลกได้ประสบกับปัญหาที่เป็นความหายนะอีกครั้ง เหมือนตอนที่เรื่องราวการดักฟังโทรศัพท์ของครอบครัวมาร์ตินย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการอัปเกรดเทคโนโลยีไร้สายสมัยนั้น แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การจารกรรมทางการเมือง ทว่าก็คงจะบีบบังคับอุตสาหกรรมให้ต้องอัปเกรดสาธารณูปโภคที่การสื่อสารสมัยใหม่ของเราต้องใช้กันอีกครั้ง

และมันจะต้องเป็นการสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ และเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมลงทุนหรือเตรียมตัวสร้างสรรค์หรือสร้างบริการบนสาธารณูปโภคเครือข่ายใหม่นี้ได้แต่เนิ่นๆ

1 G

ก่อนที่จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการก้าวกระโดดครั้งถัดไป เราควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า กว่าจะมาถึงตอนนี้ เทคโนโลยีแบบไร้สายเคยอยู่ตรงจุดไหน และปัจจุบันอยู่ตรงไหนกันแล้ว

เทคโนโลยี 1G หรือ First Generation Mobile Technology ซึ่งใครก็ดักฟังโทรศัพท์ได้ และอภิมหาเศรษฐีผู้ค้าไก่และอาหารสัตว์มองข้ามในสมัยนั้น ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Bell Labs ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในชื่อ Advanced Mobile Phone System (AMPS) เป็นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบแอนะล็อก (Analog) ซึ่งนำออกใช้งานครั้งแรกในเมืองชิคาโก เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1983

พวกเราบางคนอาจยังพอจำโทรศัพท์เคลื่อนที่หน้าตาเหมือนก้อนอิฐอย่างที่เห็นในรูปประกอบนี้ได้ 

นั่นเป็นครั้งแรกที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์แบบไร้สายบนอุปกรณ์พกพา ซึ่งมีราคาแพงเช่นเดียวกับการบริการ และเป็นที่นิยมจากภาพยนตร์ต่างๆ เช่นเรื่อง Wall Street ที่มีดาราดังอย่าง ไมเคิล ดักลาส รับบทเป็นเจ้าพ่อการเงินมีฉากกำลังโทรศัพท์มือถือระหว่างเดินไปตามชายหาด

กรณีสามีภรรยามาร์ตินย้ำให้เห็นจุดอ่อนของเทคโนโลยีรุ่นที่หนึ่งนี้ มันง่ายต่อการสกัดและดักฟัง และถ้าเป็นผู้ที่มีความชำนาญหน่อย ก็สามารถใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อโคลนนิ่งหมายเลขโทรศัพท์มือถือและใช้มันเพื่อ “ขโมย” แอร์ไทม์ (Airtime) ได้อย่างง่ายดาย

ช่วงนั้น AMPS มีความเร็วเพียง 10 กิโลบิตต่อวินาทีเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่ามันยังไม่ถึงหนึ่งในห้าของความเร็วของบริการอีเมลและบริการส่งข้อความของ America Online (AOL) สมัยก่อน ซึ่งสามารถ “แพร่กระจาย” ด้วยความเร็ว 56 กิโลบิตต่อวินาที

ขอยกตัวอย่างการเปรียบเทียบเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน บริการภาพยนตร์ทางออนไลน์ของ Netflix ปกติเมื่อสตรีมด้วยความเร็วต่ำสุด ก็ปาเข้าไปถึง 3,000 กิโลบิตต่อวินาทีแล้ว

ด้วยสปีดที่ค่อนข้างช้าของระบบ AMPS ทำให้การเชื่อมต่อไม่ดี เกิดปัญหาโทรศัพท์สายหลุด และปัญหาเครือข่ายคับคั่งบริเวณพื้นที่สาธารณะหนาแน่น เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

แต่นั่นคือสิ่งที่มีให้ใช้ในสมัยนั้น เพราะความต้องการพื้นฐานสมัยนั้นคือ การให้บริการเพียงด้านเสียงหรือการพูดคุยสนทนา และให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เท่านั้นก็ถือว่าเป็นระบบเครือข่ายการสื่อสารขนาดใหญ่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา และเวลานั้นสหรัฐอเมริกาคือผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีไร้สาย

แต่ก็อย่างที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า บัดนี้เราก้าวมาไกลจาก 1G มากแล้ว ไกลโขแล้ว

เครือข่ายไร้สายปัจจุบันคือรุ่นที่สี่ (4G หรือ Fourth Generation Mobile Technology) ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปิดใช้งานวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แบบเห็นหน้าเห็นตากันได้ แม้แต่สิวและไฝมีกี่เม็ดก็อาจสังเกตเห็นได้ นอกจากนั้นยังสามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้อย่างรวดเร็ว สตรีมมิ่งวิดีโอ และเล่นเกมแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ย้อนไปเมื่อสมัยโน้น ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ “อเมสซิ่ง” มากๆ

แต่มันก็ยังไม่หยุดอยู่ที่ตรงนี้ เพราะเรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง จากที่ทำได้ในปัจจุบัน ก็กำลังจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ไปอีกเป็นร้อยเท่า ซึ่งความน่าสนใจของมันอยู่ตรงนี้เอง

วิวัฒนาการสู่เทคโนโลยีไร้สายรุ่นที่ห้า

ปีนี้อุตสาหกรรมเริ่มสร้างสิ่งที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ เครือข่ายไร้สายรุ่นที่ห้า (5G หรือ Fifth Generation Mobile Technology หรือ 5G Wireless Network) เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว มันน่าจะเป็นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสารขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเครือข่ายซึ่งจะมีต้นทุนการสร้างทั่วโลกกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 60 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า GDP ของประเทศไทยกว่า 4 เท่าตัว

ก่อนอื่น เราอยากอธิบายบริบทเพื่อให้เห็นภาพว่าเหตุใด 5G จึงกำลังจะเป็นระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารที่เหลือเชื่อที่สุดในช่วงชีวิตของเรา ไม่เพียงเพราะมันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและช่วยให้เราทำสิ่งซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อนเท่านั้น แต่แนวโน้มดังกล่าวยังเป็นโอกาสของการลงทุนที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่เราจะได้เห็นในอีก 10 ปีข้างหน้า 

การเติบโตแบบทวีคูณของการจราจรของข้อมูลบนเครือข่ายไร้สาย

และนี้คือความสามารถของเทคโนโลยีแบบไร้สายแต่ละรุ่นนับแต่รุ่น 1G ในปี 1983 เป็นต้นมา

1G (ใช้ในทศวรรษ 80) เทคโนโลยีเซลลูลาร์แบบแอนะล็อก แบนด์วิดต์ต่ำ ออกแบบมาเพื่อการโทรศัพท์แบบเคลื่อนที่

2G (ใช้ในทศวรรษ 90) เทคโนโลยีเซลลูลาร์แบบดิจิทัล การโทรศัพท์เสียงดิจิทัล บริการ SMS (การส่งข้อความสั้นๆ ถือเป็นการให้บริการทั้งเสียงและข้อมูล)

3G (ใช้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21) เทคโนโลยี CDMA (Code-Division Multiple Access) เริ่มแพร่หลาย คุณภาพเสียงในการโทรศัพท์สูงขึ้น ถือเป็นยุคแรกๆ ของการส่งวิดีโอคุณภาพต่ำบนอุปกรณ์พกพา และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

4G (ใช้ในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 จนถึงปัจจุบัน) แบนด์วิดต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก สามารถค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและการสตรีมมิ่งวิดีโอคุณภาพสูง เทคโนโลยี Voice Over IP (โดยทั่วไปเป็นการโทรศัพท์ฟรีจากทุกมุมโลก โดยใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เช่น Skype หรือ Line หรือแอปพลิเคชันการส่งข้อความต่างๆ)

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีแบบไร้สายรุ่นใหม่ทุกๆ 10 ปี สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ พอโลกมาถึงจุดที่สร้างระบบรองรับเทคโนโลยีรุ่นใดรุ่นหนึ่งเพิ่งจะเรียบร้อย ก็กลายเป็นว่ามันกำลังสร้างระบบเพื่อรองรับเทคโนโลยีรุ่นใหม่กว่า พร้อมๆ กันไปเลย

เหตุใดจึงมีความต้องการสร้างระบบสาธารณูปโภคเครือข่ายไร้สายอย่างต่อเนื่อง?

เพราะคำๆ เดียวคือ “ข้อมูล” (Data)

ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างมีความหิวกระหายต่อการบริโภคและส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายมากขึ้นอยู่เสมอ ชาร์ตด้านบนแสดงจำนวนของข้อมูลและการจราจรของเสียงผ่านเครือข่ายไร้สายของโลกตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2012 เป็นต้นมา

สิ่งที่พึงสังเกตคือจำนวนของการจราจรทางเสียง (สีเทา) ค่อนข้างคงที่ตลอดช่วงห้าปีหลัง แต่ข้อมูล (สีแดง) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉพาะในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว มีการส่งข้อมูลไปมาเกือบ 12 เอ็กซะไบต์ (Exabytes) ต่อเดือน

เอ็กซะไบต์คืออะไร? หนึ่งเอ็กซะไบต์คือจำนวนข้อมูลที่มีมากกว่า 100,000 เท่าของสิ่งพิมพ์ทั้งหมดที่อยู่ในห้องสมุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา (Library of Congress) รวมเลยทีเดียว

เป็นเรื่องยากสำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์ ที่จะคำนวณว่ามันเป็นจำนวนข้อมูลที่มากเพียงใด

แต่สิ่งที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจยิ่งกว่านั้นก็คือ อัตราการเติบโตแบบเปรียบเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นว่าตัวเลขไตรมาสที่สามมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 63 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าในเวลาไม่ถึง 18 เดือน จำนวนข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว อีกครั้งและยังหมายถึงความคับคั่งเพิ่มขึ้นของเครือข่ายไร้สายด้วย

คุณเคยประสบปัญหาโทรศัพท์สายหลุดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาไหม? หรือเวลาที่เรียกหมายเลขและพอมีคนรับสายแล้ว กลับไม่ได้ยินเสียงอีกฝั่งหนึ่ง? ปัญหาอินเทอร์เน็ตล่าช้า กว่าจะดาวน์โหลดหน้าเพจได้บ้างไหม? เรียกแอปหรือหน้าเพจแล้ว “หมุนอยู่นั่นแหละ” บางครั้งแทบจะดาวน์โหลดหรือส่งอีเมลของคุณไม่ได้เลย ใช่หรือไม่?

สาเหตุเกือบทั้งหมดมาจากความคับคั่งของเครือข่าย เหมือนกับการจราจรบนทางหลวงคับคั่งรถไม่ขยับเขยื้อนอย่างไรอย่างนั้น เป็นเพราะมีข้อมูลบนเครือข่ายไร้สายมากเกินไป จึงทำให้ชุดของข่าวสารข้อมูลดิจิทัล ไม่สามารถไปยังจุดหมายได้ในเวลาที่ต้องการ

ความเร็วของการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายระบบ 4G โดยเปรียบเทียบ

สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ผู้นำอีกแล้ว

สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดิมพันด้วยตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีเครือข่าย 1G และ 2G ของตน ร่วงหล่นกลายเป็นผู้ตามในรุ่น 3G และ 4G ดูได้จากชาร์ตด้านบน

จากชาร์ตจะเห็นว่าประเทศที่อยู่ในตำแหน่งรั้งท้ายได้แก่ สหรัฐอเมริกา ในอันดับที่ 55 ตามมาด้วยรัสเซีย, บัลแกเรีย, เวเนซูเอลา (ประเทศซึ่งกำลังอยู่ในภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ) และ เปรู

เมื่อพิจารณาจากจำนวนข้อมูลอาจดูแล้วเข้าใจยาก จึงขอสรุปภาพคร่าวๆ ของความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลเป็นรายประเทศดังนี้

  • สิงคโปร์ 37 Mbps
  • โรมาเนีย 27 Mbps
  • ฟินแลนด์ 17 Mbps
  • กัวเตมาลา 13 Mbps
  • สหรัฐอเมริกา 10 Mbps

ใช่แล้ว ประเทศอย่างโรมาเนียและฟินแลนด์ยังแซงหน้าอเมริกา แม้แต่แดรกคูลาและกวางเรนเดียร์ (สัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศ) ยังมีช่องทางโมบายอินเทอร์เน็ตที่เร็วกว่าสหรัฐฯ

แล้วมันสำคัญอย่างไร? เมื่อพิจารณาในระดับเศรษฐกิจ มันคือความได้เปรียบของการแข่งขันที่สำคัญ เพราะการทำงานและบริการในระบบดิจิทัล ส่วนใหญ่อยู่บนเครือมือถือหรือไร้สาย บริษัทหลายแห่งใช้กลยุทธ์ “Mobile First” (ปฏิบัติการในระบบมือถือหรือไร้สาย) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญสูงสุดต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการผ่านอุปกรณ์พกพาเช่น สมาร์ตโฟน

ความลับที่น่ารังเกียจอย่างหนึ่งของซิลิคอนแวลลีย์คือ ความครอบคลุมของเครือข่ายไร้สายที่แย่ที่สุดในประเทศสหรัฐฯ กล่าวคือ มันมีจุดอับสัญญาณ (ครอบคลุมไม่ถึง) และจุดที่สัญญาณไม่ดีอยู่ทั่วไป เพราะ “คนพื้นที่” ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในเทคโนโลยี จะสู้ไม่ถอยเพื่อหยุดยั้งการก่อสร้างหอหรือตั้งเสาสัญญาณเครือข่ายมือถือหรือไร้สาย เพราะไม่ต้องการเห็นหอสัญญาณไร้สายที่ “น่าเกลียด” ภายในและรอบๆ ย่านที่อยู่อาศัยของตน

เรื่องนี้สร้างความคับข้องใจแก่ชุมชนเทคโนโลยีซึ่งพยายามเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

ซิลิคอนแวลลีย์เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง เพราะปัญหาเรื่องความคับคั่งของเครือข่ายได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ และในตลาดส่วนใหญ่ทั่วโลกแล้ว

ปัญหาเรื่องความเสียเปรียบในการแข่งขันยกระดับสู่แวดวงรัฐบาลระดับสูงสุดเลยทีเดียว

รัฐบาลทรัมป์และการเริ่มต้นของ 5G

เรื่องนี้มีความกระจ่างในเดือนมกราคม เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่า มันคือเรื่องของความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระดับชาติ สหรัฐฯ น่าจะพิจารณาสร้างเครือข่าย 5G สาธารณะที่มีขนาดใหญ่หนึ่งเดียว แทนที่จะปล่อยให้อุตสาหกรรมทำให้มันล่าช้าด้วยการชะลอการเริ่มโครงการ (เนื่องจากค่าใช้จ่ายของการสร้างเครือข่ายดังกล่าวสูงมาก)

เช่นเคย สื่อมวลชนไม่ได้ให้ค่าต่อคำประกาศดังกล่าวมากนัก และวิพากษ์วิจารณ์การกำหนดทิศทางดังกล่าว โดยอ้างว่ามัน “ไม่ได้ผล” และไม่สอดคล้องกับทิศทางของ FCC (คณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา)

อันที่จริงก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เพราะความตั้งใจนี้มีการไตร่ตรองไว้แล้ว ประธานาธิบดีและทีมของเขาต้องการกระตุ้นอุตสาหกรรม เพื่อเร่งรัดการลงทุนที่จำเป็น ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างเครือข่าย 5G ดังกล่าวนั่นเอง

การลงทุนที่ต้องการนั้นมีขนาดใหญ่มาก และเนื้อหาที่รัฐบาลสื่อถึงบรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน คือ “เริ่มสร้างเครือข่าย 5G ตั้งแต่บัดนี้ ไม่งั้นเราจะจัดการเอง”

แล้วมันก็ได้ผล...

Verizon เริ่มต้นลงทุนสร้างเครือข่าย 5G ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ รวม 5 แห่ง แห่งแรก คือเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองดังกล่าวจะเริ่มให้บริการได้ภายใน “ครึ่งหลังของปี 2018” ในขณะที่ AT&T ประกาศว่าบริษัทจะเริ่มให้บริการ 5G แก่ลูกค้าในเมืองต่างๆ สิบกว่าแห่งภายในสิ้นปีนี้ เช่น เมืองแดลลัส แอตแลนต้า และวาโก้ ในรัฐเท็กซัส

ส่วน T-Mobile ก็พยายามที่จะแซงหน้าคู่แข่งทั้งสองรายด้วยแผนการให้บริการแก่เมืองต่างๆ ร่วม 30 แห่งก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งรวมถึงนิวยอร์กและลอสแองเจลิสด้วย

ประเด็นของบทความนี้ก็คือ มันเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องรอจนถึง ปี 2020 จึงจะได้เห็นกัน หากแต่เกิดขึ้นในตอนนี้แล้ว และดำเนินไปตามลำดับเวลาที่ถูกเร่งรัดให้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีไร้สายรุ่นก่อนหน้า

กิจกรรมทั้งหมดนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของ T-Mobile และ Sprint เข้าด้วยกัน ทั้งสองคือผู้ให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายอันดับสามและสี่ของตลาดสหรัฐฯ ตามลำดับ

หลายเดือนก่อน T-Mobile ประกาศว่าบริษัทจะซื้อ Sprint เป็นมูลค่า 26,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ความจริงก็คือไม่มีฝ่ายใดมีเงินพอที่จะสร้างเครือข่ายเพื่อแข่งขันกับ Verizon และ AT&T ได้โดยลำพัง

คือเมื่อพิจารณากันในรายละเอียดแล้ว กิจการทั้งสองไม่มีสมาชิกผู้ใช้บริการหรือเงินสดมากพอ แต่ถ้าร่วมมือกันก็มีความเป็นไปได้ และจะทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ข้อตกลงนี้จะต้องสำเร็จลงได้ และได้รับการอนุมัติแน่นอน

และเมื่อเครือข่าย 5G กลายเป็นความจริงแล้ว จะส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างใหญ่หลวง

ระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้เครือข่าย 5G ก็จะมีมากเช่นกัน เฉพาะตลาดสหรัฐฯ แห่งเดียว คาดว่าผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายของสหรัฐฯ (AT&T, Verizon, และT-Mobile/Sprint) จะใช้จ่ายเงินถึง 275,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น หมายความว่ามันจะส่งผลให้มีการสร้างงานสามล้านตำแหน่ง และการเติบโตของ GDP ถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ... ใช่แล้ว เฉพาะในสหรัฐฯ แห่งเดียว

เมื่อพิจารณาในระดับโลก ยอดการลงทุนรวมน่าจะอยู่ที่ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ยาวจนถึงปี 2025 พูดง่ายๆ ว่า มันคือระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารที่สำคัญที่สุด ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

ยอดการใช้จ่ายเพื่อการสร้างสาธารณูปโภคเครือข่ายไร้สาย 4G

และในทางปฏิบัติ มันจะมีความหมายต่อผู้บริโภคอย่างไร?

  • ความเร็วโดยทั่วไปของระบบ 5G จะสูงถึง 1 Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) ซึ่งจะเร็วกว่าที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้ระบบ 4G ในปัจจุบันถึง 100 เท่า ต่อให้มีความเร็วแค่ 100 Mbps (เมกะบิตต่อวินาที) ก็ยังถือว่าเร็วกว่าปัจจุบันถึง 10 เท่าอยู่ดี
  • รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะถูกเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายไร้สายได้อย่างสบายๆ
  • บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มนำร่องการใช้รถบรรทุกขับเองเพื่อการโลจิสติกส์ในที่พื้นที่ห่างไกล เช่นเดียวกับที่โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) สามารถบินได้ไกลถึงครึ่งโลกผ่านการควบคุมด้วยเครือข่ายดาวเทียม
  • อุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดเซนเซอร์และส่งข้อมูลมาที่เราและระหว่างกันที่เราเรียกว่า IOT (Internet of Things) จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้
  • เราสามารถท่องอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ระหว่างที่นั่งรถไฟความเร็วสูงถึง 310 ไมล์ต่อชั่วโมง (500 กม./ชั่วโมง)
  • ผู้บริโภคจะสามารถ “เข้าร่วม” การประชุมด้วยการฉายภาพโฮโลแกรมของตัวเองแบบเรียลไทม์ (ไม่ต้องเข้าประชุมด้วยตัวเอง) โดยไม่มีความหน่วงของภาพและเสียงแต่อย่างใด
  • เครือข่าย 5G ไม่มีปัญหาเรื่อง Latency (ความหน่วงหรือความล่าช้า) คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะลดลงถึง 99 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 100 มิลลิวินาที เหลือเพียงไม่กี่มิลลิวินาที ปัญหาเรื่องความหน่วงนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลโดยใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่แทนได้ ด้วยการควบคุมผ่านเครือข่ายไร้สาย

เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายแบบ 5G จึงไม่ใช่วิวัฒนาการ แต่เป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว

แล้วเราอยู่ตรงจุดไหนของกระบวนการ และเมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดตัวของเครือข่ายไร้สาย 4G แล้วเป็นอย่างไร?

ปี 2011 คือปีสำคัญปีแรกอย่างแท้จริง เมื่อมีการลงทุนกับระบบสาธารณูปโภคไร้สายแบบ 4G อย่างแพร่หลาย ครั้นถึงตอนสิ้นปี 2011 มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 285 รายทั่วโลก ลงทุนกับเทคโนโลยีเครือข่าย 4G

จากตัวเลขในกราฟข้างบน ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ทั้งโลกมีการใช้จ่ายเพื่อสร้างสาธารณูปโภค 4G ประมาณ 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ์ในปี 2011 และเพิ่มเป็น 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ์ต่อปี ในปี 2014 และ 2015 ตอนนี้คือเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ในส่วนของระบบ 5G น่าจะเทียบได้กับช่วงต้นปี 2011

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องเริ่มลงมือวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องนี้เสียแต่เนิ่นๆ ยิ่งถ้าคิดจะเอาประโยชน์จากเรื่อง 5G นี้ เรายิ่งต้องเริ่มเสียแต่ตอนนี้เลย ทั้งในแง่ของการออกแบบ Device ใหม่ๆ ที่จะมารองรับ หรือแอปพลิเคชันหรือบริการใหม่ๆ ที่จะ Utilize ฟังก์ชันของ Device รุ่นใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ฯลฯ หรือแม้แต่บรรดานักลงทุน ที่ต้องการจะสร้างพอร์ตการลงทุนกับกระแสใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้ เพราะถ้ารอไปอีกสองปีจนกระทั่งถึงวงรอบการลงทุนสูงสุดในปี 2020 และ ปี 2021 ก็จะช้าเกินไป สำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่วางตำแหน่งตัวเองในพื้นที่นี้อย่างดีแล้ว คงจะได้เห็นมูลค่าหุ้นของตัวเองพุ่งสูงขึ้น สามารถทำเงินก้อนใหญ่กันไปบ้างแล้วในตอนนั้น

คาถาง่ายๆ ในการจับตาดูเฟสหรือระยะของโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมอย่าง 5G คือ “ขอ 3 คำ” ....Infrastructure, Devices, Services

ท่องไว้ให้ขึ้นใจ

กล่าวคือ เฟสที่ 1 ต้องเริ่มจากการก่อสร้างหรือวางระบบเครือข่ายทางกายภาพ (Physical Network Buildout) เป็นเฟสของการวางสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลาย เช่น เสาสัญญาณ หรือ เครือข่ายใยแก้วนำแสง และ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เสาอากาศ, สถานีฐาน, เราท์เทอร์ และสวิตช์ชิ่ง

โดยเฟสที่ 2 เมื่อเครือข่ายเริ่มลงหลักปักฐานแล้ว ก็จะถึงคิวของการออกแบบ ผลิต และจำหน่าย บรรดา Devices หรืออุปกรณ์ไร้สายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน หรือ แท็บเล็ต ฯลฯ สำหรับใช้งานบนเครือข่าย 5G และชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบภายใน Devices ใหม่นี้ย่อมต้องยกระดับไปจากของที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

และเมื่อนั้น โลกก็จะย่างเข้าสู่เฟสที่ 3 คือเฟสของการเติบโตทางด้านบริการ คือกิจการที่ให้บริการซึ่งใช้คุณสมบัติของเครือข่าย 5G นั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่นำหลักการนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ของตัวเอง ก็จะไม่งง หรือหลงทาง อีกต่อไปว่า “5G” มันจะเดินยังไง และจะเอาประโยชน์จากมันได้อย่างไร นับแต่นี้

 

เรื่อง :   เรียบเรียงจากข้อเขียนของ เจฟ  บราวน์

“Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่มีพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมด ที่นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรของเมือง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้สูงขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการใช้บริการข้อมูล และเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบและรูปแบบต่างๆ มากมายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมืองหรือในสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ไว้อย่างน่าสนใจและอธิบายต่อว่า

หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองเป็น Smart City เป็น Smart Community เมืองอัจฉริยะ ชุมชนอัจฉริยะ คือต้องมี “ผู้นำ” ไม่ว่าจะมาจากหน่วยงาน องค์กรใด และตำแหน่งอะไรก็ตาม หากผู้นำท่านนั้นเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มและมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองและรู้จักหรือยอมรับที่จะนำเอาเทคโนโลยีมีมากมายในโลกใบนี้มาใช้ และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องแพง แต่ทำให้ทุกคนในเมืองหรือชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงชุมชนเมืองให้เป็น Smart City ขึ้นมาได้

เพราะเมืองที่ฉลาด ก็คือเมืองที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของประชากรในเมืองได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน การที่เมืองจะตอบโจทย์คนในเมืองได้จึงอยู่ที่ผู้นำผู้เข้าใจและรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นโจทย์พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้บริการกับคนในเมือง โดยเหตุผลที่ผู้นำต้องเข้าใจและรู้จักการใช้เทคโนโลยี ก็เพราะว่าเทคโนโลยีจะมาเป็นเครื่องมือที่เข้าช่วยให้คนสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับวันศักยภาพของเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน

โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะมาพร้อมกับประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อการสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้นและสามารถส่งข้อมูลจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ความสามารถนี้ทำให้เราส่งภาพที่คมชัด บันทึกไฟล์ได้ต่อเนื่องไม่ติดขัด ประมวลผลที่มีความซับซ้อนได้ดีมากขึ้น นำไปใช้ได้ในหลายด้าน

ยกตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร ปัญหาหนึ่งของเราคือ การเดินทางไม่ว่าจะโดยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะคนในเมืองต้องคิดเผื่อเวลากันเองเพราะไม่รู้ว่าปริมาณรถในเส้นทางที่เราต้องการจะเดินทางเป็นอย่างไร มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเส้นทางนั้นหรือไม่ หรือรถโดยสารที่เราต้องการใช้บริการจะมาถึงป้ายรถหรือสถานีเวลาใด คน กทม. ไม่สามารถประเมินเวลาการเดินทางในแต่ละวันได้เลย โดยเฉพาะวันไหนฝนตกลงมาการจราจรก็จะติดขัดมากกว่าปกติและหากเส้นทางหลักๆ เกิดสถานการณ์น้ำระบายไม่ทันก็จะเป็นอัมพาตกันทั้งเมือง 

แต่หากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ ก็อาจจะมีการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการคมนาคมร่วมกับระบบผังเมือง ระบบการจราจร และระบบรายงานอากาศ เข้าด้วยกัน กลายเป็นระบบที่เข้ามาช่วยให้คนในเมืองสามารถทราบตารางรถสาธารณะที่จะผ่านเข้ามายังจุดที่ต้องการ ว่าแต่ละคันจะมาถึงเวลาใด และใช้เวลาในการเดินทางถึงที่หมายเท่าไร รู้สภาพการจราจรล่วงหน้า สามารถเลือกเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน หรือสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในฤดูฝน เพื่อให้คนในเมืองได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝน หรือทราบว่าบริเวณไหนจะมีน้ำขังรอการระบาย ก็จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของระบบในเมืองอัจฉริยะที่มาตอบโจทย์ชีวิตของคน กทม.

จากแนวคิดข้างต้นของ ดร.สุชัชวีร์ ข้างต้น นำมาสู่การศึกษาพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ 6 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกำลังศึกษา พัฒนา และเชื่อมโยง เพื่อนำไปสู่ทางออกใหม่ให้กับคนในเมืองกรุง ผ่านสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ของสถาบันฯ เกี่ยวกับเรื่อง Smart Living หรือ ระบบการอยู่อาศัยอัจฉริยะ Smart Utility หรือระบบสาธารณูปการอัจฉริยะ Smart Environment หรือระบบสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ Smart Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ Smart IT หรือ ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และ Smart Mobility หรือ ระบบการขนส่งอัจฉริยะ


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ “Smart City” ชีวิตยุคใหม่ในเมืองอัจฉริยะ โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click