January 22, 2025

หัวใจสู่สมาร์ตซิตี้

August 21, 2018 3114

“Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่มีพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมด ที่นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรของเมือง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้สูงขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการใช้บริการข้อมูล และเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบและรูปแบบต่างๆ มากมายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมืองหรือในสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ไว้อย่างน่าสนใจและอธิบายต่อว่า

หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองเป็น Smart City เป็น Smart Community เมืองอัจฉริยะ ชุมชนอัจฉริยะ คือต้องมี “ผู้นำ” ไม่ว่าจะมาจากหน่วยงาน องค์กรใด และตำแหน่งอะไรก็ตาม หากผู้นำท่านนั้นเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มและมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองและรู้จักหรือยอมรับที่จะนำเอาเทคโนโลยีมีมากมายในโลกใบนี้มาใช้ และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องแพง แต่ทำให้ทุกคนในเมืองหรือชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงชุมชนเมืองให้เป็น Smart City ขึ้นมาได้

เพราะเมืองที่ฉลาด ก็คือเมืองที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของประชากรในเมืองได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน การที่เมืองจะตอบโจทย์คนในเมืองได้จึงอยู่ที่ผู้นำผู้เข้าใจและรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นโจทย์พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้บริการกับคนในเมือง โดยเหตุผลที่ผู้นำต้องเข้าใจและรู้จักการใช้เทคโนโลยี ก็เพราะว่าเทคโนโลยีจะมาเป็นเครื่องมือที่เข้าช่วยให้คนสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับวันศักยภาพของเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน

โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะมาพร้อมกับประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อการสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้นและสามารถส่งข้อมูลจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ความสามารถนี้ทำให้เราส่งภาพที่คมชัด บันทึกไฟล์ได้ต่อเนื่องไม่ติดขัด ประมวลผลที่มีความซับซ้อนได้ดีมากขึ้น นำไปใช้ได้ในหลายด้าน

ยกตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร ปัญหาหนึ่งของเราคือ การเดินทางไม่ว่าจะโดยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะคนในเมืองต้องคิดเผื่อเวลากันเองเพราะไม่รู้ว่าปริมาณรถในเส้นทางที่เราต้องการจะเดินทางเป็นอย่างไร มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเส้นทางนั้นหรือไม่ หรือรถโดยสารที่เราต้องการใช้บริการจะมาถึงป้ายรถหรือสถานีเวลาใด คน กทม. ไม่สามารถประเมินเวลาการเดินทางในแต่ละวันได้เลย โดยเฉพาะวันไหนฝนตกลงมาการจราจรก็จะติดขัดมากกว่าปกติและหากเส้นทางหลักๆ เกิดสถานการณ์น้ำระบายไม่ทันก็จะเป็นอัมพาตกันทั้งเมือง 

แต่หากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ ก็อาจจะมีการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการคมนาคมร่วมกับระบบผังเมือง ระบบการจราจร และระบบรายงานอากาศ เข้าด้วยกัน กลายเป็นระบบที่เข้ามาช่วยให้คนในเมืองสามารถทราบตารางรถสาธารณะที่จะผ่านเข้ามายังจุดที่ต้องการ ว่าแต่ละคันจะมาถึงเวลาใด และใช้เวลาในการเดินทางถึงที่หมายเท่าไร รู้สภาพการจราจรล่วงหน้า สามารถเลือกเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน หรือสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในฤดูฝน เพื่อให้คนในเมืองได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝน หรือทราบว่าบริเวณไหนจะมีน้ำขังรอการระบาย ก็จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของระบบในเมืองอัจฉริยะที่มาตอบโจทย์ชีวิตของคน กทม.

จากแนวคิดข้างต้นของ ดร.สุชัชวีร์ ข้างต้น นำมาสู่การศึกษาพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ 6 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกำลังศึกษา พัฒนา และเชื่อมโยง เพื่อนำไปสู่ทางออกใหม่ให้กับคนในเมืองกรุง ผ่านสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ของสถาบันฯ เกี่ยวกับเรื่อง Smart Living หรือ ระบบการอยู่อาศัยอัจฉริยะ Smart Utility หรือระบบสาธารณูปการอัจฉริยะ Smart Environment หรือระบบสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ Smart Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ Smart IT หรือ ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และ Smart Mobility หรือ ระบบการขนส่งอัจฉริยะ


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ “Smart City” ชีวิตยุคใหม่ในเมืองอัจฉริยะ โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

X

Right Click

No right click