ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 2567 ทะยานแตะ 4.2 หมื่นล้านบาท จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และวันหยุดพิเศษที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แนะภาครัฐส่งเสริมต่อยอดและวางแผนการกำหนดวันหยุดให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทย

เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดประจำปีของไทยที่เป็นโอกาสสำคัญในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวที่ตรงตามเทศกาลอย่างน้อย 3 วัน และเมื่อรวมกับวันหยุดสุดสัปดาห์รวมถึงวันหยุดพิเศษตามประกาศของภาครัฐ ย่อมทำให้วันหยุดรวมมีระยะเวลานานเพียงพอที่จะทำให้ผู้จากถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑล และภาคตะวันออก สามารถกลับไปพักผ่อนใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลได้ นอกจากนี้ด้วยวันหยุดที่มีระยะเวลานานย่อมส่งผลดีต่อกลุ่มที่มีแหล่งงานในภูมิลำเนาตนเอง หรือกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด โดยเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่เหนื่อยจนเกินไปจากจำนวนวันหยุดที่ยาวนานและยังเหลือวันหยุดเพื่อพักผ่อนหลังเดินทางท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 นับเป็นปีที่วันหยุดค่อนข้างเอื้ออำนวยให้กับภาคการท่องเที่ยวสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เมษายน ได้ นับว่าเทศกาลนี้จะลากยาวถึง 11 วัน เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลก่อนสงกรานต์ มีวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน และ วันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 12 เมษายน และแม้แต่ในส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ วันหยุดยาวก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงวันที่ 6-8 เมษายน และวันที่ 12-16 เมษายน ซึ่งก็นับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

นักท่องเที่ยวชาวไทย ในเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาจากแหล่งงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ EEC รายจ่ายในส่วนของการเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายจ่ายปกติ แต่อาจเพิ่มขึ้นในส่วนของการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนา หรือกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับครอบครัว ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในพื้นที่ภูมิภาคไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีรายจ่ายในบางรายการสูงขึ้น เช่น รายจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยต่อคนต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 6.9% รายจ่ายเกี่ยวกับอาหารและซื้อสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวจากรูปแบบวิถีชีวิตของชาวไทยที่เมื่อมีการรวมกลุ่ม คาดปรับเพิ่มขึ้น 12.9% ในขณะที่เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในภาคโรงแรมโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มเพียง 2.7% เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่คนส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนาจึงพักอาศัยที่บ้านเกิดของตนแต่อาจได้รับอานิสงส์จากกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภาคตะวันออก และจังหวัดติดทะเลใกล้กรุงเทพฯ โดยจากรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ttb analytics ประเมินเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดอยู่ที่ 17,200 ล้านบาท

ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ได้รับแรงหนุนจากช่วงวันหยุดยาว Golden Week ของชาวจีน และ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปหนีความหนาวมาพักพิงในภูมิภาคที่มีความอบอุ่น ส่งผล

ให้ในเดือนเมษายนนี้ แม้จะมีแรงส่งจากเทศกาลสงกรานต์ก็เชื่อว่ายังไม่สามารถชดเชยส่วนต่างที่หายไปจากฤดูท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวด้านจำนวนคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนปี 2567 จะมีจำนวนราว 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 42% (เดือนเมษายน 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.18 ล้านคน) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 24,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 12-16 เมษายน คาดว่าจะแตะ 41,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2566 ที่เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ราว 26,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 55% ด้วยสาเหตุหลักซึ่งประกอบด้วย เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ช่วงวันหยุดสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่าปีก่อนที่เทศกาลมีวันหยุดเพียง 4 วัน นอกจากนี้ในปี 2567 เมื่อพิจารณาในระยะเวลาช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเริ่มจับจ่ายตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 เมษายน ลากยาวจนเดินทางกลับมาทำงานหลังสงกรานต์ ก็คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมราว 25,800 – 37,400 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ช่วงวันหยุดคิดเป็นเงินสะพัดถึง 67,300 – 78,900 ล้านบาท จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงการกำหนดวันหยุดพิเศษต่าง ๆ ที่ควรจะสอดคล้องและเอื้ออำนวยกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแม้จำนวนวันหยุดที่เท่ากันแต่ช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินให้สะพัดเพิ่มมากขึ้นในภาคท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ เงินสะพัดอาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าตัวเลขข้างต้น โดย ttb analytics มองภาครัฐยังสามารถต่อยอดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ได้เพิ่มเติม เช่น รายจ่ายค่าที่พัก และอาหาร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษี หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำโปรโมชันกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์รู้สึกคุ้มค่าเพียงพอในการเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปในช่วงเวลาอื่นที่มีวันหยุดยาว เช่น เดือนพฤษภาคม หรือ กรกฎาคม และใช้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นในปีถัด ๆ ไป

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 6.69 แสนล้านบาท บนสถานการณ์ของภาคธุรกิจที่มีทั้งปัจจัยบวกซึ่งส่งผลต่อการประกอบธุรกิจที่สามารถได้พื้นที่ตลาดเร็วขึ้นผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ตัดสินใจตามอินฟูลเอนเซอร์ รวมถึงสัดส่วนกำไรที่คาดเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่มีพื้นที่บริการทับซ้อนกันมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจร้านอาหารในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานับเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูง เริ่มจากมาตรการล็อกดาวน์ การปิดห้างร้านชั่วคราว และการไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารในร้าน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 และ ถึงแม้ในปี 2564 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเริ่มมีการผ่อนคลายลง แต่ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่กลับมา และความกังวลจากภาคประชาชนในการรับประทานอาหารในพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้รายได้ธุรกิจร้านอาหารหดตัว 5.6% ต่อจากปี 2563 ที่ลดลงไปถึง 15.0% อย่างไรก็ตาม ในระหว่าง 2 ปีแห่งความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางมาตรการควบคุมโรคระบาดในแต่ละช่วงเวลา แพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยให้กิจกรรมร้านอาหารยังสามารถไปต่อได้ท่ามกลางวิกฤต ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนให้ต่างไปจากเดิม ทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถขยายพื้นที่บริการได้โดยอาศัยแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร

ทั้งนี้ในปี 2565 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่คลี่คลายลงและวิถีชีวิตของผู้คนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจร้านอาหารสามารถกลับมาฟื้นตัวสมบูรณ์เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างไรก็ดีในปี 2565 ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายเรื่องภาวะต้นทุนอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งลดทอนกำไรของผู้ประกอบการลง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกของปีส่งผลให้มีการขยับราคาอาหารเพิ่มเพื่อรักษาพื้นที่กำไร แต่จากการที่ราคาอาหารเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Product) มักมีความหนืด (Price Rigidity) โดยเฉพาะการลดราคาเนื่องจากราคาที่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภคจากภาวะต้นทุนเพิ่มในช่วงที่ผ่านมาไม่ปรับลดลงแม้ต้นทุนกลับสู่ปกติ รวมถึงอิทธิพลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เลือกร้านอาหารผ่านการรีวิวในช่องทางโซเชียลมีเดีย ช่วยทำให้ร้านอาหาร SMEs สามารถสร้างฐานลูกค้าได้ในระยะเวลาอันสั้นต่างจากในอดีตที่ต้องสั่งสมฐานลูกค้าเป็นช่วงเวลานานนับปี กอปรกับกระแสสตรีทฟู้ด (Street Foods) ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาในปี 2566 กว่า 28.1 ล้านคน ส่งผลให้ปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 6.48 แสนล้านบาท ต่อเนื่องถึงปี 2567 ที่ ttb analytics คาดธุรกิจร้านอาหารยังสามารถเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มูลค่า 6.69 แสนล้านบาท จากผลของราคาที่ทรงตัวจากการปรับเพิ่มในช่วง 2 ปีก่อนหน้า และโมเมนตัมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในอัตราลดลงจากฐานทสูงของปีก่อนหน้า บนปัจจัยบวกและความท้าทายที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2567

 ปัจจัยบวกในการประกอบธุรกิจร้านอาหารปี 2567 ประกอบด้วย 1) พื้นที่ในการทำการตลาดที่ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิมผ่านแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถขยายพื้นที่บริการโดยไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ (Physical Asset) และช่วยลดความจำเป็นในการเลือกทำเลที่ตั้งที่มีค่าเช่าพื้นที่สูง 2) กระแสพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารตามการรีวิวของอินฟูลเอนเซอร์ (Influencer) ที่ส่งผลให้ร้านอาหารสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้ในเวลาอันสั้น รวมถึงลดความสำคัญของการพึ่งพิงทำเลที่ตั้งที่ส่งผลต่อต้นทุนค่าเช่าที่สูง 3) แนวโน้มพื้นที่กำไรที่เพิ่มสูงขึ้นจากทางอ้อมของแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารที่ส่งผลให้ราคาสุทธิที่มีผู้ซื้อเพิ่มสูงขึ้นราว 30-35% เมื่อมีส่วนของค่าบริการที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม (GP) รวมเข้าไปด้วย ทำให้ในมุมของผู้บริโภครู้สึกว่าราคาอาหารที่รวมค่าบริการผ่านแพลตฟอร์ม กลายเป็นราคาจ่ายปกติต่อมื้อมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันหลายร้านเริ่มตั้งราคาเดียวไม่ว่าจะเป็นในส่วนของราคาหน้าร้านและผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อให้ได้รับพื้นที่กำไรส่วนเพิ่มจากลูกค้าหน้าร้าน รวมถึงในปี 2567 ราคาต้นทุนอาหารหลายรายการเริ่มปรับลดลงโดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์ แต่ราคาอาหารที่เป็นสินค้าขั้นสุดท้ายมักไม่ได้ปรับตามต้นทุนในช่วงขาลง ส่งผลให้ปี 2567 สัดส่วนกำไรของผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในส่วนของความท้าทายของการประกอบธุรกิจของปี 2567 ประกอบด้วย 1) กระแสที่มาเร็วแต่อาจจะหายไปเร็ว ส่งผลต่อการวางแผนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันกระแสต่าง ๆ ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว (Viral Marketing) ส่งผลให้ธุรกิจอาจได้รับผลของความนิยมแบบชั่วคราวแต่อาจหายไปอย่างรวดเร็ว (Fad) รวมถึงข้อมูลที่ส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เทรนด์หรือกระแสที่จะคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งถูกลดความนิยมไปได้ในระยะเวลาที่สั้นลงเมื่อมีเทรนด์ใหม่เข้ามาแทนที่ 2) ภาวะการณ์แข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากบทบาทของแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารที่เป็นเสมือนช่องทางจำหน่ายอีกช่องทางหนึ่ง มีการขยายพื้นที่บริการที่ทับซ้อนกันมากขึ้น รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่เป็นกิจการที่ไม่มีข้อจำกัดในการเข้ามาทำธุรกิจของรายใหม่ (No Barrier to Entry) ส่งผลให้ในช่วงปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการตั้งราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงจากราคาปกติในฝั่งผู้บริโภคที่เคยจ่ายในราคาที่รวมค่าบริการแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร ส่งผลให้ราคาอาหารที่มีการขยับเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนกำไร ย่อมดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น กอปรกับบนบริบทของผู้คนยังรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อเท่าเดิม การเพิ่มขึ้นของฝั่งอุปสงค์ย่อมช้ากว่าฝั่งอุปทานซึ่งส่งผลต่อการทำการตลาดที่ต้องแย่งพื้นที่ตลาดกันรุนแรงขึ้น 3) ทำเลศักยภาพในการประกอบการที่แต่เดิมกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มกระจุกตัวเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทำเลเดิมที่เคยมีศักยภาพถูกลดทอนลงอย่างรวดเร็วและอาจกระทบต่อยอดขายโดยเฉพาะในส่วนของยอดขายหน้าร้าน

กล่าวโดยสรุป ธุรกิจร้านอาหารในไทยคาดยังขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร SMEs ที่ได้เปรียบจากพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารของคนในยุคปัจจุบันที่เลือกบริโภคตามกระแสนิยม รวมถึงในปี 2567 คาดธุรกิจร้านอาหารยังได้รับอานิสงส์จากระดับราคาที่มีการขยับเพิ่มสูงขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และความสามารถในการตั้งราคาที่สูงขึ้นจากความเคยชินของผู้คนที่เคยจับจ่ายราคาอาหารบวกค่าบริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ บนราคาต้นทุนที่มีทิศทางที่ปรับลดลง ส่งผลต่อพื้นที่กำไรที่คาดว่าจะมากกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงเผชิญความท้าทายสำคัญในการแข่งขันธุรกิจที่รุนแรงจากอุปสงค์ที่จำกัดตามจำนวนประชากรอีกด้วย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ของไทยในระยะต่อไปจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ทยอยลดลงจาก 77.9% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2566 เหลือเพียง 57.9% ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรุนแรงขึ้น เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไทยปรับตัวได้ช้า อีกทั้งไทยยังเสียเปรียบต้นทุนการผลิตรถในประเทศ ขณะที่การตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ BEV ของอาเซียนอาจยังทำได้ไม่เต็มที่และเจอคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งกว่านั้น บทบาทในห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไฟฟ้าของไทยค่อนข้างน้อยจากข้อจำกัดรอบด้าน

ตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สองจากหลายปัจจัยลบรุมเร้า โดยหลัก ๆ มาจากกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงตามภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าและหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรัง ภาคธุรกิจยังคงชะลอซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการรัฐ รวมทั้งแนวทางการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินที่ยังคงมีความเข้มงวดสูง ยิ่งกว่านั้น ราคาขายต่อรถยนต์มือสองที่ปรับลดลงมากกว่า 10-30% เมื่อเทียบกับราคาตั้งขายเฉลี่ยในอดีต จากผลของหนี้เสียที่เร่งสูงขึ้นในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีรถเป็นหลักประกัน เป็นปัจจัยลบที่ฉุดรั้งยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2567 นี้ โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผลพวงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้ายังกระทบต่อยอดขายกลุ่มรถยนต์นั่งราคาประหยัด ซึ่งเป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ในตลาดรถยนต์นั่ง เนื่องจากผู้ซื้อรถกลุ่มนี้ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่บางส่วนหันไปซื้อรถมือสองที่ราคาปรับลดลงมาก เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถป้ายแดงรถยนต์ส่วนบุคคล (รย.1) ในปี 2566 ในกลุ่มที่มีราคาขายไม่เกิน 7 แสนบาท หดตัวถึง 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สวนทางกับยอดจดทะเบียนป้ายแดงกลุ่มรถยนต์นั่งที่มีราคาตั้งแต่ 7 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท ขยายตัว 8.4%YoY ขณะที่รถยนต์นั่งราคา 1.5 ล้านบาท ถึง 2 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 56.8%YoY

ทั้งนี้ ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2567 อยู่ที่ 771,780 คัน หรือหดตัว 0.5%YoY โดยยอดขายรถกระบะคาดว่าจะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนรถกระบะในปีนี้ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 48% ของยอดขายรถยนต์รวมในประเทศจากที่เคยสูงถึงเกือบ 60% ในปี 2564 สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยประเมินว่ายอดขายรถยนต์ BEV ในปี 2567 จะอยู่ที่ 103,182 คัน หรือขยายตัว 36.3%YoY ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ BEV เพิ่มสูงขึ้นเป็น 13.4% ของยอดขายรถยนต์

ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 9.8% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) จะลดลงเหลือ 72.9% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2567

 

อย่างไรก็ดี ttb analytics มองว่า ในระยะต่อไป ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์ ICE จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 77.9% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมดในปี 2566 เหลือเพียง 57.9% ภายในปี 2573 ซึ่งมาจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์ BEV ในไทยที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 25.5% สอดคล้องเทรนด์ตลาดโลกที่ชี้ว่าสัดส่วนยอดขายรถยนต์ BEV ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2565 ไปแตะที่ 35% หรือประมาณ 40 ล้านคันภายในปี 2573 (ประมาณการโดย International Energy Agency) ซึ่งเหล่านี้จะสร้างแรงกระเพื่อมมายังไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนรุนแรงขึ้นในอนาคต เนื่องจาก

1) ไทยมีข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง โดยภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในภาวะซบเซาเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2566 ตามทิศทางตลาดในประเทศที่ชะลอตัวลง เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index) ในหมวดการผลิตรถที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังของรถที่ผลิตแล้วเสร็จ (Finished Goods Inventory Index) กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องระบายสต็อกผ่านการส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น สวนทางกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ทั้งนี้ เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งมีไทยเป็นฐานการผลิตหลักปรับตัวได้ช้า จากแผนการผลิตและการทำตลาดรถยนต์ BEV ของค่ายผู้ผลิตญี่ปุ่นที่ยังน้อยกว่าค่ายผู้ผลิตจีน สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งยุโรปค่อนข้างมาก ทำให้ไทยซึ่งทำหน้าที่เพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) ของผู้ผลิตญี่ปุ่นซึ่งยังคงเน้นการผลิตรถยนต์กลุ่มเครื่องยนต์ ICE และไฮบริด (HEV) เป็นกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีหากปรับตัวไม่ทันตามความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เน้นทำตลาดรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์ ICE รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง (Powertrain) หรือเครื่องยนต์ (Engine) ที่กำลังจะถูกทดแทนอย่างสมบูรณ์ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า โดยจะกระทบทั้งบริษัทผู้ผลิต Tier 1 ตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการ รวมถึงผู้ผลิต Tier 2 และ Tier 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยขนาดกลางและเล็กที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำและฐานะทางการเงินเปราะบาง

2. การผลิตรถยนต์ของไทยเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ได้ยากขึ้นในระยะยาว โดยปัจจุบัน ไทยผลิตรถยนต์เฉลี่ยปีละ 2 ล้านคัน ซึ่ง 91.4% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด (รถยนต์นั่งและรถกระบะ) เป็นการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์ ICE รองลงมา 8.6% เป็นการผลิตรถยนต์ประเภท

เครื่องยนต์ประเภทไฮบริด (HEV) และไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ส่วนที่เหลืออีก 0.01% เป็นการผลิตรถยนต์ BEV ทั้งนี้ แม้ว่าในระยะอันใกล้จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งภาคส่วนมากนัก เนื่องจาก 60% เป็นการผลิตรถกระบะซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเครื่องยนต์ ICE แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จะเร่งพัฒนารถกระบะ BEV ไปจนถึงระดับที่เหมาะสมต่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะเครื่องยนต์ ICE มีแนวโน้มลดลงทั่วโลก

นอกจากนี้ การมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศจีน ทำให้ไทยสามารถนำเข้ารถยนต์ BEV จากจีนในราคาที่ถูกกว่าการผลิตเองในประเทศ เนื่องจากปริมาณการผลิตรถยนต์ BEV ในจีนมีขนาดใหญ่กว่าไทยมาก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา จีนสามารถผลิตรถยนต์ BEV ได้มากกว่า 5 ล้านคัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรถยนต์ BEV ที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ที่ 7.25 แสนคันภายในปี 2573 ผ่านนโยบาย 30@30 ทว่าเม็ดเงินที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อผลิตรถยนต์ BEV แบตเตอรี่ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ปี 2564-2566 ยังค่อนข้างน้อยเพียง 1 แสนล้านบาท หรือ 5% ของมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเท่านั้น ซึ่งนอกจากแผนการผลิตรถยนต์ BEV อาจไม่สามารถชดเชยจำนวนรถยนต์ ICE ที่กำลังจะหายไปจากสายพานการผลิตแล้ว แนวโน้มต้นทุนการผลิตรถยนต์ BEV ในไทยยังคงแพงกว่าเมื่อเทียบกับจีนอย่างมีนัย

3. บทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าค่อนข้างน้อย เนื่องจากไทยยังไม่มีแหล่งผลิตแร่ลิเธียมและนิกเกิล อันเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในระดับต้นน้ำ (Upstream) จึงเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่มีแหล่งแร่นิกเกิลสูงถึง 30% ของทั้งโลก อีกทั้งต้นทุนด้านแรงงานยังถูกกว่าไทย จึงกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ไทยอาจเสียส่วนแบ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้กับประเทศรอบข้างมากขึ้นในอนาคต ยิ่งกว่านั้น ผู้ผลิตจีนเองก็เริ่มหันมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนแบตเตอรี่ไฟฟ้าเอง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) จึงทำให้การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทต่างชาติค่อนข้างจำกัด ขณะที่การวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังมีกำลังการผลิตน้อย

ไม่เพียงแต่เทรนด์ผู้บริโภคปรับเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าชัดเจนและเร็วขึ้นทุกขณะ แต่เริ่มเห็นการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานขั้นปลายน้ำ (Downstream) ตลอดจนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับยุคของยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ฉะนั้นแล้ว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของยานยนต์ไฟฟ้าเข้มข้นขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการยกระดับทักษะของแรงงานทั้ง Soft Skill และ Hard

Skill เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่รุนแรงที่สุดที่ยากจะหลีกเลี่ยงครั้งนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566 ด้วยแรงหนุนของการต่อยอดรูปแบบการเลี้ยงดูในมิติของ Pet Humanization เข้าสู่ Petriarchy และ Pet Celebrity ที่หนุนบทบาทให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในยุคปัจจุบันมีรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ดูแลเดิมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง และ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงมือใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทาง ttb analytics ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียงราว 7,745 บาทต่อตัวต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายจากอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ค่าดูแล รวมถึงอาหารที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ในบางกลุ่มเจ้าของอาจมีวิวัฒนาการสู่การเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) ซึ่งบนบริบทการเลี้ยงดูที่ตามใจ โดยสัตว์เลี้ยงเป็นผู้รับที่ไม่สามารถปฏิเสธของที่เจ้าของเลือกซื้อให้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเจ้าของเลือกที่จะซื้อของให้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความพอใจส่วนตน ย่อมส่งผลให้การจับจ่ายในส่วนของอุปกรณ์ และค่าดูแล มีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสของ Pet Humanization และ Petriarchy แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านรูปแบบลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง หรือ Pet Celebrity และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) เมื่อมีการนำเสนอนิสัยหรือลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงนั้นผ่านการเล่าเรื่องหรือการสร้าง Content โดยเจ้าของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ถูกยกระดับเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) ที่สามารถสร้างรายได้ผ่าน Content ต่าง ๆ ที่เจ้าของได้สรรสร้างเพื่อนำเสนอให้กลุ่มผู้ติดตาม ทำให้นอกจากรายจ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์และค่าดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแล้ว ยังมีความถี่ในการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงในลักษณะเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) แบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งจากบริบทการเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ “การเลี้ยงแบบครอบครัว-ที่ตามใจ-และสร้างรายได้” ส่งผลให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยทาง ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยปี 2567 คาดมีมูลค่าแตะ 7.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.5% โดยรูปแบบการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยแบ่งออกเป็นดังนี้

 

1. กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และ บริการรักษาสัตว์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการเติบโตจากกระแสรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่มากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของตระหนักถึงสัตว์เลี้ยงเป็นประหนึ่งเหมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้รูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กลุ่มอาหารที่เริ่มมีการใช้อาหารเฉพาะเพิ่มมากขึ้นจากคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในอนาคตที่การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว รวมถึงอาหารสัตว์ในปัจจุบันก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบนี้มักใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยมที่มีราคาสูง เช่น อาหารเปียก รวมถึงในผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็เลือกใช้อาหารดิบที่ไม่ผ่านความร้อน (BARF) ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ขยายตัวโดยมีมูลค่าแตะ 4.46 หมื่นล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.0% สอดคล้องกับบริการรักษาสัตว์ที่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจากความตระหนักในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และต้องรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงที่ประหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าบริการรักษาสัตว์เติบโตต่อเนื่องที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 21.7% ด้วยมูลค่า 6.64 พันล้านบาท ในปี 2567

2. กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นกลุ่มที่นอกจากได้รับแรงหนุนของกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแล้ว (Pet Humanization) มูลค่าของอุตสาหกรรมยังมีการเร่งตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากกระแสการเลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวแบบตามใจ (Petriarchy) และ สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้ (Petfluencer) ที่ส่งผลให้มีความถี่ในการเข้ารับบริการดูแลและความถี่ในการจัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มในอัตราเร่ง ส่งผลให้มูลค่าตลาดอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีค่าการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.3% และ 16.7% โดยคาดว่ามีมูลค่า 2.29 หมื่นล้านบาท และ 0.66 พันล้านบาท ตามลำดับ บนแนวโน้มที่ยังรักษาการเติบโตในอัตราเร่งได้

กล่าวโดยสรุป กระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เป็นกระแสที่เพิ่มความนิยมส่งผลให้การดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้เจ้าของมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นทั้งในมิติของอาหารที่ต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสุขภาพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการดูแลย่อมสูงขึ้นในอัตราเร่ง เมื่อเจ้าของมีการเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) หรือเมื่อสัตว์เลี้ยงมีนิสัยเฉพาะตัวที่ยกระดับเป็น Pet Celebrity และมากกว่าไปนั้น นอกจากมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยที่ขยายตัวจากเทรนด์การเลี้ยงที่เปลี่ยนไปดังกล่าว รูปแบบการเลี้ยงนี้ยังส่งผลทางอ้อมไปยังธุรกิจและบริการที่สามารถรองรับมูลค่าที่ขยายตัวนี้ได้ เช่น กลุ่มโรงแรมที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจรับฝึกสัตว์เลี้ยงให้กลายเป็น Petfluencer รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับบริการรักษาสัตว์ที่อาจมีการขยายขอบเขตบริการ Veterinary Telemedicine หรือ Virtual Vet ที่อาจเข้ามาตอบโจทย์กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เจ้าของอาจไม่สะดวกเดินทางพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษา เป็นต้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปี 2567 สร้างรายได้ 3.22 แสนล้านบาท บนความท้าทายที่เริ่มเผชิญกับข้อจำกัดจากแนวโน้มประชากรที่ลดลง และแนวคิดในการใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไปจากการรักษาขยับขึ้นเป็นการป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนต่างไปจากเดิม

 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาจากโครงสร้างประชากรและอัตราการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงข้อบังคับทางกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ส่งผลให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มจากระบบประกันสังคมโดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลสูงถึง 13.7 ล้านคน รวมถึงสวัสดิการประกันกลุ่มที่บริษัทเอกชนมอบให้แก่พนักงานจำนวนกว่า 2.6 ล้านกรมธรรม์ นอกจากในมิติของจำนวนอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นกลุ่มธุรกิจบริการที่ไม่อ่อนไหวต่อราคาและรายได้ จากการที่เป็นธุรกิจบริการที่จำเป็นและทดแทนไม่ได้ในมิติของคุณภาพและระยะเวลาการเข้ารักษา ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีอำนาจในการส่งผ่านราคาค่าบริการได้ง่าย เป็นผลให้ค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถขยายได้ต่อเนื่อง โดย ttb analytics ประเมินปี 2567 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้รวมสูงแตะ 3.22 แสนล้านบาท ขยายตัว 4% จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 3.14 แสนล้านบาท

 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตั้งแต่ปี 2565 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนฟื้นตัวและได้รับผลบวกจากวิกฤตโควิด-19 มีรายได้เติบโตถึง 29% โดยในปี 2566 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่มีข้อจำกัดมากขึ้นกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะเฉพาะตัวของอุปสงค์กลุ่มผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนที่มีลักษณะคาดการณ์ไม่ได้ (Unpredictable Demand) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะมีการใช้บริการเมื่อมีการเจ็บป่วย ส่งผลให้ต้องอาศัยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมากจึงจะสามารถสร้างจำนวนผู้ป่วยในอัตราที่พึงประสงค์บนเงื่อนไขที่อัตราการเข้าโรงพยาบาลคงที่ ดังนั้น ในช่วงปี 2566 ที่จำนวนประชากรเริ่มลดลงกอปรกับกระแสการตื่นตัวในการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยจากการที่ตระหนักถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ ที่แม้จะมีสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพแต่ก็ยังพบว่า หลายครั้งผู้ใช้บริการยังต้องชำระเงินส่วนเกินของค่ารักษา ทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลในอนาคตอาจมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมเริ่มประสบความท้าทาย โดยการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนจะมีลักษณะเป็น K-Shape โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้

  กลุ่มที่ยังรักษาอัตราการเติบโตได้ดี คือ โรงพยาบาลเอกชนที่เน้นลูกค้าต่างชาติที่รายได้ในปี 2566 ยังขยายตัวได้ราว 15.3% จากความสามารถในการขยายตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้ารับบริการจากคุณภาพการรักษาพยาบาลที่สูงบนราคาที่เข้าถึงได้ (High Quality Medical Service at an Affordable Price) ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มตะวันออกกลางที่ไทยได้เปรียบเรื่องราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบในคุณภาพเดียวกันหรือสูงกว่า รวมถึงกลุ่มอุปสงค์ที่มีรายได้สูงในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว ที่ไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องคุณภาพของระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานที่สูงกว่า

· กลุ่มที่เริ่มเผชิญข้อจำกัดในการขยายตัว คือ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นลูกค้าชาวไทย ที่รายได้รวมลดลง 18.3% ในปี 2566 เริ่มเผชิญข้อจำกัดจากจำนวนผู้ป่วยนอกที่ลดลงจากรายงานการสำรวจการเข้าโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนในปี 2565 มีจำนวนผู้ป่วยนอก 58.5 ล้านราย เทียบกับ 58.8 ล้านรายในปี 2560 กอปรกับเมื่อพิจารณาบนบริบทที่ประชากรไทยกำลังเข้าสู่ช่วงลดลง ส่งผลให้ปริมาณอุปสงค์ของผู้ใช้บริการเริ่มมีข้อจำกัดในการขยายตัว รวมถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ กดดันให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ในระยะยาว

 ดังนั้น บนสถานการณ์ปริมาณอุปสงค์ของผู้ใช้บริการในประเทศที่เข้ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มลดลง รวมถึงในกลุ่มตลาดผู้ใช้บริการชาวต่างชาติที่แม้ยังมีพื้นที่ในการขยายตัวไม่ว่าจะมาจากจำนวนผู้ใช้บริการและราคาที่ยังปรับเพิ่มจากราคาเปรียบเทียบที่ยังต่ำกว่าประเทศต้นทางในบางประเทศ แต่ในระยะยาวการเติบโตบนบริบทที่ตลาดต่างชาติเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว การรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมอาจเริ่มเผชิญกับข้อจำกัด ซึ่ง ttb analytics มีความเห็นว่านับจากปี 2567 จะเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไปของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 1) การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าใช้บริการ เนื่องจาก ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ส่วนหนึ่งมาจากระบบประกันสุขภาพ เช่น ประกันกลุ่มที่มีจำนวนกรมธรรม์สูงถึง 2.6 ล้านฉบับ ซึ่งตามสถิติ ผู้มีประกันกลุ่มเข้ารับบริการโรงพยาบาลเฉลี่ย 5.7 ครั้งต่อปี แต่อย่างไรก็ตามการใช้บริการโรงพยาบาลแม้ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลกลับมีต้นทุนแฝงอื่น เช่น ค่าเดินทาง และการลางานที่อาจกระทบต่อผลการประเมินประสิทธิภาพงานในแต่ละปี ส่งผลให้บางครั้งผู้เข้ารับบริการที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) อาจเลือกไม่เข้ารับบริการ ถึงแม้ตนมีสิทธิในการเข้ารับการรักษา ส่งผลให้การนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น Telemedicine สามารถเพิ่มความถี่ของการเข้ารับบริการให้เพิ่มสูงขึ้นแม้อาจไม่ได้เพิ่มในจำนวนของผู้รับบริการก็ตาม

2) การเพิ่มความต้องการเฉพาะของบริการทางการแพทย์ เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องอุปสงค์ของกลุ่มผู้ใช้บริการที่คาดการณ์ไม่ได้ (Unpredictable Demand) ในการสร้างความจำเป็นพิเศษ (Special Needs) เพื่อรับบริการทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทาง เช่น การบำบัด การเสริมความงาม หรือแม้แต่เทรนด์เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยด้วยเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Care) ที่รายได้เติบโตด้วยอัตราเร่งที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 30.2% โดยรายได้คาดการณ์ปี 2567 อยู่ที่ราว 4.2 หมื่นล้านบาท จากความสามารถในการตอบสนองความต้องการเฉพาะนอกเหนือจากเข้ารับบริการเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาที่มีความถี่ในการใช้บริการต่ำและมีข้อจำกัดในการทำการตลาดจากการที่ไม่สามารถคาดการณ์การใช้บริการได้

3) การมุ่งเน้นให้เกิดรายได้หมุนเวียน (Recurring Income) เพื่อสร้างฐานรายได้เติบโตได้อย่างสม่ำเสมอจากผู้ใช้บริการที่คาดการณ์ได้ (Predictable Demand) โดยการเพิ่มเติมความจำเป็นพิเศษเพื่อเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่เข้ารับบริการเพื่อการรักษา (Treatment) สู่มุมมองร่วมสมัยที่เข้ารับบริการในรูปแบบเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Care) ทำให้เกิดรูปแบบการให้บริการใหม่ที่มีความถี่สูงขึ้น เช่น เวชศาสตร์ฟื้นฟู บริการด้านสุขภาพ หรือกลุ่มอาหารเสริม รวมถึงการขยายรูปแบบบริการในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น (Super Aged Society) บนบริบทของครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีทิศทางที่สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

Page 1 of 11
X

Right Click

No right click