September 16, 2024

จากข้อมูลขององค์การนาซา (NASA) ระบุว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 เป็นวันที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นนี้กลับไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนตามหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ขณะที่ในปี 2566 มีการเปิดตัวกองทุนเพื่อความยั่งยืน (กองทุน ESG) ถึง 993 กองทุน แต่จำนวนกองทุนทั้งหมด กลับลดลงเหลือ 566 กองทุนในปีเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในปี 2567 โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวกองทุนเพียง 100 กองทุนเท่านั้น

เพื่อเข้าใจภาวะลำบากของการลงทุนด้านความยั่งยืน เราได้พูดคุยกับนอรีน คัยอุม หัวหน้าสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ ของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเคยทำงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ที่ดีแทค ประเทศไทย และ Grameenphone ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเทเลนอร์ ประเทศบังคลาเทศ โดยนอรีน ยังเคยทำงานในหลากหลายสายอาชีพอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสื่อสารองค์กร การวางกลยุทธ์ ทรานสฟอร์เมชั่นองค์กร และการตลาด

นักลงทุน ESG รุ่นใหม่ในเอเชีย

นอรีน เห็นว่าการถดถอยของหุ้น ESG วอลล์สตรีทไม่น่าส่งผลกระทบในระดับเดียวกันกับภูมิภาคเอเชีย “พลวัต ในสหรัฐอเมริกาและในเอเชียนั้นแตกต่างกันมาก ซึ่งในมุมมองดิฉัน สาเหตุที่ ESG มีความสำคัญในภูมิภาคของเรามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะเรามีผู้นำและคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้ในหน้าที่ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งคนรุ่นใหม่นี้ไม่ได้มองแค่ยอดขายหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงผลกระทบของธุรกิจต่อโลกและสังคมด้วย” เธอกล่าว “สิ่งนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่ เริ่มรู้สึกกังวลมากขึ้น และอยากได้ทางเลือกที่จะมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนในทุกๆ วัน”

แท้จริงแล้ว การออกพันธบัตร ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27.4% จากปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของ AXA Investment Managers (AXA IM) พบว่า 39% ของนักลงทุนในเอเชียถือกองทุน ESG ซึ่งเมื่อเทียบกับนักลงทุนในยุโรปมีสัดส่วนไม่ถึงหนึ่งในสี่ และในภูมิภาคนี้ คนไทย แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของกองทุน ESG ที่จะครองตลาดได้ โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังว่ากองทุน ESG จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า

 “กองทุน ESG เริ่มได้รับความสนใจอย่างจริงจังในปี 2561 จึงถือเป็นกรอบการทำงานที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของบริษัท ดิฉันขอเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการที่ต่อยอดมาจากสิ่งที่เราเคยรู้จัก นั่นก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR ซึ่งในขณะที่ CSR เป็นเพียงเช็คลิสต์ ว่าองค์กรนั้นมีพฤติกรรมที่ดี แต่ไม่อาจน่าเชื่อถือได้อย่างแท้จริง ESG เป็นกรอบการทำงานที่เข้มงวดกว่าเพื่อให้องค์กรนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง อันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจให้น่านับถือ ได้รับความไว้วางใจ”

ต้องชัดเจน

หนึ่งในกรอบการทำงานดังกล่าว คือการประเมินด้านความยั่งยืนองค์กรของ S&P Global ซึ่งประเมินองค์กรโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และข้อมูลกว่า 1,000 หัวข้อในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล อนึ่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ติดอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนระดับโลกดาวน์โจนส์ (DJSI) ด้วยคะแนนสูงสุด ในกลุ่มโทรคมนาคมของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แต่นักลงทุนยังเกิดความสับสนกับการติดอันดับดัชนีความยั่งยืนและใบรับรองต่างๆ ด้าน ESG จากหลากหลายสถาบัน

“แม้ว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ESG จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น นักลงทุนต้องการความชัดเจนและมาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรายังไม่สามารถอ้างได้ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีความสมบูรณ์แบบ และเราทุกคนยังมีหนทางอีกยาวไกล” นอรีนอธิบาย “ยิ่งไปกว่านั้น ข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ESG สำหรับทุกอุตสาหกรรมและทุกประเทศ จะแตกต่างกันไปตามปัญหาและประเด็นที่เร่งด่วน และจำเป็นต้องปรับเกณฑ์การประเมินให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย”

 สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย นอรีนเห็นว่าการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG มุ่งเน้นในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก "โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและเสาสัญญาณทั่วประเทศของบริษัทโทรคมนาคมกระตุ้นให้นักลงทุนสนใจว่าแผนดำเนินงานด้านพลังงานสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีความตระหนักเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเหตุผลให้เรากำหนดเป้าหมายชัดเจนสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ขณะเดียวกันเรายังมีการสื่อสารความคืบหน้าในการดำเนินงานของเราอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ"

ความท้าทายอีกประการหนึ่งของการสร้าง ESG ให้มั่นคง คือการสร้างความมั่นคงให้แก่ทุกอุตสาหกรรม อาทิเช่น ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการซื้อขายอย่างรวดเร็ว จะเผชิญกับแรงกดดันในการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวมากกว่าธุรกิจโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรคมนาคมต้องยึดมาตรฐานที่สูงกว่าในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เป็นต้น

“โอกาสที่ฉันมองเห็นมากขึ้นในการสร้างเกณฑ์มาตรฐานสากล คือมิติด้านการกำกับดูแล บริษัทที่มีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการกับประเด็นสำคัญๆ เช่น แรงงานเด็ก และการต่อต้านการทุจริต จะได้รับการสนับสนุน บริษัทที่ทำงานร่วมกับคู่ค้าพันธมิตรโดยปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นกัน ในเรื่องความเป็นผู้นำ สัดส่วนของผู้แทนที่สมดุลในคณะกรรมการก็มีความสำคัญต่อนักลงทุน และช่วยสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา” เธอกล่าว

ราคาหุ้นของทรู คอร์ปอเรชั่นที่พุ่งขึ้นกว่า 100% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม แสดงให้เห็นว่านอรีนดูเหมือนจะสามารถสร้างความมั่นใจในกลุ่มนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา และเมื่อนักลงทุนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น กรอบการทำงาน ESG ที่แข็งแกร่งของทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีส่วนช่วยดึงดูดและรักษาการลงทุนของนักลงทุนต่อไป เพื่อส่งเสริมองค์กรให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

SCB  WEALTH  เปิดตัว “No Gain No Pay” แนวคิดใหม่ของการลงทุน ใส่ใจผลประโยชน์ลูกค้าเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าเงินของลูกค้าเป็นเงินของเรา โดยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมหากมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด นำร่องส่งกองทุนเปิดทิสโก้ ทาร์เก็ต 8M1 อายุ 8 เดือน เสนอขายวันที่ 14-28 สิงหาคมนี้  เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว กองทุนนี้ไม่คิดค่าธรรมเนียมการขายและบริหารจัดการ  หลังจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนภายใน 8 เดือน หากมูลค่าหน่วยลงทุน อยู่ที่ 10.82 บาทต่อหน่วย  กองทุนคิดค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน 2% แต่หากหลังจาก 8 เดือนมูลค่าหน่วยลงทุน ต่ำกว่า 10.10 บาทต่อหน่วย ไม่คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการและค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน กองทุนที่อยู่ในแนวคิดใหม่นี้ จะต้องมีสัญลักษณ์ของ No Gain No Pay เท่านั้น 

นายศรชัย  สุเนต์ตา , CFA  รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product  กลุ่มธุรกิจ Wealth  ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า SCB WEALTH  ใส่ใจผลประโยชน์ลูกค้าเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าเงินของลูกค้าเป็นเงินของเรา  และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่ไว้วางใจให้ธนาคารบริหารสินทรัพย์ และมั่นใจในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ลงทุนที่มีคุณภาพ มานำเสนอให้กับนักลงทุน เพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง จึงได้นำร่องเปิดตัว No Gain No Pay  แนวคิดใหม่ของการลงทุน ที่ยึดผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front end fee) และค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (Management Fee) หากมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะคิดค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back end fee) ที่มีความยุติธรรม โดยจะเก็บก็ต่อเมื่อกองทุนมีกำไรหรือทำได้ตามเป้าหมาย  เพื่อตอกย้ำว่าธนาคารให้การดูแลลูกค้าเสมือน Thought Partner และสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุน 

SCB WEALTH  ยึดมั่นในหลักการของ Open architecture  ในการสรรหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ และคัดเลือก  Best in class ให้กับลูกค้า โดยเราจะคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนจากภายนอกธนาคารมานำเสนอให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนให้มีความหลากหลาย  รวมทั้งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเหมาะสมในแต่ละภาวะการลงทุน    ล่าสุด เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดทิสโก้  ทาร์เก็ต 8M1 (TTARGET8M1)บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  ทิสโก้  จำกัด  ซึ่งธนาคารเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว  ในระหว่างวันที่ 14 - 28   สิงหาคม  2567  เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป  มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท   

กองทุน TTARGET8M1มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน โดยมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน  ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ / หรือตลาดเอ็มเอไอ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์อื่นๆที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี  มีความมั่นคง และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ดี  คัดเลือกลงทุนในหุ้นไทยที่มีระดับราคาน่าสนใจ ได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 

สำหรับการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายโดยอัตโนมัติ ภายใน 5  วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่เกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขการเลิกกองทุน เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งดังนี้  คือ  ภายในระยะเวลา 8 เดือน นับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม  เมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.82 บาท ณ วันทำการใด หรือเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป  และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสด  และ/หรือเงินฝาก และ/หรือทรัพย์สินอื่นใดที่เทียบเท่าเงินสดบางส่วนหรือทั้งหมด สามารถรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติได้ไม่ต่ำกว่า  10.60 บาทต่อหน่วย  

อย่างไรก็ตาม หากหน่วยลงทุนมีมูลค่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 8 เดือน นับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม  ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ  และเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.30 บาท   ณ วันทำการใด หรือเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสด  และ/หรือเงินฝาก และ/หรือทรัพย์สินอื่นใดที่เทียบเท่าเงินสดบางส่วนหรือทั้งหมด  สามารถรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติได้ไม่ต่ำกว่า  10.20 บาทต่อหน่วย  โดยบริษัทจัดการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน 2% ก็ต่อเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนถึงเป้าหมาย ที่ราคาไม่ต่ำกว่า  10.82   ติดต่อกัน 3  วัน ภายในระยะเวลาที่กำหนด 8 เดือน  แต่หากหลังครบระยะเวลา 8  เดือน บริษัทจัดการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนก็ต่อเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.10 บาท ในอัตรา 0.5% และ หากมูลค่าหน่วยลงทุนต่ำกว่า 10.10 บาท จะไม่คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการและรับซื้อคืน  ทั้งนี้ กองทุนที่อยู่ในแนวคิดใหม่ของการลงทุนนี้ จะต้องมีสัญลักษณ์ของ No Gain No Pay เท่านั้น 

นายศรชัย  กล่าวต่อไปว่า  ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะสนับสนุนให้มูลค่าหน่วยลงทุนเติบโตไปถึงเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด 8 เดือน  มีดังนี้คือ 1) SCB CIO คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. เพื่อให้สอดคล้องกับ ศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ ภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำ ซึ่งจากสถิติในอดีต หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวขึ้น และจะได้อานิสงส์ด้านผลประกอบการ รวมถึง งบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง นอกจากนี้ แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจเร่งขยายตัว  2) ดิจิทัล วอลเล็ต จะส่งผลบวกในหุ้นภาคการบริโภค  หลังจากที่กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา และ ให้ร้านค้าลงทะเบียน วันที่ 1 ต.ค. นี้ คาดว่าโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4 ได้ ช่วยหนุนผลประกอบการหุ้นที่เกี่ยวกับภาคการบริโภค เช่น กลุ่มค้าปลีก และ กลุ่มอาหาร เป็นต้น   3) กองทุน ThaiESG เงื่อนไขใหม่ และการกลับมาของกองทุนวายุภักษ์  โดยครม.ได้อนุมัติเกณฑ์ใหม่กองทุน ThaiESG ให้ผู้ซื้อลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพิ่มเป็นไม่เกิน 300,000 บาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี นับจากวันที่ลงทุน  พร้อมขยายขอบเขตการลงทุนให้ครอบคลุมเพิ่มเติมด้านธรรมาภิบาล ส่งผลให้ครอบคลุมหุ้น ในดัชนี SET/mai เพิ่มขึ้น บวกกับแผนการนำกองทุนวายุภักษ์กลับมา โดยปรับเกณฑ์ใหม่ และคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ซึ่งจะช่วยหนุนเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย  

นอกจากนี้ ผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Bloomberg Consensus   ณ วันที่   30 กรกฎาคม  2567 คาดการณ์ว่า EPS ของดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะเติบโตประมาณ 17% เทียบปีก่อนหน้า ส่วนในเชิง Valuation ของดัชนี ก็ถือว่าซื้อขายในระดับที่ไม่แพง โดยราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้า (Forward PE) อยู่ที่ 13.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทย และมองเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนได้อย่างถูกจังหวะ  

เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ (Black Monday) กดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นและส่งผลกระทบบางส่วนต่อหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ แนะเบรกการลงทุนและรอจังหวะใหม่เข้าสะสมหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อาจปรับฐาน พร้อมเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นเอเชีย “เกาหลี – ไต้หวัน – เวียดนาม” รับแรงหนุนหุ้นเอไอมาแรงและพื้นฐานแกร่ง ส่วนทองคำและบิทคอยน์ มีลุ้นปัจจัยบวกธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในรอบถัดไป  

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ หรือ Black Monday เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.67) เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จนอาจต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉิน ประกอบกับธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าต้นทุนในการกู้ยืมเงินเยนมาทำธุรกรรม หรือ Yen Carry Trade จะพุ่งสูงขึ้น จึงทำการเทขายสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อถอนเงินเยน (Unwind Yen Carry Trade) จนเกิดเป็นวันที่ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก  

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลเพียงระยะสั้น และสถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายลงในบางสินทรัพย์แล้ว จึงมองเป็นโอกาสทยอยเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับกระทบโดยตรงจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ 

“ล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อยับยั้งความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการถอนเงินเยน ทำให้ความกังวลต่อสินทรัพย์อื่นลดลงและเงินเยนเริ่มกลับมาอ่อนค่า แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเกิดผลกระทบเชิงลบหลังจากนี้อีกหรือไม่ จึงควรชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นก่อน” 

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นเอเชียอื่นยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยสามารถทยอยลงทุนได้ในตลาดหุ้นเกาหลี จากการที่บริษัทซัมซุงประกาศผลประกอบการไตรมาส ล่าสุด มียอดขายชิปที่เกี่ยวกับเอไอเติบโตก้าวกระโดด เป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นเกาหลีที่ขับเคลื่อนด้วยบริษัทผลิตชิปเป็นหลัก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวัน ที่บริษัทไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์รายงานงบไตรมาส ล่าสุด ออกมาดีกว่าด้วยโปรดักต์ด้านเอไอ ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนาม ยังมีความน่าสนใจในการเป็นฐานการผลิตลำดับที่สองของผู้ผลิตชิป รวมถึงเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโต  

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีน แม้จะมีความเสี่ยงจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากผลออกมาเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีนโยบายการค้าที่ส่งผลลบต่อภาคเศรษฐกิจจีน แต่อย่างไรก็ตามในแง่แวลูเอชั่นของตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ถือว่าอยู่ในระดับต่ำในรอบหลายปี จึงสามารถทยอยเข้าสะสมลงทุนในระยะยาวได้ 

นายณพวีร์ กล่าวว่า สินทรัพย์อื่นที่น่าสนใจหลังจากเหตุการณ์ Black Monday แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประชุมฉุกเฉิน เพื่อลดดอกเบี้ยลงทันที 0.5% แต่คาดว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในอัตราต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อสินทรัพย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์โดยตรง ทั้งทองคำและบิทคอยน์ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูงสามารถพิจารณาเพิ่มสองสินทรัพย์นี้ในพอร์ตลงทุนได้ 

สำหรับมุมมองต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะมีการปรับฐานลงมาจากความกังวลที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือการที่ Berkshire Hathaway เพิ่มการถือครองเงินสดสูงเป็นประวัติการณ์ และมองการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่อาจยังไม่จบ เพราะมีความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจจะทยอยขายทำกำไรต่อ จากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงมองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะรอให้การปรับฐานจบลงและทยอยเข้าลงทุนระยะยาว เพราะในเชิงพื้นฐานการเติบโตของเอไอยังสามารถขยายตัวได้ในอีกหลายปีข้างหน้า แต่ช่วงสั้นราคาหุ้นขึ้นมาเร็วเกินไปเท่านั้น 

“นักลงทุนสามารถพิจารณาหุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางที่เกี่ยวข้องกับเอไอได้ เพราะหุ้นในกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเอไอและราคาหุ้นยังไม่ได้ขึ้นมาสูงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มบริการซอฟท์แวร์ หุ้นกลุ่ม Cloud Computing และ IT Security หุ้นกลุ่ม Data Center รวมถึงพลังงานทดแทนที่จะนำมาใช้ในการประมวลผลเอไอ หุ้นในกลุ่มนี้มีรายได้ที่มาจากทั่วโลกไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ จึงสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้” 

รายงานใหม่จากดีลอยท์Rebalancing your portfolio to fuel growth ชี้ชัด บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำเป็นต้องเร่งพิจารณาพอร์ตการลงทุนอย่างละเอียด เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต และจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจออกไป 

รายงานนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนการทบทวนพอร์ตการลงทุน โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง 250 คน จากบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชน ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดความจำเป็นในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน ได้แก่ 

  • ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อการยุติติดต่อหรือทำธุรกรรมกับตลาด ห่วงโซ่อุปทาน และพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้อง  
  • กฎระเบียบด้านประสิทธิภาพของเงินทุน (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเชีย) ที่กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยผลตอบแทนจากเงินทุนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 
  • การเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย สร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องแก้ไขสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานและขายธุรกิจที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลัก 
  • ESG (Environmental, Social, and Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล)) และเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กระตุ้นให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารดำเนินการซื้อขายสินทรัพย์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ "พอร์ตโฟลิโอสีเขียว" 
  • บทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ในฐานะนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ ในการตัดสินใจปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัท 

 ผลการสำรวจพบว่า การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท เพื่อปรับให้เข้ากับแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญข้างต้น รายงานผลการสำรวจดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดการบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยืดหยุ่นและการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยโอกาสการเติบโตและการผนึกกำลังเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม 

เจียก ซี อึ้ง ลีดเดอร์ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions)  ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า "แรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยด้านความยั่งยืน หรือแรงกดดันจากนักลงทุน ซึ่งบริษัทต่างๆ ควรต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเตรียมพร้อมสำหรับการจำหน่ายสินทรัพย์หรือธุรกิจ รายงานของดีลอยท์เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับกระบวนการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้มีพลวัตมากขึ้นและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อการเติบโตและสร้างมูลค่าในระยะยาว"  

ESG เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าธุรกิจ  

จากผลการวิจัย ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52 มีความเห็นว่า ประเด็นด้าน ESG  มีการนำมาพูดคุยกันบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างการเจรจาซื้อขายกิจการในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน ปัจจัยด้าน ESG มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินพอร์ตการลงทุนและกิจกรรมในการปรับสมดุลการลงทุน 

ผลกระทบของ ESG ต่อบริษัทแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและสถานะของบริษัทในตลาด บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงทั้งความเสี่ยง (แรงหน่วง) และโอกาสด้านการเติบโตและการสร้างมูลค่า (แรงหนุน) ที่มาจากการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่สามารถเชื่อมโยงแผนธุรกิจและปัจจัยด้าน ESG ได้อย่างชัดเจน มีโอกาสสร้างมูลค่าธุรกิจได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงหกเท่า 

การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิมได้รับความนิยมมากขึ้น   เกือบทุกบริษัทที่ตอบแบบสอบกล่าวว่าบริษัทกำลังพิจารณาใช้กลยุทธ์การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิม ควบคู่ไปกับการขายให้กับกองทุนเอกชน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ซึ่งมีรายงานว่ายังมีเงินทุนมหาศาลที่ยังไม่ได้ลงทุน ที่มีความต้องการสูงในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ต้องการขายธุรกิจหรือสินทรัพย์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยการติดต่อกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพตั้งแต่เนิ่นๆ และเปิดกว้างต่อโครงสร้างข้อตกลงที่หลากหลายมากขึ้น 

5 แนวทางสำคัญที่ธุรกิจควรนำไปปฏิบัติ 

จากการสำรวจกลุ่มผู้นำธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 79 คาดการณ์ว่าจะมีการจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในช่วงภายใน 18 เดือนข้างหน้า ที่น่าสนใจคือร้อยละ 95 เคยยกเลิกการเจรจาขายกิจการในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการขายกิจการมากขึ้น 

 “ในยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุกจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร เราจะเห็นการควบรวมกิจการและการขายกิจการที่เกิดขึ้นจากความต้องการเร่งการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และ/หรือ การเข้าซื้อกิจการเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ทำให้การควบรวมกิจการกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านผลกำไร” เดวิด ฮิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม 

จากการวิเคราะห์ผลการวิจัย บริษัทต่างๆ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้: 

  1. ปรับใช้แนวคิดการทบทวนพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ โดยจัดให้มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงมีการกำกับดูแลจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้สินทรัพย์สอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ 
  1. ประเมินพอร์ตการลงทุนตามความเหมาะสมกับกลยุทธ์ ศักยภาพในการสร้างมูลค่า และความยืดหยุ่น บริษัทควรประเมินการลงทุนโดยนำสามปัจจัยดังกล่าวมาทบทวนอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมทุกด้าน 
  1. เพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ด้วยการสื่อสารแผนธุรกิจที่น่าสนใจและผลการดำเนินงานในอดีตของสินทรัพย์นั้น 
  1. บูรณาการให้ ESG เป็นหัวใจสำคัญในการประเมินและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน 
  1. พิจารณาผลกระทบด้านภาษีและโอกาสทางภาษีอย่างรอบคอบ ในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

  มูราลีดาร์ เอ็ม เอส เค กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions) ของ ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย  กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเป็นแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรแล้ว การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ยังเป็นกลยุทธ์ที่มีค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ในการรับมือกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบใหม่ๆและ แรงกดดันจากนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ปรับสมดุลโครงสร้างทุนในช่วงปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานดีกว่าบริษัททั่วไปในตลาด ดังนั้น บริษัทต่างๆ ควรมีการปรับตัวเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ของตนมีความสอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร หากไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทอาจจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อขายกิจการหรือร่วมมือกับพันธมิตรที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นและบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ” 

หลังหุ้นกู้ WEH ครั้งที่ 1/2567 เสนอขายวันแรก ได้รับกาตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นจำนวนมาก จากความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งมากที่สุดในประเทศไทย โดยหุ้นกู้ครั้งนี้มีอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ มูลค่าเสนอขายไม่เกิน 400 ล้านบาท และ มีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่ารวมไม่เกิน 100 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปทุนเตรียมขยายิจการ และลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ รวมถึงใช้เปนเงินทุนหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตจาก 717 เมกะวัตต์ เป็น 1,500 เมกะวัตต์ ภายใน 5ปี สามารถจองซื้อได้ถึงวันที่ 15 ก.ค. 67 ผ่านบล. BYD, DAOL, GBS, MST, PST, PI, TRINITY และ UOBKH 

Page 1 of 9
X

Right Click

No right click