ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงจะถูกเพ่งเล็งจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย Trump 2.0 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน จากการที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าของไทยสูง ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท จำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้าสูงกว่าคู่เทียบ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ นำมาเป็นข้อต่อรองในการพิจารณาขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าระลอกใหม่ ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ชี้ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ หลังได้เปรียบการค้าสูงเป็นอันดับสองของอาเซียน
นับตั้งแต่สงครามการค้าระลอกแรก (Trump 1.0) ในปี 2561 อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองอย่างมาก หลังได้อานิสงส์จากการที่จีนใช้อาเซียนเป็นฐานในการเปลี่ยนเส้นทางการค้า รวมถึงย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงทำให้หลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1-2 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนสงครามการค้าในปี 2560 โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่า
สำหรับปี 2568 สงครามการค้าครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนเดิมสมัยที่ 2 อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ (นโยบาย Trump 2.0) คาดว่าจะสร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดการเงินและการค้าโลกอีกระลอก โดยทรัมป์มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการแข่งขัน การลดภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล การจัดการปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และที่สำคัญคือ การประกาศกีดกันทางการค้าผ่านการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60-100% เมื่อเทียบกับสงครามการค้าระลอกแรกที่อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเฉลี่ย 21.5% อีกทั้งยังมีแผนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก 10-20% จากเดิมที่เก็บในอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเพียง 3%
ttb analytics มองว่า การที่ทรัมป์ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสหรัฐฯ อยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (The United States Trade Representative : USTR) แต่ก็สะท้อนท่าทีของทรัมป์ต่อมาตรการทางการค้า Trump 2.0 ว่าจะมีความแตกต่างจาก Trump 1.0 โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ การที่ทรัมป์หยิบยกนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าครอบคลุมทุกประเทศในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปูทางไปสู่ “การเจรจาต่อรองทางการค้าแบบเจาะจงเป็นรายประเทศและรายกลุ่มสินค้า” (Bilateral Agreement) เมื่อเทียบกับนโยบาย Trump 1.0 ที่พุ่งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับจีนเป็นหลัก (เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด สูงถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ขณะนั้น (ปี 2561))
ทั้งนี้ ระดับความเข้มข้นของกรอบการเจรจาการค้าภายใต้นโยบาย Trump 2.0 ที่มีต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จะมีความแตกต่างกันไปตามความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ โดย ttb analytics ประเมินจาก 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ระดับการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (Bilateral Trade Surplus) 2) ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ (Exchange Rate Adjusted Cost Advantage) 3) ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสินค้าเกษตร (MFN Tariff Excess on Agricultural Products) 4) ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร (MFN Tariff Excess on Non-agricultural Products) และ 5) ระดับการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของสหรัฐฯ ผ่านจำนวนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Trade Commission : USITC)
ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีแนวโน้มถูกเพ่งเล็งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ Trump 2.0 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากเวียดนาม เนื่องจากสหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การเกินดุลการค้าของไทยสูงและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทระยะหลัง จำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้า (เช่น เหล็กและโลหะ แผงโซลาร์ และเคมีภัณฑ์) สูงกว่าคู่เทียบ รวมถึงการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด คิดเป็นกว่า 9.4% ของจีดีพีไทย ทำให้การยกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสูงสุดถึง 20% ในระลอกนี้จะสร้างผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างมหาศาล ซึ่งจะเป็นการง่ายกับสหรัฐฯ ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับไทย
คาดสหรัฐฯ อาจกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติม หลังไทยพยายามลดการนำเข้ามาโดยตลอด
ที่ผ่านมา ไทยเป็นคู่ค้าในการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 16 เทียบกับคู่ค้าทั้งหมดกว่า 200 ประเทศ ด้วยมูลค่าส่งออกราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 แต่ปัจจุบันมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรกลับเหลือเพียง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.8% จนทำให้อันดับของไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญในหมวดสินค้าเกษตรตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 25 ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งจากการที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ หันมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกษตรในไทยมากขึ้นแล้ว ยังมาจากการที่ไทยมีกลไกการปกป้องภาคการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน 23 รายการ เช่น นม ครีม และเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง ผักและผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กาแฟ และ ยาสูบ (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง)
การถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ เรื่องการจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงและจำกัดโควตาสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทรัมป์ได้ลงนามยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เป็นครั้งที่ 2 กับสินค้าไทย 231 รายการ คิดเป็นมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลว่าไทยเปิดตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหมูอย่างไม่เป็นธรรม (โดยสหรัฐฯ เคยตัดสิทธิ GSP ไทยครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากการที่ไทยล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากลในอุตสาหกรรมประมง) ด้าน USITC ยังชี้ว่าไทยมีการบริหารจัดการอัตราภาษีในและนอกโควตาที่ไม่โปร่งใส การควบคุมใบอนุญาตนำเข้าโดยพลการ และมาตรฐานอาหารที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ไทยยังคิดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยค่อนข้างสูงอยู่ที่ 42% เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดสินค้าอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป (Unprocessed Food) อาทิ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สด ซึ่งทำให้
สหรัฐฯ เสียอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 216% เทียบกับประเทศอื่นที่ไทยมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ลดลงเหลือ 0% ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง
คาดสหรัฐฯ อาจกดดันไทยให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม เพื่อต่อรองกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศไทยในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามเจรจาขอให้ไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท รวมถึงกดดันผ่านการตัดสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การเรียกร้องให้แก้ไขกฎระเบียบการค้าขององค์การการค้าโลก ซึ่งคาดว่าแรงกดดันจาก Trump 2.0 จะส่งผลต่อท่าทีของไทยเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สุดแล้ว ttb analytics มองว่า ไทยอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการทางการค้ากับสหรัฐฯ ในบางข้อ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าในครั้งนี้
โดยสรุป ท่ามกลางกติกาการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการไทยควรกระจายความเสี่ยงผ่านการขยายช่องทางตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ประกอบกับไทยมีสิทธิประโยชน์ทางการค้า FTA กับอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก