January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10974

ไมโครซอฟท์ผลักดันภาคธุรกิจไทย หนุนให้นำ AI เข้าไปอยู่ในกลยุทธ์หลัก

March 13, 2019 3091

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ (ที่ 3 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจหัวข้อ  Future Ready Business: Assessing Asia Pacific’s Growth Potential Through AI ร่วมกับ มร.ไมเคิล อะราเน็ตตา (ที่ 4 จากซ้าย) รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ คุณชัชวลิต ธรรมสโรช (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารทั่วไป บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ นางกัญจนี วงศ์รุ่งโรจน์กิจ (ที่ 1 จากซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ฟรอนทิส จำกัด

 

มีรายงานวิจัยที่จัดทำขึ้นร่วมกันโดยไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก และไอดีซี ในหัวข้อ Future Ready Business: Assessing Asia Pacifics Growth Potential Through AI ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาคธุรกิจของไทยควรเร่งนำ AI มาใช้งาน เพื่อยกระดับศักยภาพในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยจากผลสำรวจองค์กรธุรกิจ 101 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีองค์กรเพียง 26% เท่านั้นที่นำ AI เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจ แม้ว่ากว่า 85% ขององค์กรเหล่านั้นจะเข้าใจดีถึงผลกระทบเชิงบวกจากการใช้งาน AI ก็ตาม

ผลสำรวจดังกล่าวยังเผยอีกว่า องค์กรธุรกิจไทยคาดว่า AI จะเพิ่มอัตราการสร้างนวัตกรรมขึ้นอีก 66% และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ราว 32% ภายในปี 2564 ขณะที่จะศักยภาพการแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 81%

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ทุกวันนี้ ทุกบริษัทก็เป็นเหมือนบริษัทซอฟต์แวร์ และการทำงานในทุกส่วนก็เป็นดิจิทัลมากขึ้น การจะประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่นี้ องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาประยุกต์ใช้ให้ได้โดยเร็ว และสร้างความสามารถเชิงดิจิทัลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองได้ ซึ่งในยุคของเรา AI จะเป็นเทคโนโลยีที่กำหนดทิศทางแห่งอนาคต ด้วยศักยภาพมหาศาลทั้งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจ สร้างนวัตกรรม เสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศและธุรกิจที่ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้งาน AI จึงกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน และตกเป็นรองธุรกิจที่เป็นผู้นำในด้านนี้”

สำหรับองค์กรที่เริ่มนำ AI มาใช้ มีปัจจัยขับเคลื่อนให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ใน 5 อันดับแรกคือ ประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า (31% ของผู้ร่วมทำการสำรวจเลือกเป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง) ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น (22%) ส่วนต่างกำไรที่เพิ่มขึ้น (22%) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (9%) และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้รวดเร็วขึ้น (8%) ตลอดปีที่ผ่านมา องค์กรที่เริ่มใช้งาน AI ได้เห็นถึงการพัฒนาที่ชัดเจนจากศักยภาพในด้านต่างๆ เหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นราว 28-36% และยังคาดการณ์อีกว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกไม่ต่ำกว่า 20% ในช่วงระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า

 

ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพด้านข้อมูล และเสริมการลงทุนเกี่ยวกับ AI

ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์และไอดีซีนี้ ได้เก็บข้อมูลด้านความพร้อมของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ใน 6 ด้านหลักๆ โดยพบว่าประเทศไทยจะต้องเดินหน้าพัฒนาศักยภาพต่อไปในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านข้อมูลและการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำ AI มาใช้งานอย่างเต็มตัว

มร.ไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าวว่า “ประเทศไทยยังต้องเสริมความพร้อมในหลายมิติ เพื่อให้คว้าโอกาสจากพลังของ AI ได้ อย่างเต็มที่ ขณะที่หลายๆ ธุรกิจของไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเปิดรับเทคโนโลยีไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการเพื่อทำให้เกิดกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และระบบข้อมูลที่เพียบพร้อม เปิดให้เข้าถึงได้โดยสมบูรณ์ ปัจจัยทั้งหมดนี้จะปูทางไปสู่ความสามารถที่ดีขึ้นของ AI และผลกระทบทางธุรกิจที่สัมผัสได้อย่างแท้จริง ภาคธุรกิจจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นความคล่องตัว เพื่อวางรากฐานของความสำเร็จในระยะยาว โดยที่ในบางกรณี อาจไม่ได้เห็นผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินในทันที”

ส่วนผู้นำในภาคธุรกิจที่กำลังประยุกต์ใช้ AI กำลังประสบกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ภาวะขาดความเป็นผู้นำทางความคิด และความมุ่งมั่นของผู้บริหารในการลงทุนกับ AI การขาดทักษะ ทรัพยากร และโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการที่ผู้บริหารไม่ได้ให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์กับการพัฒนาระบบข้อมูลให้พร้อมสำหรับ AI

ผลสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการใช้งาน AI ผู้นำธุรกิจและพนักงานที่ร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากเชื่อว่า คุณสมบัติทางวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI เช่น การพร้อมรับความเสี่ยง การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงรุก และความร่วมมือข้ามสายงานของแต่ละทีม ยังไม่แพร่หลายนักในสภาพแวดล้อมการทำงานปัจจุบัน

“โดยรวมแล้ว พนักงานขององค์กรในประเทศไทยมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความพร้อมทางวัฒนธรรมขององค์กร มากกว่าในกลุ่มผู้นำธุรกิจ” นายอะราเน็ตตาเสริม “ผู้นำธุรกิจต้องเปิดใจรับวัฒนธรรมใหม่เสียแต่ตอนนี้ และพัฒนาให้นวัตกรรมและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นส่วนประกอบหลักของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกิดความคล่องตัว ความสามารถในการปรับตัว และการเติบโตต่อไป”

 

ยังต้องแก้ไขปัญหาด้านทักษะของแรงงาน ก่อนปูทางสู่การใช้งาน AI

ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า ผู้นำธุรกิจและพนักงานมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อการทำงานในอนาคต โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (77% ของผู้นำธุรกิจ และ 58% ของพนักงาน) เชื่อว่า AI จะช่วยทำงานปัจจุบันของพวกเขาให้ดีขึ้น หรือลดภาระในกรณีของงานที่ต้องทำซ้ำๆ อยู่เป็นประจำ

“เมื่อพูดถึงกรณีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ หรือโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแทนที่งานแบบเดิม ผู้นำธุรกิจ 13% เชื่อว่า AI จะช่วยสร้างโอกาสงานใหม่ๆ ได้ ขณะที่มีเพียง 5% ที่รู้สึกว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน ในภาพรวม ผู้นำธุรกิจ 90% และพนักงาน 77% มองว่าการนำ AI มาประยุกต์ใช้จะช่วยเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ๆ หรือเสริมให้พวกเขาทำงานที่ทำอยู่เดิมได้ดียิ่งขึ้น” นายอะราเน็ตตากล่าว

ผลสำรวจนี้ยังพบอีกว่า พนักงานมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากกว่าที่ผู้นำธุรกิจคาดการณ์ไว้ โดยผู้นำ 36% รู้สึกว่าพนักงานไม่มีความสนใจในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ขณะที่มีพนักงานเพียง 18% ที่รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

“วิสัยทัศน์ด้าน AI ของไมโครซอฟท์มุ่งเน้นไปที่มนุษย์ก่อนเป็นอันดับแรก เทคโนโลยี AI ไม่สามารถก้าวหน้าไปได้โดยปราศจากคน จึงเท่ากับว่าพนักงานหลายล้านคนจำเป็นต้องปฏิรูปตัวเองให้มีทักษะ ยกระดับความสามารถให้พร้อมสำหรับอนาคตในยุคแห่ง AI” นายธนวัฒน์กล่าวเสริม “เป็นเรื่องน่ายินดีที่ธุรกิจถึง 81% ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะของพนักงานในอนาคต พวกเขาวางแผนที่จะลงทุนไปกับทรัพยากรมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำธุรกิจราว 48% ก็ยังไม่เริ่มดำเนินการเพื่อช่วยพนักงานของพวกเขาให้มีทักษะที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ในขณะนี้ โดยพวกเขาจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกสอนพนักงานโดยด่วน”

สำหรับ 3 ทักษะสำคัญที่ผู้นำธุรกิจในประเทศไทยต้องการ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะดิจิทัล และการคิดวิเคราะห์ โดยที่ 2 ทักษะแรกนั้น มีความต้องการในตลาดแรงงานสูงกว่าปริมาณบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการนี้ ผลสำรวจนี้ยังเผยว่า ผู้นำธุรกิจให้ความสำคัญกับความสามารถทางด้านสังคมมากกว่าที่พนักงานคาดการณ์ไว้ ส่วนทักษะที่มีภาวะขาดแคลนมากที่สุด ได้แก่ การบริหารจัดการโครงการ ความเป็นผู้นำและการจัดการบุคลากร และความคิดสร้างสรรค์

 

จีซี ยกระดับความปลอดภัยของการเดินทางด้วย “AI for Road Safety”

โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยถึง 66 คน ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งกว่า 60% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถขนส่งสาธารณะ มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินกำหนดและความเหนื่อยล้าหรือง่วงนอนของผู้ขับขี่ ทั้งนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี มีสำนักงานในกรุงเทพฯ และโรงงานในระยอง ซึ่งถือเป็นจังหวัดศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม ในแต่ละปีพนักงานของจีซีจะเดินทางไป-กลับบนเส้นทางนี้จำนวนมาก ด้วยรถตู้รับส่งของบริษัทฯ

จีซีให้ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง บริษัทฯ จึงเริ่มเดินหน้าใช้โซลูชั่นอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผ่านโครงการ “AI for Road Safety” โดยความร่วมมือระหว่างจีซีและฟรอนทิส บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการวางแผนกลยุทธ์และการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยใช้เทคโนโลยี AI ของไมโครซอฟท์ ซึ่งผสมผสานระบบการจดจำใบหน้า เข้ากับระบบการวิเคราะห์ภาพวิดีโอและข้อมูล เพื่อสังเกตการณ์พฤติกรรมของผู้ขับขี่ได้แบบเรียลไทม์

ระบบดังกล่าวทำงานโดยใช้กล้องที่จับภาพคนขับ พร้อมระบบจีพีเอส เพื่อเก็บข้อมูลภาพใบหน้าและการเคลื่อนไหวของยานพาหนะก่อนจะส่งไปยังระบบคลาวด์ เพื่อประมวลผลด้วย Machine Learning หากตรวจพบสัญญาณความเสี่ยง ผู้ขับจะได้รับการแจ้งเตือน หรือได้รับการติดต่อจากผู้ดูแลระบบรถโดยสาร โดยอาจมีการส่งคนขับรายใหม่ไปแทนที่ในกรณีที่จำเป็น นอกจากนี้ ผู้ดูแลระบบยังสามารถประเมินผลการทำงานของรถโดยสารและผู้ขับขี่ในระยะยาวได้ ผ่านหน้าจอแสดงข้อมูลที่มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูล Power BI ของไมโครซอฟท์ โดยครอบคลุมทั้งศักยภาพของผู้ขับขี่ ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแง่มุมต่างๆ ที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในการฝึกอบรมผู้ขับขี่

คุณชัชวลิต ธรรมสโรช ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารทั่วไป บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ของประเทศ บริษัทฯ ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดคือ ต้องไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในทุกพื้นที่โรงงาน สำนักงาน และเขตอุตสาหกรรมของเรา ตลอดจนความปลอดภัยของบุคลากรทุกคน การนำระบบ AI นี้มาใช้งาน ไม่เพียงทำให้เกิดประโยชน์กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมความอุ่นใจให้กับครอบครัวของพนักงานทุกคน ที่ต่างก็ต้องการให้สมาชิกของครอบครัวได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวัน เราเชื่อว่าความมุ่งมั่นและแรงสนับสนุนจากทีมงานของเรา ผนึกกับศักยภาพของ AI จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ไปได้ด้วยดี”

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชั่น AI ของไมโครซอฟท์ได้ที่

https://news.microsoft.com/apac/features/artificial-intelligence/

X

Right Click

No right click