January 22, 2025

วิศวะมหิดล จัดค่ายเยาวชนไฟฟ้า E-Camp

February 07, 2020 762

4 วัน ในค่ายวิศวะไฟฟ้า E-Camp เป็นประสบการณ์สนุกสนานและท้าทายของเหล่าเยาวชน จากกว่า 50 โรงเรียนทั่วประเทศ สู่โลกของวิศวกรรมไฟฟ้า จัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรม Electronics ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. และ NECTEC เพื่อให้น้อง ๆ นักเรียนมัธยมได้สัมผัสกับวิศวกรรมไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในทางทฤษฎีและทักษะการปฏิบัติ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆ ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนกับอุดมศึกษาจะต้องมีการเชื่อมต่อกัน พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมกันผลักดันการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของเยาวชนให้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกวันนี้และอนาคต ผนึกกำลังในการพัฒนาคนไทยคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในบริบทโลก โดยเปิดสอนป.ตรี สาขาไฟฟ้ากำลัง และไฟฟ้าสื่อสาร ส่วนป.โท เปิดสอนไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ ( Electrical Engineering and Electronics) และ สถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture)

ศุภณัฐ วงศ์มิตรไมตรี (เมฆ) หนุ่มนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ประธานชมรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กิจกรรม E-Camp คณะวิศวะมหิดลจัดต่อเนื่องตลอดมาเป็นปีที่ 19 แล้วครับ โดยปีนี้เปิดรับสมัครน้อง ๆนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 จาก 50 โรงเรียนใน กทม. และต่างจังหวัดทั่วประเทศ รวม 120 คน และผ่านการคัดเลือก จำนวน 60 คน โครงการมุ่งเน้นให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้น้องเยาวชนำประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันและการเลือกศึกษาต่อในอนาคตด้วย ระยะเวลาค่าย 4 วัน 3 คืน วันแรก เราได้ถ่ายทอดความรู้ เรื่อง “ไฟฟ้ารอบตัว” จากนั้นไปที่ Lab ไฟฟ้า เพื่อเรียนรู้เรื่องวงจรการต่อหลอดไฟ แล้วจับกลุ่มแบ่งทีมเพื่อทำความรู้จักกันครับ วันที่สอง เป็นกิจกรรมเรียนรู้เรื่องวงจรไฟฟ้า “Circuit” และ “Digital” จากนั้นลงมือปฏิบัติต่อแบบวงจรที่ Lab Digital วันที่สาม ทีมพาน้อง ๆ เดินทางไปซื้ออุปกรณ์แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่บ้านหม้อ ช่วงบ่ายกลับมาบัดกรีวงจรไฟฟ้า ส่วนวันสุดท้าย เป็นการเรียนรู้ Kidbright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวประกอบด้วย เซนเซอร์พื้นฐาน มีจอแสดงผลแบบเรียลไทม์ มีลำโพง สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย นับเป็นบอร์ดวงจรที่พัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งในการทำกิจกรรมแต่ละหัวข้อ มีพี่ ๆ นักศึกษาวิศวะมหิดล 60 คน ประกบน้อง ๆ แบบ 1 ต่อ 1 อย่างใกล้ชิด ทำให้น้องได้เรียนรู้อย่างเต็มที่อย่างเป็นกันเองด้วยครับ

พรอิง สิริพิทยาวงศ์ (ต้องตา) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า เทคโนโลยีไฟฟ้ามีความสำคัญต่อประเทศ เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต ธุรกิจอุตสาหกรรม อนาคตอยากเป็นวิศวกรค่ะ เพราะจะได้มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีมีประโยชน์แก่คนอื่นและเมืองที่เราอยู่ในหลายด้าน ปกติจะติดตามข่าวสารด้านวิศวกรรม นวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอด ดีใจค่ะ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม ในโครงการ E-Camp ได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่ในห้องเรียนไม่ได้สอน และได้ลงมือทำจริงๆ ได้เจอเพื่อนๆ จากหลายโรงเรียน มีพี่ ๆ วิศวะมหิดลคอยให้คำแนะนำ สนุกมากค่ะ ที่สำคัญได้ค้นหาศักยภาพของตัวเองในทางวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นการหาคำตอบให้ตัวเองด้วยว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เราชอบจริง ๆ ตอนนี้ได้คำตอบแล้วค่ะ ซึ่งหนูมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และทำงานเป็นวิศวกรในอนาคตต่อไปค่ะ

รัชพล ช่วยไธสง (แต้ม) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลมีผลิตภัณฑ์มากมาย ซึ่งใช้วงจรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เซ็นเซอร์อยู่รอบตัวเรา และคงจะพัฒนารวดเร็วยิ่งขึ้นในยุคการสื่อสาร 5G ที่กำลังมาถึง สนุกกับค่าย E-Camp มากครับ กิจกรรมที่ชอบที่สุดคือ การต่อวงจรหลอดไฟ เพราะทำให้ผมรู้สึกทึ่งว่าเราทำได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน โดยมีพี่นักศึกษาช่วยให้คำแนะนำ เมื่อได้มาเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้ผมได้มีมุมมองใหม่ๆ รู้สึกว่าโลกนี้มีหลากสีสันที่น่าสนใจ และไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด พร้อมกับได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดี จริงๆ แล้ว เด็กไทยเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาไปไกล เพียงแต่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึง กิจกรรมนี้ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

X

Right Click

No right click