ด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิตของ TGO ในปีงบประมาณ 256๓ มีผู้ที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและขึ้นรับเกียรติบัตรทั้งสิ้น ๓๒๓ ราย โดยคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ๓,๙๒๓,๙๓๐.๑๔ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาจากกลไกและเครื่องมือที่ อบก. พัฒนาและส่งเสริม ดังนี้
- กิจกรรมชดเชยคาร์บอน มีปริมาณการชดเชยคาร์บอนประเภทองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดงานอีเว้นท์ และกิจกรรมส่วนบุคคล รวมทั้งสิ้น ๑๖๖,๑๓๖ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศโดยมีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกว่า ๓๓ ล้านบาท
- ฉลากคาร์บอน โดยอบก. ได้ทำการพัฒนาฉลากคาร์บอนขึ้น 3 รูปแบบ ได้แก่ เครื่องหมายคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลาก
ลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction: CFR) และฉลากคูลโหมด (CoolMode) ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่มีระบบการรับรองสอดคล้องตามหลักสากล มีผลิตภัณฑ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนทั้ง 3 ฉลาก รวมจำนวน 596 ผลิตภัณฑ์ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,308,240 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า - คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) เป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อมูลและรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร โดยองค์กรภาครัฐและอุตสาหกรรมที่ผ่านการรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรจำนวน ๑๗๐ องค์กร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๓๔ แห่ง มีปริมาณที่คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน (อุตสาหกรรมและบริการ) โดยพิจารณาจากแนวทาง/แผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดลงได้ 454,417.14 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
- โครงการ “การพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” เป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัดและจัดทำแผนหรือแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับจังหวัด ซึ่งจากการประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้จากกิจกรรม/แผนงาน/โครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในขอบเขตจังหวัด พบว่า ตามแผนหรือแนวทางดังกล่าวของ 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และอุทัยธานี คาดว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 440,667 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
- โครงการ “สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก” (Low Emission Support Scheme: LESS) มี ๑๗๓ หน่วยงานหลักที่ได้รับการรับรอง รวมจำนวน ๒๔๒ กิจกรรม สามารถลดหรือกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 840,269 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
- โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) หรือ โครงการ T-VER มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น ๒๙ โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้รวมกัน ๗๑๔,๒๐๑ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้ผ่านการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก (TVERs) หรือที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” จำนวน ๒๓ โครงการ คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ๕๖๘,๐๖๓ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
จากความสำเร็จดังกล่าว TGO จึงจัดพิธีขอบคุณและมอบประกาศนียบัตรในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี ๒๕๖๓ ในวันพุธที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วยการมอบโล่และประกาศนียบัตรแด่บุคคล ชุมชน องค์กร และผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อนที่อบก. ให้การรับรองและส่งเสริม รวมถึงการแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน จำนวน ๑,๒๓๒ คน และได้รับความกรุณาจากท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) เป็นประธานในพิธีและมอบประกาศนียบัตร ซึ่งสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลดีต่อประเทศไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เกิดการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแนวคิดการจัดงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี ๒๕๖๓ คือ “Climate Positive Actions - Together” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้เรื่องสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และกระตุ้นให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และการปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นได้