November 23, 2024

 อบจ.ประจวบคีรีขันธ์  จัดพิธีเททองรูปหล่อขุนรองปลัดชู วีรบุรุษเมืองวิเศษไชยชาญ อดีตผู้ต้านทัพพม่าและจบชีวิตที่ อ่าวหว้าขาว

September 27, 2022 972

 

องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์     จัดพิธีเททองรูปหล่อขุนรองปลัดชูขนาด 2 เท่าคนจริง   โดยมี พระครูพิศิษฏ์ธรรมนิเทศ วัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม  ร่วมเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์พร้อมพระสงฆ์รวม 10 รูป   และมีพระเถระนั่งปรกอธิษฐานจิต 4 รูป 1 ท่าน  ได้แก่

1.หลวงพ่อใจ ฐิตาจาโร เจ้าอาวาสวัดพระยาญาติ อ.อัมพวา จ สมุทรสงคราม

2.ท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิโสภณ หรือหลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ อติสักโข เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม วัดประดู่ พระอารามหลวง

3.พระครูสังฆวิสุทธิ์ หรือ ครูบาแจ๋ว ธัมมธโร วัดป่าวิเวกวัฒนาราม จ.มุกดาหาร

4.พระอาจารย์ศิริชัย หรือ หลวงพ่อบ๊ะ วัดโพธิ์ลังกา สิงห์บุรี

5.อาจารย์ ทองทิพย์ โอภาโส สำนักปฏิบัติธรรม โอภาโส จ.เพชรบูรณ์ 

ทั้งนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วย     พลตรี ดร.วรวุฒิ แสงทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน.  นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์  นายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์  ดร.มังกรแก้ว ดรุณศิลป์   ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์  และดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย  ประธานมูลนิธิธรรมดี  และพลอากาศตรีหญิงทิพย์วิมล ทองอ่อน  ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษา  มูลนิธิศรีสัตตบูรณ์   ก่อนเริ่มพิธีเททองรูปหล่อขุนรองปลัดชู ผู้จัดงาน ได้มอบให้ ท่านพรามหณ์สุขีนันท์ บุญพาศรีนาฤทธิ์ ประกอบพิธีบวงสรวงเทพยดาพุทธาเทวาภิเษกเททองรูปหล่อเหมือนขุนรองปลัดชู

รูปหล่อขุนรองปลัดชู จะถูกประดิษฐานไว้ ณ บริเวณอนุสรณ์สถานชายทะเลหาดหว้าขาว   จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ซึ่งเป็นสถานที่ขุนรองปลัดชูและนักรบทั้ง 400 คน จากเมืองวิเศษชัยชาญต้านทัพพม่าจนเสียชีวิต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวได้สักการะและรำลึกถึงบุญคุณและวีรกรรมความกล้าหาญ

ขุนรองปลัดชู   เป็นผู้นำในคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันคืออำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง) มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ซึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เพื่อเข้าร่วมทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการบุกครองของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา

เมื่อสามารถระดมไพร่พลเข้าเป็นอาสาสมัครกองอาทมาตได้ 400 คน แล้ว ขุนรองปลัดชูได้นำกำลังของตนเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์*   ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปตั้งทัพสกัดกองทัพพม่าที่นำโดยเจ้ามังระราชบุตรและมังฆ้องนรธา อันยกมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากตีทัพของพระยายมราชแห่งอยุธยาที่แก่งตุ่มแขวงเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพดังกล่าวจึงเดินทางข้ามด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรี เพื่อใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งรั้งทัพอยู่ที่กุยบุรีจึงส่ง กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูให้มาสกัดทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว 8,000 คน ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่แพ้ชนะ แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์* (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ได้รับไพร่พลจากทัพหลักเป็นกองหนุนสมทบอีก 500 คน)   กองอาทมาตจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ต้อนลงทะเลฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น ด้านทัพของพระยารัตนาธิเบศร์เมื่อทราบว่ากองอาทมาตของขุนรองปลัดชูแตกพ่าย จึงได้เร่งเลิกทัพหนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทัพของพระยายมราช และกราบทูลรายงานการศึกว่า "ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย" ส่วนกองทัพพม่าเมื่อผ่านเมืองกุยบุรีได้แล้วก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาโดยสะดวก เนื่องจากแนวรับต่าง ๆ ในลำดับถัดมาของฝ่ายอยุธยาถูกตีแตกในเวลาอันสั้น

 

 

หมายเหตุ

*พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกชื่อเป็น พระยาธรรมา

X

Right Click

No right click