January 22, 2025

ออร์กานอน ฉลองวันสตรีสากล ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนนโยบาย ครอบครัวคุณภาพ Smart Families

March 16, 2023 453

ปัจจุบันปัญหาโครงสร้างประชากรจากอัตราการเกิดต่ำ และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

กำลังเป็นวิกฤติทางสุขภาพของผู้หญิงในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรตลอดจนกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และแรงงานสังคมไทยในระยะยาว

จากการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพ APEC Health Week ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการหยิบเอาปัญหาโครงสร้างประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับ 17 เขตเศรษฐกิจ จาก APEC ทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ มาศึกษาหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการรับมือและแก้ไขปัญหานี้ ผ่านนโยบายครอบครัวคุณภาพ Smart Families ซึ่งทำให้มีหลายองค์กรตื่นตัวและเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะบริษัทยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพผู้หญิง เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญ และขานรับนโยบายครอบครัวคุณภาพ Smart Families ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของออร์กานอน บนพื้นฐานความเชื่อว่าการส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมคุณภาพ โดยออร์กานอนได้ดำเนินการประกาศความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในงาน Declaration of Cooperation on Sustainable Healthcare Financing for Women’s Health อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เพื่อการแก้ปัญหาโครงสร้างทางสังคมแบบยั่งยืน ผ่านแนวคิดการจัดการความยั่งยืนด้านการคลัง Sustainable Healthcare Financing เพื่อสุขภาพผู้หญิง นอกจากนี้ยังได้มีการให้ทุนสนับสนันผ่านมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายครอบครัวคุณภาพ Smart Families ให้เข้าถึงและช่วยเหลือชุมชนในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น

เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2566 จึงเป็นวาระและโอกาสสำคัญสำหรับภาคีทุกภาคส่วนในการร่วมประกาศวิสัยทัศน์ ในการสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเห็นความสำคัญของสิทธิสตรีรวมทั้งสุขภาพผู้หญิงไทยที่มากขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาโครงสร้างสังคมที่กำลังได้รับผลกระทบ อันเกิดจากการขาดการวางแผนครอบครัวในประเทศไทย ทั้งในส่วนของปัญหาที่เกิดจากอัตราการเกิดต่ำ หรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ส่งผลถึงคุณภาพของประชากร ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายของปัญหาโครงสร้างในหลากหลายมิติ จึงเป็นความเร่งด่วนในการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนนั้นมีความสำคัญและมีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการร่วมสร้างครอบครัวคุณภาพให้กับสังคมไทย

ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ครอบครัวคุณภาพ “Smart Families” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ในที่ประชุม APEC ได้มีการนำนโยบายมาพิจารณาร่วมกันในหลายเขตเศรษฐกิจ และหนึ่งในหัวข้อเร่งด่วนที่มีการหารือกันคือ Sustainable Healthcare Financing For Women Health หรือการจัดการความยั่งยืนด้านการคลังเพื่อสุขภาพของผู้หญิง โดยคาดว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการจะปูทางให้ประเทศไทยเข้าถึงกลไกการหาเงินทุนให้กับภาคสาธารณสุขแบบใหม่ สำหรับการจัดทำนโยบายทางเลือก Smart Families ซึ่งต่อไปอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์กับที่อื่นๆ ได้ด้วยผ่านโครงการระดับภูมิภาค แต่นอกเหนือไปจากการเน้นส่งเสริมให้มีบุตร หรือให้ผู้หญิงไทยที่ต้องการมีบุตรสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ในทางกลับกันจำเป็นต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิสตรีควบคู่ไปด้วย เนื่องจากต้องมาจากความพร้อมทั้งในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีงานทำ สามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ

“ปัจจุบันจำนวนและโครงสร้างประชากรมีความซับซ้อนกว่าในอดีต ถือเป็นความท้าทายต่อนโยบายประชากรครั้งใหม่ เนื่องจากอัตราการเกิดรวมของไทยลดลงอย่างมากแล้ว มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ภาคแรงงาน การเงินการคลังที่เป็นผลต่อไปยังเศรษฐกิจในระดับประเทศ ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จึงต้องเป็นการผลักดันพร้อมกันในหลายมิติ โดยเฉพาะการนำเครื่องมือทางการคลังมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างประชากรคุณภาพของประเทศ” ดร. สาธิต กล่าว

และในโอกาสวันสตรีสากลนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยให้มุมมองทางการคลังว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการริเริ่มการจัดการความยั่งยืนด้านการคลัง และการพัฒนากลไกเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงการคลังยังให้ความสำคัญกับประชากรหญิง จากปัญหาด้านการเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีการตั้งครรภ์ และช่องว่างทางเพศในการทำงาน เนื่องจากผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ อีกทั้งเน้นย้ำถึงการวางแผนครอบครัว เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตของเด็ก ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมที่จะร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้การจัดการความยั่งยืนด้านการคลังเพื่อสุขภาพผู้หญิง หรือ Sustainable Financing for Women’s Health มาเป็นกลไก เพื่อต่อยอดจากงานประชุม APEC ที่ผ่านมาให้เกิดผลลัพธ์ที่มากขึ้น

ดร. ซูซี่ ฟิดเล่อร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท ออร์กานอน จำกัด เปิดเผยว่า ออร์กานอน มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสำคัญนี้ และพร้อมที่จะนำทรัพยากร ความรู้ ความเชี่ยวชาญขององค์กรที่มีเพื่อช่วยขจัดปัญหาและอุปสรรคในการจัดหาเงินทุนสำหรับการดูแลสุขภาพของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงในไทย เพราะออร์กานอนเข้าใจดีว่าไม่มีวิธีใดที่มีประสิทธิภาพหรือคุ้มค่าสำหรับทุกคนในสังคมมากไปกว่าการลงทุนเพื่อสุขภาพของเด็กผู้หญิงและผู้หญิง ซึ่งภายใต้การดำเนินงานของภาครัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวอาจมีข้อจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมสนับสนุน และประเด็นสำคัญในวันนี้แสดงให้เห็นว่า Sustainable Healthcare Financing For Women Health การจัดการความยั่งยืนด้านการคลังเพื่อสุขภาพผู้หญิง เป็นหนทางสู่ความก้าวหน้าด้านสุขภาพของผู้หญิง ความต้องการการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่ และความรับผิดชอบทางการเงินในเวลาเดียวกัน ขณะที่ภาครัฐก็มองหาความร่วมมือด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืนนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเงินทุนเพื่อความยั่งยืนนี้จะเป็นกำลังในการช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของนโยบายสาธารณะได้เป็นอย่างดี

นอกจากแนวคิดเรื่อง Sustainable Healthcare Financing แล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการครอบครัวคุณภาพ Smart Families ให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้น ออร์กานอนยังได้มีการให้ทุนสนับสนุนมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ผ่านโครงการ Her Promise Grant เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกด้วย

ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และกรรมการบริหาร มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวถึงความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ Smart Families เพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันผู้หญิงยังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปสรรคในการได้รับการจ้างงาน ขอบเขตทางการเมือง หรือแม้กระทั่งปัญหาในครอบครัว มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่สตรี ซึ่งเรามีการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน และองค์กรต่างๆ ในหลากหลายมิติทั่วประเทศ อาทิ การศึกษา การเสริมสร้างสุขภาพครอบครัว รวมถึงการสร้างรากฐานการเงินที่มั่นคงเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้มีการลงสำรวจพื้นที่ในส่วนของชุมชน ท้องถิ่น เพื่อการเข้าถึงกลุ่มประชากรให้มากที่สุด โดยจะมีการให้ความรู้ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการสืบพันธุ์ดี พร้อมให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้มีโอกาสทางอาชีพสูงขึ้น และมีทักษะในการวางแผนทางการเงินในชีวิตจริงมากขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังบ่มเพาะผู้กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของกลุ่มเป้าหมายในด้านการขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมพลังให้ผู้หญิง ตลอดจนเกิดการวางแผนครอบครับอย่างชาญฉลาด ทั้งในกลุ่มระดับโรงงาน ชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ

ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ออร์กานอน และมูลนิธิคีนันฯ รวมถึงจากเครือข่ายภาคีในครั้งนี้ มูลนิธิคีนันฯ มีความเชื่อมั่นว่านโยบายและแนวทางปฏิบัติในการสร้างครอบครัวคุณภาพ จะได้รับความสนใจจากทุกคนมากขึ้น และปัญหาโครงสร้างประชากร สุขภาพผู้หญิง และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและเกิดความยั่งยืนในอนาคต

X

Right Click

No right click