นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๑๒ ปีที่กรมศิลปากรดำเนินภารกิจหลักในการธำรงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ สืบสาน สร้างสรรค์ พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นชาติ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างภาคีภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมในความดูแลของกรมศิลปากร
กรมศิลปากรมีเป้าประสงค์หลักในการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ที่ดีอย่างยั่งยืน ได้ดําเนินการและกําหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการอนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า เพื่อให้วัฒนธรรมไทยกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้คงคุณค่าความเป็นของแท้และดั้งเดิมตามหลักวิชาการ ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สู่คนรุ่นต่อไป เสริมสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชน ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ในความสําคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เช่น การจัดกิจกรรมอบรมอาสาสมัครและเครือข่ายอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการศึกษาในแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สําคัญของประเทศ ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการพัฒนาและสร้างมาตรฐานแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของแหล่งเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่
- การปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีมาตรฐาน ทันสมัยและน่าสนใจ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่นำมาจัดแสดงมีความปลอดภัยจากการเสื่อมสภาพ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร มีการออกแบบตามหลักวิชาการ เน้นความงาม ความสำคัญของโบราณวัตถุ และการสื่อความหมายต่อผู้เข้าชม รวมทั้งออกแบบแสงสว่างใน
การจัดแสดงตามหลักวิชาการให้เหมาะสม สวยงาม และปลอดภัยต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สื่อการจัดแสดงที่ใช้มีความถูกต้องของข้อมูลทางวิชาการ มีระบบสืบค้นและนำชมสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น QR Code, AR Code, Audio Guide
- การพัฒนางานด้านการจัดเก็บและอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของชาติ มีการจัดตั้งคลังกลาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการสากล ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปีนี้ และจัดสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุ จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุทุกประเภท ที่ได้มาตรฐานสากล มีความทันสมัย
- การปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐานทั้งสถานที่และการให้บริการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในการให้บริการ
- การปรับปรุงโรงละครแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐานสากล มีศักยภาพถึงพร้อมในทุก ๆ ด้าน และเป็นไปตามมาตรฐานโรงละครระดับสากล
- การพัฒนาแหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ จังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้งานโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรมศิลปากร
กรมศิลปากร ได้ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลที่เหมาะสม สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบการสืบค้น และระบบการให้บริการข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์ โดยขณะนี้ กรมศิลปากร เปิดประสบการณ์ใหม่ในการนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และมิติใหม่ในการให้บริการข้อมูล ด้วย Application FADiscovery เป็น Application นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยการให้ข้อมูลนำทาง ข้อมูลโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และจัดเก็บข้อมูลความต้องการ ความสนใจของผู้ใช้ที่ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มเข้าชม จนกระทั่งออกจากพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ระบบจะทำการบันทึกความชื่นชอบ ความสนใจ และความต้องการในการเข้าชมไว้อย่างละเอียด ทำการแยก และจัดกลุ่มประเภทผู้เข้าชม และบันทึกประมวลผลแบบ Real Time เพื่อให้ทราบถึงความสนใจพิเศษของผู้เข้าชมแต่ละท่าน โดยแจ้งผลความต้องการและความสนใจไปยังผู้เข้าชมแบบรายบุคคล โดยระบบจะทำการประมวลผลความสนใจของประชาชนในประเด็นต่างๆ ทำการสืบค้นข้อมูล หนังสือ หรือบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูลไปยังประชาชน เพื่อให้สามารถศึกษาเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง และได้รับข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนรู้มากที่สุด มิติใหม่ในการให้บริการข้อมูล ด้วย Application FADiscovery นี้ จะเป็นการยกระดับการให้บริการและการเข้าถึงข้อมูลของกรมศิลปากรที่ครอบคลุมข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ โบราณวัตถุ โบราณสถาน เอกสารโบราณ จารึก หนังสือ เอกสารจดหมายเหตุ ด้วย Application เดียว
โอกาสนี้ สำนักช่างสิบหมู่ ยังได้จัดนิทรรศการพิเศษ “สืบ สร้าง สาน ศาสตร์ศิลป์” โดยนำผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจัดแสดง เพื่อเผยแพร่ความรู้และข้อมูลในงานศิลปกรรม ก่อให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาด้านงานช่างสิบหมู่อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๖
สำหรับผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการผลงานของกรมศิลปากร เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึกและหนังสือกรมศิลปากร ลดราคาพิเศษ ร่วมฟังการเสวนาวิชาการ พร้อมรับชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี โดยสำนักการสังคีต สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันที่ ๒๙ มีนาคมนี้