November 21, 2024

Booking.com เผยอินไซต์ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ในปี 2566 และอนาคตอันสดใสของแวดวงการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน

July 17, 2023 724

แม้ปัจจุบันแวดวงการท่องเที่ยวจะเปิดกว้างมากขึ้น และเดินหน้านำเสนอประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่ผู้เดินทาง LGBTQ+ แต่ยังคงมีผู้เดินทาง LGBTQ+ อีกมากที่ต้องเผชิญอุปสรรคและข้อควรระวังมากมายระหว่างทริปของพวกเขา ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ทุกคนไม่ว่าจะรักใครหรือระบุตัวตนอย่างไรก็ตาม ได้ออกไปสัมผัสโลกกว้างอย่างราบรื่นและง่ายดายยิ่งขึ้น Booking.com จึงได้จัดทำแบบสำรวจประสบการณ์ด้านการเดินทางของ LGBTQ+ เพื่อเผยถึงความกังวลใจและความท้าทายที่ชาว LGBTQ+ ต้องเจอระหว่างการท่องเที่ยว และความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในแวดวงการเดินทางเพื่อสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ และมอบบริการที่เป็นมิตร ซึ่งมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นของผู้เดินทาง LGBTQ+ จากทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้น

 

อายาน เดคก์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Booking.com กล่าวว่า “ที่ Booking.com เราเชื่อมั่นว่าทุกคนควรได้ออกไปสำรวจโลกกว้างในแบบที่เป็นตัวเองมากที่สุด และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านนี้มาชุมชน LGBTQ+ ได้รับความสนใจ การยอมรับ รวมถึงได้รับความเข้าใจมากขึ้น เราจึงไม่ควรพลาดโอกาสของความก้าวหน้านี้ แวดวงการท่องเที่ยวควรมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม โดยการพัฒนาและมอบประสบการณ์เดินทางอันเป็นมิตรเพื่อให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิในทุก ๆ การออกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจสถานที่ใหม่ ๆ ใกล้บ้าน หรือออกไปท่องโลกกว้างก็ตาม”

อุปสรรคที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญระหว่างการเดินทาง

การถูกเลือกปฏิบัติยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้เดินทาง LGBTQ+ ต้องเผชิญระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว โดย 76% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ชาวไทยเปิดเผยว่า พวกเขาล้วนเคยถูกเลือกปฏิบัติระหว่างเดินทาง ซึ่งผลสำรวจได้เผยให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ ที่งานแข่งกีฬาและงานดนตรีระดับโลก รวมถึงการสนับสนุนผู้มีชื่อเสียงและองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในงาน มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าร่วมกิจกรรมในวันพักผ่อนของผู้เดินทาง LGBTQ+ จากการหยิบยกประเด็นกฎหมายและมุมมองเกี่ยวกับการเลือกปฎิบัติออกมานำเสนอต่อสาธารณชน

นอกจากนี้ 30% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเคยเผชิญการถูกตัดสินหรือเหมารวม ขณะที่ 22% เคยโดนจ้องมอง หัวเราะเยาะ หรือทำร้ายจิตใจด้วยวาจาจากผู้เดินทางคนอื่น และ 21% ถูกกระทำแบบเดียวกันจากคนในท้องถิ่น ส่วนอีก 15% ระบุว่าเคยถูกผู้บังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นข่มขู่หรือคุกคามระหว่างเดินทางท่องเที่ยว

ความก้าวหน้าที่เดิน ‘ถอยหลัง’

การเดิน ‘ถอยหลัง’ ที่ว่านี้หมายถึง การที่ผู้เดินทาง LGBTQ+ ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคลมากขึ้นเมื่อต้องวางแผนเดินทาง หรือแม้กระทั่งหลังจองการเดินทางเรียบร้อยแล้วก็ตาม พวกเขายังคงต้องระวังตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ซึ่งปัจจุบันมีถึง 64 ประเทศทั่วโลกที่กำหนดให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม และ 11 ประเทศในจำนวนดังกล่าวกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันอีกด้วย จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้เดินทาง LGBTQ+ จะได้มีโอกาสไปเยือนจุดหมายปลายทางเหล่านี้แบบเปิดเผยตัวตน ถึงแม้มีการจัดอีเวนต์สำคัญระดับโลกขึ้นในเมืองนั้น ๆ ก็ตาม

· 85% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ชาวไทยกล่าวว่า พวกเขาพิจารณาเรื่องความปลอดภัย และความเป็นอยู่ ที่ดีในฐานะผู้เดินทางชาว LGBTQ+ เป็นหลัก เมื่อต้องตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 73% ในปี 2565)

· 76% ยอมรับว่าข่าวสารเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านทัศนคติ การเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงต่อ LGBTQ+ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางในทริปการเดินทางของพวกเขาเป็นอย่างมาก

· 62% เคยยกเลิกทริปการเดินทางในปีที่ผ่านมาหลังทราบว่าจุดหมายปลายทางที่วางแผนไปเยือนไม่สนับสนุน ชุมชน LGBTQ+ โดยเฉพาะผู้เดินทางที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศมีแนวโน้มยกเลิกทริปถึง 63%

สิ่งที่ผู้เดินทาง LGBTQ+ ต้องเผชิญ

แม้การท่องเที่ยวยังคงเป็นประสบการณ์ที่ช่วยจุดประกายความรู้สึกเป็นอิสระและการแสดงออกถึงตัวตนอย่างเต็มที่ แต่ผู้เดินทาง LGBTQ+ จำนวนมากยังคงรู้สึกถึงข้อจำกัดในการนำเสนอตัวตนและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้เดินทางที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ พวกเขาต้องเจออุปสรรคที่ยากจะข้ามผ่าน ยกตัวอย่างเช่น พวกเขามักจะโดนตั้งคำถามเสมอ เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศ ชื่อ และรูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับข้อมูลที่ระบุในหนังสือเดินทาง

· โดย 68% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ชาวไทย ยอมรับว่าการเป็น LGBTQ+ ส่งผลต่อการนำเสนอตัวตนของพวกเขา ในแง่ของการเลือกเสื้อผ้าและการแต่งหน้าเมื่อออกเดินทางท่องเที่ยว (ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 75% สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ)

· 35% ระบุว่าพวกเขาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิริยาท่าทางเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตัดสินหรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ชวนอึดอัดกับผู้อื่น ในขณะที่ 32% รู้สึกว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน

เปลี่ยนความ ‘ระแวดระวัง’ ให้เป็นความ ‘มั่นใจ’

อย่างไรก็ตามตรงข้ามกับความรู้สึกกลัว ระแวดระวัง หรือไม่มั่นใจ 89% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ชาวไทย มองว่าการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจมากยิ่งขึ้นในฐานะผู้เดินทาง (เพิ่มขึ้นจาก 83% ในปี 2565) สะท้อนให้เห็นว่าประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจจากบริการที่เป็นมิตรและพร้อมต้อนรับทุกคน ทำให้ผู้เดินทาง LGBTQ+ รู้สึกมั่นใจที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

· แม้ความกังวลเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคลจะยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกจุดหมายปลายทางสำหรับการออกท่องเที่ยวของ LGBTQ+ (40%) แต่ยังมีแรงจูงใจเชิงบวกอื่น ๆ ที่ทำให้พวกเขาอยากเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม (35%) อาหารท้องถิ่นแสนอร่อย (31%) และชายหาดที่งดงาม (32%) ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของพวกเขา

· 94% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ เผยว่าพวกเขารู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมใดก็ตามที่ตัวเองต้องการ เมื่อได้ออกเดินทางท่องเที่ยว

· 89% มีแนวโน้มที่จะไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาสำหรับชุมชน LGBTQ+ โดยเฉพาะ

แวดวงการท่องเที่ยวกับการเป็น ‘พันธมิตร’ ของชาว LGBTQ+

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองของผู้คนทั่วไปที่มีต่อผู้เดินทาง LGBTQ+ โดย 85% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ชาวไทยรู้สึกสบายใจมากขึ้นเมื่อต้องออกทริป เมื่ออุตสาหกรรมการเดินทางมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวจึงควรทำหน้าที่เป็นพันธมิตรคนสำคัญให้กับผู้เดินทาง LGBTQ+ ผ่านการปรับใช้นโยบายที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม พร้อมนำเสนอการบริการที่เป็นมิตรและพร้อมต้อนรับทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครหรือระบุตัวตนอย่างไรก็ตาม โดยจากผลสำรวจของ Booking.com เผยให้เห็นถึงหลากหลายประเด็นสำคัญที่ผู้ให้บริการด้านการเดินทางต้องทำความเข้าใจ และปรับตัวเพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้เดินทาง LGBTQ+ ดังนี้

· 44% ของผู้เดินทาง LGBTQ+ ชาวไทย อยากทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานภาพของ LGBTQ+ ในจุดหมายปลายทางนั้น ๆ เช่น กฎหมายท้องถิ่น หลักความเชื่อทางศาสนา และเคล็ดลับว่าควรไปที่ไหนที่พวกเขาจะปลอดภัย

· 87% ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์และประสบการณ์ที่ผู้อื่นมีต่อแบรนด์ เพื่อทำความเข้าใจบทบาทในการสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ ของแบรนด์นั้น ๆ

· 86% กล่าวว่าพวกเขาสนใจที่จะจองทริปเดินทาง รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยวกับแบรนด์ที่มี LGBTQ+ เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหารมากกว่า (เพิ่มขึ้นจาก 71% ในปี 2565)

· 86% เห็นด้วยว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะชื่นชอบและเลือกใช้บริการสายการบินและแบรนด์ที่มีนโยบายด้านความเท่าเทียมและพร้อมต้อนรับทุกคน (เช่น การมีนโยบายให้พนักงานใส่ชุดยูนิฟอร์มที่ไม่แบ่งแยกเพศสภาพ)

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2564 เป็นต้นมา โปรแกรม Travel Proud ของ Booking.com ได้จัดฝึกอบรมการให้บริการอย่างเท่าเทียมให้กับที่พักคู่ค้าของเราฟรี ซึ่งช่วยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ให้บริการด้านการเดินทางเกี่ยวกับอุปสรรคในการเดินทางที่ผู้เดินทาง LGBTQ+ กำลังเผชิญ รวมถึงมอบทักษะและเทคนิคที่นำมาปฎิบัติตามได้ทันทีอย่างมีประสิทธิภาพในที่พักของตน เพื่อมอบการบริการที่เท่าเทียมและสะดวกสบายให้กับผู้เดินทาง ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ไหน จะรักใคร หรือระบุตัวตนว่าเป็นอย่างไรก็ตาม โดยปัจจุบันโปรแกรมฝึกอบรมนี้จัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาเลียน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกสแบบบราซิลเลียน และภาษาเยอรมัน ซึ่งมีการฝึกอบรมในทุกภาษาข้างต้นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

 

ซึ่งในปัจจุบันมีที่พักที่ได้ใบรับรอง Proud Certified แล้วกว่า 24,000 แห่งใน 7,030 เมืองจาก 118 ประเทศและดินแดนทั่วโลกแล้วบนแพลตฟอร์มของ Booking.com โดยที่พักคู่ค้าที่ผ่านการอบรมแล้วจะได้รับการรับรอง Proud Certified และได้รับป้ายสัญลักษณ์ Travel Proud บนหน้าข้อมูลที่พัก เพื่อแสดงให้ผู้เดินทางเห็นถึงความมุ่งมั่นของที่พักที่พร้อมมอบประสบการณ์เดินทางที่เป็นมิตร และต้อนรับผู้เดินทางทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

X

Right Click

No right click