เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ด้วยดีเอ็นเอ Made From Her ต่อยอดความละเอียดใส่ใจในมุมมอง Sustainable way กับแนวคิด “เคียงข้าง...สร้างสรรค์ชีวิตยั่งยืน” พร้อมด้วยพันธมิตร ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการนำนวัตกรรม “สภาวะน่าสบาย” ผลงานวิจัยของพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าทดลองภายในบ้านที่พักอาศัยจริงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่โครงการเสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29 เพื่อค้นหาสภาวะน่าสบายสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ที่มุ่งมั่นส่งมอบที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย และส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลกควบคู่กันไป
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ได้ลงนามความร่วมมือในการสนับสนุนบ้านโครงการ เสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29 สำหรับงานวิจัยนวัตกรรม “สภาวะน่าสบาย” ที่เป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาโดยพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนแนวคิดการสร้างบ้านประหยัดพลังงาน และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้พักอาศัย รวมถึงต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพของแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาโครงการบ้านของเสนาฯ
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ให้ความสำคัญกับการสร้าง และส่งมอบที่พักอาศัยให้กับลูกบ้าน ด้วยดีเอ็นเอ Made From Her ที่พัฒนาด้วยความละเอียดใส่ใจ สู่แนวคิด “เคียงข้าง... สร้างสรรค์ชีวิตยั่งยืน” โดยทีมงานไม่เคยที่จะหยุดคิด ค้นหานวัตกรรม และพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย และยังต้องอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย เกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวเจ้าของบ้านเอง และส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด ดังจะเห็นได้จากการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซี่งเสนาฯ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรกที่ติดตั้งโซลาร์ให้กับบ้านในโครงการทุกหลัง
จากการไม่หยุดคิด และไม่หยุดพัฒนานี้ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จึงได้ร่วมทุนกับ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาบ้านในทิศทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาบ้านเพื่อการพักอาศัยที่ยั่งยืน โดยได้เริ่มต้นนำคอนเซปท์บ้าน Zero Energy House ของ ฮันคิว ฮันชินที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่นมาต่อยอด และพัฒนาเป็นต้นแบบ “แนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์” ในแบบที่เหมาะกับคนไทยเพื่อให้ลูกบ้านมีบ้านที่อยู่ได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน และยังรักษ์โลกไปได้ด้วยพร้อมๆ กัน
“ล่าสุดทางเรา คือ เสนาฯ และฮันคิว ฮันชิน ได้รับทราบถึงการทดลองนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย สภาวะน่าสบาย ที่ได้ริเริ่มทำการวิจัยโดยพานาโซนิค ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เกิดความสนใจ เนื่องจากมีแนวคิดในการพัฒนาการอยู่อาศัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนการทดลองนี้ จากการวิจัยในแบบบ้านจำลอง ให้มาทดลองในบ้านจริงของเรา เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่ตรงกับการใช้ชีวิตจริงมากที่สุด และสามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรม หรือพัฒนาเป็นเทคโนลียีเพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางเสนาฯ และฮันคิว ฮันชินเอง ต้องขอบคุณทางพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์ที่เล็งเห็นถึงความตั้งใจและแนวทางของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ลูกค้าอย่างยั่งยืน ทำให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมดีๆ แบบนี้ และอาจมีโอกาสในการต่อยอดสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
นายมิสึฮิโระ นากาซาว่า ผู้จัดการทั่วไป บ. ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ในฐานะพาร์ทเนอร์ของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ เราอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องพิจารณามาตรการป้องกันภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ฮันคิว ฮันชิน ในฐานะหนึ่งในนักพัฒนา เราตระหนักอย่างยิ่งถึงความจำเป็นในการเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยฮันคิว ฮันชิน ในประเทศญี่ปุ่นได้ ได้เร่งดำเนินการติดตั้งบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy House - ZEH) สำหรับที่พักอาศัยและยังคงเร่งดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือกับลดภาวะโลกร้อนอย่างเต็มที่
“เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนพื้นฐานของความเข้าใจ ดูแล และสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของลูกค้าอย่างดีที่สุด ซึ่งการศึกษา “สภาวะน่าสบาย” ผ่านบ้านแบบจำลองโดยพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะศึกษาเพื่อค้นหาโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆที่ให้ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของผู้พักอาศัย รวมถึงเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวิศวกรรมระบบ สอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนา
ที่พักอาศัยของเราเช่นกัน โดยคาดหวังว่าการร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยในครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในด้านประหยัดพลังงาน และความสะดวกสบายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย”
มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่พานาโซนิคได้เข้ามามีส่วนร่วมในประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เรามีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ และสร้างความเป็นอยู่ทีดีต่อผู้บริโภคเสมอมา ในขณะเดียวกัน เรายังได้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน อันเป็นที่มาในการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนและประหยัดพลังงานในประเทศไทย (Sustainable and Energy-Efficient Housing Technologies in Thailand) รวมไปถึง การค้นคว้าเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ อย่าง “สภาวะน่าสบายภายในบ้าน” สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ
โดยได้เริ่มการวิจัย ผ่านการทดลองภายในแบบบ้านจำลอง ZEN Model ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อค้นคว้าระบบปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานและสร้างสภาวะน่าสบายภายในบ้าน และเพื่อขยายผลการทดลองในบ้านจำลอง จึงนำมาสู่การทำการค้นคว้าและวิจัยร่วมกันระหว่างสี่องค์กรในครั้งนี้โดย เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้สนับสนุนบ้านจริงเพื่อการอยู่อาศัยในการทดลองประสิทธิภาพการทำงานของระบบโดยหวังผลให้ระบบนี้เป็นหนึ่งในแนวทางการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนสำหรับคนไทย ภายใต้ภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ปราศจากความเครียด (Stress-free) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (Carbon-free) และลดการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) เกิดเป็นเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยในอนาคตที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทยต่อไป”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในการจัดทำการวิจัยกับพานาโซนิคในประเทศไทยครั้งนี้ เราได้นำความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ ทั้งจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาผนวกกับความรู้ความชำนาญทางเทคโนโลยีของพานาโซนิค ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการวิจัยไปข้างหน้าและมีส่วนช่วยในการพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคตได้ โดยปัจจุบันความร่วมมือนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง โดยการนำเทคโนโลยี BIM หรือ Building Information Modelling และ Digital Twin เข้ามาช่วยในการออกแบบและก่อสร้างบ้านโมดูลาร์ในชื่อ ZEN Model ขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบาย และร่วมทำการเก็บข้อมูลจากการให้กลุ่มตัวอย่างได้เข้ามาทดลองใช้ชีวิตในพื้นที่บ้านทดลอง ซึ่งจะขยายผลสู่การทดลองกับบ้านเดี่ยวในโครงการของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ เพื่อให้ได้ผลที่ใกล้เคียงจริงยิ่งขึ้น และสามารถนำไปต่อยอดการยกระดับมาตรฐานการอยู่อาศัยของผู้คนทุกระดับในเขตร้อนชื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ