November 21, 2024

KKP วิเคราะห์รากปัญหาการศึกษาไทยต่ำเกณฑ์ PISA แนะกระจายอำนาจการศึกษา

December 21, 2023 651

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศคะแนน PISA ของปี 2022 ซึ่งเป็นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนในแต่ละประเทศตามมาตรฐานสากล ผลคะแนน PISA ของไทยในปีล่าสุดเป็นที่น่าตกใจเพราะคะแนนของไทยตกต่ำลงในทุกหมวด ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012 จำนวนนักเรียนที่ได้คะแนนในระดับต่ำกว่าคะแนนพื้นฐานที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบเพิ่มขึ้นถึง 19% ในหมวดคณิตศาสตร์ 32% ในหมวดการอ่าน และ 19% ในหมวดวิทยาศาสตร์ แม้ว่าคะแนน PISA อาจจะไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพการศึกษาได้ดีที่สุดหรือได้ในทุกมิติ แต่ก็นับว่าเป็นวิธีการวัดผลการเรียนการสอนในเชิงเปรียบเทียบได้ดีระดับหนึ่งตามมาตรฐานสากล ทั้งในมิติของการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ และการเปรียบเทียบเพื่อแสดงพัฒนาการของประเทศหนึ่ง ๆ ซึ่งผลการทดสอบคุณภาพการศึกษาของไทยในช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าไทย “ใช้เงินมากขึ้นกับการศึกษา จำนวนนักเรียนน้อยลง แต่คุณภาพยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด” KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ชวนดู 10 เหตุผลว่าทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงลดลง รากฐานของปัญหาอยู่ที่ไหน และภาครัฐควรจะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ?

1) การศึกษาไทยเน้นปริมาณ : งบประมาณด้านการศึกษาของไทยไม่ใช่ปัญหา โดยมีงบอุดหนุนต่อนักเรียน 1 คนที่ระดับประมาณ 20% ของรายได้เฉลี่ยประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้ว แต่มักเป็นการใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่ได้ใช้งานจริง เช่น อุปกรณ์ช่วยการสอนที่ครูอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือการเพิ่มเวลาเรียนให้กับเด็กโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพการสอนควบคู่กัน

2) การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตรงจุด : ขาดการวิจัยและพัฒนาและการปรับปรุงคุณภาพบุคลากร วิธีการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ คือ จัดสรรงบประมาณตามจำนวนหัว โดยนำงบทั้งหมดหารด้วยจำนวนนักเรียน แล้วให้งบแก่โรงเรียนตามจำนวนนักเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบและได้รับเงินอุดหนุนไม่เพียงพอ

3) ครูมีจำนวนไม่เพียงพอ : ครูไทยขาดแคลนกว่า 30,000 คนในโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะการจัดสรรครูที่ขาดประสิทธิภาพ โดยการกำหนดจำนวนครูตามขนาดโรงเรียนทำให้ครูในโรงเรียนเล็กมีภาระหนักเกินความจำเป็น ครู 1 คนต้องรับภาระสอนนักเรียนมากกว่า 1 ห้องเรียนและอาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนครูที่รุนแรงและทำให้คุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตกต่ำลงเรื่อย ๆ

4) ความเหลื่อมล้ำยังสูง : โรงเรียนต่างจังหวัดคุณภาพต่ำ พบว่าคะแนน ONET กรุงเทพฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศประมาณ 23% ในหมวดคณิตศาสตร์ และ 40% ในหมวดภาษาอังกฤษ โรงเรียนใหญ่ในเมืองคุณภาพสูงกว่ามาก ในขณะที่ผลคะแนน PISA ชี้ว่ามีนักเรียนจำนวนมากในไทยที่ไม่ผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ สะท้อนว่านักเรียนสัดส่วนใหญ่ในไทยยังมีคุณภาพที่ต่ำกว่าเกณฑ์และเด็กเก่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง

5) คุณภาพครูไม่พร้อม : จากตัวเลขการสำรวจความเพียงพอของบุคลากรในรายงานของ PISA ไทยขาดแคลนบุคลากรที่ผ่านมาตรฐานทั้งในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา โดยจากผลสำรวจมีสัดส่วน

ผู้อำนวยการโรงเรียนมากเกิน 40% ที่ตอบคำถามว่าขาดแคลนครูที่ได้มาตรฐาน งานศึกษาของ OECD ยังชี้ให้เห็นว่าคุณภาพครูไทยเป็นปัญหามาจากวิธีการคัดเลือก หลักสูตร และการประเมินผลของครูไทยที่ยังไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลให้ครูไทยอาจขาดความเข้าใจหลักสูตรและสอนตามเป้าหมายของหลักสูตรได้ไม่เต็มที่

6) เงินเดือนครูไม่พอ แรงจูงใจไม่ตรงเป้า : ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเริ่มต้นจากการกำหนดให้เงินเดือนครูอยู่ในระดับที่แข่งขันได้กับวิชาชีพอื่น ในกรณีของไทยเงินเดือนครูยังไม่สามารถดึงดูดผู้มีศักยภาพระดับสูงที่สุดมาทำสายอาชีพนี้ได้มากนักแม้ว่ารายได้ครูจะอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศแล้วก็ตาม ปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือปัญหาด้านแรงจูงใจ เนื่องจากในการพิจารณาขึ้นเงินเดือน น้ำหนักกว่า 70% คือจริยธรรมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าทักษะการสอน ทำให้ครูไทยใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่องานนอกห้องเรียน เช่น การอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ หรือการทำรายงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ มากกว่าการพัฒนาคุณภาพการสอน

7) ครูไทยชีวิตแย่ เป็นหนี้สูง : หนี้ของครูเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท เทียบกับหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าคุณภาพชีวิตครูไทยค่อนข้างอยู่ภายใต้ข้อจำกัดอย่างน้อยในทางการเงิน เมื่อครูอยู่ภายใต้ภาระหรือข้อกังวลของปัญหาในชีวิตส่วนตัวก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนในห้องเรียน

8) ปัญหาของการประเมินผลการศึกษา : แบบทดสอบที่ใช้วัดมาตรฐานการศึกษาของไทยมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเรื่องคุณภาพของแบบทดสอบในหลายประเด็น 1) ข้อสอบ ONET ไม่ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ถูกตั้งคำถามว่าหลายข้อไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน 2) ข้อสอบวัดความถนัดเฉพาะ เช่น PAT ที่ใช้สำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหาในเรื่องความยาก การไม่ยึดโยงกับหลักสูตร และมาตรฐานที่ไม่เท่ากันในข้อสอบแต่ละปี ทำให้การสอบวิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 50 คะแนนจาก 300 คะแนน ผลักให้นักเรียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชาซึ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในไทย

9) โครงสร้างหลักสูตรและการจัดสรรเวลาเรียน หลักสูตรของไทยเน้นการให้เด็กเรียนเยอะแต่บังคับการศึกษาในกลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์น้อย มีลักษณะเน้นสอนเนื้อหาให้ครบถ้วนเป็นหลัก เน้นการประเมินผลจากส่วนกลาง และขาดการสอนทักษะใหม่ ๆ เช่น ความรู้ทางการเงิน ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเรียนรู้ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลไปถึงการสอนที่ต้องการให้ครบตามเนื้อหาที่เยอะ ทำให้มีการเน้นการท่องจำไม่กระตุ้นให้เห็นความสำคัญและเกิดการคิดวิเคราะห์

10) การศึกษาแบบเก่า ผลิตคนไม่ตรงทักษะที่ต้องการ : โครงสร้างการศึกษาไทยยังเผชิญกับปัญหาผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดในหลายมิติ 1) ระดับการศึกษา : คนจบปริญญาตรีทำงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่าความสามารถมากถึงประมาณ 34% 2) อุตสาหกรรม : แรงงานในกลุ่มสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญ กฎหมาย ขาดแคลน ในขณะที่ภาคเกษตร ค้าปลีก มีมากเกินไป ซึ่งคนไทยมีความนิยมเรียนสาขาสังคมศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ทำให้ในปัจจุบันคนจบการศึกษาในกลุ่มบริหารธุรกิจมีจำนวนเกินกว่าความต้องการไปถึงประมาณ 35% ของแรงงานจบใหม่

 

5 ปัจจัยโลกเปลี่ยน หากไม่เร่งแก้การศึกษาเศรษฐกิจยิ่งทรุดหนัก

โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคตจะทำให้แรงงานได้รับแรงกดดันมากขึ้น เร่งความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษา ในสถานการณ์ปัจจุบันแม้ไทยจะมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็น Thailand 4.0 แต่กลับมีจำนวนนักศึกษาในกลุ่ม STEM ที่ต่ำ ขาดการสนับสนุนด้านการวิจัยอย่างจริงจัง KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มสำคัญอย่างน้อย 5 ข้อที่จะยิ่งสร้างความท้าทายต่อระบบการศึกษาไทยและแรงงานไทยในปัจจุบัน คือ 1) การเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีแบบใหม่จะทำให้แรงงานไทยมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น ขาดทักษะด้านการเขียนโปรแกรม 2) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี Automation ที่จะมาทดแทนงานที่ทำซ้ำ ๆ และงานที่ไม่ต้องใช้การคิดวิเคราะหฺ์ ทำให้แรงงานไทยส่วนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวเพื่อหางานใหม่ได้ 3) ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในอาเซียนทำให้ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต 4) Deglobalization กับเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคต่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ 5) ประเทศคู่แข่งเริ่มมีการพัฒนาศักยภาพแรงงานได้เหนือกว่าไทย

ไทยจะทำอย่างไรต่อไป ?

งานศึกษาของ PISA ชี้ให้เห็นหลายปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งไม่สามารถสำเร็จได้จากเฉพาะการใช้จ่ายด้านการศึกษาที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาในเด็กเล็กซึ่งจะส่งผลบวกต่อความสามารถในการเรียนรู้ในระยะยาวมากกว่า ความทั่วถึงในการสอนของครูที่ควรจะสะท้อนออกมาในแง่ของผลการเรียนของนักเรียนในห้องเรียนเดียวกันที่ไม่ควรแตกต่างกันมาก จำนวนครูที่ได้รับการรับรองมาตรฐานต้องมีจำนวนมากเพียงพอ จำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนควรอยู่ในระดับต่ำเพื่อให้เกิดดูแลเอาใจใส่ได้อย่างทั่วถึง และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาต้องไม่แตกต่างกันมากระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนห่างไกล

KKP Research ประเมินว่าไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงจังและต้องเร่งดำเนินการ การสนับสนุนการศึกษาไม่สามารถบรรลุได้จากการเพิ่มงบประมาณเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมีการใช้จ่ายที่ตรงจุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงคุณภาพเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน คือ 1) แก้ไขปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบ เพิ่มประสิทธิภาพของโรงเรียนขนาดเล็กผ่านการกระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น และพิจารณาควบรวมโรงเรียนหากจำเป็น 2) ออกแบบกลไกให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการสอนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด การประเมินผลในระดับอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาต้องยึดโยงกับผลลัพธ์ด้านการศึกษาของนักเรียน 3) ปรับปรุงระบบคัดเลือกและเตรียมการสอนบุคลากรที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ 4) ปรับปรุงหลักสูตรการสอนให้มีความทันสมัย และระบุถึงวิธีการและเป้าหมายของหลักสูตรอย่างชัดเจน 5) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

X

Right Click

No right click