January 22, 2025

การปรับเปลี่ยนรอบการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

March 27, 2024 251

กองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ  ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร  ประเภทกองทุนที่เป็นนิติบุคคล  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566  มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย  ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย  และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ  โดยกองทุนประกันวินาศภัยไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีรายได้หลักมาจากเงินที่บริษัทประกันวินาศภัยมีหน้าที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัย ตามอัตราที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.๕  ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ  โดยบริษัทต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยปีละ 2 ครั้ง   ครั้งที่ 1 นำส่งภายในเดือนมกราคม  ในอัตราร้อยละ ๐.๕ ของ
เบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา  และครั้งที่ 2 นำส่งภายในเดือนกรกฎาคม  ในอัตราร้อยละ ๐.๕  ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน

นับแต่ปี  พ.ศ. 2551  ที่มีการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551  จนถึงปัจจุบัน  มีบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย  จำนวนทั้งสิ้น 14 บริษัท  โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565  ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)  เป็นครั้งแรกของโลก  และในปี พ.ศ. 2563 กระทรวงสาธารณสุข  ได้ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยเชื้อดังกล่าวได้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว  จนทำให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)  มีสถานะขาดสภาพคล่องทางการเงิน  และไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้บริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและปิดกิจการลงอย่างต่อเนื่อง  ได้แก่  บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน),  บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน),  บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ซึ่งการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยดังกล่าว  ส่งผลทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องชำระหนี้แทนบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมาย  และทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยมีจำนวนประมาณ  60,000  ล้านบาท  และมีจำนวนเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมากกว่า  600,000  ราย 

โดยที่ผ่านมา...

โดยที่ผ่านมา  กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558  ด้วยมีเจตนารมณ์ในการชำระหนี้และคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมากองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยอยู่ระหว่างการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกจำนวน 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด, บริษัท เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด, บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยคิดเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนประกันวินาศภัย ได้พิจารณาอนุมัติชำระหนี้แทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 8,517 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้แล้วทั้งสิ้น 145,948 ราย ทั้งนี้ยังไม่รวมอีก 4 บริษัท ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีของบุคคลภายนอกและรอการนำส่งมาให้กองทุนประกันวินาศภัยชำระหนี้ต่อไป

กองทุนประกันวินาศภัย ตระหนักและทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากเอาประกันภัยเป็นอย่างดี และได้พยายามเพิ่มอัตราบุคลากร ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนในการรองรับและเพื่อเร่งรัดการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ และได้อนุมัติจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2566 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 กองทุนประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาคำทวงหนี้ และเสนอขออนุมัติจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้ประมาณเดือนละ  7,000  ถึง 8,000 กรมธรรม์ คิดเป็นเงินที่ขออนุมัติจ่ายให้แก่เจ้าหนี้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 350 ถึง 400 ล้านบาท โดยในขณะเดียวกันกองทุนประกันวินาศภัยได้พยายามจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนของกองทุนประกันวินาศภัย และได้มีการดำเนินการ เช่น ประการแรก กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการเสนอขอปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันวินา ตามมาตรา 80/3 จากเดิมอัตราร้อยละ 0.25 ปรับเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 0.50 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ซึ่งเป็นอัตราเงินนำส่งสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ประการที่สอง กองทุนประกันวินาศภัยได้เสนอแผนขอบรรจุวงเงินในแผนบริหารหนี้สาธารณะในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ต่อสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 และรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง  และประการสุดท้าย  กองทุนประกันวินาศภัยได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ  เพื่อดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามมาตรา 80 (11) ซึ่งจากการดำเนินการตามกฎหมายในด้านต่าง ๆ นี้ จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับสถานะทางการเงินของกองทุนประกันวินาศภัย  เพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยเร็วที่สุด     

ดังนั้น …

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและการดำเนินการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ซึ่งต้องรอเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยตามกำหนดระยะเวลาที่บริษัทจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัย ตามมาตรา 80/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกองทุนประกันวินาศภัยยังไม่ได้รับเงินจากช่องทางอื่น ๆ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นข้อจำกัดในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ อันเกิดจากการเอาประกันภัยแทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567  เป็นต้นไป กองทุนประกันวินาศภัยมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรอบการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ให้มีความสัมพันธ์กับรายได้ และรอบการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด แต่อย่างไรก็ดีในระหว่างที่รอการอนุมัติจ่ายเงิน กองทุนประกันวินาศภัยจะเร่งรัดให้มีการพิจารณารับรองมูลหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องเต็มกำลัง และหากกองทุนประกันวินาศภัยได้รับเงินจากช่องทางอื่น เช่น การกู้ยืมเงินหรือออกตราสารทางการเงิน หรือหากกองทุนประกันวินาศภัยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือจากแหล่งเงินอื่น ๆ กองทุนประกันวินาศภัยจะเร่งดำเนินการ
ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยโดยเร็วที่สุดต่อไป 


กองทุนประกันวินาศภัย

26 มีนาคม พ.ศ. 2567

Related items

X

Right Click

No right click