กระแสของกัญชากลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่มีแนวโน้มว่าโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่จะมีพรรคภูมิใจไทยรวมอยู่ในสมการนั้นด้วย หลังจากที่ชะงักไปบ้างเมื่อครั้งการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ใน MOU ระบุจะนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษโดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ซึ่งเท่ากับว่านโยบายกัญชาเสรี ของรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งผลักดันโดยพรรคภูมิใจไทยมีแนวโน้มว่าจะได้ไปต่อ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นโยบายการเปิดเสรีกัญชามีทั้งคุณและโทษ หลายเรื่องยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสังคมและระบบสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการปลดล็อกกัญชาโดยไม่มีการควบคุมและยังไม่มีมาตรการรองรับอย่างรอบด้าน แต่หากพิจารณาในด้านเศรษฐกิจแล้ว กัญชาเป็นพืชที่สามารถทำรายได้ได้จริง จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง ณ ปี 2565 นับตั้งแต่ต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ มีมูลค่ารวมถึงกว่า 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำมูลค่า 9,615 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์กลางน้ำ 14,690 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ 3,750 ล้านบาท แบ่งเป็น ยารักษาโรคและอาหารเสริม มูลค่า 1,500 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม 1,200 ล้านบาท เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล 800 ล้านบาท เครื่องนุ่งห่มและของใช้ส่วนตัว 250 ล้านบาท และยังมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในอีก 2 ปีข้างหน้า จะโตได้ 10-15% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 42,800 ล้านบาท
และจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในสังคมออนไลน์โดยใช้เครื่องมือ DXT360 ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ที่มีการกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2566 พบว่ามีการพูดถึงทั้งหมด 902 ข้อความ และได้รับการมีส่วนร่วม หรือ Engagement ถึง 12,358 ครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่าผู้คนบนสังคมออนไลน์ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา-กัญชงไม่น้อย และถ้าดูจากสัดส่วนการโพสต์ลงบนโซเชียล แยกตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้
· ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย มีการโพสต์ขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศและต่างประเทศ ที่ใช้ส่วนประกอบอย่างเส้นใยของกัญชามาช่วยปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้มีความแข็งแรงขึ้น โดยพบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีสัดส่วนการโพสต์บนโลกออนไลน์มากที่สุดคิดเป็น 57.43%
· ผลิตภัณฑ์ยา/การแพทย์ มีการโพสต์ส่วนใหญ่เป็นการใช้สารสกัดจากน้ำมันกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบของยาเพื่อการรักษาต่าง ๆ เช่น ประกอบการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง รักษาอาการปวดท้อง และรักษาอาการปวดเรื้อรัง เป็นต้น โดยสัดส่วนการโพสต์สินค้าประเภทนี้มีถึง 27.05%
· ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโพสต์ขายผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและการทำความสะอาดโดยใช้ส่วนประกอบเป็นสารสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ และยาสระผม เป็นต้น ซึ่งสัดส่วนการโพสต์สินค้าประเภทนี้มีมากที่สุดคิดเป็น 8.43%
· ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พบว่ามีการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นขนม ผงเครื่องดื่ม และเครื่องดื่มบรรจุขวด ซึ่งส่วนผสมที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาและใบกัญชา โดยสัดส่วนการโพสต์สินค้าประเภทนี้มีมากที่สุดคิดเป็น 6.54%
· ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ข้างต้น พบว่ามีการโพสต์ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 0.55% เช่น สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง คือ อิฐ และ เฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด หรือแผ่นกั้นผนังห้อง เป็นต้น ซึ่งในอนาคตอาจมีแนวโน้มว่าจะมีการนำสารสกัดจากกัญชาและกัญชงมาใช้แปรรูปหรือพัฒนาเป็นสินค้าหรือนวัตกรรมที่มีความหลากหลายในด้านของรูปแบบสินค้าและประเภทของสินค้ามากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อดูความคิดเห็นบนโซเชียล พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีความคิดเห็นเชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์ยา/การแพทย์ โดยมีการพูดถึงในเรื่องของการยอมรับการใช้กัญชามาประกอบการรักษามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการรักษาหรือบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถึงแม้ในความเป็นจริงจะยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์รองรับว่าสามารถรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้
แต่หากมองในมุมของผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มพบว่า ผู้คนบนโซเชียลได้มีการแสดงความคิดเห็นที่สื่อถึงความกังวลและความคิดเห็นไปในทิศทางเชิงลบ โดยเฉพาะความกังวลในเรื่องการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากกัญชา-กัญชง ที่อาจได้รับเกินปริมาณที่กำหนดจนทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือนำไปสู่การเสพติดไปจนถึงทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
กล่าวได้ว่า นับแต่มีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 และแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่น่าจะมีพรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล การใช้กัญชาจึงยังคงอยู่ในสถานะที่ถูกเปิดช่องให้ใช้ได้อย่างเสรี โดยไม่ได้ถูกจำกัดเพียงการใช้ทางการแพทย์ ไปจนกว่า
จะมีการออกมาตรการเพื่อควบคุมการเข้าถึงและการใช้อย่างเหมาะสม เรื่องของกัญชาจึงได้กลายเป็นวาระในการถกเถียงของคนทุกระดับในสังคมไทย
CR : Inforquest
ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
มาลงทุนด้วยกัญ
อย่างที่บอกไปแล้วว่าโลกขณะนี้มีคลื่นใหญ่หลายคลื่นกำลังถาโถมอยู่ แต่มีอยู่สองคลื่นที่เรารู้ค่อนข้างแน่แล้วว่ามันจะต้องเป็นไปตามนั้น และไม่มีอะไรจะขวางไว้ได้ นั่นคือ “เงินดิจิทัล” และ “กัญชาเสรี”
เดี๋ยวนี้ถ้ามีนักการเมืองหรือเซเลบคนไหนไปบอกต่อสาธาณะว่า “กัญชา คือ ยาเสพติด” มีหวังต้องถูกโห่หาป่า หาว่าท่านไปอยู่หลังเขาที่ไหนกันมาเหรอ ถึงได้ไม่รู้ว่ามีงานวิจัยจำนวนมากมายมหาศาลที่บอกว่า กัญชามีคุณในทางการแพทย์ ช่วยรักษาบรรเทาได้ทั้งโรคทางจิต เช่น โรคกังวลหรือผวารุนแรง โรคซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง และเสพแล้วไม่ได้ “ติด” อย่างที่เคยเข้าใจ
แฟชั่นกัญชามันเปลี่ยนไปแล้ว จากคนเจนเนอเรชั่นเก่าที่เคยมองกัญชาในแง่ร้าย กลายมาเป็นของที่พึงปรารถนาของคนรุ่นนี้
เมืองไทยเองก็กำลังแก้ไขกฎหมายให้ไปในทางนำเอากัญชามาใช้ในวงการแพทย์ได้ แม้จะยังไม่ได้อนุญาตให้นำมาใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือบริโภคกันทั่วไปได้ (เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และนิโคติน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่นิยมบริโภคเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือสันทนาการ ผ่านเครื่องดื่มอย่าง เหล้า เบียร์ ไวน์ กาแฟ ชา น้ำอัดลม และบุหรี่)
อีกไม่นาน เราคงจะได้เห็นกิจการขนาดใหญ่และบรรดา Start-Up ที่ทำงานทางด้านกัญชาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าต้องมีนักลงทุนที่สนใจลงทุนทางด้านนี้ ทั้งในเชิงส่วนตัวและผ่านกองทุน Venture Capital Funds หรือ Private Equities ต่างๆ เหมือนกับในต่างประเทศ
ทีนี้ สำหรับคนทั่วไปที่เห็นแล้วว่าแนวโน้มอันนี้มันต้องมาแน่ และต้องการเอาประโยชน์กับกระแสนี้บ้าง อยากจะลงทุนกับกระแสนี้ หรือเก็งกำไรนิดๆ หน่อยๆ เผื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่กัญชากลายเป็น Mainstream อย่างเต็มตัวเมื่อไหร่ ก็คิดว่าจะได้กำไรติดปลายนวมกับเขาบ้าง หรือแม้แต่ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการในสายนี้ ด้วยการช่วยลงทุนกับกิจการที่ดีและมีอนาคต...จะทำอะไรได้บ้าง
ไม่ยากค่ะ!!
ลองดูกองทุน ETF กองนี้ดู Horizons Marijuana Life Sciences Index ETF (HMLSF)
ที่แนะนำกองทุนเพราะคิดว่า การลงทุนกับกิจการกัญชาโดยตรงค่อนข้างเสี่ยง เพราะมันเป็นธุรกิจใหม่ และเป็นธรรมดาของหุ้นแนวใหม่ที่มักมีการเก็งกำไรกันแยะ และเนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ยังใหม่มาก กฎหมายของแต่ละประเทศก็ยังไม่แน่นอน อีกทั้งแนวปฏิบัติของอุตสาหกรรมก็ยังไม่ลงตัว ราคาหุ้นเวลาขึ้นก็มักจะขึ้นตามข่าวดี และขึ้นเป็นฟองสบู่เกินพื้นฐานรายได้และศักยภาพในการทำกำไรของกิจการนั้นๆ ไปมาก เพราะคนเห่อกระแสกัญชา แต่พอราคาขึ้นไปมาก และคนเริ่มตระหนักว่ามันเป็นการเกินพื้นฐาน ก็มักมีการถล่มขาย ทำให้ราคาหวือหวามาก การลงทุนโดยตรงจึงค่อนข้างเสี่ยง
กองทุนนี้ลงทุนกับหุ้นกัญชาของสหรัฐฯ และแคนาดา เพราะแคนาดานั้นเป็นประเทศที่เปิดเสรีกัญชาเต็มที่แล้ว ทั้งทางการแพทย์และการบริโภคเพื่อหย่อนใจ ส่วนสหรัฐฯ นั้น แม้กัญชาจะยังผิดกฎหมายในระดับประเทศอยู่ (Federal) ทว่าในหลายๆ รัฐก็ได้ออกกฎหมายรองรับกัญชาเสรีแล้ว อ่อนแก่ต่างกันออกไป
ข้อดีของการลงกับกอง ETF กองนี้คือราคามันปรับตัวลงมาพอควรในช่วงก่อนหน้านี้ และมันยังมีแง่มุมให้เก็งกำไรต่ออีเว้นท์สำคัญในอนาคตได้อยู่
นั่นคือ การเปิดเสรีในระดับประเทศโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนล้วนเก็งเรื่องนี้กันอยู่แยะ เพราะหากว่ามีการเปิดจริงๆ อุตสาหกรรมกัญชาจะเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเลย เงินลงทุนคงจะทะลักเข้าอเมริกาอีกมากโข และ Start-Up ซึ่งจะทำเรื่องนี้ก็จะเติบโตได้มาก
New Frontier Data ประเมินว่าตลาดกัญชาโลก (ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย) น่าจะมีมูลค่าถึง สามแสนสี่หมื่นกว่าล้านเหรียญฯ เป็นอย่างต่ำ หรือประมาณ 9 ล้านล้านบาทโดยประมาณ
Merrill Lynch วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก ประเมินว่า “กัญชาเสรี” จะ Disrupt อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญฯ ในรอบอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ (เขาหมายรวมถึงอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์และบุหรี่ รวมทั้งอาหารเสริมต่างๆ ที่จะถูกกระทบโดยกัญชา และสินค้าที่มีสารซึ่งสกัดจากกัญชาผสมอยู่)
อย่างว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกโดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจ การเงิน และการลงทุน ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯ เคลื่อนไหวไปทางไหน โลกก็มักจะเคลื่อนตาม
แม้สหรัฐฯ จะยังไม่เปิดเสรีกัญชาในระดับประเทศก็ตาม ทว่าสถิติการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทางปัญญาในเรื่องเกี่ยวกับกัญชาก็เพิ่มขึ้นมาก แสดงถึงแนวโน้มการเติบโต แม้จะยังมีกฎหมายระดับประเทศเหนี่ยวรั้งอยู่ก็ตาม (ในระหว่างปี ค.ศ. 2016-2018 มีการจดทะเบียน 800 สิทธิบัตร ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงปี ค.ศ. 2013-2015 ถึง 50% เพราะช่วงนั้นขึ้นทะเบียนเพียง 530 สิทธิบัตร)
เมื่อเร็วๆ นี้ Bernie Sanders ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคเดโมแครต ก็ได้ออกมาประกาศว่า หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปีหน้านี้ เขาจะผลักดันการเปิดเสรีกัญชาในระดับประเทศอย่างเต็มที่
ตรงนี้คือจุดที่เราสามารถนำไปเก็งกำไรกับกองทุนกัญชาได้
เพราะถ้าการเมืองเปลี่ยน เดโมแครตขึ้นมาบริหารประเทศ หุ้นกัญชาอาจจะสวิงขึ้นอย่างมาก
ที่ผ่านมา แม้ประธานาธิบดีทรัมป์เอง ไม่ได้ประกาศสนับสนุนการแก้กฎหมายกัญชาในระดับประเทศก็ตาม แต่เขาก็ให้การสนับสนุนรัฐต่างๆ ในการแก้กฎหมายของตัวเอง
แต่นักการเมืองที่เก่ง ต้องอ่านใจประชาชนของตัวเองได้
และเราเชื่อว่า ถ้าลองทำโพลสำรวจความเห็นของคนทั่วโลกโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รวมทั้งคนอเมริกันด้วยแล้ว ก็น่าจะเห็นด้วยกับกัญชาเสรีมากกว่าไม่เห็นด้วย
ลองเจียดเงินที่ท่านคิดว่าจะเสี่ยงได้โดยไม่กระทบ ไปลงทุนในแนวนี้บ้าง ก็น่าจะช่วยสร้างสีสันให้ชีวิตไม่น้อย
‘บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป’ หรือ THG ลงนามเอ็มโอยูกับ ‘วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ’ ร่วมมือยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและผลิตสกัดกัญชง กัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์เชิงวิจัยพร้อมให้การสนับสนุนแบบครบวงจร ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ สนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูก จัดตั้งโรงสกัด แล็บทดสอบ เทคโนโลยีการผสมและผลิต การจัดจำหน่าย ตลอดจนส่งเสริมสถาบันการศึกษาให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต’ (Lifetime Health Guardian for All) เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานกัญชงและกัญชาในประเทศไทยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในทางการแพทย์ ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี เพาะปลูก การสกัดสารสำคัญ การนำสารสกัดไปใช้เพื่อการผลิตเวชภัณฑ์ยาที่ได้มาตรฐาน ล่าสุดบริษัทฯ จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) กับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนการเพาะปลูก วิจัย สกัด และตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับ Medical Grade สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาพืชกัญชงและกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ พร้อมสนับสนุนด้านการจัดหาเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่มีมาตรฐานในระดับการแพทย์ (Medical Grade) สามารถสกัดสารสำคัญต่างๆ อย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบระดับสารสำคัญต่างๆ ตรวจสอบสารปนเปื้อน เพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองมาตรฐานระดับ Medical Grade นอกจากนี้จะสนับสนุนการจัดหาเทคโนโลยีด้านการผสมสารสกัดจากพืชกัญชง กัญชาและการพัฒนาเวชภัณฑ์ยาเพื่อใช้ทางการแพทย์ รวมถึงดูแลด้านการตลาด และการจัดจำหน่าย
“ในระยะแรกเรามุ่งไปที่การสนับสนุนด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยสนับสนุนการปลูก และการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่ได้มาตรฐาน จากนั้นจะเป็นการขยายการปลูก และกำลังการผลิต คาดว่าโครงการนี้จะมีมูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท โดยอาจมีพันธมิตรร่วมกันลงทุน โดยเชื่อว่าความร่วมมือนี้ จะเป็นประโยชน์กับการแพทย์ไทย ที่จะเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงทางเลือกในการรักษาโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนภาควิชาการ เพิ่มขีดความสามารถการวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์บุญ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ‘ศูนย์วิจัยยาเสพติด’ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ (Drug Dependence Research Center (DDRC) เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 49 ปี โดยองค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งให้เป็น WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence (WHOCC) แห่งเดียวในประเทศไทย
‘ศูนย์วิจัยยาเสพติด’ มีวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรชั้นนำในการศึกษาวิจัย การสร้างนวัตกรรม และการเชื่อมโยงข้อมูล/องค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ด้านปัญหายาเสพติดรวมถึงผลเกี่ยวเนื่อง และผลกระทบด้านสุขภาพที่สำคัญ ‘ศูนย์วิจัยยาเสพติด’ ได้ขยายการดำเนินงานไป ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ – สระบุรี ภายใต้โครงการวิจัยกัญชา : เชิงสังคมและเชิงวิทยาศาสตร์และแนวทางกฎหมายตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ สนับสนุนทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จึงเป็นที่มาของการวิจัยกัญชาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเพาะปลูกแบบชีวภาพ รวมทั้งการสร้างระบบ วิธีการ ติดตามควบคุมกัญชา
สำหรับการวิจัยและพัฒนากัญชาของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีสารสกัดในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมดูแลที่ดี ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเตรียมดินและปุ๋ยชีวภาพ เพาะปลูกในอุณหภูมิและระดับความชื้นที่เหมาะสม การพัฒนาสายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ การสกัดสารที่สำคัญต่างๆ และการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
ศาสตราจารย์ ดร. จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติด แห่งนี้ ในระยะแรกประสบความสำเร็จในการปลูกแบบชีวภาพ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการปลูกกัญชา การพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ที่สามารถเพาะปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ภายใต้สภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ตลอดจนได้ทดลองเพาะปลูกกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเพาะปลูกในพื้นที่ในร่ม (Indoor) และเพาะปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) ตลอดถึงการศึกษาปรับปรุงสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกรูปแบบต่าง ๆ และวิธีการจัดเก็บสารสกัดที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มุ่งสู่เมดิคัลเกรด เพื่อประโยชน์สูงสุดทางการแพย์
“เรายินดีที่ THG เข้ามาร่วมมือและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการผลิต สกัดกัญชงและกัญชารวมถึงกระท่อมและพืชเสพติดอื่น เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในระดับพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งต่อยอดสู่การจัดตั้งโรงสกัด การจัดตั้งห้องแล็บเพื่อเป็นศูนย์ทดสอบ การจัดหาเทคโนโลยีด้านการปรุงและการผลิต รวมถึงการจัดจำหน่าย เพื่อดำเนินการอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร กล่าว