November 22, 2024

รายงานใหม่จากดีลอยท์Rebalancing your portfolio to fuel growth ชี้ชัด บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำเป็นต้องเร่งพิจารณาพอร์ตการลงทุนอย่างละเอียด เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต และจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจออกไป 

รายงานนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนการทบทวนพอร์ตการลงทุน โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง 250 คน จากบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชน ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดความจำเป็นในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน ได้แก่ 

  • ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อการยุติติดต่อหรือทำธุรกรรมกับตลาด ห่วงโซ่อุปทาน และพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้อง  
  • กฎระเบียบด้านประสิทธิภาพของเงินทุน (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเชีย) ที่กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยผลตอบแทนจากเงินทุนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 
  • การเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย สร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องแก้ไขสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานและขายธุรกิจที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลัก 
  • ESG (Environmental, Social, and Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล)) และเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กระตุ้นให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารดำเนินการซื้อขายสินทรัพย์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ "พอร์ตโฟลิโอสีเขียว" 
  • บทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ในฐานะนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ ในการตัดสินใจปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัท 

 ผลการสำรวจพบว่า การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท เพื่อปรับให้เข้ากับแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญข้างต้น รายงานผลการสำรวจดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดการบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยืดหยุ่นและการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยโอกาสการเติบโตและการผนึกกำลังเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม 

เจียก ซี อึ้ง ลีดเดอร์ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions)  ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า "แรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยด้านความยั่งยืน หรือแรงกดดันจากนักลงทุน ซึ่งบริษัทต่างๆ ควรต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเตรียมพร้อมสำหรับการจำหน่ายสินทรัพย์หรือธุรกิจ รายงานของดีลอยท์เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับกระบวนการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้มีพลวัตมากขึ้นและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อการเติบโตและสร้างมูลค่าในระยะยาว"  

ESG เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าธุรกิจ  

จากผลการวิจัย ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52 มีความเห็นว่า ประเด็นด้าน ESG  มีการนำมาพูดคุยกันบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างการเจรจาซื้อขายกิจการในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน ปัจจัยด้าน ESG มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินพอร์ตการลงทุนและกิจกรรมในการปรับสมดุลการลงทุน 

ผลกระทบของ ESG ต่อบริษัทแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและสถานะของบริษัทในตลาด บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงทั้งความเสี่ยง (แรงหน่วง) และโอกาสด้านการเติบโตและการสร้างมูลค่า (แรงหนุน) ที่มาจากการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่สามารถเชื่อมโยงแผนธุรกิจและปัจจัยด้าน ESG ได้อย่างชัดเจน มีโอกาสสร้างมูลค่าธุรกิจได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงหกเท่า 

การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิมได้รับความนิยมมากขึ้น   เกือบทุกบริษัทที่ตอบแบบสอบกล่าวว่าบริษัทกำลังพิจารณาใช้กลยุทธ์การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิม ควบคู่ไปกับการขายให้กับกองทุนเอกชน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ซึ่งมีรายงานว่ายังมีเงินทุนมหาศาลที่ยังไม่ได้ลงทุน ที่มีความต้องการสูงในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ต้องการขายธุรกิจหรือสินทรัพย์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยการติดต่อกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพตั้งแต่เนิ่นๆ และเปิดกว้างต่อโครงสร้างข้อตกลงที่หลากหลายมากขึ้น 

5 แนวทางสำคัญที่ธุรกิจควรนำไปปฏิบัติ 

จากการสำรวจกลุ่มผู้นำธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 79 คาดการณ์ว่าจะมีการจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในช่วงภายใน 18 เดือนข้างหน้า ที่น่าสนใจคือร้อยละ 95 เคยยกเลิกการเจรจาขายกิจการในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการขายกิจการมากขึ้น 

 “ในยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุกจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร เราจะเห็นการควบรวมกิจการและการขายกิจการที่เกิดขึ้นจากความต้องการเร่งการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และ/หรือ การเข้าซื้อกิจการเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ทำให้การควบรวมกิจการกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านผลกำไร” เดวิด ฮิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม 

จากการวิเคราะห์ผลการวิจัย บริษัทต่างๆ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้: 

  1. ปรับใช้แนวคิดการทบทวนพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ โดยจัดให้มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงมีการกำกับดูแลจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้สินทรัพย์สอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ 
  1. ประเมินพอร์ตการลงทุนตามความเหมาะสมกับกลยุทธ์ ศักยภาพในการสร้างมูลค่า และความยืดหยุ่น บริษัทควรประเมินการลงทุนโดยนำสามปัจจัยดังกล่าวมาทบทวนอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมทุกด้าน 
  1. เพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ด้วยการสื่อสารแผนธุรกิจที่น่าสนใจและผลการดำเนินงานในอดีตของสินทรัพย์นั้น 
  1. บูรณาการให้ ESG เป็นหัวใจสำคัญในการประเมินและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน 
  1. พิจารณาผลกระทบด้านภาษีและโอกาสทางภาษีอย่างรอบคอบ ในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

  มูราลีดาร์ เอ็ม เอส เค กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions) ของ ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย  กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเป็นแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรแล้ว การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ยังเป็นกลยุทธ์ที่มีค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ในการรับมือกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบใหม่ๆและ แรงกดดันจากนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ปรับสมดุลโครงสร้างทุนในช่วงปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานดีกว่าบริษัททั่วไปในตลาด ดังนั้น บริษัทต่างๆ ควรมีการปรับตัวเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ของตนมีความสอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร หากไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทอาจจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อขายกิจการหรือร่วมมือกับพันธมิตรที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นและบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ” 

ดีลอยท์ ประเทศไทย ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME D Bank) และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) โดย นายวัลลภ วิไลวรวิทย์ และนางสาวลสิตา มากัต พาร์ทเนอร์ บริการด้านการสอบบัญชี ดีลอยท์ ประเทศไทย (ที่สี่และห้าจากซ้าย) นางสาวกัลยา เฉลิมโชคชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารเงินและบัญชี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ที่หกจากซ้าย) และ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ,ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์, กรรมการผู้จัดการบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (ที่ห้าจากขวา) ร่วมเป็นประธาน ในพิธีเปิดงานและงานปฐมนิเทศ Acceleration Program - Road to LiVE รุ่นที่ 2 โครงการเสริมความพร้อมที่สำคัญของผู้ประกอบการในการเข้าตลาดทุน ณ ห้อง สุรศักดิ์ บอลรูม โรงแรม อีสติน แกรนด์ สาทร เมื่อเร็วๆนี้

โดยภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ “โอกาสของผู้ประกอบการบนเส้นทางตลาดทุน (SET/mai/LiVEx)” โดยนายประพันธ์ เจริญประวัติ และทีมผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “IPO Journey เส้นทางการเป็นบริษัทจดทะเบียน” โดย นายวัลลภ วิไลวรวิทย์ และ “How to become the smart IPO?” โดย รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล กรรมการอิสระ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมี นางสาวลสิตา มากัต พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการบรรยาย ในช่วงเย็นยังมีกิจกรรมเน็ตเวิร์คกิ้งเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ร่วมรับประทานอาหารเย็น และ สานสัมพันธ์ต่อยอดธุรกิจ โดยมีนายพิชิต มิทราวงศ์ (กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) เป็นประธานเปิดงาน

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลชาวไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจ Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13 ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล จำนวน 22,841 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก โดยมีคนไทยที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน แบ่งเป็น เจนซี 201 คน และ มิลเลนเนียลชาวไทย จำนวน 100 คน ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกของคนไทยในทั้งสองเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ดังต่อไปนี้

 

ด้านสุขภาพจิต และ ความกังวลหลัก

จากผลการสำรวจในปีนี้พบว่า เรื่องที่เจนซีมีกังวลมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การว่างงาน (ร้อยละ 36) และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 21) สำหรับปัจจัยที่มิลเลนเนียลมีความกังวล 3 อันดับแรกได้แก่ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 26) และ ความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก (ร้อยละ 24) นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีในประเทศไทย ร้อยละ 42 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 60 รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบัน เทียบกับปี 2566 โดยคนทั้งสองกลุ่ม ระบุว่ามีความเครียดน้อยลง ผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีที่บอกว่ารู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ลดลงจากร้อยละ 51 เหลือร้อยละ 40 และ มิลเลนเนียล ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 39 เหลือร้อยละ 38 เหตุผลที่สร้างความเครียดได้แก่ การเงินในอนาคต การเงินในชีวิตประจำวัน และ งาน

ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกับสุขภาพจิตของคนไทย

ความคาดหวังของเจนซีและมิลเลนเนียลไทยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลง เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยความคาดหวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และ มิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 26 เหลือร้อยละ 22 ความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือ ร้อยละ 19 และ มิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 33 และ ความคาดหวังต่อสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจ/การเมืองของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และมิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 23

ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 42 ของ เจนซี และ ร้อยละ 45 ของมิลเลนเนียล เชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และ 47 ตามลำดับ คนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่าภาคธุรกิจควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองภาคธุรกิจควรสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน ให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และ สร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไม่มาซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 81 และ 92 ตามลำดับ ตอบว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ร้อยละ 62 และ 59 ตามลำดับ เจนซี ร้อยละ 90 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 91 มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 92 ของเจนซี และ ร้อยละ 93 ของมิลเลนเนียล ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ ทานมังสะวิรัติ หรือ วีแกน (Vegan) และ เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจัยด้านการทำงาน

คนรุ่นใหม่ไทยมีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกพนักงาน โดยร้อยละ 96 ของ เจนซีในประเทศไทย และ ร้อยละ 99 ของมิลเลนเนียล ตอบว่าการมีเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงานและ ความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกที่ร้อยละ 86 และ ร้อยละ 89 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ร้อยละ 91 ของ เจนซีในประเทศไทย และ ร้อยละ 93 ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย บอกว่างานปัจจุบันทำให้ตนเองรู้สึกถึงความมุ่งหมาย (Purpose) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ร้อยละ 55 ของ เจนซี และ ร้อยละ 60 ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง ร้อยละ 55 ของเจนซี และ ร้อยละ 57 ของมิลเลนเนียล ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และ เป็นงานที่มีความหมาย

 ในภาพรวม เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยเห็นว่านายจ้างมีความใส่ใจต่อพนักงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเจนซี ร้อยละ 70 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 74 ตอบว่านายจ้างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เจนซี ร้อยละ 77 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 76 ตอบว่ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้จัดการอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ และ เจนซี ร้อยละ 73 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 68 บอกว่าหัวหน้างานรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการพูดคุยสื่อสารเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งคำตอบของเจนซีและมิลเลนเนียลคนไทยทั้งสองกลุ่ม สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ ร้อยละ 52 และร้อยละ 59 ตามลำดับ

ดีลอยท์ติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งสองเจนเนอเรชั่นทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราอยากทราบพัฒนาการทางความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ และ ความเข้าใจกันระหว่างคนในวัยต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น” อริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว

มานิตา ลิ่มสกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Human Capital ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “อยากจะขอเน้นย้ำว่าเรื่องการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี หรือ Mental Well-being เป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล คือ แรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในวันนี้ องค์กรที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลคนรุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้อง จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ”

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ผลการสำรวจมีความน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของคนไทยที่มีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกในในหลายแง่มุม ถ้ามองให้ละเอียดกว่านั้น จะเห็นถึงความแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนอีกด้วย”

 ดีลอยท์ ประเทศไทย ผนึก SME D BANK และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริการจาก LiVE Platform จัดโครงการ ‘Incubation Program – Road to LiVE’ หลักสูตรเสริมแกร่งสำหรับ SMEs และ Startups เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ตลาดทุนและสร้างโอกาสในการเติบโต พร้อมโอกาสรับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สูงสุด 50,000 บาท

นายวัลลภ วิไลวรวิทย์ Audit & Assurance Partner ดีลอยท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับเกียรติร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ Incubation Program - Road to LiVE หรือเส้นทางเตรียมความพร้อมสู่ตลาดทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) จัดขึ้นเพื่อเสริมความพร้อมที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ตอัพไทย (Startups) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแผนจะเข้าระดมทุนผ่านตลาดทุน ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจ

ความร่วมมือครั้งนี้ ดีลอยท์ ได้ส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญร่วมให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางให้ SMEs และ Startups ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถพัฒนาเรียนรู้การสร้างเส้นทางธุรกิจ และสามารถเตรียมความพร้อมในการระดมทุนผ่านกลไกตลาดทุนได้ตามวัตถุประสงค์ หลักสูตรดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 26 - 27 มีนาคม 2567 "ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ “Incubation Program - Road to LiVE” ได้เรียนรู้ 4 เรื่องสำคัญคือ การบ่มเพาะเส้นทางธุรกิจ (Incubation) เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง (Driving Change), การสำรวจและวางแผนระบบงาน (Explore) และการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อต่อยอดธุรกิจ (Aspiration) จากผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรการอบรมครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจสู่ธุรกิจมหาชน การทำแผนธุรกิจ การกำหนดการควบคุมภายใน รวมถึงการดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนอีกด้วย” นายวัลลภ กล่าว

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า SME D Bank ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างดีลอยท์ มาอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ให้เตรียมความพร้อมในการเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดทุน ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าเป็นสมาชิก DX by SME D Bank สามารถเข้าถึงห้องเรียนผู้ประกอบการออนไลน์ ซึ่งจะให้ความรู้โดย Exclusive Coach และได้รับสิทธิเข้าร่วมกิจกรรม “โอกาสธุรกิจสู่ Global Market” พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการ จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทอีกด้วย นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ผ่านบริการจาก LiVE Platform แพลตฟอร์มที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาธุรกิจให้เติบโต เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน และโครงการ Incubation Program – Road to LiVE เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ (LiVE Academy) โดยหวังว่าบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้เรียนรู้กลไกการระดมทุน และการเตรียมพร้อมระบบงานที่สำคัญเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพในตลาดหลักทรัพย์ LiVEx – mai - SET ได้ต่อไป

 ดีลอยท์เผยรายงาน Asia Pacific Centre for Regulatory Strategy (ACRS), ‘Generative AI: Application and Regulation in Asia Pacificซึ่งเป็นผลสำรวจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Generative AI ในภาคบริการทางการเงิน (Financial Services) ทิศทางของกฎระเบียบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และให้คำแนะนำกับ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ในการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในเรื่องนี้ ที่เป็นประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ACRS ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากดีลอยท์ทั้งหมด 12 คน ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกฎหมายทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AP) เพื่อทำความเข้าใจว่าเมื่อเทคโนโลยี Generative AI ("GenAI") ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น หน่วยงานที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลจะทบทวนกรอบการใช้งานของ AI ในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงทางเทคโนโลยีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจาก GenAI และสร้างความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มภาคบริการทางการเงินอยู่

จากความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เช่นการนำเทคโนโลยี GenAI มาใช้อย่างแพร่หลายผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Chat GPT ของ OpenAI และ Bard AI ของ Google ส่งผลให้ความเสี่ยงที่หน่วยงานที่กำกับดูแลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระบุในหลักการกำกับดูแลทางกฎหมาย AI มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความแข็งแกร่ง ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณา แต่ข้อกังวลเกี่ยวกับอคติและทรัพย์สินทางปัญญาส่งผลให้หน่วยงานที่กำกับดูแลจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์ของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับการรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภค

อุตสาหกรรมการบริการทางการเงินกำลังเผชิญช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงและดิสรัปชั่นครั้งใหญ่ GenAI เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางในการบริการ แต่เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ  ความสนใจและการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่อง AI ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินต่างเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น อคติ การกำกับดูแล ความรับผิดชอบ และการปกป้องข้อมูลตลอดวงจรชีวิตของ AI รวมถึงความเสี่ยงทางกฎระเบียบและ ความเสี่ยงทางกลยุทธ์อีกด้วย รายงานล่าสุดของดีลอยท์ จึงมีข้อแนะนำให้บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตและสร้างกรอบการกำกับดูแล AI เพื่อ ระบุ และจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

รายงานฉบับนี้นำเสนอประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

  • บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรเตรียมความพร้อมสำหรับกฎเกณฑ์ข้อบังคับของ GenAI ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
  • บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้นำแอพลิเคชัน AI มาใช้งานหรือกำลังพิจารณานำมาใช้งาน ควรเริ่มพัฒนากรอบการกำกับดูแล AI เพื่อสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบในอนาคตในเรื่องนี้ บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่แอปพลิเคชัน GenAI สร้างขึ้น
  • บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรประเมินปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดความเปราะบางของลูกค้า เช่น วุฒิการศึกษา รายได้ หรืออายุ และสร้างความเชื่อมั่นว่าการนำแอปพลิเคชัน GenAI มาใช้ไม่ส่งผลให้เกิดอคติหรือการเลือกปฏิบัติต่อลูกค้าที่มีความเปราะบางนี้ อันเป็นผลจากการนำแอปพลิเคชัน GenAI มาใช้ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
  • บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรระบุฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการรวบรวม จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นว่าฝ่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการปกป้องข้อมูล
  • เนื่องจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์สำหรับการนำเข้าและส่งออกข้อมูลของ GenAI ยังไม่ชัดเจน บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน จึงควรตั้งสมมติฐานว่าข้อมูลหรือข้อคำถามใด ๆ ที่มีการนำเข้าในแอปพลิเคชัน GenAI อาจกลายเป็นข้อมูลสาธารณะได้ เป็นคำแนะนำสำหรับการสร้างขอบเขตในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันการเปิดเผยทรัพย์สินทางปัญญาหรือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ
  • บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่นำเอาแอปพลิเคชัน GenAI มาใช้หรือมีแผนที่จะนำมาใช้ ควรลงทุนในการจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถ และจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ให้กับพนักงาน รวมถึงคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง เพื่อเพิ่มความเข้าใจในความเสี่ยงที่สำคัญและความรับผิดชอบในการลดความเสี่ยงเหล่านั้น

อากิฮิโระ มัตสึยามะ Risk Advisory Leader ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวว่า "แม้ว่ากฎระเบียบและกฎหมายด้าน AI จะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาหรือการนำไปใช้ในเขตอำนาจในการตัดสินคดีส่วนใหญ่ แต่บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินก็จำเป็นต้องใช้แนวทางที่วัดผลโดย สร้างกรอบการกำกับดูแล AI ของตนเองโดยเร็วที่สุดและดำเนินการเพื่อทำความเข้าใจ ระบุ และจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ออกกฎหมายเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการกระบวนการสร้างกณเกณฑ์และผลักดันฉันทามติเกี่ยวกับเส้นทางอนาคตของ AI”

Mr Wong Nai Seng Regulatory Strategy Leader ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี AI เช่น GenAI มีศักยภาพที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลภายในกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวควรเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลกและภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทที่ให้บริการทางการเงินจึงควรระมัดระวังในการพิจารณานำเทคโนโลยี AI มาใช้ เพื่อพิจารณาว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI เหมาะสมกับความเสี่ยงที่มีอยู่และกรอบการบริหารความเสี่ยงโดยรวมอย่างไร 

 7 มีนาคม 2567

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click