สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ เนื่องในโอกาส 200 ปี นับแต่ทรงพระผนวช ณ อาคาร พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร. 4 วัดราชาธิวาสวิหาร
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. เป็นสถาบันตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดตั้งขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2503 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ สืบสานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและเป็นความภาคภูมิใจที่สจล. ได้รับพระนาม “พระจอมเกล้า” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระบรมราชลัญจกร “พระมหามงกุฎ” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบัน นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นมหามงคลยิ่งในกาลต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ในการนี้ สจล.ได้ร่วมจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่วัดราชาธิวาส นำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านดาราศาสตร์ และการเสวนา“พระอัจริยภาพด้านโหราศาสตร์ ของรัชกาลที่ 4 โดยมี รศ.ดร.จรสวรรณ โกยวานิช ผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และผศ.ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรร่วมเป็นวิทยากร และแนะนำหลักสูตรดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้ต่อไป
และเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี วันคล้ายวันสถาปนา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สจล.มีโครงการ “ปรับปรุงอาคารนวัตกรรมเฉลิมพระเกียรติ ลานอุทยานพระจอมเกล้า และภูมิทัศน์โดยรอบ” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถ ของรัชกาลที่ 4 ในด้าน “ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์” ที่ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หาดหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 นั้น จนได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย
ความสนใจของท่านในด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงบริบทของประวัติศาสตร์สังคมในสมัยปลาย ร.3 เข้าสู่สมัย ร.4 แผ่นดินไทยเปิดรับวิทยาการความก้าวหน้าจากโลกตะวันตก นำมาสู่การวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าด้านภาษา เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้งโดยคนรุ่นต่อๆ มา
ล่าสุด สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงได้จัดทำโครงการสร้างหอเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ โดยสถาบันฯมีศิษย์เก่าที่มีความสามารถ เช่น ท่านอาจารย์อารี สวัสดี ประธานมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ และอดีตนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้เกียรติร่วมนำทีมคณาจารย์ ผู้บริหาร จัดสร้างหอเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ ณ ลานนวัตกรรมดาราศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ลานดูดาว เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้สนใจ
โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 โดย สจล.ได้เปิดรับการบริจาคเพื่อระดมทุนปรับปรุงอาคารรวมถึงการจัดสร้างจัดสร้างองค์พระนิรันตราย ขนาด 41.09 นิ้ว ประดิษฐานที่หอพระ และจัดสร้างองค์พระจำลองขนาด 5.9 นิ้ว และ 4 นิ้ว เคลือบทองนวัตกรรมจากสจล. พร้อมด้วยเหรียญพระนิรันตรายเพื่อเป็นที่ระลึก ให้กับผู้สมทบทุนในโครงการเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ ต่อยอดด้านการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ต่อยอดสู่การเรียนรู้ด้านอวกาศ โดยผู้บริจาคในโครงการนี้ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 200%
โดยขอเรียนเชิญศิษย์เก่าและผู้สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสามารถดูรายละเอียดที่ https://donation.kmitl.ac.th/ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณกรองแก้ว สกุนตศรี หรือ โทร. 0-2329-8136 เพื่อร่วมบริจาคได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ ผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลขที่บัญชี 693-0-66-0264
ในยุคที่เราต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและการดิสรัปในหลากหลายด้านนี้เอง ที่ส่งผลโดยตรงให้ทุกองค์กรต้องกำหนด ค่านิยมหลัก (Core value)
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มองปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ว่า
จากการที่อัตราการเกิดของประเทศไทยต่ำลงส่งผลถึงมหาวิทยาลัย เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งลดลง ขณะเดียวกันการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติก็สะท้อนให้เห็นค่านิยมของผู้ปกครองไทยที่ตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติ ลดความไว้วางใจกับระบบการศึกษาของไทยลง และอีกกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมา คือการเรียนการสอนออนไลน์แบบไร้พรมแดนที่มีให้เห็นชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลต่อความคิดเห็นของคนต่อการคงอยู่ของสถาบันการศึกษาที่เคยมีมา
จากความท้าทายทั้ง 3 ด้านข้างต้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ มองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรส่งผลรุนแรงมากต่อมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนและผลกระทบนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปทั้งวงการต่อไป โดยหนทางแก้ไขที่เขามองในฐานะที่สวมหมวกประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง คือ การเน้นคุณภาพ
“หลักสูตรที่ไม่มีคนเรียนก็จะต้องปิดหรือปรับปรุงใหม่เพื่อดึงดูดคน มหาวิทยาลัยจะเน้นปริมาณไม่ได้แล้ว ต้องเน้นคุณภาพจริงๆ สองลูกค้า ต้องลูกค้าต่างประเทศแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีคนจีนมาเรียน CLMV แอฟริกา หรือต่างประเทศที่สนใจประเทศไทย เขาสนใจไทยเพราะราคาถูกและมหาวิทยาลัยชั้นนำของเขาจำกัด”
ในเรื่องความนิยมหลักสูตรนานาชาติก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยจะต้องเร่งจัดทำโดยเร็ว ให้ตอบรับกับกระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกระแสการเรียนออนไลน์ที่กำลังแรงขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนดีๆ ทั่วโลกได้ โดยได้รับปริญญาจากการเรียนนั้น
“ยังไม่มีออนไลน์ที่ให้ปริญญา ออนไลน์ควรให้ปริญญาได้ด้วย คนไทยให้คุณค่ากับปริญญา ดังนั้น ถ้าจะดึงดูดให้ออนไลน์ ก็ต้องให้ปริญญาเขา 3 เรื่องนี้ ในเมื่อครูที่เก่งที่สุดในโลกอยู่ที่ MIT อยู่ที่คาร์เนกี้ เมลลอน อยู่ที่ฮาเวิร์ด ทำไมจะเรียนกับเขาไม่ได้ อินเทอร์เน็ตเราก็เร็วแล้ว แต่พอเรียนกับเขากลับบอกว่าไม่ให้หน่วยกิต แล้วใครจะเรียน เพราะสุดท้ายคนก็เลือกปริญญา”
ในส่วนของ สจล. การรับมือกับความท้าทายทั้ง 3 ประการมีการเตรียมการไว้ โดยในด้านคุณภาพเป็นนโยบายที่จะมุ่งเน้นคุณภาพด้านการศึกษา หลักสูตรจะต้องอ้างอิงกับมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก อาจารย์ต้องจบจากต่างประเทศหรือหากจบในประเทศก็ต้องผ่านการสอบภาษาอังกฤษ และต้องมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ มีการประเมินการเรียนการสอนทุกปี
ด้านความเป็นนานาชาติ ก็มีนโยบายที่จะให้ สจล. มีหลักสูตรนานาชาติมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 2 ปี และบางคณะเช่นวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องเป็นนานาชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่แข่งขันได้ในตลาดโลก
ด้านการเรียนรู้ออนไลน์ สจล.ร่วมมือกับหัวเหว่ยพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กที่หัวเหว่ยบอกว่าดีที่สุดในโลก และมีการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลยูนิเวอร์ซิตี้ใน สจล. เพื่อทำการเรียนการสอนออนไลน์ Open Courseware ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ และอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่องการให้ปริญญาจากการเรียนออนไลน์
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ สจล. ที่วางไว้ว่า จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปต่อยอด เพื่อยกระดับประเทศไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวถึงกลยุทธ์ของ สจล.ว่า “ที่เอาแพทย์กับวิศวะมาเย็บติดกัน เป็นแพทย์วิจัย แพทย์นวัตกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้และพึ่งพาตนเองได้ เอามาต่อยอด เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทางด้านดนตรีไปไกลมาก สจล.ก็เปิด วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต เรียนวิศวกรรมดนตรี เด็กที่รักดนตรีแต่เก่งคณิตศาสตร์ก็มาเรียนได้ ทางด้านการบิน นักบินขาดแคลน ทางสจล. ก็เปิดวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ หรือ IAAI ผลิตนักบินที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมอากาศยานและการซ่อมบำรุง เอาจุดแข็งขยาย และสุดท้ายคือ ร่วมมือกับคนที่เก่งที่สุดในโลก เราอยากจะสู้กับสิงคโปร์ คิดเองเออเองไม่ได้ ต้องเอาคนที่เก่งกว่าสิงคโปร์มาร่วมกับเรา เอาคนที่ 1 ของโลกมาช่วย นี่คือกลยุทธ์”
กลยุทธ์ที่ สจล. วางไว้ ไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยง่าย ดังนั้นวิธีการในการไปให้ถึงเป้าหมาย ศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงใช้วิธีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับโลก เพื่อผลักดันคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและงานวิจัยของ สจล. ให้ก้าวสู่ระดับโลกดังที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
อธิการบดี สจล. ยกตัวอย่างการทำงานวิจัยว่า “เราต้องการทำให้เป็นระดับโลกให้ได้ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยตีพิมพ์ในประเทศ งานวิจัยที่เป็นการประชุมวิชาการ แต่มีระดับวารสารวิชาการระดับโลกยังไม่มากเท่าที่ควร เราจะเน้นคุณภาพ แล้วจะทำได้อย่างไร ก็คบกับคนที่เก่งที่สุดในโลก ทำงานร่วมกัน ก็เข้าได้ ทำคนเดียวก็เข้าไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่านี่คือใคร อาจารย์คนนี้คือใคร เอาคนที่เก่งที่สุดมาช่วยเทรนคนของเรา ร่วมงานวิจัยกับเขา อย่างนี้ได้ ไม่ใช่แค่งานวิจัยหลักสูตรเขาทันสมัยกว่าเรามากเป็นสิบปี ไปคิดเองเออเองไม่ได้ เพราะโลกหักศอกแล้ว หากอยู่เฉยๆ ก็สูญพันธุ์ไปเลย”
ทั้งหมดนั้นเพื่อสร้างผู้นำไทย ที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ให้นิยามผู้นำสำหรับประเทศไทยว่า ต้องมีทักษะด้านภาษา มีความเข้าใจในเทคโนโลยีต่างๆ และรู้จักการให้
“ผู้นำไทยยุคนี้ต้องเป็นอย่างนี้ อยู่บนเวทีต้องฉะฉาน อาจจะสำเนียงไม่เท่าเขาแต่ฉะฉาน สอง เข้าใจเทคโนโลยี พูดเรื่องบิ๊กเดต้ารู้เรื่อง พูดเรื่องเศรษฐกิจยุคใหม่เป็นอย่างไร พูดได้ พูดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ คือคนที่เป็นนักเรียนที่เรียนดีจะดูดซับเรื่องพวกนี้ได้ง่าย และสุดท้ายคือรู้จักการให้ ไม่ทิ้งคนไว้เบื้องหลัง สร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ถ้าสร้างไปได้ปีหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสนคน คิดดูประเทศไทยเปลี่ยนแน่นอน”
ประเด็นหนึ่งในการพูดคุยกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์คือการถ่ายทอดและการ-คิดค้นเทคโนโลยี ศ.ดร.สุชัชวีร์มองว่า มหาวิทยาลัยคือจุดที่ดีที่สุดในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่ภาคเอกชน “คนที่จะดูดซับเทคโนโลยีได้ทุกที่ (ประเทศ) คือมหาวิทยาลัย ไปให้เอกชน เขาก็ต้องปั๊มเอาเงินก่อน มหาวิทยาลัย อาจารย์ต้องตีพิมพ์ ถ้าไม่เรียนรู้ก็ไม่ได้ผลงานไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ มีแรงจูงใจโดยธรรมชาติของความเป็นมหาวิทยาลัย และเด็กต้องไปดูดซับ ถ้าไม่ดูดซับก็เขียนปริญญานิพนธ์ไม่ได้ แต่รัฐไม่เคยเข้าใจ จนวันนี้ที่จะเริ่มดีขึ้น คนที่ดูดซับได้ดีสุดคือมหาวิทยาลัยเพราะถูกบังคับโดยธรรมชาติ และมีผลประโยชน์โดยธรรมชาติ ญี่ปุ่นจีนทำอย่างนี้ทั้งนั้น”
ขณะเดียวกันการจะกระตุ้นให้คนไทยที่มีความสามารถมากมายเป็นที่ยอมรับในแล็ปทั่วโลก ผลิตผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริงได้ ความเชื่อ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งสร้าง
“ต้องเริ่มด้วยความเชื่อก่อนว่าเราทำได้ คนไทยกับรัฐไม่เชื่อว่าคนไทยทำได้ ซื้อวันนี้ถูกกว่าของดีกว่าทำเองอยู่แล้ว ตอนผมเด็กๆ อายุ 4 ขวบผมไปซื้อถ่านไฟฉายมา 3 ก้อนเอาหนังสือพิมพ์พันเอายางรัดแล้วไปซื้อหลอดไฟมาติด ทำไฟฉายเอง มันน่าเกลียดมาก พ่อผมบอกว่าไงรู้ไหม เอ้เก่งจังเลย ลูกทำได้อย่างไร เก่งมาก แล้วพ่อผมเอาไปใช้ ก็ตลกมาก มันห่วยมาก ไฟฉายนั้นสร้างศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในเมืองไทย สร้างคนที่เข้าเอ็มไอทีได้ ผมทำบัดกรีไฟจะไหม้บ้านหลายรอบ ทำเสียงนกเสียงกาไปติดไว้ตามโอ่งพอน้ำเต็มแล้วมันร้อง แล้วพ่อจะเปิดเข้าไปทีมีเสียงอะไรอย่างนี้ พ่อผมไม่เคยรำคาญ ผมเลยมาเป็นศาสตราจารย์ เพราะพ่อผมเชื่อ พ่อผมคือรัฐ ไฟฉายทุเรศไหม แถมแพงกว่าที่พ่อจะไปซื้อ ใช้งานก็ห่วย”
ภาครัฐจึงต้องให้ความเชื่อถือกับ ผลงานของนักวิทยาศาสตร์นักประดิษฐ์ของไทยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และพัฒนากลายเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเอง
“อันแรกมันห่วย มันแพงอยู่แล้ว แต่ทำให้เกิดสิ่งต่อไป ทุกคนผ่านอย่างนี้มาหมด ญี่ปุ่น เกาหลี จีน แต่รัฐต้องเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้รองรับก่อน ยกตัวอย่างเครื่องมือแพทย์ ผมไปทำรากฟันเทียมมา 100,000 บาท มี 3 ชิ้น ทำที่เยอรมนีกับสวิส คนแก่เมืองไทยเป็นล้านคนต้องใช้รากฟันเทียมหลายล้านซี่ ทำเองซี่แรกก็ห่วย ซี่ที่ล้านจะสมบูรณ์แบบไหม แต่ไม่ถึงซี่ที่ล้านเสียที เพราะรัฐไม่ยอมซื้อ ซี่ที่ร้อยที่พันก็บอกว่าไม่เอาแล้ว เหมือนคุณเลี้ยงลูก ต้องปั้นเขา เชื่อว่าเขาทำได้ คนไทยฉลาดอยู่แล้ว มีพรสวรรค์แต่คุณเป็นพ่อแม่ คุณปล่อยให้เขาไปทำเองไม่ได้”
ศ.ดร.สุชัชวีร์มองปัจจัยที่ทำให้ สจล. รักษาความเป็นผู้นำด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า ประกอบด้วย ความกล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การสร้างผู้นำ “กล้าใช้คนจากต่างประเทศ กล้าให้ราคาแพงๆ กล้าให้เด็กรุ่นใหม่ มาเป็นผู้บริหาร ให้เด็กใหม่เป็นผู้เจรจา กล้าให้ทุนไปทำอะไรต่างๆ”
สิ่งที่สังคมจะเห็นได้จากผลผลิตของ สจล. คือทักษะของบัณฑิตที่ผลิตออกไป มีความสามารถด้านภาษา มีความเป็นผู้นำ มีแนวคิดใหม่ๆ มีหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบรับความต้องการของประเทศ เพราะนักศึกษาได้เห็นตัวอย่างจากในสถาบัน “นักศึกษาที่นี่ เห็นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ได้เห็นอธิการพูด ที่นี่นักศึกษาใหม่ทุกคนอธิการต้องบรรยาย วิชา I love KMITL เขาเห็นอธิการพูดแบบนี้ ดุดัน กล้าเปลี่ยนแปลง ก็อยากเป็นแบบพี่เอ้ ชัดเจน”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ มองว่า สำหรับวงการการศึกษาของประเทศไทย การได้เริ่มลงมือทำ จัดได้ว่าเป็นการบรรลุเป้าหมายไปขั้นหนึ่งแล้ว การได้เริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มลงมือทำจึงเป็นความสำเร็จขั้นต้นสำหรับวงการศึกษาไทยที่จะเห็นได้ชัดเจน