Mr. Chu Duc Dung กงสุลใหญ่ สาธารณรัฐเวียดนาม ประจำจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะผู้ติดตามจากสถานกงสุลฯ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ส่งผลต่อกลไกต่างๆ บนโลกไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงระบบการศึกษา ดังที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) สรุปให้กับ MBA ฟังว่า
หลังจากโลกยุคสังคมเกษตรก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการฝึกฝนทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ลักษณะการเรียนการสอนจากยุคกรีกโรมันที่เป็นการสอนแบบ 1 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อไม่กี่คนเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการมีสถาบันการศึกษาที่ชัดเจน เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในด้านต่างๆ และเมื่อมีเรื่องของอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการเรียนการสอนก็เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ เพื่อผลิตบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงในอุตสาหกรรมต่างๆ การศึกษาในยุโรปจะเน้นไปที่กระบวนการทำงานได้จริงเพิ่มขึ้น ขณะที่การศึกษาในสหรัฐอเมริกาจะเน้นการเรียนในห้องเรียน แต่มีระบบการทำวิจัย ส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานต่างๆ
ในโลกยุคปัจจุบันซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสารมีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างชัดเจน จากยุค 2G สู่ยุค 5G ที่ความสามารถในการส่งและรับข้อมูลได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รูปแบบการเรียนการสอนก็มีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันเมื่อเราต้องการรู้เรื่องอะไร สิ่งแรกที่เราทำคือการสืบค้นข้อมูลจากเครื่องมือค้นหาในอินเทอร์เน็ต รูปแบบการเรียนการสอนของทั้งโลกก็ปรับไปสู่ระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น พร้อมกับแนวคิดการศึกษาที่ผสมผสานกับการทำงานจริงในภาคธุรกิจ และแนวคิดทางด้านนวัตกรรมที่ต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ
ในประเทศไทยระบบการศึกษาก็อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง คนไทยรุ่นใหม่ผู้เกิดมาในยุคดิจิทัล เรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น เราเริ่มเห็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนการต่อยอดใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้ที่ทำงานแล้ว
ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามว่า ยังจำเป็นต้องมีปริญญาหรือไม่? ในเมื่อเขาสามารถหาข้อมูลที่สนใจได้จากทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ต
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตอบคำถามนี้ว่าสถาบันอุดมศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการคนรุ่นใหม่ด้วยแนวคิดการเรียนการสอนที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้เรียน ผ่านการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงานได้จริง โดยสถาบันการศึกษาสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลช่วยให้ความรู้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ข้อมูลจริงที่เป็นปัจจุบัน โดยเราเริ่มเห็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มวิชาทางด้านธุรกิจมากขึ้น เป็นการผสมผสานองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ
“ระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนจาก Teaching มาเป็น Coaching หรือ Mentoring ระบบ Coaching ก็คือแนะนำ ภายใต้ศักยภาพที่เขามี เหมือนกับต้องโค้ชผู้เรียน 1 ต่อ 1 หรือโค้ชแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นทีม ซึ่งเราจะเริ่มเห็นกีฬาจะมีโค้ชทีมรุก โค้ชทีมรับ โค้ชทีมพิเศษ โค้ชตัวต่อตัว ดังนั้นระบบการเรียนการสอนจึงเป็นลักษณะ Coaching” ดร.ธนวรรธน์ กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า
การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นอกจากการโค้ชแล้วยังเน้นเรื่อง Mentoring คือใส่ใจกับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้เรียน เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีระบบที่ช่วยบ่มเพาะในลักษณะธุรกิจพี่สอนน้อง โดยมีเป้าหมายคือการสร้างผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
รูปแบบการเรียนการสอนจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจ นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากผู้ที่ทำงานตัวจริง และหากเป็นการเรียนแบบออนไลน์ก็จะต้องผสมผสานความบันเทิงเข้าไปในด้วย เป็นความท้าทายที่ระบบการเรียนการสอนจะต้องตอบสนองกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียน และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
“สิ่งที่เราถ่ายทอดไปคือ เด็กต้องมีความสุข ฝ่ายกิจการนักศึกษาก็เริ่มถ่ายทอดกิจกรรมที่เด็กมีความสุข แล้วเราก็ทบทวนตลอดเวลา โอกาสคืออะไรเราเปิดทั้งหมด เช่น เขาอยากเต้นโคฟเวอร์แดนซ์เราก็ติดกระจกมากขึ้น และปล่อยให้เขาแสดงอิสระของตัวเองมากขึ้น เขาจะสนับสนุน LGBT เราก็ไม่ได้ขัด อย่างที่บอก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือ มหาวิทยาลัยแห่งโอกาส ทุกคนที่มีพลังบวกเราสามารถให้โอกาสได้ เราดำเนินการในหลายมิติเพื่อให้ใกล้ชิดกับคน Gen Z มากที่สุด เราไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ห่างกับเขา แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าใจและอยู่กับเขา และพร้อมพัฒนาในมิติที่เหมาะสมกับสังคม” ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
ดร.ธนวรรธน์ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยหอการค้าเตรียมปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียน เช่น ในการสอบต่อไปผู้เรียนอาจจะได้รู้ว่าทำผิดที่ใด ควรแก้ไขอย่างไร การเรียนและการประเมินผลจะต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
แต่โจทย์ใหญ่สำหรับผู้บริหารสถาบันการศึกษาคือการเปลี่ยนโครงสร้างที่มีมายาวนาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ใช้วิธีค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เริ่มนำ iPad มาใช้ในการเรียนการสอน ใช้ระบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า Digital Hybrid Learning and iTunes U ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีสถิติการใช้งานเป็นอันดับ 2 ของโลก และได้รับรางวัล Apple Distinguished School ติดต่อกัน 4 ปีแล้ว
และเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ออนไลน์ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะวิทยพัฒน์ (Extension School) เพื่อเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และมีการทำหลักสูตรให้กับธุรกิจต่างๆ รวมถึงเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีออนไลน์ในหลากหลายสาขาเพิ่มขึ้น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าเป้าหมายต่อไปคือการวางตัวเป็น AR VR Training Center โดยอยู่ระหว่างการวางรากฐาน เพิ่มเติมเทคโนโลยี AR (Augmented reality) เข้าไปในการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างสมจริงแม้จะอยู่ในห้องเรียนภายใน 3-5 ปี
นอกจากได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ แล้ว การเรียนผสมผสานกับการปฏิบัติคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มุ่งเน้น โดยจัดสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการสร้างผู้ประกอบการ เช่น Innovation Driven Entrepreneurship Center (IDE Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่ร่วมโครงการ MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program (MIT REAP) โครงการที่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ผ่านนวัตกรรม โดยปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การร่วมมือกับ Alibaba.com จัดตั้งศูนย์อบรมและดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่จะช่วยผลักดันให้นักศึกษาได้ปฏิบัติการจริงในโลกอีคอมเมิร์ชมากขึ้น
ขณะเดียวกันวิชา IDE 101 ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ ก็ได้รับการบรรจุให้นักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยทุกคน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางด้านธุรกิจผ่านการปฏิบัติ มหาวิทยาลัยยังเปิดสอนวิชาใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนเช่น วิชา Design Your Life เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใช้สอนในระดับปริญญาตรี เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าควรจะใช้และกำหนดทิศทางชีวิตอย่างไร
“เพราะเราจะเน้นเรื่องการปฏิบัติจริงมากขึ้น ระบบการเรียนการสอนจะเป็นระบบการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง” ดร.ธนวรรธน์ กล่าวและเสริมต่อถึงสิ่งที่จะได้เห็นจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต่อไปว่า
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจะสนับสนุนให้คณาจารย์ทำวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และเพิ่มพูนประสบการณ์จริงของผู้สอนในโลกธุรกิจ การเรียนการสอนจะมุ่งเน้นที่การปฏิบัติจริง ช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการประกอบอาชีพต่างๆ ตามสาขาที่เรียน เพื่อเตรียมตัวผู้เรียนให้พร้อมกับการออกไปทำงานในโลกธุรกิจจริง และที่สุดคือ ผู้เรียนจะต้องมีคุณธรรม สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ โดยรู้จักมารยาทและมีคุณธรรมในการทำงานซึ่งจะสอดแทรกไปในการเรียนการสอน
จากความสำเร็จในประเทศไทย อีกเป้าหมายหนึ่งในการบริหารงานของ ดร.ธนวรรธน์ คือ การทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทางด้านการค้าและบริการของอาเซียน โดยเริ่มจากการเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทในเมียนมา และปัจจุบันเพิ่มหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาเอก ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี จัดเป็นมหาวิทยาลัยต่างชาติลำดับต้นๆ ของเมียนมา
“ศิษย์เก่าของเราคือบรรดานักธุรกิจชั้นนำ 200 อันดับแรกของเมียนมา เราต้องการเปิดตลาดไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ เราต้องการเป็นมหาวิทยาลัยอินเตอร์ ซึ่งการเป็นอินเตอร์คือต้องการให้เข้ามาเรียนกับเราและเราออกไปที่ประเทศนั้นๆ” ดร.ธนวรรธน์อธิบาย
มหาวิทยาลัยมีแผนจะเพิ่มจำนวนประเทศที่เปิดการเรียนการสอนมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแผนงานที่จะนำเอาการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไปสู่ประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ต่อไป
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการสร้างผู้ประกอบการ การมีหอการค้าไทยเป็นเจ้าของ ทำให้สามารถเชิญผู้ประกอบการตัวจริงมาร่วมให้ความรู้และสร้างบรรยากาศด้านธุรกิจภายในสถาบัน กระตุ้นให้นักศึกษาเกิดแนวคิดแบบธุรกิจเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเรียนในสาขาวิชาใด
ดร.ธนวรรธน์ ยกตัวอย่างว่า “เรียนนิเทศเขาเป็นนิเทศแต่เขามีความคิดความอ่านแบบธุรกิจมากขึ้น ทุกกระบวนวิชาจึงเป็นความคิดแบบธุรกิจทั้งหมด เศรษฐศาสตร์จะต้องต่อยอดไปธุรกิจ มนุษยศาสตร์ก็ใช้ในเชิงธุรกิจ เนื่องจากบรรยากาศเป็นธุรกิจ เราเป็นอธิการบดี เราพูดอะไรในเชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ ลงไปที่คณะเราก็ส่งข้อมูลไปว่าเกี่ยวกับธุรกิจ พอไปที่นักศึกษาก็เป็นเศรษฐกิจธุรกิจ เราคงไม่สามารถหล่อหลอมให้ทุกคนเป็นนักธุรกิจได้ แต่โดยส่วนใหญ่เด็กจะใส่เสื้อเด็กหัวการค้าเวลามาทำกิจกรรม หล่อหลอมตัวตนของเขา เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังไปโดยปริยาย”
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เต็มไปด้วยโอกาส เราเปิดโอกาสให้กับทุกๆ คน ส่วนนี้เป็นเรื่องของดีเอ็นเอ เรื่องระบบนิเวศ และวัฒนธรรมของการทำงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่เป็นวัฒนธรรมที่ต้องผสมผสานระหว่างคน Gen X กับ Gen Y
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า การจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยทำมาอย่างต่อเนื่อง ทีมผู้บริหารตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน และเป็นโชคดีของสถาบันที่อาจารย์ทุกคนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยขยายต่อไปทั่วมหาวิทยาลัย
ประกอบกับสไตล์การบริหารงานของ ดร.ธนวรรธน์ ที่ตั้งอยู่บนฐานของการใช้ข้อมูล เน้นการใช้ Data Analytic โดยนำประสบการณ์จากการบริหารงานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคธุรกิจ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมมาปรับใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตามเป้าหมายที่จะสร้าง เด็กหัวการค้า
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
กระแสเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถาบันอุดมศึกษา
“ไม่มีแสงสว่างใด เสมอด้วยปัญญา” คำแปลจากพุทธศาสนสุภาษิต “นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา” ที่บรรจุอยู่เหนือ “ธรรมจักร”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มองปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ว่า
จากการที่อัตราการเกิดของประเทศไทยต่ำลงส่งผลถึงมหาวิทยาลัย เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งลดลง ขณะเดียวกันการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติก็สะท้อนให้เห็นค่านิยมของผู้ปกครองไทยที่ตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติ ลดความไว้วางใจกับระบบการศึกษาของไทยลง และอีกกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมา คือการเรียนการสอนออนไลน์แบบไร้พรมแดนที่มีให้เห็นชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลต่อความคิดเห็นของคนต่อการคงอยู่ของสถาบันการศึกษาที่เคยมีมา
จากความท้าทายทั้ง 3 ด้านข้างต้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ มองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรส่งผลรุนแรงมากต่อมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนและผลกระทบนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปทั้งวงการต่อไป โดยหนทางแก้ไขที่เขามองในฐานะที่สวมหมวกประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง คือ การเน้นคุณภาพ
“หลักสูตรที่ไม่มีคนเรียนก็จะต้องปิดหรือปรับปรุงใหม่เพื่อดึงดูดคน มหาวิทยาลัยจะเน้นปริมาณไม่ได้แล้ว ต้องเน้นคุณภาพจริงๆ สองลูกค้า ต้องลูกค้าต่างประเทศแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีคนจีนมาเรียน CLMV แอฟริกา หรือต่างประเทศที่สนใจประเทศไทย เขาสนใจไทยเพราะราคาถูกและมหาวิทยาลัยชั้นนำของเขาจำกัด”
ในเรื่องความนิยมหลักสูตรนานาชาติก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยจะต้องเร่งจัดทำโดยเร็ว ให้ตอบรับกับกระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกระแสการเรียนออนไลน์ที่กำลังแรงขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนดีๆ ทั่วโลกได้ โดยได้รับปริญญาจากการเรียนนั้น
“ยังไม่มีออนไลน์ที่ให้ปริญญา ออนไลน์ควรให้ปริญญาได้ด้วย คนไทยให้คุณค่ากับปริญญา ดังนั้น ถ้าจะดึงดูดให้ออนไลน์ ก็ต้องให้ปริญญาเขา 3 เรื่องนี้ ในเมื่อครูที่เก่งที่สุดในโลกอยู่ที่ MIT อยู่ที่คาร์เนกี้ เมลลอน อยู่ที่ฮาเวิร์ด ทำไมจะเรียนกับเขาไม่ได้ อินเทอร์เน็ตเราก็เร็วแล้ว แต่พอเรียนกับเขากลับบอกว่าไม่ให้หน่วยกิต แล้วใครจะเรียน เพราะสุดท้ายคนก็เลือกปริญญา”
ในส่วนของ สจล. การรับมือกับความท้าทายทั้ง 3 ประการมีการเตรียมการไว้ โดยในด้านคุณภาพเป็นนโยบายที่จะมุ่งเน้นคุณภาพด้านการศึกษา หลักสูตรจะต้องอ้างอิงกับมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก อาจารย์ต้องจบจากต่างประเทศหรือหากจบในประเทศก็ต้องผ่านการสอบภาษาอังกฤษ และต้องมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ มีการประเมินการเรียนการสอนทุกปี
ด้านความเป็นนานาชาติ ก็มีนโยบายที่จะให้ สจล. มีหลักสูตรนานาชาติมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 2 ปี และบางคณะเช่นวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องเป็นนานาชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่แข่งขันได้ในตลาดโลก
ด้านการเรียนรู้ออนไลน์ สจล.ร่วมมือกับหัวเหว่ยพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กที่หัวเหว่ยบอกว่าดีที่สุดในโลก และมีการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลยูนิเวอร์ซิตี้ใน สจล. เพื่อทำการเรียนการสอนออนไลน์ Open Courseware ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ และอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่องการให้ปริญญาจากการเรียนออนไลน์
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ สจล. ที่วางไว้ว่า จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปต่อยอด เพื่อยกระดับประเทศไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวถึงกลยุทธ์ของ สจล.ว่า “ที่เอาแพทย์กับวิศวะมาเย็บติดกัน เป็นแพทย์วิจัย แพทย์นวัตกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้และพึ่งพาตนเองได้ เอามาต่อยอด เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทางด้านดนตรีไปไกลมาก สจล.ก็เปิด วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต เรียนวิศวกรรมดนตรี เด็กที่รักดนตรีแต่เก่งคณิตศาสตร์ก็มาเรียนได้ ทางด้านการบิน นักบินขาดแคลน ทางสจล. ก็เปิดวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ หรือ IAAI ผลิตนักบินที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมอากาศยานและการซ่อมบำรุง เอาจุดแข็งขยาย และสุดท้ายคือ ร่วมมือกับคนที่เก่งที่สุดในโลก เราอยากจะสู้กับสิงคโปร์ คิดเองเออเองไม่ได้ ต้องเอาคนที่เก่งกว่าสิงคโปร์มาร่วมกับเรา เอาคนที่ 1 ของโลกมาช่วย นี่คือกลยุทธ์”
กลยุทธ์ที่ สจล. วางไว้ ไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยง่าย ดังนั้นวิธีการในการไปให้ถึงเป้าหมาย ศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงใช้วิธีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับโลก เพื่อผลักดันคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและงานวิจัยของ สจล. ให้ก้าวสู่ระดับโลกดังที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
อธิการบดี สจล. ยกตัวอย่างการทำงานวิจัยว่า “เราต้องการทำให้เป็นระดับโลกให้ได้ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยตีพิมพ์ในประเทศ งานวิจัยที่เป็นการประชุมวิชาการ แต่มีระดับวารสารวิชาการระดับโลกยังไม่มากเท่าที่ควร เราจะเน้นคุณภาพ แล้วจะทำได้อย่างไร ก็คบกับคนที่เก่งที่สุดในโลก ทำงานร่วมกัน ก็เข้าได้ ทำคนเดียวก็เข้าไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่านี่คือใคร อาจารย์คนนี้คือใคร เอาคนที่เก่งที่สุดมาช่วยเทรนคนของเรา ร่วมงานวิจัยกับเขา อย่างนี้ได้ ไม่ใช่แค่งานวิจัยหลักสูตรเขาทันสมัยกว่าเรามากเป็นสิบปี ไปคิดเองเออเองไม่ได้ เพราะโลกหักศอกแล้ว หากอยู่เฉยๆ ก็สูญพันธุ์ไปเลย”
ทั้งหมดนั้นเพื่อสร้างผู้นำไทย ที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ให้นิยามผู้นำสำหรับประเทศไทยว่า ต้องมีทักษะด้านภาษา มีความเข้าใจในเทคโนโลยีต่างๆ และรู้จักการให้
“ผู้นำไทยยุคนี้ต้องเป็นอย่างนี้ อยู่บนเวทีต้องฉะฉาน อาจจะสำเนียงไม่เท่าเขาแต่ฉะฉาน สอง เข้าใจเทคโนโลยี พูดเรื่องบิ๊กเดต้ารู้เรื่อง พูดเรื่องเศรษฐกิจยุคใหม่เป็นอย่างไร พูดได้ พูดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ คือคนที่เป็นนักเรียนที่เรียนดีจะดูดซับเรื่องพวกนี้ได้ง่าย และสุดท้ายคือรู้จักการให้ ไม่ทิ้งคนไว้เบื้องหลัง สร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ถ้าสร้างไปได้ปีหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสนคน คิดดูประเทศไทยเปลี่ยนแน่นอน”
ประเด็นหนึ่งในการพูดคุยกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์คือการถ่ายทอดและการ-คิดค้นเทคโนโลยี ศ.ดร.สุชัชวีร์มองว่า มหาวิทยาลัยคือจุดที่ดีที่สุดในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่ภาคเอกชน “คนที่จะดูดซับเทคโนโลยีได้ทุกที่ (ประเทศ) คือมหาวิทยาลัย ไปให้เอกชน เขาก็ต้องปั๊มเอาเงินก่อน มหาวิทยาลัย อาจารย์ต้องตีพิมพ์ ถ้าไม่เรียนรู้ก็ไม่ได้ผลงานไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ มีแรงจูงใจโดยธรรมชาติของความเป็นมหาวิทยาลัย และเด็กต้องไปดูดซับ ถ้าไม่ดูดซับก็เขียนปริญญานิพนธ์ไม่ได้ แต่รัฐไม่เคยเข้าใจ จนวันนี้ที่จะเริ่มดีขึ้น คนที่ดูดซับได้ดีสุดคือมหาวิทยาลัยเพราะถูกบังคับโดยธรรมชาติ และมีผลประโยชน์โดยธรรมชาติ ญี่ปุ่นจีนทำอย่างนี้ทั้งนั้น”
ขณะเดียวกันการจะกระตุ้นให้คนไทยที่มีความสามารถมากมายเป็นที่ยอมรับในแล็ปทั่วโลก ผลิตผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริงได้ ความเชื่อ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งสร้าง
“ต้องเริ่มด้วยความเชื่อก่อนว่าเราทำได้ คนไทยกับรัฐไม่เชื่อว่าคนไทยทำได้ ซื้อวันนี้ถูกกว่าของดีกว่าทำเองอยู่แล้ว ตอนผมเด็กๆ อายุ 4 ขวบผมไปซื้อถ่านไฟฉายมา 3 ก้อนเอาหนังสือพิมพ์พันเอายางรัดแล้วไปซื้อหลอดไฟมาติด ทำไฟฉายเอง มันน่าเกลียดมาก พ่อผมบอกว่าไงรู้ไหม เอ้เก่งจังเลย ลูกทำได้อย่างไร เก่งมาก แล้วพ่อผมเอาไปใช้ ก็ตลกมาก มันห่วยมาก ไฟฉายนั้นสร้างศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในเมืองไทย สร้างคนที่เข้าเอ็มไอทีได้ ผมทำบัดกรีไฟจะไหม้บ้านหลายรอบ ทำเสียงนกเสียงกาไปติดไว้ตามโอ่งพอน้ำเต็มแล้วมันร้อง แล้วพ่อจะเปิดเข้าไปทีมีเสียงอะไรอย่างนี้ พ่อผมไม่เคยรำคาญ ผมเลยมาเป็นศาสตราจารย์ เพราะพ่อผมเชื่อ พ่อผมคือรัฐ ไฟฉายทุเรศไหม แถมแพงกว่าที่พ่อจะไปซื้อ ใช้งานก็ห่วย”
ภาครัฐจึงต้องให้ความเชื่อถือกับ ผลงานของนักวิทยาศาสตร์นักประดิษฐ์ของไทยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และพัฒนากลายเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเอง
“อันแรกมันห่วย มันแพงอยู่แล้ว แต่ทำให้เกิดสิ่งต่อไป ทุกคนผ่านอย่างนี้มาหมด ญี่ปุ่น เกาหลี จีน แต่รัฐต้องเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้รองรับก่อน ยกตัวอย่างเครื่องมือแพทย์ ผมไปทำรากฟันเทียมมา 100,000 บาท มี 3 ชิ้น ทำที่เยอรมนีกับสวิส คนแก่เมืองไทยเป็นล้านคนต้องใช้รากฟันเทียมหลายล้านซี่ ทำเองซี่แรกก็ห่วย ซี่ที่ล้านจะสมบูรณ์แบบไหม แต่ไม่ถึงซี่ที่ล้านเสียที เพราะรัฐไม่ยอมซื้อ ซี่ที่ร้อยที่พันก็บอกว่าไม่เอาแล้ว เหมือนคุณเลี้ยงลูก ต้องปั้นเขา เชื่อว่าเขาทำได้ คนไทยฉลาดอยู่แล้ว มีพรสวรรค์แต่คุณเป็นพ่อแม่ คุณปล่อยให้เขาไปทำเองไม่ได้”
ศ.ดร.สุชัชวีร์มองปัจจัยที่ทำให้ สจล. รักษาความเป็นผู้นำด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า ประกอบด้วย ความกล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การสร้างผู้นำ “กล้าใช้คนจากต่างประเทศ กล้าให้ราคาแพงๆ กล้าให้เด็กรุ่นใหม่ มาเป็นผู้บริหาร ให้เด็กใหม่เป็นผู้เจรจา กล้าให้ทุนไปทำอะไรต่างๆ”
สิ่งที่สังคมจะเห็นได้จากผลผลิตของ สจล. คือทักษะของบัณฑิตที่ผลิตออกไป มีความสามารถด้านภาษา มีความเป็นผู้นำ มีแนวคิดใหม่ๆ มีหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบรับความต้องการของประเทศ เพราะนักศึกษาได้เห็นตัวอย่างจากในสถาบัน “นักศึกษาที่นี่ เห็นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ได้เห็นอธิการพูด ที่นี่นักศึกษาใหม่ทุกคนอธิการต้องบรรยาย วิชา I love KMITL เขาเห็นอธิการพูดแบบนี้ ดุดัน กล้าเปลี่ยนแปลง ก็อยากเป็นแบบพี่เอ้ ชัดเจน”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ มองว่า สำหรับวงการการศึกษาของประเทศไทย การได้เริ่มลงมือทำ จัดได้ว่าเป็นการบรรลุเป้าหมายไปขั้นหนึ่งแล้ว การได้เริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มลงมือทำจึงเป็นความสำเร็จขั้นต้นสำหรับวงการศึกษาไทยที่จะเห็นได้ชัดเจน