November 21, 2024

รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ (นิด้า) “ไม่มีแสงสว่างใด เสมอด้วยปัญญา”

October 10, 2019 10689

“ไม่มีแสงสว่างใด เสมอด้วยปัญญา” คำแปลจากพุทธศาสนสุภาษิต “นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา” ที่บรรจุอยู่เหนือ “ธรรมจักร”

ประกอบรอบด้วยคบเพลิงกงและเปลวสีขาวอย่างละ 8 ผนวกรวมได้นิยามและความหมายว่า “เพื่อให้ใช้ความรู้ไปในทางที่ดี มีมรรค 8 จะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติและหมู่มนุษย์” และนั่นก็เป็นความหมายอันยิ่งใหญ่ของตราสัญลักษณ์ของสถาบัน และยังเป็นจุดมุ่งหมายของการก่อกำเนิดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration) หรือที่เรียกขานกันว่า นิด้า (NIDA)

วันนี้ นิด้ายังคงยืนหยัดอย่างแน่วแน่บนพันธกิจและกำลังจะก้าวย่างต่อไปบนวิสัยทัศน์และการนำพาของผู้นำคนล่าสุด รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีคนที่ 13 ของสถาบัน

Educational Big Brother

นิด้า ถือได้ว่าเป็นเสมือน stepping stone ของใครก็ตามที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำ เมื่อก่อนใครสอบเข้านิด้าได้ ก็ต้องฉลองใหญ่โต เพราะความเชื่อมั่นว่า การเรียนที่นิด้าจะเป็นก้าวย่างสู่การเป็นผู้นำ ซึ่งเรื่องนี้มีเหตุผลที่มา และเป็นเหตุผลเดียวกับการก่อตั้งสถาบัน เมื่อ 47 ปีก่อน เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2510 ตอนนั้นเมืองไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองภายใน ซึ่งในหลวงทรงมองว่าคนไทยเรายังมีคนที่มีความรู้ในวิทยาการชั้นสูงจำนวนน้อยมาก ถึงจะมีการส่งคนไปศึกษาในต่างประเทศแต่ก็ยังจำกัดและไม่เพียงพอ จึงควรที่จะต้องมีองค์กรหรือสถาบันเพื่อมุ่งสร้างคนที่มีความรู้ชั้นสูงเพื่อจะได้มาช่วยกันพัฒนาประเทศ ตอนนั้น นายเดวิด รอกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยก็ได้สนองพระราชดำริ โดยประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญ ดร.สเตซี่ เมย์ เพื่อการจัดตั้งสถาบัน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิฟอร์ด ในช่วงแรกๆ นั้น ก็เน้นไปในทางวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ พัฒนาการเศรษฐกิจ บริหารธุรกิจ และสถิติเป็นสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ในการพัฒนาประเทศ และต่อมาก็มีการเพิ่มสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น

ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา นิด้าสร้างกำลังคนให้กับสังคมไทยร่วม 70,000 คนในทุกแวดวง ทั้งภาครัฐ เอกชนและวิสาหกิจ ศิษย์เก่าของสถาบันที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับนับถือ ไล่เรียงกันมาได้ตั้งแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพ ผู้บริหารและมันสมองขององค์กรชั้นนำในวงการธุรกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่าทั้ง 77 จังหวัดของประเทศในวันนี้ คาดว่ามีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นศิษย์เก่าของนิด้าไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด หากประมวลจากฐานศิษย์เก่าและเหล่าภาคี ก็ประจักษ์ชัดว่า นิด้าได้สร้างคนและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ภาพลักษณ์ของการถูกมองว่า เป็นพี่ใหญ่ของวงการศึกษา จึงไม่ใช่ว่าจะได้มาจากการสร้างภาพ แต่เกิดจากการที่เรายังคงรักษาจุดยืนของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้นำไว้ได้เสมอมา

Leader’ s Mission

เป้าหมายของนิด้าจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นสถาบันการศึกษาในระดับ World Class แต่อุปสรรคที่นิด้าต้องก้าวข้าม เช่น การไม่อยู่ในเงื่อนไขของการจัด University Ranking ซึ่งโดยทั่วไปสถาบันที่จัด Ranking มหาวิทยาลัยในโลกจะไม่จัดมหาวิทยาลัยที่ไม่มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นิด้าไม่เคยถูกจัดเข้าไปอยู่ใน Ranking อะไรเลย เหมือนไม่ได้อยู่บนเวที เราจึงได้พยายามผลักดันการยอมรับจากมาตรฐานสากล ด้วยการเข้าไปประกบตัวชี้วัด อย่างเช่น สัดส่วนอาจารย์ที่จบปริญญาเอก สัดส่วนอาจารย์ที่ผลิตงานวิจัย นักศึกษาที่จบไปแล้วมีชื่อเสียง ทุกวันนี้สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือการผลักดันให้คณะต่างๆ กำหนดจุดยืนบนเวทีระดับสากลในด้านต่างๆ ซึ่งแต่ละสาขาก็จะมีสมาคม อย่างเช่น คณะบริหารธุรกิจก็มี AACSB ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทุกมหาวิทยาลัยในโลกล้วนต้องการ ซึ่ง Business School หรือ คณะบริหารธุรกิจของนิด้าก็ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้แล้ว ทั่วโลกที่ได้รับการรับรองมีไม่ถึง 5% “ซึ่งกระบวนการในการได้มาบอกได้เลยว่า มาตรฐานสูงมากหรือพูดง่ายๆ ว่า “ยากมาก” สิ่งนี้ถือเป็น Milestone ที่สำคัญซึ่งพิสูจน์ว่า นิด้ามีมาตรฐานการสอนด้านบริหารธุรกิจอยู่ในระดับชั้นนำของสากล ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เริ่มต้นเมื่อสมัยเป็นคณบดีคณะบริหารธุรกิจ จนเมื่อมารับตำแหน่งรองอธิการบดี เรื่องการผ่านมาตรฐาน AACSB ก็ยังได้รับการสานต่อ โดยคณบดีอีกถึง 2 สมัยคือ รศ. ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ และ รศ. ดร.บุญชัย หงส์จารุ จนบรรลุผลสำเร็จในที่สุด” และนั่นคือโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในโลก และเป้าหมายต่อไปก็คือการยอมรับมาตรฐานการศึกษาในระดับ World Class ของคณะอื่นๆ ซึ่งถือเป็นภารกิจของคณบดีที่ต้องทำให้ได้ เพื่อเป้าหมายของการมีพื้นที่ยืนบนเวทีโลก

การศึกษาผ่านกรณีศึกษา

การเรียนการสอนโดยทั่วไป นอกเหนือจากการบรรยายภาคทฤษฎีแล้ว การเรียนรู้ที่ให้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและมองประเด็นอย่างรอบด้าน มักเป็นการเรียนผ่านกรณีศึกษาหรือ Case Study ซึ่งสมัยก่อนต้องใช้งานที่เขียนขึ้นจากกรณีศึกษาของต่างประเทศ แต่พอมาพิจารณาดูว่า การศึกษาและการเรียนรู้ในเมืองไทย น่าจะมีการเรียนผ่าน Case Study หรือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทยในด้านต่างๆ ได้ เราจึงขับเคลื่อนให้อาจารย์เขียน Case Study เพื่อใช้ในการสอนและเป็นการทำงานวิจัยของอาจารย์ไปพร้อมกัน ซึ่งพูดได้ว่า นิด้านับเป็นแห่งแรกที่ทำในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาจารย์ของนิด้าไม่ต่ำกว่า 70% ได้รับการฝึกอบรมในการเขียน Case Study โดย Prof. Clifford E. Darden ผู้เชี่ยวชาญในการเขียน Case Study จาก Harvard Business School ซึ่งนิด้าก็ขับเคลื่อนให้เกิดการเขียน case study ขึ้นในหลายๆ หัวข้อกรณีศึกษา อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาขยะ ธนาคารล้มละลาย ฯลฯ ซึ่งกรณีศึกษาเหล่านี้ก็ได้จัดพิมพ์เป็นวารสาร (Journal) และเผยแพร่ออกไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ จนถึงทุกวันนี้มีผลงานที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ไปแล้วถึง 25 ฉบับ ซึ่งรูปแบบการศึกษาผ่าน Case Study ถือว่านิด้าโดดเด่นและเป็นแห่งแรกของประเทศ กรณีศึกษาของนิด้า แม้แต่ทางสำนักงาน ก.พ. ก็มีการให้นิด้าจัดหลักสูตรรวบรวมการเขียนกรณีศึกษา เพื่อนำไปใช้ในงานของทาง ก.พ. ที่ผ่านมา

มุมมองความเห็นต่อการเปิดเสรีอาเซียน

AEC ที่จะมาถึง รศ.ดร.ประดิษฐ์ มองว่าเป็นด้านบวกต่อประเทศไทย เพราะด้วยจุดเด่นในด้าน Location ไทยเราได้เปรียบมากในทุกกรณี โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ที่ไทยมีแรงดึงดูดจากสถานที่และแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ขออย่างเดียวอย่ามีเหตุการณ์ประเภทสงครามสีเสื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโอกาสของประเทศ หากลองพิจารณาดูว่า ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวที่มาบ้านเรากว่า 22 ล้านคน เป้าหมายในปีนี้น่าจะมากถึง 25 ล้านคน หากการเติบโตด้านเศรษฐกิจมีความสม่ำเสมอ ก็เป็นโอกาสสำหรับคนในประเทศอย่างมหาศาล

ส่วนในด้านการศึกษา คู่แข่งของเราแน่นอนว่า คือ สิงคโปร์ อย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อพิจารณาที่ค่าเล่าเรียนที่สูงมาก เราน่าจะเหลือคู่แข่งชัดๆ แค่มาเลเซีย แต่เราก็มีความได้เปรียบกว่าอยู่หลายประเด็น สำหรับมหาวิทยาลัยในอเมริกาหรือทางยุโรป แน่นอนว่าก็ต้องมองตลาดทางเอเชียและบ้านเราอยู่ แต่การจะมาปักหลักตั้งแคมปัสเลยคงไม่ง่ายนัก อย่างนิด้าเราก็ได้รับการติดต่อขอเป็น Partner หรือ Joint Program จากหลายๆ สถาบันในอเมริกาและยุโรปอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระหว่างการพิจารณา

Leader’ s Management Style

รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ผ่านประสบการณ์งานด้านบริหาร ทั้งตำแหน่งคณบดีคณะบริหารธุรกิจและงานบริหารในส่วนของรองอธิการบดี ทั้งสายงานด้านบริหารและงานวิชาการรวมระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จวบวันนี้ที่กำลังก้าวสู่การพิสูจน์บทบาทของผู้นำหมายเลข 1 ในฐานะอธิการบดี ผ่านแนวคิดและหลักการบริหารที่ยึดมั่นและถือปฏิบัติมาโดยตลอด คือ

  1. ความเป็นเลิศ หมายความว่าทำงานการศึกษา ถ้าไม่มุ่งมั่งกับความเป็นเลิศ หรือคุณภาพ ไม่มีทางอยู่ได้ ยิ่งทุกวันนี้จำนวนผู้เรียนมีแนวโน้มลดลง คนจึงต้องเลือกมองหาสิ่งที่ดีที่สุด เลิศที่สุด งานการศึกษาไม่ใช่ว่าต้องมุ่งคิดเป็นเรื่องการค้าหรือธุรกิจ แต่ต้องมุ่งผลิตความเป็นเลิศและคุณภาพของความรู้ และนั่นคือของจริง
  2. ความเป็นธรรม ชีวิตการทำงานไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ต้องมีทีมงาน และการได้ใจหรือความรู้สึกสุขใจ หรือความสงบใจของทีมงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากทีมงานเกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม การที่จะตั้งใจ หรือทุ่มเทให้กับงานก็คงเป็นไปได้ยาก ยิ่งงานราชการแล้วการบริหารคนต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย เพราะการจะประเมินผลการปฏิบัติงานของคน ถ้าไม่ประจักษ์ชัดในความผิดก็ทำอะไรได้ยาก นั่นถึงต้องบริหารให้คนรู้สึกถึงหลักความเป็นธรรม เพื่อความร่วมมือในการทำงาน
  3. ความเป็นมิตร การที่เราเป็นหัวหน้าคนหรือเจ้านายคน ซึ่งต้องบอกให้คนไปทำในสิ่งที่เราต้องการ ความรู้สึกว่าเป็นธรรมก็ยังไม่พอ แต่เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกัน ต้องเดินไปด้วยกันด้วย เรื่องนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความเป็นธรรม

ความรู้สึกดีต่อกัน และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราต้องบอกให้คนทำในสิ่งที่เราต้องการ เค้าต้องรู้สึกว่าเรากับเค้าเป็นเพื่อนกัน เป็นทีมเดียวกัน การเป็นผู้บริหารจะต้องมีสิ่งนี้ และเมื่อสิ่งนี้สำคัญผมจึงนำเอามาเป็นหลักการในการบริหาร อย่างทีมงานของผม ผมถือความสำคัญในเรื่อง Team Work ทีมงานเดียวกันเราต้องรู้สึกเหมือนว่าเราใส่เสื้อสีเดียวกัน ผมพยายามให้คนในสถาบันรู้สึกเสมอว่าผู้บริหารเป็นมิตร ผู้บริหารไม่ใช่เจ้านายที่จะคอยไปตรวจงานเค้า แต่เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน สิ่งนี้ดีต่อนิด้า นิด้าเจริญขึ้น ดีขึ้น ผลประกอบการดีขึ้น ทุกคนก็ดีขึ้น


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

09 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Thursday, 10 October 2019 15:50
X

Right Click

No right click