January 15, 2025

 

 มูลนิธิลอรีอัล (L’Oréal Foundation) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เดินหน้าจัด โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งประวัติศาสตร์ ณ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์หญิงชั้นนำทั้งหมด 45 ท่าน จากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก 

พิธีสำคัญดังกล่าวได้มอบทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงจำนวน 15 ท่าน ที่มีผลงานการวิจัยที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเดินหน้ามอบรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ” (International Rising Talents) ให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่จำนวน 30 ท่าน ที่ได้รับคัดเลือกในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 อีกด้วย 

โดยในปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พันธนา ตอเงิน จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ” ด้วยผลงานวิจัยที่โดดเด่นในหัวข้อ การศึกษาผลกระทบของความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า 

แต่ละปี มูลนิธิลอรีอัลจะมอบรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ” ให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีศักยภาพมากที่สุด 15 ท่าน จากนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งทั้งหมดกว่า 250 ท่านในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยนักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้จะได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ในประเทศ หลังจากนั้นจะได้รับคำเชิญให้ส่งใบสมัคร ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ระดับนานาชาติที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ 15 ท่าน จะได้รับทุนวิจัยสนับสนุนเพิ่มอีก 15,000 ยูโร นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านทุนวิจัยและการเชิดชูจากนานาประเทศแล้ว นักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมด้านความเป็นผู้นำ ที่นับเป็นหลักสูตรพิเศษสำหรับสายวิชาการ ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมกันนักวิจัยหญิงที่นับเป็นอนาคตของวงการวิทยาศาสตร์ และการมอบรางวัลในครั้งนี้จะช่วยดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้อย่างเต็มกำลัง 

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พันธนา ตอเงิน นั้นเป็นนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ในปีที่ผ่านมา โดยมีผลงานวิจัยมุ่งเน้นติดตั้งเสาและอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างต่อเนื่องในป่าหลายขั้นการทดแทน ซึ่งนับเป็นงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถเก็บข้อมูลได้เป็นเวลานานเพื่อติดตามสถานะและการเปลี่ยนแปลงของอัตราการใช้น้ำของป่า ซึ่งหากเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ก็จะสามารถนําไปวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ นับเป็นข้อมูลสําคัญที่เกิดจากการตรวจวัดในพื้นที่จริงที่ยังไม่ปรากฏในป่าเขตร้อนที่มีหลายขั้นการทดแทนแห่งใดในโลก และยังเป็นประโยชน์เชิงนโยบาย ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการการใช้น้ำของชุมชนที่จะแม่นยํามากขึ้น นอกจากนี้การวิเคราะห์ความทนแล้งของชนิดพันธุ์ต้นไม้ในป่าเหล่านี้ ยังจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการคัดเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่สามารถทนแล้งได้มาปลูกทดแทน นับเป็นฐานข้อมูลสําคัญสําหรับโครงการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ใกล้เคียง นําไปสู่ผลประโยชน์ทั้งด้านวิชาการและการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลในป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค้นพบได้ในการศึกษาด้านป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก 

การส่งเสริมความเท่าเทียมกันให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์หญิง

3 ปีที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทในแถวหน้า ในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคติดต่อ และภาวะวิกฤตอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ถึงแม้ว่าพวกเธอจะมีความสำคัญในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินปัจจุบันนี้มากเพียงใดก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หญิงก็ยังมีจำนวนไม่มากพอ และไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น 

อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากยูเนสโกพบว่า ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถึงแม้ว่าปัจจุบันในจำนวนนักวิจัย 3 คน จะเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงแล้ว 1 คน[1] แต่ความไม่เท่าเทียมกันนั้นยังคงอยู่ โดยในยุโรปมีนักวิทยาศาสตร์หญิงเพียง 14.2%[2] เท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งในระดับอาวุโส และในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์หญิงได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวิทยาศาสตร์เพียง 8% เท่านั้น 

อเล็กซานดรา พัลท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรับผิดชอบขององค์กร ลอรีอัล กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิลอรีอัล กล่าวว่า “ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลอรีอัลเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หญิงในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับสังคม และระดับโลก ตลอดจนการจัดการกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายทั้งในระหว่างการทำงาน และการวิจัย สถานการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากการไม่เห็นความสำคัญของความเท่าเทียมกัน การมีอคติโดยที่ไม่รู้ตัว การมองข้ามความเป็นจริง ตลอดจนถึงการเลือกปฏิบัติต่อคนในวงการเดียวกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผลงานวิจัยด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง ควรต้องดำเนินการอย่างไร้อคติและครอบคลุม”  

นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2541 โครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่จำนวนกว่า 3,900 คน แต่ละปีโครงการฯ ได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ทั้งในโครงการระดับประเทศและระดับทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโครงการฯ ในการผลักดันวงการวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง 

นักวิจัยหญิงที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และช่วยค้นหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความท้าทายเร่งด่วนที่โลกกำลังเผชิญอย่างมีนัยสำคัญ การจัดโครงการฯ ครั้งประวัติศาสตร์ในปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการเชิดชูนักวิทยาศาสตร์หญิงทุกคนที่สามารถข้ามผ่านปัญหาต่าง ๆ มาได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยโครงการฯ จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมเหล่านักวิทยาศาสตร์หญิงให้ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็นต่อไป 

สำหรับประเทศไทยนั้น โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวไทยมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยโครงการฯ ประจำปี 2565 ได้เปิดรับสมัครนักวิทยาศาสตร์หญิงแล้วตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2565 ผ่านทาง www.fwisthailand.com. โดยจะเดินหน้ามอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 19 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 76 ท่าน จาก 20 สถาบัน

[1] UNESCO Science Report: “the Race Against Time for Smarter Development”, UNESCO Publishing (2021)

[2] European Commission 2018 She figures report

X

Right Click

No right click