สหรัฐ
แม้ตัวเลขเศรษฐกิจและการจ้างงานยังแข็งแกร่ง แต่สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงขาลงจากผลของดอกเบี้ยที่สูงและความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์ ในเดือนธันวาคม การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 212,000 ตำแหน่ง ในเดือนพฤศจิกายน สู่ 256,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับลดลงจาก 4.2% สู่ระดับ 4.1% สอดคล้องกับตัวเลขเปิดรับสมัครงานที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.09 ล้านตำแหน่ง มากสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนภาพรวมตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนี ISM ภาคบริการขยับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดจาก 52.1 มาอยู่ที่ 54.1 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจาก 74 ในเดือนธันวาคม สู่ระดับ 73.2 ในเดือนมกราคม
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 28-29 มกราคม แต่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้น สะท้อนจาก (i) ยอดการรีไฟแนนซ์หนี้ของภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (ii) ยอดการยื่นล้มละลายในปี 2567 มากที่สุดในรอบ 14 ปี และ (iii) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์มากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าผลจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงอาจกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้การนำของทรัมป์ ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะปรับลดลงอีก 0.75% สู่ระดับ 3.50-3.75% ณ สิ้นปี 2568 สอดคล้องกับความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้น
ยูโรโซน
เศรษฐกิจยูโรโซนยังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนพลังงานที่สูง รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม ดัชนี PMI ภาคบริการกลับมาขยายตัวโดยเพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤศจิกายน 49.5 สู่ระดับ 51.6 อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 45.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับเพิ่มขึ้นจาก 2.2% สู่ระดับ 2.4% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 2.4% สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น นอกจากนี้ ยูเครนประกาศยุติสัญญาการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรปซึ่งหมดอายุลงเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายประการที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวในปี 2568 อาทิ ภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ความขัดแย้งทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 41% ของ GDP ทั้งหมดของสหภาพยุโรป แม้ว่ายุโรปจะมีปริมาณสำรองก๊าซสูงกว่า 90% แต่การพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่รัสเซียจะส่งผลให้ต้นทุนพลังงานในประเทศสูงขึ้นและอาจลดทอนความสามารถทางการแข่งขันของยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอภายใต้ความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้น วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1.00% สู่ระดับ 2.00% ภายในปี 2568 เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง
จีน
มาตรการกระตุ้นรอบใหม่มีแนวโน้มช่วยพยุงเศรษฐกิจจีน ขณะที่จีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ทางการและภาคเอกชน (Caixin) รายงาน PMI ภาคการผลิตขยายตัวชะลอลงในเดือนธันวาคม ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ขยายตัวต่อเนื่องส่วน PMI นอกภาคการผลิตขยายตัวเร่งขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคมยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 0.1% YoY ซึ่งต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตดีขึ้นเล็กน้อยจาก -2.5% เป็น -2.3% สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกเริ่มทรงตัวที่ 0% YoY ในเดือนธันวาคมจาก -6.9% ในเดือนพฤศจิกายน
จีนยังคงเผชิญปัญหาอุปทานส่วนเกินและการบริโภคที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม มาตรกระตุ้นของรัฐบาลช่วยบรรเทาปัญหาและประคับประคองเศรษฐกิจจีนได้บางส่วน โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ สำหรับในปี 2568 นี้ รัฐบาลมีแผนขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมสินค้ากลุ่มอื่นเพิ่มเติม เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว ยานยนต์พลังงานทดแทน และเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังประกาศให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักรใหม่ มาตรการเหล่านี้คาดว่าจะทำให้การบริโภคและการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2568
เศรษฐกิจไทย: การบริโภคได้ผลบวกเพียงระยะสั้นๆ จากมาตรการเงินโอน ขณะที่การลงทุนเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนสะท้อนแรงส่งการใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มแผ่วลง ธปท. รายงานเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนชะลอลง โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง (-0.4% MoM sa) หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่ปรับลดลงมาก เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาหดตัว (-1.8%) ตามการลดลงของการลงทุนทั้งทางด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ภารส่งออกที่หักทองคำและปัจจัยทางฤดูกาลขยายตัว (+3.0%) จากการส่งออกที่เติบโตในหมวดยานยนต์และสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวแม้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน แต่รายรับรวมจากภาคท่องเที่ยวไม่สดใสส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงปรับลดลง
การใช้จ่ายในประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแผ่วลงอย่างชัดเจนสะท้อนถึงการทยอยหมดลงของผลบวกจากมาตรการการโอนเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางราว 14 ล้านคน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ทางการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในโครงการ Easy-E-Receipt (ใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย) เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 16 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และมาตรการโอนเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์จากแอพพลิเคชั่นทางรัฐ (ประมาณ 4 ล้านคน) ตั้งเป้าโอนเงินให้ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นๆ ต่อการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ยังฟื้นตัวช้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะเติบโตชะลอลงเหลือ 3% จากปีก่อนที่ขยายตัวได้ราว 4.8%
การลงทุนยังเผชิญกับความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวช้า และความท้าทายจาก Global Minimum Tax ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี ธปท.รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนธันวาคมกลับมาปรับตัวลดลงสู่ 48.4 จาก 49.3 ในเดือนพฤศจิกายน และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (หดตัว) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ส่วนใหญ่เป็นผลจากความเชื่อมั่นในภาคการผลิตที่ปรับลดลงและอยู่ในแดนหดตัวตั้งแต่กลางปี 2567 ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
จากข้อมูลความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ยังต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเวลานาน บ่งชี้ถึงความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนภาคเอกชนในปีที่ผ่านมาจึงมีภาพรวมไม่สดใส สำหรับในปีนี้วิจัยกรุงศรีประเมินการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ราว 2.9% แรงหนุนจาก (i) การเร่งลงทุนของภาครัฐ สะท้อนจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบฯ 2568 ขยายตัวสูงถึง 26.5% เมื่อเทียบกับปีงบฯ ก่อน ซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐปรับดีขึ้น (ii) ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 มูลค่าเงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และ (iii) ล่าสุดข้อมูลจาก EEC เผยว่าในปีนี้จะมีนักลงทุน 12 ราย มูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท เตรียมจะเข้ามาลงทุน โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดาต้าเซนเตอร์ และเซมิคอนดัคเตอร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2568 ทางการไทยประกาศใช้ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) อัตรา 15% ซึ่งจะเรียกเก็บจากนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ประเด็นดังกล่าวอาจมีผลต่อการทบทวนและตัดสินใจในการลงทุนในไทย ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศที่เคยใช้นโยบายภาษีในระดับต่ำเพื่อเป็นแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ