January 22, 2025

SACIT ระดมสมอง 9 กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรม จัดทำ SACIT Craft Power Book 2025 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมผลักดัน 8 ด้าน ยกระดับศิลปหัตถกรรมไทยให้ก้าวไกลไปในตลาดโลก และยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดัน soft power ของไทยให้ยกระดับสู่มาตรฐานสากล

นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เปิดเผยว่า จากการที่ได้จัดงาน “SACIT Craft Power : แนวโน้มศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย” โดยได้ระดมความคิดเห็นจากกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมในทุกด้าน รวม 9 ท่าน มาระดมสมองวิเคราะห์ถึงทิศทางแนวโน้มความต้องการของตลาดสินค้าศิลปหัตถกรรมในอนาคต และจัดทำ SACIT  Craft Power Book 2025 ให้เป็นคัมภีร์สำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก

ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ชัดเจน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตงานหัตถกรรม กลยุทธ์ทางการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค ที่ต้องอาศัยการวางแผนและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นเอกภาพและเป็นรูปธรรมในระยะยาว “SACIT จะนำข้อมูลที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบกิจการศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางนำไปปรับปรุงสินค้า เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มในอนาคต ซึ่งความรู้ที่ได้นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และต่อยอดศิลปหัตถกรรมไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก” นางพรรณวิลาส กล่าว

จากข้อสรุปของการจัดทำ  SACIT Craft Power Book 2025  ได้แบ่งแนวทางที่สำคัญออกเป็น 8 ด้าน คือ 1. เผยแพร่องค์ความรู้จากผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม เช่น นักวิชาการ รวบรวมความรู้จากครูช่าง แล้วนำมาถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงถ่ายทอดทักษะที่หายไปให้ช่างหรือคนรุ่นใหม่ได้พัฒนาฝีมือเพื่อดำเนินธุรกิจนั้นๆ อย่างยั่งยืน 2. เลือกใช้ภาพลักษณ์ที่เข้าใจง่ายมาเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติ 3. ส่งเสริมคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรมเพื่อให้เกิดเป็นของที่มีมูลค่า 4. สร้างวัฒนธรรมการส่งต่อสินค้าศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทางจิตใจจากรุ่นสู่รุ่น 5. สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทางการผลิต เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เรื่องวัสดุไปจนถึงกระบวนการ และแลกเปลี่ยนความเห็น ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิตเพื่อสร้างสรรค์สินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด 6. เน้นการสร้างสังคมผู้รักงานศิลปหัตถกรรม โดยปัจจุบัน SACIT มีการจัดประชุมเครือข่ายสมาชิกผู้ประกอบการจากภูมิภาคต่างๆ ให้เกิดกิจกรรมการแบ่งปันองค์ความรู้และศักยภาพของการผลิตสินค้า 7. จัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่ ชุมชน ให้ทดลองลงมือทำางานศิลปหัตถกรรมด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าใจกระบวนการผลิตจนเกิดเป็นความประทับใจจนตัดสินใจซื้อสินค้า และท้ายที่สุดเกิดการส่งต่อเรื่องราวสู่สังคมภายนอก 8. ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเป็นผู้สร้าง – ผู้ใช้ และเป็นตัวแทนแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัยผสานกับวิธีการผลิตแบบเดิม จะช่วยผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมเป็นที่ยอมรับว่าใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง และเข้าถึงทุกคนได้

ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลความรู้ที่ได้จากการจัดทำ SACIT Craft Power Book 2025 ในครั้งนี้ SACIT ได้สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้กระบวนการผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ต้องใช้ความประณีตและความทุ่มเท ตั้งแต่กระบวนการคิดไปจนถึงการสร้างสรรค์ ผ่านเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความรู้สึกหวงแหนในภูมิปัญญาที่คนรุ่นก่อนได้สั่งสมมา นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม เครือข่ายหรือศูนย์กลางงานหัตถกรรมที่รวมกลุ่มช่างฝีมือไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิด การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่เลือนหายตามกาลเวลา และเกิดความสัมพันธ์ของแวดวงช่างฝีมือ

โดย การจัดทำ SACIT Craft Power Book 2025 ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) มีพันธกิจที่เกี่ยวเนื่อง คือ การสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ บริหารจัดการวัฒนธรรม รวมถึงจัดทำฐานข้อมูล เกี่ยวกับครูศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ประกอบการ บุคลากร และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรมไทย โดยมีเป้าหมายให้จำนวนผู้ประกอบการได้รับการพัฒนายกระดับศักยภาพในการผลิต รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาด โดยองค์ความรู้เหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันศิลปหัตถกรรมไทยให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดโลก และเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด soft power ที่มีอิทธิพลในระดับสากลอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาแนวโน้มงานหัตถกรรมฉบับสมบูรณ์ ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ SACIT Craft Power Book 2025 ได้ที่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ โทร. 0-3536-7054-9 ต่อ 1385 หรืออ่านในรูปแบบ E-book ได้ที่ https://www.sacit.or.th/th/detail/2024-06-20-16-40-45 

sacit เชิญ 9 กูรูผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทย มาระดมสมองมองไปในอนาคต เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก และสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่ไปในระดับสากล และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวนฤดี  ภู่รัตนรักษ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า sacit ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ได้จัดประชุมเสวนา “sacit Craft Power” SACIT The Future of Crafts : Guru Panel ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทยในด้านต่าง ๆ มาร่วมหารือถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมศิลปหัตถกรรมในตลาดโลก เพื่อให้เห็นแนวทางความต้องการของตลาดในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตขยายในตลาดโลกได้มากขึ้น

โดยการประชุมเสวนาในครั้งนี้ sacit ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมไทย 9 ท่าน มาแสดงความคิดเห็น ได้แก่ ตัวแทน Unseen Craft 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรม ราชบัณฑิตยสภา และครูมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) / ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 (ผ้ากาบบัว) นอกจากนี้ ยังมีตัวแทน Thainess 3 ท่าน  ได้แก่ ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการ, บริษัท อโยธยาเทรด(93) จำกัด และ บริษัท สหัสชา (1993) จำกัด, รศ.ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  และ อาจารย์ ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการนำศิลปะไทยต่อยอดสู่ออกแบบร่วมสมัย และเรื่องสี “ไทยโทน”

รวมทั้งตัวแทน Soft Power 4 ท่าน ได้แก่ นางสาวชลดา สิทธิวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), นายอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (CEA), นายพิติรัตน์ วงศ์สุทินวัฒนา หัวหน้างานยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (อพท.), ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา)

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่สำคัญ โดยผลที่ได้จากการประชุมเสวนาในครั้งนี้ จะนำไปรวบรวม และสังเคราะห์ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีประสบการณ์ และเกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่งานศิลปหัตถกรรมในบริบทต่างๆ เพื่อที่จะนำไปจัดทำกรอบแนวคิด SACIT The Future of Craft,  Trends Forecast 2025

โดยผลที่ได้จากการจัดทำ Trends Forecast 2025 จะช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมไทยก้าวหน้าไปในทุกมิติ และมีความยั่งยืน รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนา และเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานและยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่ในระดับสากล และสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

 

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit  จัดกิจกรรม “sacit Corner ปี 2” ร่วมกับ เซ็นทรัล  ชวนชมช็อปสุดยอดงานหัตถศิลป์ที่คัดสรรแล้วทั่วประเทศ สินค้ากว่า 1,000 รายการ @ เซ็นทรัล 3 สาขา ในกรุงเทพมหานคร  เดือนเมษายน ถึง เดือนกรกฎาคม 2566 คาดจะช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดรายได้ มีการจ้างงานท้องถิ่นต่อเนื่อง         

X

Right Click

No right click