

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก และหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศจุดยืนในการจัดหาวัตถุดิบจากเรือประมงที่มีการปฏิบัติที่ดีเพื่อปกป้องสัตว์น้ำจากปัญหาการจับติดสัตว์น้ำที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย(bycatch)
ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนได้อ้างอิงผลงานวิจัยขององค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Fisheries Partnership (SFP) ในเรื่องของความเสี่ยงต่อฉลาม นกและเต่าทะเล รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดๆ อื่น จากการประมงที่ส่งวัตถุดิบให้กับบริษัท และผลการวิเคราะห์ของบริษัท Key Traceability ที่ตรวจสอบโครงการพัฒนาประมงทูน่าของไทยยูเนี่ยนและแหล่งประมงอื่นๆที่มีความเสี่ยงสูง
อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านความยั่งยืน ของกลุ่มไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนต้องการเพิ่มระดับความเข้มข้นของการทำงานของเราให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าจะได้วัตถุดิบจากเรือประมงที่หลีกเลี่ยงหรือลดละการจับติดสัตว์น้ำที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย สืบเนื่องจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายที่ได้ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการสูญเสียพันธุ์สัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยรายงาน Sustainable Fisheries Partnership (SFP) ระบุว่าสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุ้มครองในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลางมีปริมาณลดลงอย่างมาก”
เป็นที่ทราบกันดีว่า ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปลาทูน่าบรรจุกระป๋องภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ของบริษัท รวมถึงชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี และจอห์น เวสต์ และในฐานะที่ไทยยูเนี่ยนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเวทีเสวนาในงาน ซีฟู้ด เอ็กซ์โป นอร์ธ อเมริกา ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอเมริกาเหนือและที่สองของโลก บริษัทจึงประกาศเป้าหมายปี 2573 ของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งต่อยอดจากความทุ่มเทตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่ผ่านมา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประมงว่า
· ภายในปี 2573 เรือประมงทุกลำต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีเพื่อปกป้องสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุ้มครอง
· ทำตามพันธกิจด้านปลาทูน่าของบริษัทที่ได้ประกาศไว้แล้วได้ให้ครบสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 ว่าเรือประมงทูน่าทุกลำจะต้องมีผู้สังเกตการณ์ (บุคคลหรือผ่านเครื่องมืออิเล็คทรอนิก) ซึ่งจะทำงานโดยตรงกับบริษัทคู่ค้าหรือผู้ให้บริการ
แคธริน โนวัค ผู้อำนวยการด้านการตลาดทั่วโลก องค์กร SFP กล่าวว่า “การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนของการทำการประมง ไทยยูเนี่ยนได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลในการปกป้องสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุ้มครอง โดยการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน และรับซื้อวัตถุดิบจากเรือประมงที่ตื่นตัวในการจัดการปัญหาการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย” รายงานล่าสุดโดยองค์กร SFP เกี่ยวกับผลกระทบของการจับปลาทูน่าเชิงพาณิชย์โดยใช้วิธีเบ็ดราว โดยใช้วิธีเบ็ดราว ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลางที่มีต่อสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุ้มครอง พบว่า ธรรมชาติได้ถูกทำลายลงอย่างมากและประชากรสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ทั้งฉลาม นกและเต่าทะเลได้ลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่นี้มีการทำประมงให้กับอุตสาหกรรมการผลิตทูน่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ส่งให้กับอเมริกาเหนือและญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ผู้ซื้อทูน่าที่จะผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูธรรมชาติและประชากรสัตว์น้ำที่เปราะบางเหล่านี้ให้กลับมาใหม่ โดยเฉพาะฉลามและนกทะเล ไทยยูเนี่ยนมีการตรวจสอบการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคุ้มครองสัตว์ทะเลที่องค์กร SFP จัดขึ้น นับเป็นโครงการระดับสากล ที่เป็นความพยายามของภาคอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาสัตว์ทะเลหายากที่ถูกจับในการทำประมง ทางองค์กร SFP ได้พิจารณาและประเมินแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ไทยยูเนี่ยนใช้วัดความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของวัตถุดิบนั้น ๆ พร้อมทั้งเสนอมาตรการที่จะช่วยลดการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายให้ได้ผลมากที่สุด รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า การประมงทูน่าโดยใช้วิธีเบ็ดราวนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฉลาม นกทะเล และเต่าทะเล และแนะนำให้ปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงเพื่อลดปฏิสัมพันธ์ของสัตว์เหล่านี้ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะทำให้สัตว์เหล่านี้ตาย รายงานยังพบว่าการประมงในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกมีผู้สังเกตการณ์ไม่เพียงพอ สอดคล้องกับความตั้งใจของไทยยูเนี่ยนที่อยากให้มีผู้สังเกตการณ์ในการทำประมงทูน่า 100 เปอร์เซ็นต์ บริษัท Key Traceability มีการตรวจเรือประมงที่อยู่ในโครงการปรับปรุงการทำประมงของไทยยูเนี่ยนปฏิบัติตามมาตรการข้อปฏิบัติที่ดี เพื่อลดการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ผลการประเมินพบว่าการประมงเหล่านี้ได้ลงบันทึกการจับปลาและการจัดการเกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุ้มครอง และได้ทำตามหรือทำได้ดีกว่า ข้อแนะนำจากการประเมิน
โครงการ Digital Opportunities for Talents (DOTs) 2022 หรือโครงการประกวดแผนธุรกิจภายใต้โจทย์ “Sustainability in Action” ซึ่งจัดขึ้นโดย Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ได้ดำเนินมาถึงรอบประกาศผลรางวัลรอบสุดท้าย
โดยผู้ร่วมโครงการทั้ง 30 ทีม ได้ผ่านการแข่งขันอย่างเข้มข้นจนเหลือ 6 ทีมสุดท้าย ที่ได้ร่วมนำเสนอผลลัพธ์ความสำเร็จภายในงานประกาศผลรางวัลรอบสุดท้าย (Final Presentation) เพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากการลงมือทำจริงตลอดระยะเวลา 2 เดือนให้กับผู้ประกอบการ SME ตลอดจนร่วมคว้าเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท และในปี 2022 นี้ ทีม In it for the beers ได้แก่ นางสาวศิริธร แก้วสุพรรณ์ และนางสาวสุฎารัตน์ สุขภิลาภ เป็นผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปได้ด้วยแผนธุรกิจสำหรับร้าน Artstory by AutisticThai ผลงานจากจินตนาการผ่านภาพและลายเส้นผลงานศิลปะของกลุ่มเด็กและบุคคลที่มีความแตกต่างทางการเรียนรู้
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาการแข่งขันอย่างเข้มข้นกว่า 2 เดือน ผู้เข้าแข่งขันได้พัฒนาทักษะและแสดงออกถึงศักยภาพ พร้อมเติบโตเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่ในอนาคต ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เข้าแข่งขันได้ทำงานร่วมกับเจ้าของร้านค้า SME ในการพัฒนากลยุทธ์และลงมือทำจริง เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างการเติบโตให้กับร้านค้าที่ได้รับมอบหมาย โดย มีผู้เชี่ยวชาญจาก Sea (ประเทศไทย) และช้อปปี้คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ด้านร้านค้าก็ได้แนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการสร้างธุรกิจให้เติบโต Sea (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดโครงการฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีทักษะสำคัญของผู้ประกอบการดิจิทัล ที่สามารถต่อยอดและปรับใช้ได้ในอนาคต พร้อม ๆ กับการสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจด้านความยั่งยืนให้เกิดการเติบโตในระยะยาว สอดคล้องกับเป้าหมายของ Sea (ประเทศไทย) ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและยกระดับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Nation ด้วยการพัฒนา Digital Talent โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป”
โครงการ DOTs 2022 ยังได้รับเกียรติจาก ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย), ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), นางสาววนิดา จรูญเพ็ญ หัวหน้าส่วนประสานเครือข่ายหน่วยงานภาคเอกชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), นางรัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และนางสาวฑิฟฟาณี เชน นักทดสอบนโยบาย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมเป็นคณะกรรมการทรงคุณวุฒิตัดสินผลงานในรอบ 6 ทีมสุดท้ายนี้อีกด้วย
นางสาวศิริธร แก้วสุพรรณ์ และนางสาวสุฎารัตน์ สุขภิลาภ จากทีม In it for the beers คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมเงินรางวัลมูลค่า 80,000 บาท โดยผลการดำเนินงานที่ทีม In it for the beers ได้นำเสนอแสดงให้เห็นว่า ทีมผู้เข้าแข่งขันได้นำความรู้และทักษะดิจิทัลที่ได้เก็บเกี่ยวตลอดโครงการฯ มาประยุกต์ใช้ในแผนการดำเนินงานเพื่อช่วยให้ Artstory by AutisticThai ร้านค้า SME ไทยที่นำเสนอผลงานจากจินตนาการผ่านภาพและลายเส้นผลงานศิลปะของกลุ่มเด็กและบุคคลที่มีความแตกต่างทางการเรียนรู้สามารถพัฒนาและต่อยอดธุรกิจบนช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชได้อย่างแท้จริง โดยเห็นการเติบโตของยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่า เทียบกับก่อนช่วงเข้าร่วมโครงการ และยอดการเข้าชมร้านค้าในช้อปปี้ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 เท่าภายในระยะเวลา 2 เดือนของการเข้าร่วมโครงการ อีกทั้ง ยังสามารถส่งต่อแนวคิดและแผนงานในการสร้างการเติบโตให้กับร้านค้าอย่างยั่งยืนในอนาคตได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
สำหรับทีมอื่น ๆ ที่เข้ารอบ Final Presentation ก็สามารถทำผลงานได้โดดเด่นและช่วยสร้างการเติบโตของร้านค้าที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทีม ไฉ่เสินเหยีย กับร้าน SANDT คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มูลค่า 50,000 บาท ทีม Will-Wisdom-Mind กับร้าน Carechoice คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มูลค่า 30,000 บาท รวมถึงทีม GangRocket กับร้าน Little Hen Noodle, ทีม CreamCreamery กับร้าน Ira Concept และทีม MED KID Consulting กับร้าน Green Wash คว้ารางวัลชมเชย มูลค่ารางวัลละ 5,000 บาท
ยิ่งไปกว่านั้น ร้านค้าทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็มียอดขายต่อเดือนโดยเฉลี่ยบนแพลตฟอร์มช้อปปี้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 2.1 เท่า ยอดคำสั่งซื้อต่อวันเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 เท่า และสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มช้อปปี้มูลค่าโดยรวม 3.6 ล้านบาท ตลอดในช่วงเวลา 2 เดือนภายใต้โครงการ
Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena)ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ฉายภาพความสำเร็จควบคู่การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัลตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการดำเนินงานในประเทศไทย ในงาน Sea Story 2022: Digital Technology for All และเปิดแผนกลยุทธ์ใหม่เดินหน้าขับเคลื่อน 3 ธุรกิจหลัก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม Sea Academy เสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) จับมือ ‘ยังแฮปปี้’ (YoungHappy) ธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มผู้สูงอายุ ร่วมเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ “ขายได้ขายดีกับ Shopee” อัพสกิลทักษะดิจิทัลแก่พี่ ๆ วัยเก๋า แปรประสบการณ์จากนักช้อปออนไลน์สู่การเป็นผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ให้สามารถสร้างรายได้ พร้อมค้นพบศักยภาพใหม่ ๆ และสนุก ไปกับประสบการณ์การขายสินค้าออนไลน์ในวัยเกษียณ ด้วยระยะเวลาเพียง 1 – 2 สัปดาห์หลังเปิดร้าน พี่ ๆ วัยเก๋าสามารถทำยอดเข้าชมรวมทุกร้านได้กว่า 8,845 ครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ โดย Sea (ประเทศไทย) มีแผนเดินหน้าพัฒนาหลักสูตร E-Module มุ่งเข้าถึงผู้สูงอายุกว่า 30,000 คน ในปีหน้า
ปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) โดยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ราว 13 ล้านคน หรือ 20% ของจำนวนประชากร และประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งประชากรในกลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในวัยพึ่งพิง ต้องพึ่งพารายได้จากลูกหลานหรือเงินเก็บหลังเกษียณเท่านั้น ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเงินเก็บหลังเกษียณที่ไม่เพียงพอในชีวิตบั้นปลาย มากไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ผู้สูงอายุยังต้องเผชิญกับภาวะความเครียดในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะด้านจิตใจ ที่มักจะขาดความมั่นใจ ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกเป็นภาระกับลูกหลาน
นอกจากนี้ งานวิจัย “การใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุและข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุไทย” โดย รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพบว่าหนึ่งในปัจจัยที่ผู้สูงอายุหันมาใช้เทคโนโลยี คือ การ
ตระหนักถึงความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาตนเอง และความต้องการรายได้เพื่อความมั่นคงในชีวิต ซึ่งนี่อาจชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุบางกลุ่มยังคงเห็นถึงศักยภาพของตนเอง และต้องการทำงานเพื่อสร้างรายได้ในช่วงวัยเกษียณ
ด้วยตระหนักว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเราจะเริ่มเห็นกิจกรรมของผู้สูงอายุที่เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น Sea (ประเทศไทย) จึงได้ร่วมมือกับ ‘ยังแฮปปี้’ (YoungHappy) เปิดคอร์สเรียนออนไลน์ “ขายได้ขายดีกับ Shopee” เพื่อพัฒนาทักษะอีคอมเมิร์ซให้แก่พี่ ๆ วัยเก๋า โดยใช้หลักสูตรที่ออกแบบให้มีความเหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยโดยเฉพาะ แต่ยังคงความครอบคลุมของเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งการเริ่มเปิดร้าน การลงสินค้า การจัดการระบบร้านค้า และการส่งเสริมยอดขาย นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจาก Shopee และ YoungHappy คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดการอบรมเพื่อช่วยเหลือและผลักดันให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคนสามารถเปิดร้านบน Shopee และนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจหลังจบกิจกรรมได้จริง
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ Sea (ประเทศไทย) ซึ่งมีพันธกิจหลักที่จะทำให้ชีวิตของผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี จึงมุ่งส่งเสริมและพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจในการใช้งานและอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี เพื่อเสริมศักยภาพผู้บริโภคให้สามารถเก็บเกี่ยวโอกาสที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีได้ สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยเราได้ร่วมมือกับ Young Happy อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว และที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงความสามารถของกลุ่มวัยเก๋าที่ยังมีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยในปีนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตเป็นอย่างสูงและเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้เราเกิดไอเดียที่จะเปิดสอนคอร์สเรียนออนไลน์ให้แก่วัยเก๋าโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงวัยที่ออกจากตลาดแรงงานไปแล้ว พร้อมหวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัยสามารถก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปพร้อม ๆ กับทุกคน”
สำหรับกิจกรรมเวิร์คช้อป “ขายได้ขายดีกับ Shopee” ได้เสียงตอบรับจากวัยเก๋าเป็นอย่างดี มีผู้ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 38 คนจากผู้สมัครกว่า 200 คน โดยบรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน และพี่ ๆ วัยเก๋าสามารถเปิดร้านค้าบนช้อปปี้ได้สำเร็จ ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ยังมียอดเข้าชมรวมมากถึง 8,845 ครั้ง และมียอดขายรวมทุกร้านกว่า 21,000 บาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 - 2 สัปดาห์หลังเปิดร้าน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปต่างนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในร้านของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นพี่ ๆ วัยเก๋ายังได้นำความรู้ ประสบการณ์ และเคล็ดลับที่ได้รับจากการเข้าร่วมคอร์สเรียนออนไลน์ไปถ่ายทอดให้แก่คนรอบตัว ซึ่งไม่เพียงแต่กับคนในรุ่นเดียวกันแต่ยังรวมถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย
นายสำราญ รุ่งโรจน์ เจ้าของร้านหมึกสะเด็ด เผยถึงความรู้สึกหลังได้รับรางวัลนักขายวัยเก๋าว่า “แต่เดิมนั้นร้านหมึกสะเด็ดตั้งอยู่ที่เกาะเสม็ด ซึ่งตั้งแต่ที่เจอสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก เราก็พยายามหาช่องทางที่จะทำให้กิจการของเราอยู่รอด เพื่อที่จะดูแลพนักงานและครอบครัวเราต่อไป เมื่อได้มาเจอโครงการนี้ก็ทำให้เรายิ้มได้อีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยลงขายสินค้าผ่านทางออนไลน์เลย แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมเรียนคอร์สขายได้ขายดีกับ Shopee ก็ได้นำความรู้ที่ได้ไปเปิดร้านในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงช้อปปี้ ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นและมีรายได้เข้ามาจนเห็นลู่ทางที่จะฝ่าฟันวิกฤติได้ในตอนนี้ จึงอยากฝากถึงเพื่อน ๆ วัยเก๋าทุกท่านว่าอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ เหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทางที่เราเดิน เราต้องเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และทุกคนจะสามารถก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้”
หลังจากนี้ Sea (ประเทศไทย) จะยังคงเดินหน้าต่อยอดขยายการเรียนรู้ทักษะอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะมีการพัฒนาหลักสูตร E-Module สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะจากหลักสูตรของ Shopee University ให้กับพี่ๆวัยเก๋าในเครือข่าย YoungHappy กว่า 30,000 คนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซให้กับผู้สูงอายุให้ทั่วถึงและเข้มข้นยิ่งขึ้น ที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ที่ดีขึ้น