January 22, 2025

กลายเป็นกระแสที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง สำหรับ “มหกรรมสุขเต็มสิบ” งานใหญ่แห่งปีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดสะพานทศมราชัน โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ตั้งใจมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้ประชาชนได้เข้าร่วมกิจกรรมฟรี ระหว่างวันที่ 10-19 มกราคม 2568 บนสะพานแห่งความภาคภูมิใจของไทย ก่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันที่ 29 มกราคม 2568

งานมหกรรมสุขเต็มสิบครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสสำคัญในการสัมผัสสะพานทศมราชันจากมุมมองใหม่ ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการลิ้มลองอาหารเลิศรส การชมการแสดงดนตรีสดจากศิลปินชื่อดัง เเละดินเนอร์ชิลล์ๆ บนสะพาน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งที่ประชาชนจะได้สัมผัสสะพานทศมาราชันในบรรยากาศเทศกาลอันน่าประทับใจ

ไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดใน “มหกรรมสุขเต็มสิบ”

1.เดินชมสะพานและถ่ายภาพครั้งประวัติศาสตร์  โอกาสพิเศษที่สำคัญครั้งหนึ่งในการเดินบนสะพานทศมราชัน พร้อมสัมผัสวิวแม่น้ำเจ้าพระยาสุดตระการตา

2.จุดถ่ายรูปน้องหมูเด้ง พิกัดยอดนิยมสำหรับบันทึกความทรงจำ

3.อิ่มฟินกับร้านอาหารและ Food Truck  ลิ้มรสอาหารหลากหลายเมนูจากร้านดังและร้านชุมชน

4.Dinner สุดโรแมนติกกลางสะพาน ประสบการณ์รับประทานอาหารพร้อมวิวพระอาทิตย์ตกที่ไม่เหมือนใคร

5.เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรีสด การแสดงจากศิลปินชั้นนำที่สร้างความสุขให้ผู้เข้าร่วมงานทุกวัย

ข้อควรปฏิบัติในการเข้าร่วมงาน

  • แสดงบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันตัวตน ก่อนเข้างาน
  • ห้ามนำอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัตถุอันตราย บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่
  • โปรดลงจากสะพานก่อนเวลา 22.00 น.
  • ใช้รถสาธารณะเพื่อความสะดวก ลดปัญหาการจราจร
  • จุดลงทะเบียน: บริเวณพื้นที่ทางเข้า-ออก ใต้ทางพิเศษบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ https://maps.app.goo.gl/12QKqumwL8qtnYKRA?g_st=com.google.maps.preview.copy 

ทั้งนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอขอบพระคุณพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อส่งมอบความสุขให้ประชาชนทุกคน

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมจัดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” เพื่อเฉลิมฉลองการเปิด “สะพานทศมราชัน” ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมระหว่าง วันที่ 10-19 มกราคม 2568 เวลา 16.00-22.00 น. พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งสร้างประวัติศาสตร์ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งของการแสดงพลังความสามัคคีในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 และสร้างความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตบนสะพานแห่งความภาคภูมิใจของชาติ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในรายละเอียดว่า กทพ. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร  ด้านตะวันตก เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความปราบปลื้มแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าในพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและสร้างประวัติศาสตร์ก่อนการเปิดใช้สะพานทศมราชัน กทพ. จึงมีการจัดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” ระหว่าง วันที่ 10-19 มกราคม 2568 เวลา 16.00-22.00 น. เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมสะพานทศมราชัน พร้อมถ่ายภาพและเลือกชมสินค้า OTOP จากชุมชน ภายในงานได้รวมร้านค้าจากชุมชนและพันธมิตรกว่า 50 ร้านค้า อีกทั้ง กทพ. ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน กิจกรรมเดิน-วิ่งสร้างประวัติศาสตร์ ในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 บนสะพานทศมราชัน นับเป็นการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเปิดให้ใช้สะพานทศมราชันได้จริงในปลายเดือนมกราคมนี้

มหกรรมสุขเต็มสิบ” จะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนได้เข้าถึงและเข้าชมสะพานทศมราชันในมุมมองที่ไม่เคย มีมาก่อน กิจกรรมนี้ไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เดินชม ถ่ายภาพและสัมผัสกับความงดงามของสะพานเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมพลังของความสามัคคีผ่านกิจกรรมเดิน-วิ่ง และการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน กิจกรรมนี้เป็นมากกว่าความสนุกสนาน เพราะสะท้อนถึงความตั้งใจของ กทพ. ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไทย ทั้งนี้ ยังได้ร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลประชาชนตลอดการจัดกิจกรรม พร้อมทั้งมีจัดจุดคัดกรอง จุดลงทะเบียนสำหรับประชาชน รวมถึงการประชาสัมพันธ์กฎระเบียบ ข้อบังคับ สำหรับประชาชนที่ต้องการขึ้นไปร่วมกิจกรรมด้านบนด้วย”

นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดสะพานทศมราชันถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งจะช่วยเสริมความสมบูรณ์ให้กับโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสะพานแห่งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ กทพ. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย แต่ยังได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูงสามารถรองรับการจราจรได้ถึง 8 ช่องจราจร พร้อมโครงสร้างที่แข็งแรงรองรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก

สำหรับ “สะพานทศมราชัน” เป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ  และพื้นที่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการฯ ที่ กทพ. เชื่อว่าสะพานแห่งนี้จะไม่เพียงเป็นโครงสร้างสำคัญ แต่ยังกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่อีกด้วย

สำหรับการเปิดใช้สะพานทศมราชัน ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ดังนี้

- ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ สามารถใช้ทางขึ้นบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน โดยสามารถวิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา - ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ - ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่

- ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานฯ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลง บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ไปเพื่อถนนพระรามที่ 2 ได้

นายอิทธิพล สมุทรทอง นักวิ่งระดับตำนาน ผู้เคยสร้างประวัติศาสตร์ในวันเปิดสะพานพระราม 9 ได้กล่าวเสริมว่า “เมื่อ 37 ปีที่แล้วในปี พ.ศ. 2530 ผมได้ร่วมวิ่งบนสะพานพระราม 9 ในวันที่เปิดใช้งานครั้งแรก ความภาคภูมิใจและความทรงจำในวันนั้นยังอยู่ในใจผมเสมอ วันนี้การได้เห็นสะพานทศมราชัน ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่และงดงาม ผมรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติที่ได้ร่วมวิ่งอีกครั้งบนสะพานแห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สะพาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทย ทุกคนจะได้มีส่วนร่วม ผมขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งเพื่อสร้างความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยกัน”

“มหกรรมสุขเต็มสิบ” ผู้เข้าร่วมงานจะพบกับกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิ การเดินชมสะพาน ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้สัมผัสสะพานแห่งนี้ก่อนเปิดใช้งานจริง และยังสามารถเลือกช้อปสินค้าชุมชนในบรรยากาศสุดพิเศษ โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมสะพาน ระหว่างวันที่ 10-19 มกราคม 2568 เวลา 16.00-22.00 น. โดยขอแนะนำให้ประชาชนเดินทางโดยรถสาธารณะ พร้อมลงทะเบียนก่อนขึ้นสะพาน ณ บริเวณทางเข้า-ออก พื้นที่ใต้ทางพิเศษบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ภายในงานได้รวมร้านค้าจากชุมชนและพันธมิตรทั้งหมดกว่า 50 ร้านค้า ให้ผู้ร่วมงานได้เลือกซื้อและสนับสนุนสินค้าไทยและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชุมชนอีกด้วย

กิจกรรมเดิน-วิ่งสร้างประวัติศาสตร์ บนสะพานทศมราชัน จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 ​เปิดให้ขึ้นสะพานตั้งแต่เวลา 03.00 น. และเริ่มปล่อยตัวนักวิ่งเวลา 05.00 น. ค่าสมัครเพียง 499 บาท โดยเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 ผู้สมัคร 10,010 คนแรก จะได้รับเสื้อ Finisher และ Top 100 ที่เข้าเส้นชัย จะได้รับเหรียญที่ระลึก ปี  2530  ปีที่เปิดสะพานพระราม 9 ทันทีหลังเข้าเส้นชัย สำหรับผู้ที่สมัครหลังจากนั้น ของที่ระลึกจะจัดส่งถึงบ้าน ภายใน 30 วันหลังจบงาน 

งานนี้ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ประชาชนจะได้สัมผัสสะพานแห่งความภาคภูมิใจในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ขอเชิญชวนคนไทยและผู้สนใจร่วมเดิน วิ่ง และบันทึกความทรงจำที่สะพานทศมราชัน พร้อมสร้างความสุขและพลังแห่งความสามัคคีในงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” ไม่เพียงเท่านั้น งานนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของสะพานทศมราชัน ที่สะท้อนถึงความภาคภูมิใจและการพัฒนาของประเทศไทย เชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และสร้างความทรงจำอันทรงคุณค่าร่วมกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง ได้ที่ : www.thai.run  Facebook : https://www.facebook.com/ExpresswayThailand และ EXAT Call Center โทร. 1543 กด 7

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ITD-VCB Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างดําเนินการก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายพระราม3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกสัญญาที่ 3 แจ้งการปิดจราจรชั่วคราวบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณด่านฯ ดาวคะนอง ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ด้านขวาทางจำนวน 1 ช่องจราจร เพื่อดำเนินการติดตั้งคานขวางของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ตลอด 24 ชั่วโมง

กทพ. ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอความร่วมมือผู้ที่ใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวโปรดสังเกตป้ายเตือนสัญญาณจราจรต่างๆ และปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง หากมีข้อเสนอแนะ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-405-4896 ตั้งแต่ 08.00-19.00 และ  062-912-6211 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ครบรอบ 52 ปี โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุม 0101 ชั้น 1 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ.

นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ. เป็นหน่วยงานอันดับต้น ๆ ที่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่ง กทพ. มีการเติบโตอย่างเข้มแข็งมาจนครบ 52 ปีเต็ม สิ่งเหล่านี้เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างของ กทพ. ทุกคน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทพ. มีผลงานการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการประชาชนไม่ว่าจะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass รวมถึงการเปิดบริการ Application EXAT Portal และล่าสุดคือการพัฒนาโครงการสะสมคะแนน “EXAT REWARD” เพื่อยกระดับ   การให้บริการบัตร Easy Pass เพิ่มความคุ้มค่าให้กับประชาชนในการใช้ทางพิเศษอีกด้วย

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 52 ปี กทพ. มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายขยายเส้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษประจิมรัถยา และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568 นอกจากนี้ กทพ. มีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 รวมทั้งการทางพิเศษฯ ยังมีโครงการสำคัญในเขตเมืองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางยกระระดับชั้นที่ 2 (ช่วงงามวงศ์วาน -พระราม 9) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังมีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ ๑ (ช่วงกะทู้- ป่าตอง) และ ระยะที่ ๒ (ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้) รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด

นอกจากภารกิจหลักในการสร้างทางพิเศษแล้ว กทพ. ยังให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยได้สนับสนุนทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1,247 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 7,730,000 บาท อีกทั้ง มีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

ในการพัฒนาด้านกีฬาให้เกิดความยั่งยืนโดยได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬายิงเป้าบิน และสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย กทพ. ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษไปแล้วกว่า 780 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 3.7 ล้านบาทต่อปีลดคาร์บอนไดออกไซด์ 412.87 tonCo2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปีหรือเทียบเท่าการปลูกต้นสัก 469,173 ต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 4,692 ไร่ และยังได้รับการรับรองโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริการการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ปัจจุบัน กทพ. ได้เปลี่ยนหลอดไฟภายในอาคารสำนักงานเป็นชนิดประหยัดพลังงาน (LED) พื้นที่ปฏิบัติงาน และอาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12.146 tonCo2 ต่อปี และยังร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทยในการเลือกใช้ปูนไฮดรอลิก

ในการก่อสร้างทางพิเศษ ตลอดจนจัดโครงการ EXAT POWER GREEN ภายใต้ชื่อกิจกรรม “EXAT รักษ์โลก” โดยเชิญชวนประชาชนผู้ใช้บริการทางพิเศษ เข้ากิจกรรมฯ ร่วมสร้างพื้นที่ สีเขียวด้วยการร่วมปลูกต้นไม้และร่วมเรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติลดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก อีกด้วย “การทางพิเศษฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการให้บริการ โดยนำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการเดินทาง สร้างความสุขให้กับคนไทย ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 53 ด้วยคำจำกัดความว่า พัฒนาเส้นทาง สร้างแรงบันดาลใจ ก้าวไปสู่ Net Zero Society” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

“องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทาง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Innovation for better drive and better life”

 

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้าง บริษัท เวิร์ล บริดจ์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้าง งานปรับปรุงรอยต่อผิวจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร (Site 3 และทางขึ้น-ลงเพชรบุรีคลองตัน) และทางพิเศษฉลองรัช บริเวณ กม.22+100 ทิศทางจตุโชติ-รามอินทรา ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องปิดการจราจรบริเวณทางต่างระดับท่าเรือ มุ่งหน้าดินแดง ถ.พระราม 9 แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยผู้ที่จะต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ให้ใช้ทางออกถนนพระราม 4 เป็นการทดแทน

ทั้งนี้ ผู้รับจ้างได้ทำการติดตั้งป้ายแจ้งการจราจรก่อนถึงพื้นที่ก่อสร้างและติดตั้งไฟสัญญาณไฟจราจรต่าง ๆ ป้ายประชาสัมพันธ์การเบี่ยงจราจรพร้อมไฟวับวาบ เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางได้ทราบ

กทพ. ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอความร่วมมือผู้ที่ใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวโปรดสังเกตป้ายเตือน สัญญาณจราจรต่าง ๆ โดยปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของท่านและผู้อื่น และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

หากมีข้อร้องเรียนแจ้งเหตุ หรือ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สามารถแจ้งได้ที่ 085-346-8455 นายปฏิภาณ ไทรงาม (วิศวกรคุมงานของ กทพ.) และ 086-306-0666 นายยุทธพงษ์ ภู่งาม (วิศวกรคุมงาน   ของผู้รับจ้าง)

Page 1 of 7
X

Right Click

No right click