กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่าน DIPROM CONNECTION ร่วมผลักดันบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาส
ทางการตลาดเพื่อยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อเสริมแกร่งชุมชน-วิสาหกิจไทย ยกระดับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ สนับสนุนสิทธิประโยชน์ส่วนลดพิเศษในการขนและขายสินค้าชุมชนไทยผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ ณ ที่ทำไปรษณีย์ไทยและเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 50,000 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนลดขยะในสถานประกอบการ หวังยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน คาดว่าจะสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้กว่า 200 ล้านบาท
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมรับมือกับรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มความสามารถจึงจำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในท้องที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชน วิสาหกิจชุมชน โดยความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพในด้านโลจิสติกส์ และการจัดจำหน่ายได้มากขึ้น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกระทรวงฯ คือการส่งเสริมให้ภาครัฐ-เอกชน และทุกภาคส่วนเข้าถึงระบบต่าง ๆ ที่เป็นดิจิทัลซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมาย Digital Economy โมเดลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นกลไกเพิ่มผลิตภาพทั้งในภาคการผลิต การค้า การบริการ รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน อย่างไรก็ตามความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นอีกกลไกที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์โซลูชันทางดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยได้มอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่น ตั้งแต่ในด้านการขนส่ง ที่มีทั้งความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย เครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์ - บุรุษไปรษณีย์ที่ครอบคลุม ระบบคลังสินค้า และช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ขยายโอกาสและรองรับความต้องการต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการพร้อมผลักดันให้ใช้ประโยชน์จากไปรษณีย์ไทยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และเสริมความเป็น Digital SMEs ให้มากขึ้น
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม มีทิศทางการทำงานที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามนโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ภายใต้แนวคิด “ชุมชนเปลี่ยน” ผ่านการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางการตลาดในการยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจไทยให้มีความยั่งยืน ผ่านการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต มาตรฐาน และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยสอดรับกับเทรนด์โลก รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดเก็บสินค้า และระบบคลังสินค้า ตลอดจนได้มอบสิทธิประโยชน์อัตราพิเศษในการขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้รับปลายทางอย่างมีคุณภาพ พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ ThailandpostMart และออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์และเครือข่ายพันธมิตรกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ อาทิ กล่อง ซอง ขวดน้ำ ถุงพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้เตรียมจุดรับวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ให้แก่สถานประกอบการ ภายใต้โครงการ Green Hub เพื่อลดขยะในสถานประกอบการ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนตามหลักการ Circular Economy และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสองหน่วยงานจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้กว่า 200 ล้านบาท
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย ในฐานะหน่วยงานสื่อสารและขนส่งของชาติพร้อมสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการไทยในการช่วยขน และช่วยขายสินค้าผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ พร้อมทั้งมีบริการอำนวยความสะดวกในการจัดการด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าช่วย “เก็บ แพ็ค ส่ง” รองรับการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce ในส่วนของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B และ B2C ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังพร้อมช่วยผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้ถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านเครือข่ายไปรษณีย์กว่า 50,000 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ เว็บไซต์ ThailandPostMart ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace ของไปรษณีย์ไทยที่รวบรวมสินค้าตัวท็อปทั่วไทยกว่า 20,000 รายการ จากผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย และยังมีช่องทางจำหน่ายสินค้าออฟไลน์ผ่านร้านค้า ThailandPostMart 17 สาขาในพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ ไปรษณีย์กลาง เคาน์เตอร์ไปรษณีย์สาขา MBK ไปรษณีย์จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และไปรษณีย์จอมสุรางค์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ถึงกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งไปรษณีย์ไทยยังมีแผนในการให้บริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon เพื่อขยายโอกาส ขยายช่องทางให้กับผู้ประกอบไทย ได้ส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้อีกด้วย
กระทรวงดีอี โดย ดีป้า เตรียมมอบประสบการณ์เหนือระดับไปกับดิจิทัลคอนเทนต์ฝีมือคนไทยในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ชู depa Digital Content Zone ที่มาพร้อมแนวคิด Digital Soft Power เสิร์ฟสาระและความบันเทิงผ่าน Home Sweet Home เกมผีสัญชาติไทยที่โด่งดัง ลุ้นรับผลงานคาแรกเตอร์ฝีมือคนไทย ร่วมมีทแอนด์กรี๊ดกับ น้องไอช่า Virtual Idol ชื่อดัง และสนุกสนานไปกับการประกวดคอสเพลย์ในธีม Thai Soft Power พร้อมรับของที่ระลึกมากมาย แล้วพบกันวันที่ 13 มกราคมนี้ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า วันเด็กแห่งชาติปีนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด เรียนดี มีความสุข ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง ดีป้า พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรจะร่วมนำเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ในคอนเซปท์ Digital Soft Power โดยเปิดโอกาสให้เยาวชน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์สุดตื่นเต้น น่าประทับใจ พร้อมรับสาระความรู้ และร่วมสนุกไปกับดิจิทัลคอนเทนต์ฝีมือคนไทยแบบจัดหนักจัดเต็มใน depa Digital Content Zone
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสประสบการณ์ขนหัวลุกไปกับ ‘Home Sweet Home’ เกมผีสัญชาติไทยที่โด่งดังจาก Yggdrazil Group (อิ๊กดราซิล กรุ๊ป) ที่น้อง ๆ ทุกคนจะได้ลองเล่น ลองหลอนไปกับความสยองขวัญที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของผีไทย ลุ้นรับผลงานคาแรกเตอร์สวย ๆ ฝีมือนักพัฒนาชาวไทยเป็นที่ระลึกกลับบ้านร่วมมีทแอนด์กรี๊ดกับ ‘น้องไอช่า’ Virtual Idol ชื่อดังจาก Aisha Channel ที่จะมาเปิด Fan Meeting ภายในงาน และสนุกสนานไปกับการประกวดคอสเพลย์ในธีม ‘Thai Soft Power’ พร้อมรับของที่ระลึกมากมายจาก ดีป้า และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดีอี
“กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาลปีที่ผ่านมา กิจกรรม NATIONAL CHILDREN’S ESPORTS DAY ดวลมันส์..วันเด็ก ของ ดีป้า ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากน้อง ๆ เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทั่วไป สำหรับกิจกรรมในปีนี้ ดีป้า จะนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ และ Virtual Reality (VR) เพื่อให้น้อง ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ รับสาระและความบันเทิง รวมถึงแรงบันดาลใจในการเปิดโลกแห่งอาชีพในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะสอดคล้องไปกับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ จาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
แล้วพบกันที่ depa Digital Content Zone ในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจร่วมประกวดคอสเพลย์สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://short.depa.or.th/zwVvB
ในยุคแห่งดิจิทัลที่ธุรกิจ ภาคองค์กร รวมไปถึงหน่วยงานระดับประเทศ ต่างต้องการขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ องค์ประกอบสำคัญอย่าง “บุคลากร” ด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทรัพยากรบุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้เข้ามาเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของทุกองค์กรในการมาถึงของเทคโนโลยี และอาจจะรวมไปถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในระดับประเทศอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยเอง แม้รัฐบาลไทยจะมีแผนระดับชาติที่รองรับด้านเทคโนโลยีและทักษะดิจิทัลอยู่บ้างแล้ว แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบุคลากรไอซีทีจำนวนมากจากทุกภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตอันใกล้ภาคเทคโนโลยีเอกชนจึงกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่สามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรไทยรุ่นใหม่ของตลาดเทคโนโลยี
หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีไอซีทีระดับโลก ได้มีส่วนช่วยผลักดันบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือต่าง ๆ กับเหล่าพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีโครงการ “Seeds for the Future” เป็นหนึ่งในโครงการหลักที่ช่วยฝึกอบรมเด็กไทยในระดับอุดมศึกษาให้เป็นบุคลากรด้านไอซีที และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในไทยมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี และใน Seeds for The Future 2023 ประจำปีนี้ ได้ฝึกอบรมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ที่มาจากสายวิศวะกรหรือสายเทคโนโลยีโดยตรง และเยาวชนที่มาจากภาควิชาอื่นแต่มีความสนใจด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากการฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรจากหัวเว่ยทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ น้อง ๆ เยาวชนที่แสดงศักยภาพได้โดดเด่นทั้งด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรม หลังการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 8 วัน เราจะคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพโดดเด่นเพื่อร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงระหว่างวันที่ 15-20 กันยายนที่จะถึงนี้
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงโครงการ Seeds for the Future 2023 ว่า “นี่เป็นโครงการ 15 ปี ที่หัวเว่ยลงทุนด้วยความเชื่อว่าอนาคตของยุคนี้อยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ เราต้องการพัฒนาทักษะให้กับเยาวชน หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐบาล ลูกค้า และพันธมิตรของเรา เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งเราเชื่อว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบนิเวศ ความยั่งยืน รวมถึงบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งนักศึกษาทั้ง 20 คนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะได้รับประสบการณ์จากภาคปฏิบัติและความรู้มากมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไอซีที รวมไปถึงแแนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมจีน และค่านิยมหลักของหัวเว่ยอีกด้วย”
ด้านศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ MDES ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับหัวเว่ยในปีนี้ว่า “ในนามของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผมขอขอบคุณหัวเว่ย สำหรับความร่วมมือที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานกับกระทรวงมาโดยตลอด สำหรับโครงการ Seeds for the Future ผมมองว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับประเทศ และการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีกับคนรุ่นใหม่ เราต้องมองเห็นเป็นภาพใหญ่ให้ได้ในแง่ของการลงทุนทำวิจัยและการสร้างรากฐานทางการศึกษาที่แข็งแกร่ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีความรู้และได้รับโอกาสอย่างเพียงพอต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผมต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่จะได้เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเรียนรู้และเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ นี่อาจจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้ว่า ชีวิตของเรายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก โอกาสนี้มาถึงแล้ว ขอให้สิ่งนี้เป็นรางวัลที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน”
ทั้งนี้ หัวเว่ยได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการแข่งขันจากโครงการฝึกอบรม Seeds for the Future 2023 จำนวน 5 คน ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ไปศึกษาดูงานต่อที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ศักดิ์ชัย แซ่เฮ่ย จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม, วินิธา ภู่ชัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ จีนธุรกิจ, ปทิตตา ทิมทอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, พุฒิพงศ์ เหล่าบัณฑิตเจริญ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ และกฤชวิชช์ ทิพยจินดากุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 5 คน จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นนำจากหัวเว่ย รวมทั้งเรียนรู้วิธีการเป็นสตาร์ทอัพ จากศูนย์อบรมที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไปในระดับโลกหรือประยุกต์ใช้กับสายอาชีพของตัวเองในอนาคต
พลเอก ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ประจำปี 2565