January 22, 2025

เมื่อบุคลากรคือขุมพลังของดิจิทัลไทยแลนด์ หัวเว่ยมุ่งผลักดันคนรุ่นใหม่ผ่าน “Seeds for the Future 2023”

September 08, 2023 850

ในยุคแห่งดิจิทัลที่ธุรกิจ ภาคองค์กร รวมไปถึงหน่วยงานระดับประเทศ ต่างต้องการขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ องค์ประกอบสำคัญอย่าง “บุคลากร” ด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทรัพยากรบุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้เข้ามาเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของทุกองค์กรในการมาถึงของเทคโนโลยี และอาจจะรวมไปถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในระดับประเทศอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยเอง แม้รัฐบาลไทยจะมีแผนระดับชาติที่รองรับด้านเทคโนโลยีและทักษะดิจิทัลอยู่บ้างแล้ว แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบุคลากรไอซีทีจำนวนมากจากทุกภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตอันใกล้ภาคเทคโนโลยีเอกชนจึงกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่สามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรไทยรุ่นใหม่ของตลาดเทคโนโลยี

หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีไอซีทีระดับโลก ได้มีส่วนช่วยผลักดันบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือต่าง ๆ กับเหล่าพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีโครงการ “Seeds for the Future” เป็นหนึ่งในโครงการหลักที่ช่วยฝึกอบรมเด็กไทยในระดับอุดมศึกษาให้เป็นบุคลากรด้านไอซีที และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในไทยมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี และใน Seeds for The Future 2023 ประจำปีนี้ ได้ฝึกอบรมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ที่มาจากสายวิศวะกรหรือสายเทคโนโลยีโดยตรง และเยาวชนที่มาจากภาควิชาอื่นแต่มีความสนใจด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากการฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรจากหัวเว่ยทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ น้อง ๆ เยาวชนที่แสดงศักยภาพได้โดดเด่นทั้งด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรม หลังการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 8 วัน เราจะคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพโดดเด่นเพื่อร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงระหว่างวันที่ 15-20 กันยายนที่จะถึงนี้

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงโครงการ Seeds for the Future 2023 ว่า “นี่เป็นโครงการ 15 ปี ที่หัวเว่ยลงทุนด้วยความเชื่อว่าอนาคตของยุคนี้อยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ เราต้องการพัฒนาทักษะให้กับเยาวชน หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐบาล ลูกค้า และพันธมิตรของเรา เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งเราเชื่อว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบนิเวศ ความยั่งยืน รวมถึงบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งนักศึกษาทั้ง 20 คนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะได้รับประสบการณ์จากภาคปฏิบัติและความรู้มากมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไอซีที รวมไปถึงแแนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมจีน และค่านิยมหลักของหัวเว่ยอีกด้วย”

ด้านศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ MDES ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับหัวเว่ยในปีนี้ว่า “ในนามของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผมขอขอบคุณหัวเว่ย สำหรับความร่วมมือที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานกับกระทรวงมาโดยตลอด สำหรับโครงการ Seeds for the Future ผมมองว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับประเทศ และการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีกับคนรุ่นใหม่ เราต้องมองเห็นเป็นภาพใหญ่ให้ได้ในแง่ของการลงทุนทำวิจัยและการสร้างรากฐานทางการศึกษาที่แข็งแกร่ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีความรู้และได้รับโอกาสอย่างเพียงพอต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผมต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่จะได้เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเรียนรู้และเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ นี่อาจจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้ว่า ชีวิตของเรายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก โอกาสนี้มาถึงแล้ว ขอให้สิ่งนี้เป็นรางวัลที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน”

ทั้งนี้ หัวเว่ยได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการแข่งขันจากโครงการฝึกอบรม Seeds for the Future 2023 จำนวน 5 คน ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ไปศึกษาดูงานต่อที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ศักดิ์ชัย แซ่เฮ่ย จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม, วินิธา ภู่ชัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ จีนธุรกิจ, ปทิตตา  ทิมทอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, พุฒิพงศ์ เหล่าบัณฑิตเจริญ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ และกฤชวิชช์ ทิพยจินดากุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 5 คน จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นนำจากหัวเว่ย รวมทั้งเรียนรู้วิธีการเป็นสตาร์ทอัพ จากศูนย์อบรมที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไปในระดับโลกหรือประยุกต์ใช้กับสายอาชีพของตัวเองในอนาคต

X

Right Click

No right click