นักลงทุนรุ่นใหม่เผยความคิดเห็นว่าบิทคอยน์มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะ Supply Shock และการเกิด Bitcoin Halving เป็นแรงผลักดันราคาบิทคอยน์ ขณะที่ทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ทั้งที่ค่าเงินดอลลาร์ยังไม่อ่อนค่ามากนัก ทำให้สองสินทรัพย์นี้ยังมีความน่าสนใจแม้ราคาจะขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้นสามารถทยอยลงทุนได้

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ทั้งทองคำและบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกัน และยังสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ของราคาได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ถือว่ามีความน่าสนใจในการลงทุนแม้ราคาในช่วงนี้จะขึ้นมาสูงก็ตาม โดยปัจจัยหนุนราคาบิทคอยน์ คือการที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับสถาบันเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์ด้วยการไล่ซื้อในตลาด Spot ผ่านกองทุน Bitcoin ETF มากขึ้น จากความคาดหวังว่าหลังการเกิด Bitcoin Halving ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน ราคาจะปรับตัวเป็นขาขึ้นเต็มตัวตามสถิติเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต

ทั้งยังมีสถิติด้วยว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้ากองทุน Bitcoin ETF ได้เข้าซื้อบิทคอยน์กว่า 10,000BTC ขณะที่มีจำนวนบิทคอยน์ที่ออกมาสู่ตลาดในหนึ่งวันเพียง 900BTC ซึ่งหลัง Bitcoin Halving จำนวนบิทคอยน์ที่ออกสู่ตลาดจะลดลงครึ่งหนึ่ง อาจเป็นเหตุผลให้นักลงทุนรายใหญ่รีบเข้ามาเก็บบิทคอยน์ก่อนที่จะไม่สามารถหาซื้อในตลาดรองได้อีก

“ความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Supply Shock ของบิทคอยน์น่าจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายใหญ่เร่งสะสมบิทคอยน์ก่อนที่จะเกิด Bitcoin Halving ซึ่งต้นทุนของนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้จะอยู่ตั้งแต่ระดับ 45,000 – 50,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 69,000 ดอลลาร์ แม้จะมีกำไรแล้วแต่อัพไซด์ในอนาคตหลัง Bitcoin Halving มีโอกาสที่จะขึ้นสู่ระดับแสนดอลลาร์ขึ้นไปทำให้แนวโน้มราคาบิทคอยน์ยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้”

ทั้งนี้การที่ราคาปรับฐานลงมาประมาณ 15% หลังขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเป็นสัญญาณเตือนว่าแม้ตลาดจะเป็นขาขึ้น บิทคอยน์ยังมีโอกาสที่จะปรับฐานลงมาได้ตลอดเวลา นักลงทุนจึงยังจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมากกว่าไปรีบไล่ราคา

ขณะที่เหรียญทางเลือก หรือ Altcoin ที่น่าสนใจในการลงทุนคือ Ethereum ซึ่งกำลังมีสตอรี่ของการตัดสินใจของ ก.ล.ต.สหรัฐอเมริกา ว่าจะอนุมัติกองทุน Ethereum ETF แบบเดียวกับบิทคอยน์หรือไม่ ประกอบกับการอัพเกรดใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบล็อกเชนให้ดีขึ้น จึงสามารถทยอยสะสมลงทุนได้

ขณะที่ทองคำสามารถที่จะขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 2,140 ดอลลาร์ ได้สำเร็จ ทั้งที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นเท่าที่ควร ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องรีบปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าหากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีการลดดอกเบี้ยน่าจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้กับราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้

ด้านสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นเทคโนโลยี อาจจะเริ่มมีอัพไซด์ที่จำกัด แม้ว่าผลประกอบการของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเอไอจะยังเติบโตได้อย่างดี แต่การที่ราคาปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากอาจทำให้นักลงทุนบางส่วนอาจย้ายเงินลงทุนไปยังกลุ่มอื่น ถ้าจะลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต้องรอให้ราคาย่อตัวและจับจังหวะซื้อขายเก็งกำไรไปก่อน ส่วนหุ้นเทคโนโลยีกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายังประสบปัญหาการแข่งขันตัดราคาจึงยังไม่น่าสนใจลงทุนตอนนี้

สำหรับสินทรัพย์ที่น่าสนใจในเดือนมีนาคมนี้ คือตลาดหุ้นจีน ทั้งตลาดในแผ่นดินใหญ่และตลาดฮ่องกงที่สัญญาณทางเทคนิคเริ่มเห็นภาพการกลับตัวเป็นขาขึ้นหลังจากที่แนวโน้มเป็นขาลงมาหลายปี สำหรับผู้ที่ยังไม่มีพอร์ตหุ้นจีนสามารถที่จะเริ่มต้นสะสมได้ ส่วนผู้ที่ลงทุนมาแล้วก่อนหน้านี้และยังมีเงินสดสามารถที่จะเข้าซื้อเพื่อถัวราคาได้แล้ว

ปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา คือความเคลื่อนไหวของการคัดเลือกผู้รับสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นขึ้น โดยมุมมองของผู้รับสมัครที่มีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศจะส่งผลต่อภาวะตลาดได้เช่นกัน โดยอาจจะมีความผันผวนมากขึ้นถ้าหากได้ตัวผู้สมัครที่ชัดเจนและเริ่มมีการประกาศนโยบายของตัวเองออกมา อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นปัจจัยลบอื่นที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้ จึงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในเดือนมีนาคมที่น่าจะยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี

 รายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุดจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยทองคำได้รับอานิสงส์จากการซื้อของธนาคารกลางในช่วงครึ่งปีแรกและแรงหนุนจากตลาดการลงทุนที่แข็งแกร่งและความต้องการซื้อเครื่องประดับที่ฟื้นตัว

ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ลดลง 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 921 ตัน ในช่วงไตรมาสที่ 2 แม้ว่าดีมานด์โดยรวม (รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) จะเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนถึงตลาดทองคำที่แข็งแกร่งทั่วโลก

ในประเทศไทย ดีมานด์ทองคำของผู้บริโภคลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 7.6 ตัน จาก 8.5 ตัน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 การตกลงมานี้เป็นผลจากความต้องการเครื่องประดับที่ลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 1.7 ตัน จาก 1.9 ตัน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และดีมานด์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำโดยรวมลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 5.9 ตัน จาก 6.6 ตัน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

Mr. Shaokai Fan หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ราคาทองคำที่สูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผันผวนรวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทยเป็นเหตุที่ส่งผลให้ดีมานด์ในไตรมาสที่ 2 ลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี รวมทั้งควมต้องการซื้อเครื่องประดับทองคำลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ตัน เนื่องจากผู้บริโภคเลือกขายคืนเครื่องประดับทองคำมากกว่าซื้อใหม่”

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ทั่วโลก ความต้องการของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 2 ลดลงมาอยู่ที่ 103 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนหลักจากยอดขายสุทธิในตุรกีตามดีมานด์ทองคำที่คับคั่งในประเทศ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางได้ซื้อทองคำจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในครึ่งปีแรกที่ 387 ตัน และอุปสงค์รายไตรมาสเป็นไปตามแนวโน้มเชิงบวกในระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ว่าการซื้อในหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารกลาง และองค์กรต่างประเทศ (Official sector buying) จะแข็งแกร่งไปตลอดทั้งปี

ในด้านของการลงทุนในทองคำ ดีมานด์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 277 ตัน ในไตรมาสที่ 2 และจบรวมที่ 582 ตัน ในครึ่งปีแรก จากการเติบโตของตลาดสำคัญ อันรวมไปถึงสหรัฐอเมริกาและตุรกี อีกทั้งการไหลออกของเงินทุนในกองทุน ETF ทองคำ ซึ่งอยู่ที่ 21 ตันในไตรมาสที่ 2 น้อยกว่าในไตรมาสเดียวกันของปี 2565 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอยู่ที่ 47 ตัน ทำให้การไหลออกสุทธิอยู่ที่ 50 ตันในช่วงครึ่งแรกของปี

ด้านการบริโภคเครื่องประดับยังคงฟื้นตัวแม้เผชิญกับราคาที่สูง โดยเพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมียอดรวมครึ่งปีแรกที่ 951 ตัน การฟื้นตัวของดีมานด์ในประเทศจีน และการซื้อของผู้บริโภคในตุรกีที่แข็งแกร่งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งช่วยหนุนการบริโภคในไตรมาสที่ 2

โดยสรุป ดีมานด์ทองคำรวมทั่วโลกสูงขึ้น 7% มาอยู่ที่ 1,255 ตัน ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการผลิตจากเหมืองแร่จะทุบสถิติสูงสุดสำหรับครึ่งปีแรกที่ 1,781 ตัน

 

Ms. Louise Street นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสประจำสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ความต้องการที่สูงเป็นประวัติการณ์ของธนาคารกลางมีอิทธิพลต่อตลาดทองคำในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 แต่แนวโน้มนี้ขีดเส้นใต้ความสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องทั่วโลก”

“เมื่อพิจารณาช่วงครึ่งหลังของปี 2566 การหดตัวทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดการดีดตัวของทองคำเพิ่มเติม ถือเป็นการเน้นย้ำบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยขึ้นอีกขั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ทองคำได้รับแรงหนุนจากความต้องการของนักลงทุนและธนาคารกลาง ซึ่งมาช่วยชดเชยความต้องการที่ลดลงสำหรับเครื่องประดับและเทคโนโลยีจากการประหยัดของผู้บริโภค”

 

 

ออสสิริส (Ausiris) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment วิเคราะห์สถานการณ์ราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2566

ออสสิริส (Ausiris) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment เผยจับตาราคาทองคำเดือนเมษายน ลุ้น Fed ปรับอัตราดอกเบี้ย และทิศทางของ GDP สหรัฐฯ สร้างความเคลื่อนไหวระลอกใหม่  

นายพีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์ นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริส จำกัด วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนมีนาคมปรับตัวทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่เปิดปีมา ขึ้นมาอยู่ที่ 2,009 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ในไทยก็ทำราคาสูงสุดทะลุ 32,000 บาท ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการล้มกะทันหันของ Silicon Valley Bank ที่ได้สร้าง domino effect ลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลดลง หลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 0.25% เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่

“ในส่วนเดือนเมษายน ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม เริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนวันที่ 7 เมษายนนี้ ที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาจะประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ หรือ Nonfarm Payrolls ว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่ Fed จะใช้ในการประเมินทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป อีกทั้งระดับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ยังคงตัวในระดับสูง จึงมีแนวโน้มว่า Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนไปแตะที่ระดับ 5.25% - 5.50% ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปในส่วนของเดือนมีนาคม ว่าเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด โดยจะมีการประกาศในวันที่ 12 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 6% กดดันให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย  นับเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ”

นายพีระพงศ์ กล่าวต่อว่า “ประเด็นต่อมาปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดูคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีหลายธนาคารทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงการขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุด ธนาคารรายใหญ่ของฝรั่งเศส อย่าง Societe Generale SA และ BNP Paribas SA ต้องเผชิญกับค่าปรับรวมกันมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ หลังการสอบสวนพบว่าธนาคารเหล่านี้เข้าไปพัวพันกับการฉ้อโกงทางภาษี และการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผล” และล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของ JP Morgan เตือนว่าวิกฤตธนาคารยังไม่จบสิ้น และผลกระทบจากความวุ่นวายนี้อาจส่งผลไปอีกหลายปี

“ประเด็นสุดท้าย คือช่วงปลายเดือน วันที่ 27 เมษายน จะมีการประกาศ GDP ของสหรัฐฯ หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ประจำไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวจากการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ทั้งเอกชนและรัฐ ภาคผลิต รวมถึงการค้าปลีกที่ขยายตัว ผลที่ตามมาคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น เป็นการกดราคาทองคำให้ต่ำลง”

“โดยสรุป ปัจจัยบวกต่างๆ ที่มีผลต่อราคาทองคำในเดือนเมษายน ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่อาจส่งสัญญาณความกังวลการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งนี้ในแง่ของสถิติย้อนหลัง 5 ปี เดือนเมษายน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงขาขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งจะเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนซึ่งอาจมีลุ้นที่เห็นราคาทองคำทำนิวไฮใหม่ สำหรับปัจจัยลบต่อราคาทองคำ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง หรือ FOMC ซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง และตัวเลข GDP Q1/66 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเดิมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นปัญหาความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ หรือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่วนปัจจัยใหม่อื่นๆ ที่น่าพิจารณา ได้แก่ การขาดสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ เพิ่มเติม ซึ่งเริ่มขยายวงไปในกลุ่มธนาคารยุโรป เป็นต้น” นายพีระพงศ์ กล่าว

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click