นางสาวกชสร โตเจริญธนาผล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวถึง แนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลกปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องคาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มเป็น 1.38 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2572 จากความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่เริ่มมีการเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่น การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทยนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยปีที่ผ่านมา (2566) มีมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาท ส่วนปี 2567 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มกว่า 10% หรือประมาณ 3.85 แสนล้านบาท จากปัจจัยบวกด้านยุทธศาสตร์รัฐที่ต้องการยกระดับการผลิตอาหารของไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารโลก รวมถึงการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ฟื้นตัวและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเพิ่มการบริโภคภายในประเทศและมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบต้องเตรียมพร้อมและพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้น ความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ในวันนี้มีหลายมิติ ทั้งคุณสมบัติในการสร้างความปลอดภัยและยืดอายุให้สินค้า ส่งเสริมการขายและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้วยการออกแบบและความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งการพัฒนาการผลิตต้องเริ่มตั้งแต่เลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ (recycled materials) หรือวัสดุที่มีความสามารถในการย่อยสลาย (biodegradable materials) พร้อมปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ AI หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ (Automation) มาช่วยคำนวณการใช้ทรัพยากร พลังงานและการลดต้นทุน ฯลฯ ให้ดียิ่งขึ้น

งาน ProPak Asia เป็นงานแสดงเทคโนโลยีกระบวนการผลิตและแปรรูปอาหาร บรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บและการขนส่งตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำในระดับเอเชีย ที่มีส่วนสนับสนุนและร่วมพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตและบรรจุภัณฑ์ของไทยให้มีความสามารถมากขึ้น โดยงาน ProPak Asia 2024 ปีนี้ ได้ยกโซน PackagingTech Asia เทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์และกระบวนการบรรจุภัณฑ์ DrinkTech Asia เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม PharmaTech Asia เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมยา Packaging Solution Asia เทคโนโลยีเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป Coding, Marking & Labelling Asia เทคโนโลยีเพื่อการเขียนรหัส ติดป้ายและปักหมายเลขบนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมถึง Lab&Test Asia เทคโนโลยีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของอาหารและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนกิจกรรมในโซนนี้ให้เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการจัดงานฯ โดยกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย

· I-Stage เวทีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการลงทุนสำหรับโซลูชั่นทางธุรกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจ FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) สินค้าอุปโภค บริโภค

· Packaging Design Clinic โซนให้คำปรึกษาด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุน เสริมศักยภาพการผลิต โดยร่วมกับสมาคมออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (Thai PDA)

· Design Box การนำเสนอผลงานการออกแบบ โดยคุณสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์รางวัลระดับโลกจาก Prompt Design

· ThaiStar, AsiaStar, WorldStar Display พื้นที่จัดแสดงตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลชนะการประกวดออกแบบระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยความร่วมมือจาก Thai-IDC, DIPROM (รางวัล ThaiStar) และ Asian Packaging Federation (รางวัล AsiaStar) และ The World Packaging Organisation (WPO) (รางวัล WorldStar)

นายโวล์ฟกัง คอนราด รองประธานฝ่ายการตลาดและสื่อสาร ไอดับเบิลยูเค แฟร์แพคคุงเทคนิก เจเอ็มเบอฮ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์จากประเทศเยอรมนี ซึ่งดำเนินงานในประเทศไทยภายใต้ชื่อ บริษัท ไอดับเบิลยูเค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานต้องปลอดภัย ถูกสุขอนามัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลและย่อยสลายได้ ใช้ทรัพยากรน้อยลงในการผลิต มีการออกแบบอย่างสร้างสรรค์และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโรงงานของเรามีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตบรรจุภัณฑ์ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง อาหาร ฯลฯ ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาตินั้น ต้องเพิ่มขีดความสามารถ ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและมีพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งไอดับเบิลยูเค พร้อมให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนความรู้และอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ กับผู้ประกอบการไทยตลอดเวลา

สำหรับการร่วมจัดงานกับ ProPak Asia นั้น นับว่าประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านเป็นอย่างมาก เพราะเป็นงานแสดงสินค้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดในเอเชีย ทำให้ผู้ร่วมงานได้รับประสบการณ์ที่ดี โดยงาน ProPak Asia 2024 ครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้เตรียมเปิดตัว CABLIblue 870 ซึ่งเป็นระบบผลิตบรรจุภัณฑ์แบบ “Blister on Carton” ที่ใช้กระดาษแข็ง 100% นวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ตอบสนองต่อกระแสความยั่งยืน โดยระบบนี้จะช่วยให้สินค้าลดการใช้พลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แบบ Blister Pack ลงได้ และอีกหนึ่งไฮไลท์ คือ ระบบบรรจุกล่องรุ่น CH4 ที่ประหยัดพลังงานได้มากกว่า 20% รวมถึงเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และบริการของ ไอดับเบิลยูเค อีกมากมาย

นายลำพูล อุ่นเรือน ประธาน บริษัท เซนต้า แพ็ค แมชชีนเนอรี่ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ ได้ให้ความเห็นถึงโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยว่า มีโอกาสเติบโตอีกมากเพราะไทยเป็นฐานการผลิตอาหารสำคัญของโลก สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องติดตาม คือ แนวโน้มบรรจุภัณฑ์ที่ต้องรักษ์โลกมากขึ้น ผู้ผลิตบางรายมีการปรับมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจากวัสดุเพียงชนิดเดียว (Mono Material) ที่สามารถระบุชนิดของวัสดุที่สอดคล้องกับกระบวนการรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าและกฎระเบียบทางการค้าของแต่ละประเทศ พร้อมรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย โดยในส่วนของบริษัทฯ นั้น ได้มีการพัฒนาเทคโลยีการบรรจุสินค้าแบบใช้ความร้อนและความดันสูงเพื่อฆ่าเชื่อ (Retort) ให้รองรับกับบรรจุ

ภัณฑ์ของลูกค้า เช่น การใช้ Ultrasonic Sealing Method สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลง แต่ต้องการความแม่นยำในการซีลสูงและสามารถใช้กับสินค้ากลุ่ม Mono Material ได้

การร่วมจัดแสดงงานกับ ProPak Asia นั้น เป็นโอกาสที่ดีที่ได้นำเสนอเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ๆ ได้สร้างความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมถึงมุมมองต่างๆ กับลูกค้าเก่าและได้พบลูกค้าใหม่ในทุกครั้งของการจัดงาน ส่วนไฮไลท์ที่จะนำมาร่วมจัดแสดงในปีนี้ คือ เครื่อง Vacuum Rotary ในกลุ่มสินค้า Curry paste และมีการจัดแสดงโซลูชั่นในการบรรจุแบบอัตโนมัติที่จะช่วยผู้ประกอบการที่มีปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิตแต่ขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

งาน ProPak Asia 2024 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 15 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจรายละเอียดการจัดงานและต้องการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าชมงานฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.propakasia.com

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 2567 ทะยานแตะ 4.2 หมื่นล้านบาท จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และวันหยุดพิเศษที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แนะภาครัฐส่งเสริมต่อยอดและวางแผนการกำหนดวันหยุดให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทย

เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดประจำปีของไทยที่เป็นโอกาสสำคัญในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวที่ตรงตามเทศกาลอย่างน้อย 3 วัน และเมื่อรวมกับวันหยุดสุดสัปดาห์รวมถึงวันหยุดพิเศษตามประกาศของภาครัฐ ย่อมทำให้วันหยุดรวมมีระยะเวลานานเพียงพอที่จะทำให้ผู้จากถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑล และภาคตะวันออก สามารถกลับไปพักผ่อนใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลได้ นอกจากนี้ด้วยวันหยุดที่มีระยะเวลานานย่อมส่งผลดีต่อกลุ่มที่มีแหล่งงานในภูมิลำเนาตนเอง หรือกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด โดยเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่เหนื่อยจนเกินไปจากจำนวนวันหยุดที่ยาวนานและยังเหลือวันหยุดเพื่อพักผ่อนหลังเดินทางท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 นับเป็นปีที่วันหยุดค่อนข้างเอื้ออำนวยให้กับภาคการท่องเที่ยวสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เมษายน ได้ นับว่าเทศกาลนี้จะลากยาวถึง 11 วัน เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลก่อนสงกรานต์ มีวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน และ วันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 12 เมษายน และแม้แต่ในส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ วันหยุดยาวก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงวันที่ 6-8 เมษายน และวันที่ 12-16 เมษายน ซึ่งก็นับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

นักท่องเที่ยวชาวไทย ในเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาจากแหล่งงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ EEC รายจ่ายในส่วนของการเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายจ่ายปกติ แต่อาจเพิ่มขึ้นในส่วนของการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนา หรือกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับครอบครัว ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในพื้นที่ภูมิภาคไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีรายจ่ายในบางรายการสูงขึ้น เช่น รายจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยต่อคนต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 6.9% รายจ่ายเกี่ยวกับอาหารและซื้อสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวจากรูปแบบวิถีชีวิตของชาวไทยที่เมื่อมีการรวมกลุ่ม คาดปรับเพิ่มขึ้น 12.9% ในขณะที่เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในภาคโรงแรมโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มเพียง 2.7% เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่คนส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนาจึงพักอาศัยที่บ้านเกิดของตนแต่อาจได้รับอานิสงส์จากกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภาคตะวันออก และจังหวัดติดทะเลใกล้กรุงเทพฯ โดยจากรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ttb analytics ประเมินเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดอยู่ที่ 17,200 ล้านบาท

ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ได้รับแรงหนุนจากช่วงวันหยุดยาว Golden Week ของชาวจีน และ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปหนีความหนาวมาพักพิงในภูมิภาคที่มีความอบอุ่น ส่งผล

ให้ในเดือนเมษายนนี้ แม้จะมีแรงส่งจากเทศกาลสงกรานต์ก็เชื่อว่ายังไม่สามารถชดเชยส่วนต่างที่หายไปจากฤดูท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวด้านจำนวนคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนปี 2567 จะมีจำนวนราว 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 42% (เดือนเมษายน 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.18 ล้านคน) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 24,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 12-16 เมษายน คาดว่าจะแตะ 41,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2566 ที่เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ราว 26,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 55% ด้วยสาเหตุหลักซึ่งประกอบด้วย เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ช่วงวันหยุดสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่าปีก่อนที่เทศกาลมีวันหยุดเพียง 4 วัน นอกจากนี้ในปี 2567 เมื่อพิจารณาในระยะเวลาช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเริ่มจับจ่ายตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 เมษายน ลากยาวจนเดินทางกลับมาทำงานหลังสงกรานต์ ก็คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมราว 25,800 – 37,400 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ช่วงวันหยุดคิดเป็นเงินสะพัดถึง 67,300 – 78,900 ล้านบาท จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงการกำหนดวันหยุดพิเศษต่าง ๆ ที่ควรจะสอดคล้องและเอื้ออำนวยกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแม้จำนวนวันหยุดที่เท่ากันแต่ช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินให้สะพัดเพิ่มมากขึ้นในภาคท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ เงินสะพัดอาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าตัวเลขข้างต้น โดย ttb analytics มองภาครัฐยังสามารถต่อยอดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ได้เพิ่มเติม เช่น รายจ่ายค่าที่พัก และอาหาร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษี หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำโปรโมชันกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์รู้สึกคุ้มค่าเพียงพอในการเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปในช่วงเวลาอื่นที่มีวันหยุดยาว เช่น เดือนพฤษภาคม หรือ กรกฎาคม และใช้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นในปีถัด ๆ ไป

 นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2567 นักท่องเที่ยวกำลังมองหาการท่องเที่ยวระดับพรีเมียม ที่ผนวกรวมทริปเดินทางเชิงธุรกิจ (Business) และการพักผ่อน (Leisure) เพื่อต่อยอดการเข้าพักในกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ยาวนานขึ้น พร้อมทั้งเฟ้นหาอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ระดับพรีเมียม ตอบโจทย์แนวโน้มเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของไทย

เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ สิ่งที่น่าจับตามอง อ้างอิงจากข้อมูลของ Skyscanner นักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่น การมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เข้าเยี่ยมชมสถานที่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรายการโทรทัศน์ และการลิ้มลองรสชาติอาหารท้องถิ่นแท้ๆ คือ ปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวมองหานอกเหนือจากการเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมทั่วไป นอกจากนี้ ทาง Skift ยังแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมว่านักท่องเที่ยวชาวจีนให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวที่ยกระดับหรือสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ โดยให้ความสำคัญของโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงลึกที่มีคุณภาพ โดยมีเวลาดื่มด่ำในวัฒนธรรมและสถานที่ สามารถใช้เวลาในการท่องเที่ยวแต่ละจุดยาวนานมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสถานที่หรือร้านต่างๆ ที่ต้องแวะชมหรือเช็คอินในปริมาณมากๆ หลายๆจุด การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศผ่านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งรวมถึงการยกระดับเทศกาลมหาสงกรานต์ตลอดเดือนเมษายนนี้สู่สายตาโลก

เทรนด์การท่องเที่ยวแบบ "BLEISURE" คือ เทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยเป็นการผสมผสานระหว่างทริปเดินทางเชิงธุรกิจ (Business) และการพักผ่อน (Leisure) หรือที่เรียกว่า เนื่องจากผู้คนจำนวนมากขึ้นหันมาใช้ชีวิตแบบดิจิทัล โนแมด และหลายๆ บริษัทจำนวนก็เปิดโอกาสให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนรุ่น Gen Z กำลังได้รับการจับตามองส่งผลให้เกิดการจองห้องพักในรูปแบบของลองเสต์ หรือการเข้าพักที่ยาวนานขึ้น เพื่อสัมผัสและสนุกสนานกับการท่องเที่ยวที่มีความหมายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับไลฟ์สไตล์และการลิ้มลองอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแฮปปี้ อาวร์หรือช่วงเวลาหลังเลิกงาน

คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า “ขณะที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยโปรโมทและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเข้าใจความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภค เราสังเกตเห็นว่านักท่องเที่ยวที่พักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานขึ้น โดยยกระดับประสบการณ์การรับประทานอาหารและวัฒนธรรมของอาหารไทยสู่การรับประทานอาหารในระดับพรีเมี่ยม มองหาตัวเลือกด้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูงขึ้น ไม่ใช่การดื่มแบบหักโหม ทำให้เราจำเป็นต้องรักษามาตราฐานด้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ของเราอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดนักเดินทางที่กำลังมองหาคุณภาพการใช้ชีวิตในระดีบพรีเมียม

ดร.ญาณี เลยวานิชเจริญ เลขาสมาคมธุรกิจร้านอาหารกลางคืน กล่าวว่า “เราเห็นว่าผู้บริโภครุ่นใหม่ กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื่องจากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การดื่มไวน์มากขึ้นซึ่งเหมาะสำหรับการดื่มร่วมกันในสังคมและจับคู่กับอาหาร เราเชื่อว่าประเทศไทยสามารถเดินหน้าโปรโมทด้านสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวาเพื่อมอบประสบการณ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพให้กับนักท่องเที่ยวในขณะที่พวกเขาใช้เวลาในการพักผ่อนได้ยาวนานที่ประเทศไทยมากขึ้น”

เทรนด์การท้องเที่ยวอันดับ 3 คือ “เที่ยวแบบพรีเมียม” โดยความต้องการของนักท่องเที่ยวมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าคุณภาพสูงในระดับพรีเมียม รวมถึงเครื่องดื่มไวน์และสุราจากต่างประเทศ ตามรายงานการวิจัยฉบับใหม่โดย Oxford Economics ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว

โดยอ้างอิงจากรายงานที่ชื่อว่า "International Wine and Spirits in ASEAN: The Economic Contribution of the International Wine and Spirits Value Chain in Thailand and Vietnam" จัดทำโดย Oxford Economics และได้รับมอบหมายจาก Asia Pacific International Spirits and Wine Alliance (APISWA) เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของการขายและจัดจำหน่ายไวน์และสุราต่างประเทศในสองประเทศเศรษฐกิจสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทยและเวียดนาม

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 23 มกราคม พ.ศ. 2567 – อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว เผยข้อมูลการจองห้องพักช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2024 นี้ พบกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางต่างประเทศยอดฮิตอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยว และไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางต่างประเทศยอดฮิตอันดับ 2 อีกด้วย โดยเป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น

ข้อมูลการจองห้องพักของอโกด้ายังแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่นเป็น 5 อันดับแรกที่มาท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดตามลำดับ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 ที่จีนกลับเข้ามาอยู่ใน 5 อันดับแรก ส่วนจุดหมายปลายทางยอดฮิตในไทย 5 อันดับแรกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา และเชียงใหม่ตามลำดับ

แม้การเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2024 แต่ปกติแล้วเทศกาลตรุษจีนมักขยายเวลาเป็นวันหยุดยาวในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในจีน ญี่ปุ่น (วันหยุดฤดูใบไม้ผลิ) และเวียดนาม (เต๊ด) ที่หยุดนานถึง 1 สัปดาห์ เทศกาลตรุษจีนถือเป็นช่วงเวลาท่องเที่ยวยอดนิยมช่วงหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวจีน ปีนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 ที่จีนติดอันดับ 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และกลับเข้ามาอยู่ใน 5 อันดับแรกของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม

นักท่องเที่ยวไทยเองก็ให้ความสนใจกับจุดหมายปลายทางต่างประเทศไม่น้อย โดยญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และเวียดนามเป็นประเทศยอดฮิต 5 อันดับแรก ส่วนเมืองยอดฮิต 5 อันดับแรก ได้แก่ โตเกียว ไทเป โซล โอซาก้า และฮ่องกง

 

คุณเอนริก คาซาลส์, Associate Vice President Southeast Asia, อโกด้า กล่าวว่า “เทศกาลตรุษจีนเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่ผู้คนออกไปท่องเที่ยว และปีนี้ก็ไม่ต่างกัน ตั้งแต่ปี 2019 มา โรงแรมและจุดหมาย

ปลายทางต่าง ๆ ก็สร้างตัวเลือกให้ตัวเองน่าสนใจมากขึ้นในสายตานักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น การไม่ต้องขอวีซ่า และสิ่งจูงใจอื่น ๆ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากแค่ประเทศเดียว และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นได้ด้วยในขณะเดียวกัน แต่ในปีนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นตั้งตารอต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้นแน่นอน”

ในระดับภูมิภาค นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนมากมาจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยประเทศที่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้มากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แสดงให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมและการพักผ่อน ส่วนเมืองต่าง ๆ เช่น กรุงเทพฯ โตเกียว โซล และโอซาก้า ยังคงมีเสน่ห์ในสายตานักท่องเที่ยว ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นเมืองอันอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค

แพลตฟอร์มของอโกด้ามีที่พักมากกว่า 3.9 ล้านแห่ง ตั๋วเครื่องบิน และกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมาย ตอบโจทย์ความต้องการด้านการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนได้อย่างดีเยี่ยม อโกด้าพร้อมมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ราบรื่นให้นักท่องเที่ยวทุกคนช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือประเทศอื่น ๆ

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปิดท้ายปี 2566 อย่างงดงามด้วยเทศกาลรับลมหนาวหรือ Thailand Winter Festival แบ่งเป็น 5 กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม อาทิ การจัด ‘กิจกรรมสีสันแห่งสายน้ำ’ ส่งเสริมมหกรรมลอยกระทง รวมไปถึงการจัดงานวิจิตรเจ้าพระยา 2566, อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ พาสปอร์ต พรีวิลเลจ, อเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2566, และอเมซิ่ง ไทยแลนด์ เคาท์ดาวน์ 2567 เพื่อจัดแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ สะท้อนความรุ่งเรืองและงดงามของวัฒนธรรมไทย

 

เทศกาลรับลมหนาวในประเทศไทยนำเสนอเอกลักษณ์ของไทยผ่านมหกรรม ศิลปะ แสงสี การแสดงดนตรี และการเฉลิมฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ ททท. มองว่าการจัดเทศกาลนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อีเว้นต์และเทศกาลในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกสืบทอดมาหลายศตวรรษ โดยส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากประเพณีท้องถิ่น คติชน และวิถีชีวิตแบบไทย สองเทศกาลเชิงวัฒนธรรมในไทยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักในสากล คือเทศกาลสงกรานต์ (ปีใหม่ไทย) และเทศกาลลอยกระทง

กิจกรรมอื่น ๆ รวมไปถึง งานไหว้ครูมวยไทยโลกซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ประเพณีปอยส่างลอง พิธีอุปสมบทโบราณที่จัดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเทศกาลบุญบั้งไฟอันเลื่องชื่อ ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในหลายจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อาทิ ร้อยเอ็ด ยโสธร และกาฬสินธุ์

กิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เพิ่งปิดฉากไปโดยผสมผสานวัฒนธรรมไทยในทุกองค์ประกอบของงานอย่าง ศึกโมโตจีพี โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ หนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทั่วโลกได้สัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแท้จริง โดยผู้จัดงานได้เลือก ‘หนุมาน’ พญาวานรจากวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ให้เป็นทูตวัฒนธรรมและธีมในการแข่งขัน

อิโก้ พูเทร่า (Iko Putera) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Transport ของ Traveloka กล่าวว่า "เรามองว่างานไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ และการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมเป็นอีกช่องทางสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ในระหว่างการแข่งขันปี 2566 ที่ผ่านมา Traveloka มองเห็นความต้องการด้านที่พักและเที่ยวบินขาเข้ากรุงเทพฯ และบุรีรัมย์เพิ่มขึ้น จากข้อมูลภายในของเราธุรกรรมการจองโรงแรมเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในช่วงสัปดาห์ของการแข่งขัน โดยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 28 ตุลาคม 2566 และความต้องการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่บุรีรัมย์ โดยเฉพาะอำเภอนางรอง”

 

ในส่วนของเที่ยวบิน Traveloka เห็นแนวโน้มเชิงบวกในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเที่ยวบินภายในประเทศ โดยมีบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลัก และดอนเมืองเป็นต้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในช่วงสัปดาห์การแข่งขัน

(27-29 ตุลาคม 2566) พร้อมกับเที่ยวบินภายในประเทศโดยรวมสู่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นพร้อมกับจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ในประเทศ เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

ททท. ยังคงตั้งเป้าให้จุดหมายปลายทางที่กำลังพัฒนากลายเป็นปลายทางยอดนิยม เช่น บุรีรัมย์ เพื่อชูสุดยอดรสมือด้านการทำอาหารของประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเปิดตัวแคมเปญ “เมนูเปิดประสบการณ์ใหม่ เมืองรองมิรู้ลืม”เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองรองอย่างบุรีรัมย์ และสัมผัสประสบการณ์เมนูอาหารท้องถิ่นไทยในระดับภูมิภาค

อีเว้นต์ต่างๆ ช่วยให้ประเทศไทยมีการฟื้นตัวของท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งในช่วงปี 2566 และตั้งเป้าที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวไปอีกขั้นในปี 2567 งานไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2566 ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกด้านความต้องการที่พักและเที่ยวบิน ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว เช่น ร้านค้า ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นก็ได้รับประโยชน์จากการเข้าชมที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

Traveloka ดำเนินงานเพื่อก้าวนำเทรนด์ของตลาดและความต้องการของลูกค้า โดยบริการทางเลือกการเดินทางที่ง่ายและยืดหยุ่นพร้อมวิธีการชำระเงินที่หลากหลาย ช่วยให้บริษัทสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2566 ที่จัดขึ้นก่อนเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยวตามปกติของประเทศไทย

"Traveloka ให้บริการนักเดินทางจำนวนหลายล้านคนทุกวัน และมีส่วนในการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรม เรายังเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างงานให้กับธุรกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองรอง โดยมอบประสบการณ์การเดินทางที่ผสมผสานระหว่างอีเวนต์ระดับนานาชาติกับการท่องเที่ยวและมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของประเทศ” อิโก้ กล่าวเสริม

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click